Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วินทร์ เลียววาริณ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
26 ส.ค. 2024 เวลา 00:00 • หนังสือ
เสียงไวโอลินที่ไม่มีใครได้ยิน
เช้าวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2550 ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ลองต์ฟองต์ พลาซา ในกรุงวอชิงตัน ดี. ซี. นักไวโอลินคนหนึ่งกำลังเล่นดนตรี บนพื้นเบื้องหน้าของเขาวางกระเป๋าไวโอลินที่เปิดอ้าอยู่เพื่อให้คนผ่านทางบริจาคเงิน เป็นภาพปกติของพื้นที่สาธารณะซึ่งมีวณิพกนักดนตรีแวะเวียนมาเล่นหาเศษเงิน
ระดับปรอทยามเช้าในเดือนแรกของปีอยู่ที่ 4 องศาเซลเซียส จัดว่าหนาวเอาการ แต่บรรยากาศดูร้อนรน ในชั่วโมงเร่งด่วนเช่นนี้ ชาวเมืองกำลังรีบไปทำงาน สถานีนี้อยู่ในพื้นที่ซึ่งประกอบด้วยศูนย์การค้า โรงแรม อาคารธุรกิจ และราชการ แต่ละนาทีมีคนผ่านไปมาหลายร้อยคน
เสียงไวโอลินแผ่วพลิ้วสดใสกังวาน มันเป็นเพลงของบาค เพลงคลาสสิกกลืนหายไปกับเสียงจอแจของรถและผู้คน กระนั้นมันก็เป็นดนตรีไพเราะเสนาะจิต ฝีมือของวณิพกรายนี้ไม่เลวเลย
คนหลายคนเดินผ่านคนสีไวโอลินไปโดยไม่สนใจ ชายวัยกลางคนผู้หนึ่งหยุดดูแวบหนึ่งแล้วเดินต่อไป ผู้หญิงคนหนึ่งโยนเงินหนึ่งเหรียญลงในกระเป๋าบนพื้น แล้วจ้ำต่อไป อีกไม่กี่นาทีถัดมา มนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งหยุดดูเขาเล่นดนตรี แล้วก็เดินต่อไปเพื่อไปทำงาน
ชั่วขณะนั้น เด็กชายคนหนึ่งหยุดฟังเสียงไวโอลินที่เขาบรรเลงอย่างจดจ่อ ทว่าอึดใจต่อมา แม่ของเด็กดึงเขาออกไป เด็กชายยังหันกลับมามองเขาเล่น เด็กอีกหลายคนก็มีปฏิกิริยาต่อเสียงดนตรีคล้าย ๆ กัน แต่พ่อแม่ของเด็กทุกคนก็ลากเด็กจากไป
ผ่านไปสี่สิบห้านาทีกับบาคหกเพลง นักดนตรีก็ยุติการแสดง เก็บไวโอลินใส่กระเป๋า นักไวโอลินเดินจากมุมนั้นของซับเวย์ไปเงียบ ๆ ไม่มีใครปรบมือชื่นชมวณิพก สี่สิบห้านาทีนั้นมีเพียง 6-7 คนที่หยุดฟังเขาเล่นดนตรีเพียงครู่สั้น ๆ ยี่สิบคนให้เงินแต่ไม่หยุดฟัง นักไวโอลินเก็บเงินบริจาคได้ 32.17 ดอลลาร์จากผู้ผ่านทาง 27 คน
มันคงเป็นเช้าวันหนึ่งที่เหมือนกับทุก ๆ เช้าในสถานีรถไฟใต้ดิน ผู้คนเดินผ่านมาแล้วผ่านไป ต่างแต่ว่าเหตุการณ์ในเช้าวันนั้นถูกบันทึกไว้ในกล้องวิดีโอที่ซ่อนอยู่
มันคงเป็นการแสดงของนักดนตรีไส้แห้งคนหนึ่งในซับเวย์ที่ไม่มีคนสนใจเช่นทุกวัน ต่างแต่ว่านักไวโอลินผู้นี้มิใช่วณิพกยากไร้หรือนักดนตรีฝึกหัด นามของเขาคือ โจชัว เบลล์ นักไวโอลินมือหนึ่งของโลก เครื่องดนตรีในมือของเขาคือ สตราดิแวเรียส ปี ค.ศ. 1713 ราคา 3.5 ล้านดอลลาร์
สองวันก่อนหน้านั้น โจชัว เบลล์ เล่นไวโอลินที่ซิมโฟนี ฮอลล์ เมืองบอสตัน ราคาค่าตั๋วเฉลี่ยหนึ่งร้อยดอลลาร์ คนดูเต็มโรง!
