เลียงผา กลางป่าฝน อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เลียงผา เยียงผา หรือ โครำ (Serow) Capricornis sumatraensis เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมจำพวกสัตว์กีบคู่ กินพืชอาหาร อยู่ในวงศ์ Bovidae หรือมีญาติสนิทที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี อย่างแพะและแกะ ในประเทศไทยสามารถพบเห็นเลียงผาได้ตามหน้าผา และภูเขาสูงชัน ซึ่งเลียงผามีวิวัฒนาการทางกายภาพให้มีลักษณะเหมาะสมกับถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีลักษณะเฉพาะเช่นนี้
ภาพจากกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าโดยการติดตั้งของเจ้าหน้าที่สายตรวจฯ อุทยานแห่งชาติเขาสกที่สามารถบันทึกภาพไว้ได้อย่างชัดเจน เห็นถึงพฤติกรรมการหากินตามแหล่งน้ำ และอาศัยบริเวณแทบภูเขาหินปูนในพื้นที่อุทยานฯ
เลียงผา มักอาศัยอยู่ตามภูเขาซึ่งปกคลุมด้วยป่าทึบ และพบเลียงผาอาศัยอยู่บริเวณหน้าผากับยอดเขาที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางอยู่ระหว่าง 800-1,500 เมตร แต่ในบางพื้นที่อาจพบเลียงผาต่ำกว่า 500 เมตร หรือสูงกว่า 2,000 เมตร ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ แหล่งอาหาร และแหล่งน้ำ
ลักษณะพิเศษที่ทำให้เลียงผาสามารถอาศัยอยู่ตามหน้าผาสูงชันได้ คือลักษณะตีนเป็นกีบ กีบของเลียงผาแตกต่างจากสัตว์กีบชนิดอื่น ๆ โดยมีกีบแต่ละข้างคล้ายปีกผีเสื้อ ปลายกีบทั้งสองแยกออกจากกัน ไม่งองุ้มเข้าหากันทั้งกีบหน้าและกีบหลัง ปลายกีบกลมมน ไม่แหลม และในส่วนของส้นกีบจะมีความกลมมนมากกว่า ซึ่งลักษณะเช่นนี้ ทำให้เลียงผาสามารถเกาะตามซอนหินหรือตามสันเขาที่สูงชันได้
เลียงผามักออกหากินในตอนเช้ามืดและตอนใกล้ค่ำ และจะกลับมานอนหรือหลบซ่อนตัวจากศัตรูในช่วงเวลากลางวัน ในบริเวณที่มีต้นไม้ที่มีหนามและขึ้นอยู่หนาแน่น อีกทั้งการที่อาศัยอยู่บนหน้าผาและสันเขาที่สูงชัน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเลียงผาถึงเป็นสัตว์ป่าหายาก ทั้งยากต่อการพบเห็น และยากต่อการเข้าถึงนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
#สัตว์ป่าสงวน #เลียงผา #อุทยานแห่งชาติเขาสก #สุราษฎร์ธานี #กรมอุทยานแห่งชาติ
โฆษณา