24 ส.ค. เวลา 15:28 • ประวัติศาสตร์
อำเภอพนมสารคาม

ศิลปะล้านช้าง ณ ฉะเชิงเทรา ตอนที่ 4 : พระพุทธรูป

และเราก็มาถึงตอนสุดท้ายของซีรีส์เล็กๆนี้แล้วครับ กับเรื่องราวของศิลปะลาวล้านช้างที่อยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยเราจะปิดท้ายซีรีส์นี้กันด้วยพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างกันครับ
โดยพระพุทธรูปแบบล้านช้างนั้นมีพัฒนาการด้านรูปแบบที่มีพื้นฐานจากศิลปะรุ่นเก่ากว่า ไม่ว่าจะเป็นศิลปะขอม ศิลปะสุโขทัย หรือศิลปะล้านนาก่อนจะพัฒนารูปแบบจนเกิดรูปแบบและลักษณะเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 21 และกลายเป็นพื้นฐานให้แก่พระพุทธรูปศิลปะล้านช้างในรุ่นถัดๆมา
พระเหลาเทพนิมิตร จ.อำนาจเจริญ
พระประธาน หอพระพุทธบาท วัดทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี
ซึ่งตัวอย่างของพระพุทธรูปแบบล้านช้างในจ.ฉะเชิงเทรานั้น ผมจะขอยกมาทั้งสิ้น 2 วัด ซึ่งทั้งหมดเป็นวัดที่ผมเคยนำเสนอในแง่มุมอื่นไปแล้วด้วย ได้แก่ วัดเตาเหล็ก และ วัดเมืองกาย
พระเจ้าล้านช้างแห่งวัดเตาเหล็กที่ผมจะขอพูดถึงก็คือพระประธานภายในสิมของวัดที่มีนามว่า "พระทศพลศรีวโรดม" หรือ "หลวงพ่อหลวง" ซึ่งถือเป็นพระพุทธรูปที่แสดงพุทธศิลป์แบบล้านช้างได้ชัดเจนที่สุดองค์หนึ่ง สังเกตได้จากพระพักตร์ค่อนข้างเสี้ยม พระหนุแหลม พระขนงโก่ง ปีกพระนาสิกกว้าง ริมพระโอษฐ์ยิ้มตวัดขึ้นเป็นเส้นเชื่อมกับขอบพระนาสิกทั้ง 2 ข้าง
หลวงพ่อหลวง วัดเตาเหล็ก
ในขณะที่พระเจ้าล้านช้างแห่งเมืองกาย ซึ่งเป็นพระประธานภายในสิมเก่าของวัด มีนามว่า "หลวงพ่อแดง" ที่แม้ตามข้อมูลจะระบุว่าเป็นพระพุทธรูปแบบอยุธยา - รัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่หากสังเกตดีดีจะเห็นว่า พระเศียรของหลวงพ่อแดงยังแสดงลักษณะของศิลปะล้านช้างหลายประการ เช่น พระขนงโก่ง ริมพระโอษฐ์ยิ้มตวัดขึ้นเป็นเส้นเชื่อมกับขอบพระนาสิกทั้ง 2 ข้าง รวมถึงสัดส่วนของพระพุทธรูปที่พระเศียรดูใหญ่กว่าพระวรกายเล็กน้อยที่เป็นลักษณะประการหนึ่งของศิลปะล้านช้างด้วยเช่นกัน
หลวงพ่อแดง วัดเมืองกาย
นอกจากตัวอย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ใน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรายังมีพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างองค์อื่นๆ มีทั้งที่เป็นพระประธานและพระบริวาร ซึ่งหลายองค์ยังรักษารูปแบบพุทธศิลป์แบบล้านช้างไว้ได้ ในขณะที่หลายองค์ผ่านการปฏิสังขรณ์ในสมัยหลังทำให้อาจจะสังเกตได้ยากสักหน่อย
พระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง วัดเตาเหล็ก
พระพุทธรูปบริวาร วัดมหาเจดีย์
และนี่จะเป็นตอนสุดท้ายของซีรีส์เล็กๆนี้นะครับ หวังว่าคอนเทนต์เล็กๆนี้จะช่วยจุดประกายความสนใจเกี่ยวกับศิลปะล้านช้างที่อยู่นอกประเทศลาวหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยได้ไม่มากก็น้อยนะครับ
โฆษณา