นี่คือการทดลองศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ในเมืองใหญ่ ริเริ่มโดยหนังสือพิมพ์ วอชิงตัน โพสต์ วิจัยเรื่องการรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น รสนิยมของคน และการจัดลำดับความสำคัญของคน ใกล้ ๆ จุดที่นักดนตรีเล่นไวโอลิน กล้องวิดีโอที่ซ่อนอยู่เก็บภาพทุกรายละเอียดที่เกิดขึ้นในช่วงสี่สิบห้านาทีนั้น
คำถามที่ผู้ทำวิจัยตั้งไว้คือ มนุษย์เรามีความสามารถในการรับรู้ความงามหรือไม่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เราจะหยุดเพื่อซึมซับความงามนั้นหรือไม่ เรามีความสามารถในการพบ 'เพชรเม็ดงาม' ในสภาพแวดล้อมที่คาดไม่ถึงหรือไม่
ในจำนวนคน 1,097 ที่เดินผ่านจุดนั้น มีเพียงเจ็ดคนที่หยุดฟังเสียงดนตรี และเพียงคนเดียวที่จดจำนักดนตรีได้
มันตั้งคำถามกับเราว่า เราสูญเสียโอกาสที่จะรับสิ่งที่ดีและงดงามไปมากมายเท่าไรแล้ว จากพฤติกรรมแสนเร่งรีบของเรา?
คิดดูก็น่าขัน คนส่วนมากใช้ชีวิตแบบรีบร้อนจนไม่มีเวลาใช้ชีวิต! เวลายี่สิบสี่ชั่วโมงผ่านไปทีละรอบ เหมือน ๆ กันทุกวันจนทุกอย่างกลายเป็นเครื่องจักร และหลายคนกลายเป็นหุ่นยนต์
การทดลองยังบอกเราว่า เราอาจจมอยู่ในสังคมที่มองโลกแบบฉาบฉวย คนจำนวนมากเห็นคุณค่าของคนหรือสิ่งของเมื่อเขาหรือมันอยู่ในสภาพแวดล้อมบางอย่าง
ยกตัวอย่างเช่น เพชรในร้านหรูดูแพงกว่าเพชรแบบเดียวกันที่ร้านในตรอกสกปรก, อาหารจีนปรุงโดยพ่อครัวชาวจีนน่าจะอร่อยกว่าที่ทำโดยพ่อครัวชาวอิรัก, นักดนตรีที่แสดงในศูนย์วัฒนธรรมดูเก่งกว่านักดนตรีริมถนน, หนังสือที่เขียนโดยนักเขียนมีชื่อเสียงน่าจะดีกว่าโดยนักเขียนมือใหม่, ภาพเขียนโดยศิลปินระดับโลกดีกว่าภาพโดยจิตรกรท้องถิ่น ฯลฯ นี่เองที่ทำให้เราพลาดโอกาสใหญ่มากมายซึ่งซ่อนรูปในสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง
ชีวิตคนเรานั้นไม่ยาวนัก เป้าหมายของแต่ละคนก็ไม่น้อย ดังนั้นบางคนจึงเลือกที่จะรีบเพื่อไปให้ถึงจุดหมายโดยเร็วที่สุด
แต่การใช้ชีวิตมิได้จำเป็นต้องไปให้ถึงที่หมายอย่างเดียว มันคือการชมดูความงามของสองข้างทางชีวิตไปด้วย
เนื้อหาของนวนิยายแห่งชีวิตของเราแต่ละคนอาจไม่ได้อยู่ที่ว่าบทสุดท้ายเป็นแฮปปี้ เอนดิ้ง หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าบทส่วนใหญ่มีความสุขหรือไม่ต่างหาก เพราะหากบทส่วนมากเป็นเรื่องโศกเศร้าหมองหม่น ต่อให้บทสุดท้ายจบด้วยดี มันก็ถือว่าเป็นชีวิตที่เศร้า
บทจบจึงไม่สำคัญเท่าบทอื่น ๆ ทั้งเรื่อง
จุดหมายอาจไม่สำคัญเท่าสองข้างทาง
1
บางครั้งเราอาจต้องวิ่ง บางครั้งก็ควรเดิน แต่ถ้าต้องวิ่งตลอดทางก็คงไม่ใช่ชีวิตที่สนุกนัก
จากหนังสือ สองปีกของความฝัน / วินทร์ เลียววาริณ
https://www.winbookclub.com/store/detail/88/สองปีกของความฝัน
11 บันทึก
47
26
11
47
26
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย