23 ส.ค. 2024 เวลา 09:11 • ประวัติศาสตร์
อำเภอพนมสารคาม

ศิลปะล้านช้าง ณ ฉะเชิงเทรา ตอนที่ 3 : ธาตุลาว

ตามที่ได้เกริ่นไว้เมื่อวานว่าผมจะพาไปชมสถาปัตยกรรมแบบล้านช้างอีกอย่างหนึ่งในฉะเชิงเทรา และตามสัญญาครับ วันนี้เราจะไปชม "ธาตุลาว" กันครับ
"ธาตุลาว" หรือ "เจดีย์" ในศิลปะล้านช้างเองก็ถือเป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์มากๆประเภทหนึ่ง เพราะพระธาตุในศิลปะล้านช้างแท้ๆนั้นจะมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงบัวเหลี่ยม คือ เจดีย์ที่ส่วนองค์ระฆังและปล้องไฉนที่ควรจะกลมนั้นจะอยู่ในผังสี่เหลี่ยมเช่นเดียวกันส่วนฐานหรือบัลลังก์
นอกจากธาตุทรงบัวเหลี่ยมแล้ว ก็ยังธาตุทรงท้องถิ่นแบบอื่นอีก แต่เมื่อเทียบจำนวนแล้วถือว่าน้อยกว่าทรงบัวเหลี่ยมมากทีเดียว
เจดีย์ราย วัดเชียงทอง เมืองหลวงพระบาง
ธาตุลาว วัดธาตุทอง จ.ยโสธร
และที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทราพบอยู่ด้วยกัน 3 องค์ใน 3 วัด ได้แก่ วัดเตาเหล็ก วัดบ้านแล้ง และ วัดมหาเจดีย์
และแน่นอนว่า วัดเตาเหล็กนี้คือวัดเตาเหล็กวัดเดียวกันกับผมพาไปชมฮูปแต้มเมื่อ 2 วันก่อนนี่ละครับ วัดเดียวกันเลย ซึ่งนอกจากสิมของวัดที่มีฮูปแต้มแล้ว ภายในวัดยังมีธาตุทรงบัวเหลี่ยมขนาดเล็กด้วย โดยตั้งอยู่ใกล้ๆกับสิมนั่นละครับ รูปแบบของธาตุลาวองค์นี้เป็นธาตุลาวทรงชลูดที่น่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 25
ธาตุลาว วัดเตาเหล็ก จ.ฉะเชิงเทรา
ในขณะที่วัดบ้านแล้งนั้นสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 24 ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยหลวงสุนันทา ข้าราชการชาวลาวที่อพยพหนีภัยสงครามมาจากเวียงจันพร้อมครอบครัวและญาติสนิท
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากรูปแบบของธาตุลาวทรงบัวเหลี่ยมที่วัดบ้านแล้งแล้วน่าจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 25 เช่นเดียวกับวัดเตาเหล็ก เพราะรูปทรงของธาตุลาวทั้งสองวัดนี้มีสัดส่วนที่ชลูดเช่นกัน แต่ธาตุลาวที่วัดบ้านแล้งนั้นมีส่วนของเรือนธาตุ แสดงถึงที่มาของธาตุลาวองค์นี้ที่พัฒนามาจากสายเจดีย์ทรงปราสาท
ธาตุลาว วัดบ้านแล้ง จ.ฉะเชิงเทรา
ธาตุลาวแบบมีเรือนธาตุ วัดมหาธาตุ จ.นครพนม
ส่วนวัดมหาเจดีย์นั้นสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2321 โดยชาวลาวพวน แต่เดิมที วัดนี้มีชื่อว่า "วัดนอก" เนื่องจากตั้งอยู่นอกชุมชนในพื้นที่ที่ยังเป็นป่า จนเมื่อมีพระธุดงค์มายังบริเวณแถบนี้ก็เกิดศรัทธาและได้ร่วมกับชาวบ้านทำนุบำรุงและพัฒนาวัดแห่งนี้ขึ้นมา
ธาตุลาวที่วัดมหาเจดีย์นี้มีรูปแบบที่ต่างจากธาตุลาวอีก 2 องค์อย่างชัดเจน สังเกตจากส่วนฐานในผังย่อมุมถี่ เอนลสดซ้อนลดหลั่นรองรับองค์ระฆังและต่อยอดด้วยปล้องไฉนโดยไม่มีบัลลังก์ ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกันกับธาตุฝุ่น พระธาตุเจดีย์สำคัญที่ตั้งอยู่ในเมืองเชียงขวางที่น่าจะได้อิทธิพลด้านรูปแบบจากเจดีย์ในศิลปะมอญ-พม่า เนื่องจากเชียงขวางนั้นตั้งอยู่ใกล้กับชายแดนพม่า และเชียงขวางนี้เป็นถิ่นที่ชาวไทพวนอาศัยอยู่ ดังนั้น พระธาตุองค์นี้จึงแสดงรูปแบบของธาตุแบบไทพวนด้วยเช่นกัน
ธาตุลาวแบบเชียงขวาง วัดมหาเจดีย์ จ.ฉะเชิงเทรา
ธาตุฝุ่น เมืองเชียงขวาง ประเทศลาว (ที่มาภาพ: DiscoveryLaos)
อีกหนึ่งความพิเศษของธาตุแบบเชียงขวางนี้ก็คือ ในประเทศไทยพบหลักฐานของธาตุลาวแบบเชียงขวางนี้แค่ 3 องค์เท่านั้น โดยอีก 2 วัดคือ วัดเชียงงา อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี และ วัดแสงสว่าง อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งทั้งหมดเป็นชุมชนชาวไทพวนทั้งสิ้น
ธาตุแบบเชียงขวาง วัดแสงสว่าง จ.ปราจีนบุรี (ที่มาภาพ: Facebook)
ธาตุแบบเชียงขวาง วัดเชียงงา จ.ลพบุรี (ที่มาภาพ: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี
ฮูปแต้มผ่านไปแล้ว สถาปัตยกรรมผ่านไปแล้ว แต่เรายังเหลืองานศิลปกรรมอีกประเภทหนึ่ง นั่นก็คือ พระพุทธรูป ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งงานศิลปกรรมที่มีโอกาสเหลือรอดมาถึงปัจจุบันมากที่สุด เพราะในขณะที่โบสถ์อาจโดนซ่อม จิตรกรรมอาจโดนแก้ แต่พระพุทธรูปมักจะคงลักษณะเดิมๆเอาไว้ได้มากที่สุด และผมจะขอพาทุกท่านไปชมในวันพรุ่งนี้ครับ
โฆษณา