27 ส.ค. เวลา 04:08 • สิ่งแวดล้อม

มองทางรอดหากกรุงเทพฯ จมน้ำ

“การอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุลและเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอย่างแท้จริง คือความเจริญที่มั่นคงและยั่งยืนที่สุด”
ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่อนาคตศาสตร์ FutureTales LAB by MQDC ให้สัมภาษณ์ในหัวข้อ “มองทางรอดหากกรุงเทพฯ จมน้ำ”
ปัจจุบัน ปัญหากรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองจมน้ำ มีสาเหตุมาหลักจากปัญหาดินยุบตัวลงควบคู่ไปกับระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและรุกคืบเข้าสู่เมือง ปัญหาฤดูกาลที่ไม่แน่นอนจากปัญหาสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ การขยายตัวของเมืองแบบกระจัดกระจาย (Urban Sprawl) ในอดีตและการบริหารจัดการเมืองอย่างไม่เป็นเอกภาพ ทำให้กรุงเทพกลายเป็นเมืองที่รองรับการใช้งานมากเกินไป ส่งผลให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและความมั่นคงทางอาหารมีความท้าทายมากขึ้น
การย้ายเมืองหลวง ไม่ใช่คำตอบที่สมบูรณ์สำหรับประเทศไทย เพราะกรุงเทพเป็นเมืองที่มีสถานที่และความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมสำคัญจำนวนมาก นอกจากนี้ กรณีศึกษาในต่างประเทศทำให้เห็นว่า การย้ายเมืองหลวงจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมาก ในทางกลับกัน การกระจายความเจริญ การกระจายอำนาจ และการกระจายทรัพยากรไปสู่เมืองท่า เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต เป็นต้น และเมืองรอบข้างเมืองในลักษณะเมืองย่อย (Satellite city) จะเป็นแนวทางที่ทำให้ทั้งกรุงเทพและประเทศไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนมากกว่า
การวางผังเมืองนับจากนี้ ไม่อาจให้ความสำคัญกับมิติด้านเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว การสร้างโครงสร้างพื้นฐานสีเทา (Grey infrastructure) เช่น เขื่อนกันน้ำ เป็นต้น จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติชีวนิเวศ
ในอีกทางหนึ่ง การออกแบบผังเมืองที่เตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง (Resilience design) และเป็นมิตรกับธรรมชาติ (Nature-positive design) อย่างโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green infrastructure) เช่น การฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน เป็นต้น เพื่อดูดซับและชะลอน้ำ ควบคู่ไปกับการรักษาผลิตภาพการใช้ชีวิต จะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ประเทศไทย ยังสามารถต่อยอดภูมิปัญญาคนไทยร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อทำความเข้าใจบริบทแต่ละพื้นที่และหาแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม เช่น แนวคิดเมืองลอยน้ำ (Floating city) ในต่างประเทศ สอดคล้องกับแนวคิด เรือนแพ ในประเทศไทย สิ่งสำคัญคือการบริหารจัดการน้ำ การจัดการขยะ และการบริหารความเสี่ยงภัยพิบัติ
สำหรับบุคคลและองค์กร สามารถใช้งานแพลตฟอร์มข้อมูล Urban Hazard Studio ซึ่ง FutureTales LAB by MQDC พัฒนาร่วมกับ ESRI ประเทศไทย โดยมี รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ เป็นที่ปรึกษาด้านการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงภัยพิบัติ ศึกษาข้อมูลบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อพยากรณ์ระดับน้ำรายพื้นที่แต่ละทศวรรษ เพื่อวางแผนป้องกันพื้นที่และชุมชน
รวมถึงจำลองสถานการณ์แต่ละฉากทัศน์ เช่น สถานการณ์ฝนร้อยปี ฝนพันปี เป็นต้น เพื่อให้บุคคลและองค์กรสามารถออกแบบเส้นทางน้ำและการพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสม ได้ที่ www.urbanhazardstudio.com
ติดต่อเพื่อจัดอบรมหรือบริการที่ปรึกษาเพื่อสุขภาวะ ความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และการรองรับต่ออนาคต: contact@futuretaleslab.com
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com หรือติดตามที่ https://www.blockdit.com/futuretaleslab
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureUpdate #FutureofSustainability #Resilience #MQDC
โฆษณา