25 ส.ค. 2024 เวลา 10:01 • สิ่งแวดล้อม

“ความยั่งยืน” เป็นคำที่ได้ยินบ่อยครั้งแต่จะมีใครสักกี่คนที่เข้าใจความหมายของมันอย่างถ่องแท้

แต่ผมเชื่อว่าหลายคนคงรู้ซึ้งถึงความจริงอันโหดร้ายที่ว่า โลกเราทุกวันนี้มันเกินเยียวยา และความยั่งยืนในปีปัจจุบัน... มันสายเกินไปแล้วล่ะ!
.
เฮ้อ... เอาล่ะ พร่ำบ่นพอหอมปากหอมคอเท่านี้แล้วกัน ยังไงเสีย เพจนี้ก็ตั้งขึ้นมาก็เพราะอยากจะเป็นส่วนหนึ่งคนที่ “พอจะทำอะไรได้บ้าง” ในแง่ของการสื่อสารให้คนได้เข้าใจว่า ความยั่งยืนในความเป็นจริงของคนยุคนี้เป็นอย่างไร
.
ก่อนอื่นอาจต้องปูพื้นฐานนิดนึงถึงความหมายของคำว่า “ยั่งยืน” ว่ามีความหมายว่าอะไรกันแน่?
คำว่า “ยั่งยืน” ในความหมายของราชบัณฑิตยสถาน คือ ก. ยืนยง อยู่นาน (ก. ที่มาจากคำว่า “กรรม” นะครับ)
.
โอเค! ตรงไปตรงมา งั้นขอเสริมด้วยความเข้าใจส่วนตัวของผมแล้วกันนะครับ ความยั่งยืนสำหรับผมคือ “การที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งสามารถคงอยู่ได้ไม่แปรเปลี่ยนสภาพแม้จะถูกรบกวนด้วยสิ่งเร้าหรือผ่านกาลเวลายาวนานแค่ไหนก็ตาม”
.
หากเราให้คำนิยามตามที่ราชบัณฑิตฯ ระบุไว้ หรือผมเองหรือนักปราชญ์สุดอัจริยะที่จรดคำนิยามของความยั่งยืนไว้ให้ทุกคนได้เห็น ทุกคนก็คงเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งว่ามันจะเป็นจริงตามนั้นจริงไหม?
ความหมายของคำว่า "ยั่งยืน" ตามพจนานุกรม ฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
เพราะอะไร? ก็เพราะว่า มันไม่มีจริงยังไงล่ะ!
.
กระทั่งพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ถึงความเป็นไปของมนุษย์และสรรพสิ่งยังทรงตรัสไว้ว่า ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป... สาธุ
.
เห็นไหมว่ามันไม่มีอะไรบนโลกที่ยั่งยืน... ก็แล้วทำไมทุกคนถึงยังพร่ำบอกกันถึงเรื่องนี้กันอยู่ โดยเฉพาะเมื่อสูดเอา PM2.5 เข้าเต็มปอดจนเป็นมะเร็ง เจอคลื่นความร้อนสูงสุดในรอบ 20 ปี หรือน้ำท่วมรุนแรงที่สุดในรอบร้อยปี ในแบบที่หลาย ๆ คนเรียกว่า "สภาวะโลกรวน"
ทุกอย่างมันประเดประดังเข้ามาจนมนุษย์เราเริ่มเมาหมัด และเมื่อตั้งสติใคร่ครวญอย่างดีแล้วจึงคิดได้ว่า เราควรเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างได้แล้ว ก่อนที่ลูกหลานทายาทผู้สืบเผ่าพันธุ์มนุษย์จะต้องลำบาก
.
มันจึงเป็นที่มาที่ทำให้เราได้ยินอีกคำพูดหนึ่งอยู่บ่อยครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา มันคือประโยคสวยหรู แต่ปัจจุบันหลาย ๆ คน หลาย ๆ องค์กร กำลังพยายามทำให้มันเกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม นั่นคือคำว่า
.
การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development
Sustainable Development Goals (SDGs)
อีกอย่าง... ผมชอบความหมายของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ ม.มหิดล ได้กระชับและชัดเจนว่า หมายถึง การพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันให้คงอยู่เพื่อต่อยอดสู่อนาคตและตอบสนองต่อความต้องการของคนในปัจจุบัน โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นหลัง
.
ใช่แล้ว ความยั่งยืนที่เราพยายามยัดเยียดให้กับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจยั่งยืน การเกษตรยั่งยืน ความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน มันใช้ไม่ได้ถ้าปราศจาก “การพัฒนา”
.
การเติมคำว่า “Development” ไว้หลัง “Sustainable” จึงเป็นอะไรที่สมเหตุสมผลที่สุดแล้วใช่ไหม?
องค์การสหประชาชนให้บัญญัติหัวข้อที่เกี่ยวข้องการกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนเอาไว้ 17 ประการเพื่อให้ครอบคลุมกับทุกแง่มุมของการพัฒนา ก่อนที่หลายหน่วยงานจะนำมาคัดสรรและลงลึกในรายละเอียดและนำไปเป็นเป้าหมายในการทำธุรกิจ จนกระทั่งมันเป็นที่มาที่ทำให้เทรนด์ใหม่ของโลกเกิดขึ้นในที่สุด
.
เทรนด์ใหม่ที่ว่าคือ การพัฒนาอย่างยั่งยืนในเวอร์ชั่นของ “ชาวประมงในหนองน้ำแห้ง”
1
เป้าหมาย 17 ประการในการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยองค์สหประชาชาติ
และอย่างที่บอก ผมหวังว่าบทความของผมจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความยั่งยืนมันเกิดขึ้นใกล้เคียงกับ “สิ่งที่มันควรจะเป็นที่สุด” เพราะฉะนั้นคำพูดไหนที่ดูประชดประชันจนเคืองสายตา ผมก็ต้องขออภัยด้วยครับ แต่สัญญาว่าผมจะพยายามสร้างบทความที่ตรงไปตรงมา แต่ขณะเดียวกันก็แสดงความเคารพทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนให้มากที่สุด “ในแบบของผม”
.
หวังว่าจะบทความแบบนี้จะเป็นที่ชื่นชอบของใครหลาย ๆ คนครับ ไว้พบกันใหม่ในบทความต่อไปครับ
แหล่งที่มาเพิ่มเติม
.
เว็บไซต์ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตฯ
.
ความหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เป้าหมายความยั่งยืน (SDGs) 17 ประการ
โฆษณา