Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bangkok Bank SME
•
ติดตาม
26 ส.ค. 2024 เวลา 10:00 • ธุรกิจ
เจอกันเพราะ Demand and Supply ‘คิว บ็อคซ์ พอยท์’ Agri-Tech Startup ผู้ขับเคลื่อนเกษตรแม่นยำ
ด้วย Digital Transformation
ยกระดับอาชีพเกษตร และธุรกิจเกษตรของไทยให้มุ่งไปในทิศทางที่ยั่งยืน ในฐานะผู้ผลิตอาหารโลก ปัจจัยสำคัญ คือการปรับเปลี่ยนกระบวนการ และบริหารจัดการให้สามารถพัฒนาผลผลิตที่มีศักยภาพมากขึ้น เหตุนี้ การทำเกษตรก้าวหน้าโดยนำ Digital Transformation มาปรับปรุง เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ ทั้งในแง่การบริหารจัดการผลผลิตเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture)
ตลอดจนการปรับเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) ของเกษตรกร ปรับปรุงกระบวนการที่ลดความสูญเสีย และบริหารจัดการด้านซัพพลายเชน (Supply Chain) ที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล จึงเป็นความยั่งยืนของภาคเกษตรอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ความแม่นยำในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร และองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการซัพพลายเชนของธุรกิจเกษตรจะเกิดขึ้นได้นั้น ประการสำคัญ คือ เทคโนโลยี ที่เป็นเครื่องมือในการจัดการ และต้องมีข้อมูล (Data) ที่เพียงพอ ทั้งด้านการผลิตและการตลาด แต่ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ การยกระดับสู่การทำเกษตรสมัยใหม่จึงไม่ใช่เรื่องง่าย
ปัจจุบัน หลายภาคส่วนพยายามผลักดันเกษตรไทย 4.0 อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น บริษัท คิว บ็อคซ์ พอยท์ จำกัด Agri-Tech Startup หรือ ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการเกษตรที่ดำเนินธุรกิจทางด้านซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) เพื่อบริหารเกษตรแปลงใหญ่ กลุ่มพืชเศรษฐกิจหลัก เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม และข้าวโพด ให้กับโรงงานอุตสาหกรรม จัดการด้านซัพพลายเชน (Supply Chain Management) โดยวางแผนผลิตพืช และรับผลผลิตเข้าสู่กระบวนการในอุตสาหกรรมอย่างแม่นยำ
ก่อนจะพัฒนาแพลตฟอร์ม Farmbook ที่พื้นฐานยังคงเป็นระบบ ERP เวอร์ชันที่ปรับปรุง และพัฒนาให้เกษตรกรรายเดี่ยว รายย่อย รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรต่าง ๆ ใช้เป็นเครื่องมือการผลิตในฟาร์ม ตลอดจนสามารถวางแผนบริหารจัดการต้นทุนตลอดกระบวนการได้อย่างแม่นยำ ตรงตามความต้องการผู้ซื้อ และแข่งขันได้ในตลาด
โจทย์ของผู้ผลิตและผู้ซื้อ
คุณธิติพันธ์ บุญมี กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิว บ็อคซ์ พอยท์ จำกัด กล่าวว่า นับตั้งแต่ภาครัฐส่งเสริมการทำเกษตร 4.0 จากเดิมที่ธุรกิจทำระบบ ERP ให้กับโรงงาน จึงมีแนวคิดว่า หากสามารถลด Scale ของระบบ เพื่อให้เกษตรกรใช้ได้ คงจะดี จึงสร้างแพลตฟอร์มชื่อ Farmbook แต่พบปัญหาค่อนข้างเยอะในช่วงเริ่มต้น
