27 ส.ค. 2024 เวลา 03:13 • หุ้น & เศรษฐกิจ

📌อัตราดอกเบี้ยนโยบาย: ภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางเศรษฐกิจ

นโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting: IT) ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของนโยบายการเงินในหลายประเทศทั่วโลก โดยมุ่งเน้นการควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบที่กำหนดเพื่อสร้างเสถียรภาพและส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ได้บุกเบิกการทำนโยบายแบบกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 1990 หลังจากนั้นได้แพร่หลายไปอีกกว่า 30 ประเทศทั่วโลก (ไม่รวมประเทศในสหภาพยุโรป) ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้นำกรอบการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อมาใช้ในปี 2000 หลังวิกฤตการณ์ในปี 1997-1998 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อถือและฟื้นฟูเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วยกรอบการดำเนินนโยบายที่โปร่งใสและสามารถคาดการณ์ได้
ในช่วงแรกธนาคารกลางหลายแห่งใช้วิธีการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อแบบเข้มงวด ดังนั้นในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวทางการมักเรียกร้องให้ธนาคารกลางลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารกลางต้องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อ
ผลลัพธ์ที่ได้จากความขัดแย้งดังกล่าว คือ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงันและยืดเยื้อ โดยปัญหาการประสานงานระหว่างธนาคารกลางและรัฐบาลเกิดขึ้นในหลายประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป (ช่วงปี 2010-2015) อินเดีย (ช่วงปี 2013-2014) รัสเซีย (ช่วงปี 2014-2015) บราซิล (ช่วงปี 2015-2016) แอฟริกาใต้ (ช่วงปี 2015-2016) ตุรกี (ช่วงปี 2018-2019) เป็นต้น
ในกรณีของไทย ธปท. ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 รวม 8 ครั้ง จากร้อยละ 0.50 เป็น 2.50 ต่อปี เพื่อรับมือกับระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงซึ่งมีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน ขณะที่การปรับประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อจะมีทิศทางไม่ชัดเจน หรืออาจกล่าวได้ว่ามีการปรับประมาณการทุกครั้งที่มีข้อมูลทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม
โดยในการประชุมเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 คาดว่าในปี 2565 เศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 4.8 แต่ก็ได้มีการปรับลดลงถึง 9 ครั้ง จนมาอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 (รูปที่ 1)
รูปที่ 1
ขณะที่ข้อมูลจริงเศรษฐกิจขยายตัวเพียงร้อยละ 2.6 เช่นเดียวกับในปี 2566 (รูปที่ 2) ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 แต่ก็ได้มีการปรับลดอย่างต่อเนื่องจนอมาอยู่ที่ร้อยละ 2.4 และจบลงด้วยข้อมูลจริงที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 ซึ่งต่างกับในปี 2567 (รูปที่ 3) ที่เริ่มจากการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 3.9 และค่อยๆ ปรับเพิ่มไปสูงสุดที่ 4.4 จากนั้นก็ค่อยๆ ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ขณะที่ข้อมูลจริงเฉลี่ย 2 ไตรมาสอยู่ที่ร้อยละ 1.9
รูปที่ 2 และ 3
ส่วนการประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ที่แม้ว่าในการประมาณการครั้งแรกจะมีการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 (รูปที่ 4) จะอยู่ที่ร้อยละ 1.0 แต่ก็ได้มีการปรับประมาณการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ร้อยละ 6.3 และข้อมูลจริงอยู่ที่ร้อยละ 6.1 ต่างกับในปี 2566 (รูปที่ 5) ที่เริ่มต้นประมาณการที่ร้อยละ 1.4 และค่อยๆ ปรับเพิ่มไปสูงสุดที่ร้อยละ 3.0 จากนั้นก็ปรับมาลดลงต่ำสุดที่ร้อยละ 1.3 โดยข้อมูลจริงอยู่ที่ร้อยละ 1.2
รูปที่ 4 และ 5
เช่นเดียวกับในปี 2567 (รูปที่ 6) ที่เริ่มต้นประมาณการที่ร้อยละ 2.1 และค่อยๆ ปรับเพิ่มไปสูงสุดที่ร้อยละ 2.6 จากนั้นก็ปรับมาลดลงต่ำสุดที่ร้อยละ 0.6 โดยข้อมูลจริง 7 เดือนแรกอยู่ที่ร้อยละ 0.1
รูปที่ 6
อย่างไรก็ตาม ความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายจำเป็นต้องพึ่งพาการคาดการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่แม่นยำซึ่งถือเป็นหัวใจหลักที่สำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อที่มุ่งเน้นการยึดเหนี่ยวความคาดหวังของหน่วยเศรษฐกิจต่างๆ การประมาณการที่ผิดพลาดอาจเกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์หลายประการโดยเฉพาะการก่อให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ความพยายามในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจยากลำบากมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัจจุบัน ธนาคารกลางหลายแห่งได้ปรับเปลี่ยนไปใช้แนวทางการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting: FIT) เช่น อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย หรือแม้แต่นิวซีแลนด์ซึ่งเป็นประทศที่บุกเบิกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อซึ่งรวมทั้งไทยด้วย ที่ต่างก็ยอมให้อัตราเงินเฟ้อเบี่ยงเบนจากเป้าหมายเงินเฟ้อได้ชั่วคราวเพื่อสนับสนุนเป้าหมายทางเศรษฐกิจอื่นๆ ได้แก่ การรักษาเสถียรภาพของผลผลิตและการจ้างงาน
แต่เหนือสิ่งอื่นใด หลักการดำเนินนโยบายไม่ว่าจะด้านการเงินหรือการคลังต่างก็มีจุดมุ่งหมายให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการดำเนินนโยบายให้มากที่สุด ซึ่งจะบรรลุได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินนโยบายของประเทศเป็นสำคัญ
โฆษณา