25 ส.ค. เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก

เมียนม่าอาการหนัก

"เมียนมาอาการหนัก รัฐบาลทหารยึดอำนาจ 3 ปีเศรษฐกิจพังพินาศยับ ทำเงินเฟ้อพุ่ง 5 เท่า เงินจ๊าดอ่อนหนักรวดเดียว 50% ในเดือนเดียว เข้าคุมราคาและปริมาณการซื้อสินค้าต่อครัวเรือน ถึงขั้นซื้อข้าวได้ไม่เกินครอบครัวละ 3.2 กก./เดือน ซื้อยาไม่เกิน 2 เม็ดต่อคน แถมราคาแพงขึ้น 40%"
ตอนนี้รัฐบาลทหารเมียนมากำลังบังคับใช้มาตรการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศ เพื่อรับมือภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่พุ่งสูงขึ้น แต่การกระทำนี้ของรัฐบาลทหารเมียนม่ากลับให้ผลตรงกันข้าม ค่าเงิน**จ๊าตพม่า**กำลังอ่อนค่าลงมากขึ้น และความกังวลด้านสินเชื่อก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นตาม
การประชุมผู้นำระดับสูงเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ‘มิน ออง หล่าย’ แสดงความเห็นว่าระบบสหกรณ์ของประเทศเป็นระบบเศรษฐกิจที่ดีที่สุดสำหรับเมียนมาตอนนี้ ทว่าการกระทำของรัฐบาลที่ควบคุมและกดราคาของสินค้าอุปโภคบริโภคในตลาด เป็นมาตรการที่ละเลยกลไกราคาและแทรกแซงภาคเอกชน
มีหนึ่งในเหตุการณ์เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่รัฐบาลทหารเมียนมาแสดงให้เห็นถึงความเด็ดขาดในการบังคับใช้กฎหมาย
ในช่วงเวลานั้นรัฐบาลทหารเมียนมาได้มีการเพิ่มมาตรการเพื่อควบคุมราคาข้าว ที่บังคับให้ร้านค้าปลีกต้องขายข้าวในราคาที่สหพันธ์ข้าวของประเทศกำหนด แต่พนักงานชาวญี่ปุ่นของร้านสะดวกซื้อ Aeon ได้ละเมิดมาตรการนั้นจนทำให้พนักงานชาวญี่ปุ่นคนดังกล่าวถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานละเมิดกฎเกณฑ์ราคาข้าว ละถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลาถึง 1 ปี (ภายหลังได้รับการปล่อยตัวกะทันหัน)
ไม่เพียงเท่านั้น ตอนนี้สหพันธ์ข้าวภายใต้การดูแลของรัฐบาลทหารก็ผันตัวมาขายปลีก-ส่ง ข้าวด้วยตัวเอง
น้ำมันปาล์มเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ถูกควบคุมจากทั้งแง่ของ ‘ปริมาณและราคาขาย’ โดยสมาคมผู้ค้าน้ำมันพืชเมียนม่า โดยจำกัดขายให้ครอบครัวแต่ละครัวเรือนไม่เกิน 3.2 กิโลกรัม/เดือน ในราคาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า แม้กระทั่งยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ก็ถูกควบคุมจากรัฐบาลเช่นกัน
ตอนนี้ประชาชนในประเทศต่างกำลังพยายามเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่ทะยานสูงขึ้นในประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าดแตะระดับ 7,000 จ๊าดต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเกือบ 50% ภายในระยะเวลาเพียงแค่หนึ่งเดือนครึ่ง และตั้งแต่รัฐบาลทหารเข้ามาบริหารประเทศเมื่อปี ค.ศ.2021 ตอนนี้ค่าเงินจ๊าดอ่อนค่าลงมาแล้วเกือบ ๆ 5 เท่าเมื่อเทียบกับวันแรก
ชาวเมียนม่าคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงของเมียนม่า ระบายถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตให้กับ NIKKEI Aisa ว่า “แค่จะซื้อวิตามินให้พ่อยังเป็นเรื่องยากมาก ๆ เลย”
ชาวเมียนม่าคนนี้อธิบายเพิ่มเติมว่าเดิมทีแล้วต้องซื้อวิตามินให้คุณพ่อ 10 เม็ด แต่ร้านขายยาขนาดใหญ่แถวบ้านจำกัดปริมาณการขายไว้ที่ 2 เม็ดต่อลูกค้าหนึ่งราย เนื่องจากทางร้านมีข้อจำกัดเรื่องการนำเข้ายา ทำให้มีสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ ในขณะที่ร้านขายยาขนาดเล็กไม่มีจำกัดปริมาณการซื้อของลูกค้า แต่ราคาของสินค้าจะแพงกว่าร้านขายยาทั่วไปประมาณ 40%
สถานการณ์ที่ประชาชนชาวเมี่ยนมาเผชิญตอนนี้คือสินค้าที่ตอบสนองปัจจัยในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานขาดตลาด และมีราคาแพง ตอนนี้กลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่นข้าว, น้ำมันพืช หันมาจัดตั้งสหกรณ์-สมาคมและขายสินค้ากันเอง การทำแบบนี้ยิ่งทำให้สินค้าคงคลังเหลือน้อย บริษัทเอกชนไม่กล้าขายสินค้าด้วยราคาที่กำหนดกันเองเนื่องจากกลัวจะเป็นการละเมิดกฎเกณฑ์ด้านราคาที่รัฐบาลกำหนด และเมื่ออุปทานน้อย แต่อุปสงค์เยอะ ยิ่งทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น
มิหนำซ้ำ ความพยายามของกองทัพในการช่วยเหลือยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก เห็นได้จากการอ่อนค่าของเงินจ๊าด โดยตอนนี้หนึ่งในมาตรการที่รัฐบาลเมียนม่าทำคือ การอนุญาตให้ต่างประเทศสามารถนำเข้าสินค้าโดยไม่จำเป็นต้องแปลงสกุลเงินเป็นเงินจ๊าดก่อนทำธุรกรรมระหว่างประเทศ จากเดิมที่บังคับให้ใช้เงินจ๊าดเท่านั้น และยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่ช่วยค่าครองชีพประชาชนอีก เช่น การขึ้นเงินเดือนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ในตอนนี้เงินจ๊าดยังไม่มีท่าทีที่จะแข็งค่าขึ้น รัฐบาลทหารเมียนม่าจึงได้ออกมาตรการใหม่สด ๆ ร้อน ๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วคือการ ‘กำหนดราคาอ้างอิง’ ของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศกว่า 3,000 รายการ ให้ผู้นำเข้าสินค้าปฏิบัติตาม แต่จะมีผู้นำเข้ารายไหนปฏิบัติตามได้ไหมเป็นอีกเรื่อง
หนึ่งในทางออกที่ประชาชนและผู้ประกอบการเมียนม่าทำคือการอพยพและย้ายฐานธุรกิจมายังประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้านรั้วติดกัน และเรื่องนี้ Reporter Journey เคยนำมาเล่าให้ฟังกันแล้ว และจากนี้สถานการณ์ในเมียนม่า ประชาชน ภาคธุรกิจ และบรรดาผู้ประกอบการภาคเอกชนคงจะเผชิญกับความท้าทายไปอีกซักพักอย่างเลี่ยงไม่ได้
โฆษณา