คือ เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่ากระบวนการผลิตมีปัญหา แต่เป็นเรื่องการตลาดมากกว่า เช่น จะเริ่มปลูกอะไร เก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อไหร่ ตลาดรองรับอยู่ที่ไหน เพื่อให้ขายสินค้าได้ราคา สิ่งเหล่านี้กลายเป็นโจทย์ด้านผู้ผลิตที่ถูกนำมาพัฒนาปรับปรุงแพลตฟอร์ม
สำหรับตลาดรับซื้อผลผลิตเกษตร ที่ผ่านมา Farmbook ได้เสนอไอเดียแก่ธุรกิจต่าง ๆ เพื่ออธิบายถึงความสามารถของแพลตฟอร์มที่ช่วยบริหารจัดการ Supply Chain ว่าสามารถเชื่อมโยงตลาดระหว่างเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิต กับผู้รับซื้อผลผลิตกการเกษตรได้ ด้วยโมเดล Reverse supply Chain (ตลาดนำการผลิต) โดยลำดับเป้าหมายของตลาดรับซื้อผลผลิต 4 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม (Food Processing) เป็นกลุ่มหลักที่ธุรกิจมีศักยภาพ จากการบริหารเกษตรแปลงใหญ่เพื่อรับผลผลิตเข้าสู่กระบวนการอุตสาหกรรม
2. กลุ่มโมเดิร์นเทรด โรงแรม ร้านอาหาร (Food Service) ที่มีศักยภาพเหมาะสมกับการรับซื้อผลผลิตเกษตรที่หลากหลาย
3. กลุ่มผู้รวบรวมสินค้า ผู้ส่งออก และผู้นำเข้า (Food Exporter) ปัจจุบันอยู่ในช่วงทดลองตลาด
4. กลุ่มผู้บริโภคในครัวเรือน (Food Delivery) คือแนวคิดที่จะขยายชุมชนเกษตรและเครือข่ายผู้บริโภค
จับคู่ด้วย Demand-supply matching System
คุณธิติพันธ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ เพื่อรับทราบความต้องการของผู้ผลิต และผู้รับซื้อ เห็นได้ชัดว่า ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด หรือราคาผลผลิตตกต่ำ ส่วนหนึ่งเกิดจาก ผู้ผลิตและผู้ซื้อหากันไม่เจอ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้งยังไม่ได้มีการวางแผนผลิตร่วมกัน
ในแง่ของผู้ผลิตที่เป็นเกษตรกร ให้ความสำคัญเรื่องตลาดและราคาผลผลิต ขณะที่ผู้ซื้อที่เป็นโมเดิร์นเทรด มีความต้องการรับซื้อผลผลิต แต่อุปสรรคคือ ความไม่เชื่อมั่น 3 เรื่องหลัก ๆ คือ
1. ไม่มีข้อมูลผลผลิตเพียงพอ ว่ามีเกษตรกรผลิตอยู่ในพื้นที่ใด และกำลังปลูกอะไรอยู่บ้าง
2. บ้าง
3. มีความต้องการสินค้าปริมาณมาก แต่เกษตรกรผลิตได้ไม่เพียงพอ หรือต่อเนื่อง
4. ขาดความมั่นใจในสินค้าเกษตรที่จัดส่ง ว่ามาจากแหล่งที่ได้วางแผนร่วมผลิตไว้จริง
เหตุนี้ Farmbook จึงนำความต้องการของทั้ง 2 ฝ่าย มาสร้างโมเดลใหม่ เรียกว่า Demand-supply matching System ระบบจับคู่ระหว่างผู้ผลิต และผู้ซื้อ ที่มีคุณสมบัติตรงกัน เพื่อให้รับทราบข้อมูลระหว่างกัน ทำสัญญาซื้อขายเสร็จภายใน 24 ชม. สามารถวางแผนการผลิตล่วงหน้าร่วมกัน ไปจนถึงขั้นตอนส่งมอบสินค้าได้ตามความต้องการของผู้ซื้อได้ จนเกิดการซื้อขายอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้ขยายผลไปในโมเดิร์นเทรดหลายแบรนด์ และมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรที่เข้าร่วม จำนวน 120 แห่ง
ระบบจับคู่ ทำงานอย่างไร
Supply Chain Management เป็นเครื่องมือหนึ่งของแพลตฟอร์ม Farmbook ใช้ข้อมูลจับคู่ระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อ จากการรวบรวม และบันทึกเพื่อสร้าง Crop calendar หรือ ปฏิทินการผลิตสินค้าเกษตรแต่ละพื้นที่ มาจับคู่กับความต้องการของผู้ซื้อ เช่น หากผู้ซื้อต้องการสินค้าเกษตรในช่วง 3 เดือนข้างหน้า จะมีแปลงเกษตรที่ไหนบ้าง ที่มีผลผลิตตามต้องการและเพียงพอในช่วงเวลานั้น ระบบจะคัดเลือกผู้ผลิตที่เหมาะสมแต่ละแห่งให้แก่ผู้ซื้อ
หากเงื่อนไขตรงกันทั้ง 2 ฝ่าย ระบบ Demand Planning จะเสนอราคา และวางแผนผลิตกับเกษตรกรตามสเปคที่ผู้ซื้อต้องการได้ โดยแพลตฟอร์มมีระบบติดตามสถานะ (Traceability Process) ของทั้งสองฝั่งเพื่อให้รับทราบข้อมูลสถานะการดำเนินงาน ตลอดจนสามารถตรวจสอบย้อนกลับในกระบวนการผลิต บรรจุ จัดส่ง และมีการทำระบบคะแนน (Credit Score) สำหรับเกษตรกร เช่น คุณภาพผลผลิต และอัตราการส่งมอบสินค้า หากได้คะแนนดี สามารถนำไปลดเครดิตเทอม (Credit Term) ได้
จุดเด่นของ Supply Chain Management ไม่เพียงสร้าง Ecosystem ระหว่างผู้ซื้อและผู้ผลิต แต่ยังช่วยลดขั้นตอน ระยะเวลา และกระบวนการตรวจแปลง ด้วยการใช้ข้อมูลจากแปลงเกษตรที่รวบรวมไว้ จึงลดเวลาในการตรวจสอบ ส่งผลให้การซื้อขายเกิดความเชื่อมั่น โดยมี Farmbook เป็นผู้จัดสรรให้เกิดความพึงพอใจทั้งสองฝ่าย
เกษตรแม่นยำ ลดต้นทุนทุกกระบวนการ
Supply Chain Management อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของ Farmbook ที่เป็นซอฟท์แวร์ ERP ทำให้เกษตรกรทราบว่า คู่ค้าที่ซื้อขายกัน มีกระบวนการทำงานอย่างไร เพื่อใช้เป็นข้อมูลด้าน Supply ออกมา เช่น การขายผักกับโมเดิร์นเทรด ต้องผ่านกระบวนการใดบ้าง ตั้งแต่การผลิตหน้าฟาร์ม ตัดแต่ง คัดแยก บรรจุ และขนส่ง เพื่อให้เกษตรกร เรียนรู้เรื่องกระบวนการบริหารจัดการซัพพลายเชนได้อย่างมีประสิทธิภาพนอกเหนือจากการซื้อขายหน้าฟาร์ม
“เกษตรกร เคยชินกับระบบการซื้อหน้าฟาร์ม ที่ไม่ต้องดำเนินการด้านซัพพลายเชน ด้วยเหตุผลที่ไม่อยากบริหารหรือแบกรับความเสี่ยงในสิ่งที่ไม่ชำนาญ แม้จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นก็ตาม เราจึงต้องการปรับ Mindset เกษตรกรแบบดั้งเดิม สู่นักธุรกิจเกษตรที่มีความรู้เรื่องบริหารจัดการด้วย”
เบื้องต้น หากเกษตรกรยังบริหารจัดการเองไม่ได้ ทางแพลตฟอร์มจะมีบริการ Partnership Value Chain เช่น บริการขนส่งโดยรถควบคุมอุณหภูมิ การบรรจุ แพ็คสินค้า ก่อนส่งโมเดิร์นเทรด โดยจัดหา Partner มืออาชีพ ในกระบวนการต่าง ๆ ที่มีหลักปฏิบัติตามกฎ และเงื่อนไขของ Farmbook เพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการทำงาน
“เราพยายามโฟกัสที่ผลกำไรสูงสุดที่เกษตรกรควรได้รับ จึงมุ่งเน้นด้าน Digital Transformation โดยให้ความสำคัญทุกกระบวนการของซัพพลายเชนสินค้าเกษตร ก่อนถึงมือผู้ซื้อ”
ด้านการผลิต Farmbook ได้เก็บรวบรวมข้อมูลภายในฟาร์มจำนวนมากเช่นกัน ตั้งแต่การจัดสรรพื้นที่ คัดเลือกพันธุ์ ดิน ธาตุอาหาร สภาพแวดล้อม และการเก็บเกี่ยว โดยสร้างโมดูลชื่อว่า Crop Profile เป็นขั้นตอนการปฏิบัติงาน และบันทึกข้อมูลการผลิตสินค้าเกษตรตามขั้นตอนที่ถูกต้อง
เพื่อให้เกิดความแม่นยำด้านการผลิตในทุกกระบวนการ ตลอดจนใช้พื้นที่ให้เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุด โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้ พัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
นำร่อง Farm Manager กลุ่มเกษตรกรหัวขบวน
การผลักดันด้าน Digital Transformation ปัญหาคือ เกษตรกรส่วนใหญ่ มีข้อจำกัดเรื่องการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงต้องอาศัยผู้ช่วยมารับดำเนินการ สอนสิ่งเหล่านี้ให้เกษตรกรเพื่อแก้ Pain Point ดังกล่าว จึงเกิดเป็น ‘โครงการเกษตรกรหัวขบวน’ แห่งแรก ที่ชุมชนเกษตรแม่เมาะ จ.ลำปาง โดยรวมกลุ่มเกษตรของชุมชน
เพื่อพัฒนาเกษตรกร หันมาปรับใช้เทคโนโลยี ให้ได้ผลผลิตที่ตลาดต้องการอย่างเพียงพอ และจัดตั้งเป็นนิติบุคคล คล้ายกับ SME มีโครงสร้างการบริหารงานในรูปแบบบริษัท จ้างบุคลากรคนรุ่นใหม่ในพื้นที่เพื่อรับผิดชอบในงานต่าง ๆ เป็นการกระจายงาน และสร้างอาชีพในชุมชนด้วย รวมถึงการจ้าง Farm Manager เพื่อทำหน้าที่ คือ
1. สนับสนุนด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อผลักดัน หรือส่งเสริมกลุ่มเกษตรตามบทบาทหน้าที่ ทั้งจัดทำ รวบรวมข้อมูลฟาร์ม ผลผลิต เพื่อพัฒนาฟาร์มให้สามารถจับคู่กับผู้ซื้อให้ได้
2. นักวางแผน (Planner) เมื่อมีการจับคู่และคำสั่งซื้อเข้ามา จะต้องวางแผนกระบวนการเพาะปลูกให้ตรงตามเงื่อนไข และระยะเวลาเก็บเกี่ยวเพื่อส่งมอบสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ
3. ตรวจสอบคุณสมบัติและคุณภาพสินค้า ตรวจสินค้าก่อนส่งมอบตามเงื่อนไขของผู้ซื้อแต่ละราย
4. ปัจจุบัน Farmbook ทำ Matching กับโมเดิร์นเทรดหลายราย ดังนั้น ผลผลิตในฟาร์ม จึงต้องตรวจสอบและควบคุมสินค้าให้ตรงตามเงื่อนไขของการสั่งซื้อแต่ละราย รวมทั้งรักษาคุณภาพให้สม่ำเสมอ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กลุ่มเกษตรด้วย
คุณธิติพันธ์ มองว่า ข้อดีของการจ้าง Farm Manager มาทำหน้าที่ขับเคลื่อนกลุ่มเกษตร และช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่ชำนาญ จะช่วยยกระดับกลุ่มเกษตรให้เติบโต มีรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยรูปแบบการบริหารงานเช่นเดียวกับบริษัท ทำให้เกิดการจ้างงาน มีเงินหมุนเวียน สร้างเศรษฐกิจจากรากฐานของชุมชน
