29 ส.ค. เวลา 04:27 • ข่าวรอบโลก
ประเทศไทย

รู้จัก “ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน” และบทบาทของสื่อในการรายงานข่าว

ท่านผู้อ่านเคยได้พบเจอกับกลุ่มผู้โยกย้ายถิ่นฐานในไทยไหมคะ? และท่านผู้อ่านมีความรู้สึกอย่างไรต่อพวกเขาเหล่านี้บ้าง?
รู้หรือไม่ว่าประเทศไทยมีผู้โยกย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศอยู่ 3.63 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.2 ของประชากรไทย แน่นอนว่าในปัจจุบันยังมีคนไทยจำนวนมากที่ยังมีความคิดเห็นที่ไม่ค่อยดีนักต่อกลุ่มผู้โยกย้ายถิ่นฐาน
สาเหตุหนึ่งอาจมาจากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ที่นำเสนออย่างคลาดเคลื่อนและบิดเบือนจากความเป็นจริง ซึ่งนำไปสู่การเข้าใจผิดของผู้คนทั่วไป ทำให้ผู้โยกย้ายถิ่นฐานตกเป็นเป้าหมายต่อความเห็นเชิงลบ และส่งผลต่อความเป็นอยู่ของพวกเขาเหล่านี้ด้วย เพราะฉะนั้น สื่อจึงมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากในการช่วยเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง และขับเคลื่อนความเห็นเชิงบวกของสาธารณชนต่อกลุ่มผู้โยกย้ายถิ่นฐานนั่นเองค่ะ
ด้วยเหตุผลนี้ ทางกระทรวงการต่างประเทศจึงร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือ IOM (International Organization for Migration) จัดโครงการฝึกอบรมเรื่องการรายงานข่าวเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานสำหรับผู้สื่อข่าวขึ้น เมื่อวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2567 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ เสริมความเป็นมืออาชีพในการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายถิ่นฐานในประเทศไทย
โดยมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมอธิบายในหัวข้อต่างๆ เริ่มตั้งแต่การโยกย้ายถิ่นฐานคืออะไร พวกเขาเหล่านี้จะย้ายไปที่ไหน และเดินทางย้ายไปอย่างไร ตลอดจนการรายงานข่าว การถ่ายภาพ และการใช้คำศัพท์ได้อย่างเหมาะสมและมีจริยธรรม ซึ่งดิฉันขอนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอบรมครั้งนี้มาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ฟัง ในส่วนที่จะเพิ่มความเข้าใจให้เราในฐานะของประชาชนทั่วไปค่ะ
ผู้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเรื่องการรายงานข่าวเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐาน (ภาพโดย กระทรวงการต่างประเทศ)
นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และนางสาว Géraldine Ansart หัวหน้าสำนักงาน IOM ประเทศไทย (ภาพโดย กระทรวงการต่างประเทศ)
เมื่อพูดถึงนิยามของคำว่า “ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน” แท้จริงแล้วมีความหมายที่กว้างมาก แต่เรื่องของการโยกย้ายถิ่นฐานนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเราเลย เพราะเราเองก็อาจจะเป็นหนึ่งในผู้โยกย้ายถิ่นฐานด้วยก็ได้ค่ะ เพราะการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ หรือ การเดินทางเข้ามาทำงานในจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่บ้านเกิด ก็ถือเป็นการโยกย้ายถิ่นฐานเช่นกัน
ทำให้ตัวเลขจริงๆ ของจำนวนผู้โยกย้ายถิ่นฐานมีมากกว่าที่เราคิด โดยแนวโน้มในศตวรรษที่ 21 คาดว่าจำนวนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทั่วโลกที่ 1.021 พันล้านคน หรือ 1 ใน 7 ของประชากรทั่วโลกเลยทีเดียว
แม้มีคนไทยบางส่วนมองว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติอาจจะเข้ามาแย่งงานของคนไทย แต่รู้หรือไม่ว่างานส่วนใหญ่ที่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เลือกทำ ไม่ว่าจะเป็นงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง การเกษตร การประมง งานบริการ หรือแม้กระทั่งงานบ้าน เป็นงานที่คนไทยมักไม่นิยมทำ และประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอยู่บ่อยครั้ง เพราะฉะนั้น การเข้ามาของคนกลุ่มนี้จึงไม่ได้เป็นการแย่งงานคนไทย แต่กลับเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทย
โดยในปัจจุบัน แรงงานกลุ่มนี้มีส่วนช่วยให้ตัวเลข GDP ของไทยเติบโตขึ้นร้อยละ 4-5 และในอนาคต แรงงานข้ามชาติก็อาจจะยิ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและอาจประสบภาวะขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นจำนวนมากด้วย
โดยในการรายงานข่าวเกี่ยวกับผู้โยกย้ายถิ่นฐาน สื่อมวลชนควรคำนึงถึงความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ถูกสัมภาษณ์ เริ่มตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนการรายงานข่าว ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม การตรวจสอบข้อมูลเปรียบเทียบ การขอคำยินยอมจากผู้ให้สัมภาษณ์ ตลอดจนการปิดบังตัวตนของผู้ให้สัมภาษณ์โดยใช้ชื่อสมมติและการปิดบังใบหน้า ในกรณีที่มีความเหมาะสม แม้แต่ในกรณีที่ผู้ถูกสัมภาษณ์ยินยอม
อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้สื่อข่าวควรคำนึงถึง คือบทบาทในการส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกในการรายงานข่าว ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี อย่างการใช้คำที่เหมาะสม เช่น การใช้คำว่า “การย้ายถิ่นฐานแบบปกติและแบบไม่ปกติ” แทนการใช้คำว่า “การย้ายถิ่นฐานแบบผิดกฎหมาย” “บุคคลต่างด้าว” หรือแม้กระทั่ง “แรงงานเถื่อน”
รวมถึงการนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและตรงไปตรงมา เพื่อให้ผู้ชมได้รับทราบข้อเท็จจริงในหลากหลายมุมมองและปราศจากอคติ ซึ่งแนวทางเหล่านี้ได้มีการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนกันในระหว่างการอบรมครั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการรายงานข่าวด้วยค่ะ
บรรยากาศการฝึกอบรม (ภาพโดย กระทรวงการต่างประเทศ)
หลังจากการฝึกอบรมเสร็จสิ้น ดิฉันได้มีโอกาสสัมภาษณ์ตัวแทนผู้สื่อข่าวที่เข้าร่วมจำนวน 2 ท่าน ถึงความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวก่อนการเข้าร่วมอบรม ตลอดจนความคาดหวังจากกิจกรรม และความรู้สึกหลังได้เข้าร่วมกิจกรรม
ท่านแรกคือ คุณณฐาภพ สังเกต นักข่าวอิสระด้านสิทธิมนุษยชน ที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้เพื่อที่จะได้เข้าใจประเด็นเกี่ยวกับผู้โยกย้ายถิ่นฐานในบริบทระหว่างประเทศมากขึ้น ตลอดจนสร้างเครือข่ายและขยายแหล่งข้อมูลในประเด็นดังกล่าว
ซึ่งหลังจากเข้าร่วมโครงการ คุณณฐาภพได้แสดงความเห็นว่าอยากให้กระทรวงฯ จัดโครงการในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก เพราะเป็นโครงการที่ผู้เข้าร่วมจะได้รับข้อมูลที่มีประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญในวงการข่าว รวมถึงทำให้คุณณฐาภพได้เจอเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน จนได้รับกำลังใจและแรงผลักดันในการรายงานเรื่องผู้ผลัดถิ่น/ผู้โยกย้ายถิ่นฐานเพิ่มขึ้น
ท่านที่สองคือ คุณชลธิชา อินทะชัย จากสำนักข่าว The Matter ผู้ซึ่งมีความรู้และความสนใจในประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐานจากการทำงานเป็นนักข่าว และตั้งใจเข้าร่วมโครงการครั้งนี้เพื่อเรียนรู้วิธีการใช้คำพูดและการหาข้อมูลให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น โดยหลังจากเข้าร่วม คุณชลธิชารู้สึกได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ของโครงการจนสามารถจดจำความรู้ต่างๆ ได้มากขึ้น และกระตุ้นให้คุณชลธิชายังอยากเรียนรู้ในประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมต่อไปในอนาคต
จากโครงการในครั้งนี้ เราจะเห็นได้ว่าสื่อมวลชนมีส่วนสำคัญในการรายงานข่าวเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในประเด็นผู้โยกย้ายถิ่นฐานแก่คนทั่วไป รวมถึงส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคมด้วย แต่ท้ายที่สุดแล้ว เราผู้เสพสื่อทุกคนก็ยังคงถือเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่สุดในการเลือกที่จะเชื่อและมีมุมมองที่ถูกต้องต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐานค่ะ
โฆษณา