โดยโครงการเกษตรกรหัวขบวน นำร่องโดยชุมชนเกษตรแม่เมาะ จ.ลำปาง เป็นแห่งแรก และวางเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 30 แห่งทั่วประเทศ ในอนาคต
ต่อยอด Farm Factoring
การจำหน่ายผลผลิตสินค้าเกษตรแบบ B2B ให้กับ โรงงาน, โมเดิร์นเทรด, โรงแรม, และร้านอาหารต่าง ๆ ย่อมมีเครดิตเทอม (Credit Term) เกษตรกรที่ส่งมอบสินค้าเป็นจำนวนมากในแต่ละสัปดาห์ อาจต้องสำรองจ่ายก่อน ทำให้ต้นทุนสูง เป็นอีกหนึ่งข้อจำกัด ที่ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถขยายผลผลิต หรือขยายตลาดให้มีมูลค่าสูงขึ้นได้
Farmbook จึงหาโซลูชั่นเพื่อช่วยเกษตรกร โดยพัฒนาแพลตฟอร์มแบบ Cloud Factoring เพื่อให้บริการสินเชื่อระยะสั้น โดยรับซื้อลูกหนี้การค้า (Factoring) กรณีที่เกษตรกรได้ผลผลิต และจัดส่งสินค้าให้ผู้ซื้อเรียบร้อยแล้ว แต่ยังต้องรอเครดิตเทอม ใช้ชื่อแพลตฟอร์มว่า Farm Factoring ปัจจุบันกำลังดำเนินตามขั้นตอนของธนาคารแห่งประเทศไทย
เพื่อกำหนดข้อปฏิบัติและระเบียบตามเงื่อนไข หากแพลตฟอร์มได้ใบอนุญาต จะสามารถดำเนินการซื้อหนี้การค้าจากเกษตรกรได้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำเงินไปหมุนเวียนลงทุนรอบต่อไป โดยไม่ต้องรอเครดิตเทอม
ปัจจุบัน และอนาคตของ Farmbook
คุณธิติพันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน Farmbook เน้นการผลิตเพื่อความต้องการของตลาด (On Demand) ในสินค้าเกษตรทุกกลุ่ม ทั้ง พืชไร่ ไม้ผล ผัก ปศุสัตว์ และประมง ขณะนี้ยังพัฒนาได้เพียง 20% จากความต้องการในอุตสาหกรรมอาหาร ดังนั้น จึงมีอีกหลายเรื่องที่ต้องพัฒนาต่อ เพื่อให้ครอบคลุมทั้งซัพพลายเชน
ขณะนี้ เรายังเป็นแพลตฟอร์มระบบปิดที่ใช้งานเฉพาะกลุ่มและคู่ค้าเท่านั้น จุดประสงค์คือลดการจำหน่ายสินค้าหน้าฟาร์มลง ให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิต และรายได้ แต่ยังต้องอธิบายขั้นตอนที่มีรายละเอียดพอสมควร จึงยังไม่พร้อมจะขยายไปสู่สาธารณะได้
สำหรับเกษตรกรที่ต้องการนำแพลตฟอร์มไปใช้ เพื่อวางแผนผลผลิตหรือจับคู่ในตลาด สามารถติดต่อ Farmbook เพื่อรับทราบข้อเสนอและโจทย์ของคู่ค้า รวมถึงการแนะนำระบบ ตามเงื่อนไขของแพลตฟอร์ม โดยปกติใช้เวลาในการอบรมประมาณ 2 สัปดาห์ และการวางแผนการผลิต อีกประมาณ 3 เดือน
“Farmbook ดำเนินการมาประมาณ 6 ปี พยายามแก้ Pain Point ในภาคเกษตรกร ทั้งผู้ผลิต และผู้ซื้อโดยสร้าง Ecosystem ให้หากันเจอด้วยข้อมูล Demand และ Supply โดยวางจุดยืนเป็น Developer Partner ของอุตสาหกรรมเกษตร ส่วนเป้าหมายต่อไปคือการเป็น Supply Sourcing Hub of Thailand แม้โจทย์จะค่อนข้างใหญ่มาก แต่เราต้องการทำให้สำเร็จ”
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่:
https://farmbook.co/
https://web.facebook.com/FarmbookOfficial/?_rdc=1&_rdr
https://www.youtube.com/watch?v=0D9GE3-77R0
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย