27 ส.ค. เวลา 08:35 • การศึกษา

จันโททัย : เล่าเรื่อง "มหัศจรรย์วัดบ้านถ้ำ" เมืองขุนแผน

ไปค้นเจอเรื่องราวของวัดบ้านถ้ำ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี จึงอดไม่ได้ที่จะต้องนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
วัดบ้านถ้ำที่ว่านี้ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของลำน้ำแม่กลอง ในตำบลเขาน้อย อำเภอท่าม่วง อยู่ห่างจากเขื่อนแม่กลองไปทางเหนือ ประมาณ 4 กิโลเมตร เพราะมีถ้ำเป็นสำคัญอันเป็นสัญลักษณ์จึงเรียกว่า "วัดบ้านถ้ำ" และเรียกประชาชนที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในบริเวณนี้ว่า "ชาวบ้านถ้ำ"
ท่านพระครูกาญจโนภาส หรือ พระมหาไชญาณ ชยโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านถ้ำได้เคยเล่าประวัติของวัดนี้ไว้ว่า...
เดิมทีสมัยสุโขทัย มีเศรษฐีคนหนึ่งเห็นว่า ถ้ำที่วัดนี้ใหญ่โตสวยงาม ภายในถ้ำมีปล่องให้แสงสว่างสาดส่องไปถึง จึงได้นิมนต์พระภิกษุองค์หนึ่งที่มีเวทมนตร์คาถากล้าแข็งมาก มาจำพรรษา
แรกนั้น ฝ่ายเศรษฐีได้รับคำสั่งสอนจากหลวงพ่อก็มีศรัทธา จึงได้สร้างพระพุทธรูปใหญ่องค์หนึ่งไว้ในถ้ำเป็นแบบพระพุทธชินราชขนาดสูง 11 ศอก ซึ่งไม่นับจากฐานหน้าตัก กว้าง 8 ศอกเศษ ไม่ทราบแน่ชัดว่าภายในองค์พระทำด้วยวัตถุชนิดใด แต่ภายนอกฉาบปูนลงรักปิดทอง
หลวงพ่อองค์นี้ ซึ่งมีอภินิหารแก่กล้า สามารถเดินไปในซอกหินได้ตลอดทั้งภูเขาทะลุถึงถ้ำมังกรทอง อำเภอเมืองกาญจนบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากวัดบ้านถ้ำไปประมาณ 10 กิโลเมตร เพื่อมาสรงน้ำที่สระบัววัดถ้ำมังกรทอง แล้วจะเก็บดอกบัว 1 มัด มาบูชาพระใหญ่ในถ้ำเป็นประจำ ซึ่งการเดินทางดังกล่าว คือ ต้องใช้ ไต้ 1 มัด 20 ใบ จุดส่องทาง
(หมายเหตุ : ไต้ หรือ ขี้ไต้ เป็นเชื้อไฟ เป็นวัสดุไว้ก่อไฟ หุงอาหาร ก่อไฟเตาถ่าน ก่อฟืน ใช้สำหรับช่วยจุดเตาถ่าน ก่อกองไฟต่างๆได้ เหมาะสำหรับ ท่านที่เดินป่า )
ระยะทางที่จะไปหากไม่มีสมาธิพอก็ไปไม่ตลอด เพราะภายในบาดาลภูเขามีพื้นดิน มีหาดทราย และ ชาวบ้านลับแลอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นผู้ที่จะผ่านไปได้ต้องมีศีลมีคุณธรรมมีความซื่อสัตย์ดี ถ้าไร้สัตย์ก็จะถูกนางผีเสื้อยักษ์ที่เฝ้าด่านรักษาประตูทำอันตราย
ต่อมาเมื่อลูกชายของเศรษฐีโตขึ้น เศรษฐีจึงให้เป็นศิษย์หลวงพ่อและบวชสามเณร ผู้เห็นหลวงพ่อเดินไปในช่องภูเขาได้ทุกวัน ก็อยากตามไปด้วย แม้จะได้ห้ามปรามแล้วก็ยังขอติดตามหลวงพ่อไปให้ได้
หลวงพ่อจึงให้สามเณรสัญญาว่า หากเห็นอะไรในระหว่างทางที่ไปให้นิ่งไว้ อย่าไปเกี่ยวข้อง สามเณรรับคำสัญญาเป็นอย่างดี ครั้นพอเดินผ่านประตูลับแลหลวงพ่อมีสมาธิดีอยู่แล้ว ก็ผ่านไปได้อย่างปกติ
นางยักษ์ที่เฝ้าประตูเห็นสามเณรเป็นคนแปลกหน้า จึงแปลงกายเป็นสาวสวยตรงเข้าไปทักทายด้วยวาจาอ่อนหวานสามเณรไม่มีสมาธิจิต ประกอบกับยังอยู่ในวัยคะนองเห็นสาวสวยก็พอใจ จึงพูดเกี้ยวพาราสีและพยายามจะล่วงเกิน
นางยักษ์ทดลองจนแน่ใจว่า สามเณรเป็นผู้ไม่มีสัตย์ ไม่ควรผ่านประตูลับแลไป เพราะจะทำให้มีความผิด จึงได้ห้ามมิให้สามเณรผ่านประตูเข้าไป แต่สามเณรไม่ยอมฟังคำทักท้วง รีบจะตามหลวงพ่อไปให้ทัน
สาวสวยเห็นว่าจะทักทายไว้ไม่ได้จึงได้ จึงคืนร่างเป็นนางยักษ์และบิดคอหักคอสามเณรจนตาย
ฝ่ายหลวงพ่อเดินไปจนถึงบ้านลับแล ยืนรอสามเณรอยู่ครู่ใหญ่ ไม่เห็นตามมา ก็เฉลียวใจว่าคงเสียทีนางยักษ์เป็นแน่ จึงเดินย้อนกลับมาดูพบสามเณรนอนตายอยู่ตรงประตูลับแล สอบถามนางยักษ์ได้ความว่าสามเณรทำผิด นางจึงได้ลงโทษหักคอจนสิ้นใจ
หลวงพ่อก็จนใจ แต่ได้ขอร้องให้นางยักษ์ต่ออายุสามเณร ไปอีก 7 วัน นางยักษ์ก็รับจะจัดการแก้ไขให้ฟื้น เมื่อฟื้นแล้วหลวงพ่อจึงพากลับถ้ำ
ตั้งแต่วันนั้นมา สามเณรก็ล้มป่วยลง หลวงพ่อแจ้งแก่ผู้อื่นว่าสามเณรป่วยเป็นไข้ต่างก็ช่วยกันรักษา ผู้ที่ไม่รู้สาเหตุก็คิดว่าป่วยเป็นไข้ตามธรรมดา แม้หลวงพ่อจะทราบสาเหตุที่แท้จริงของการป่วยไข้ครั้งนี้ ก็ไม่อาจจะบอกใครได้เพราะกลัวจะเกิดความยุ่งยากขึ้น พอครบกำหนด 7 วันสามเณรก็ตาย
ตั้งแต่นั้นมา หลวงพ่อก็เอาหินอุดช่องเพื่อปิดช่องถ้ำที่เคยเป็นทางเดินจนมิดชิด เพื่อป้องกันมิให้คนลงเข้าไปและไม่ให้ผู้อื่นทราบเรื่องด้วย ทั้งตัวท่านเองก็เลิกใช้ช่องทางนั้นอีกต่อไป
ปัจจุบันช่องดังกล่าว ถูกอุดมานานจนหินที่อุดกลายสภาพเป็นผนังถ้ำไปหมดแล้ว คงมีแต่รอยต่อบริเวณช่องที่ยังคงทิ้งร่องรอยไว้พอเป็นแนวทางให้สันนิษฐานต่อได้
ส่วนเศรษฐีนั้น เมื่อลูกชายตายแล้ว เห็นว่าต่อไปภายหน้าถ้าจะให้ลูกหลานบวชอยู่ในถ้ำนี้ก็คงจะมีเหตุทำให้ตายอีก จึงได้สร้างสำนักสงฆ์ขึ้นทางด้านล่างของบริเวณหน้าถ้ำ ในสมัยต่อมาได้มีผู้สร้างวัดขึ้นผู้คนทั้งหลายจึงพากันเรียกวัดนี้ว่า "วัดบ้านถ้ำ"
ขณะนี้ที่หน้าวัดบ้านถ้ำแห่งนี้ ท่านกำนันชูชาติ แม้นทิม ประธานกรรมการวัดบ้านถ้ำ กำลังดำเนินการสร้างรูปหล่อของ "กุมารทอง" ลูกของ ขุนแผน กับ นางบัวคลี่ ให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น และเป็นสัญลักษณ์ดังคำขวัญ ของ จังหวัดกาญจนบุรี ว่า
เมืองขุนแผน" ท่านที่สนใจโปรดไปเที่ยวชมกันนะครับขอบคุณมากครับ
โฆษณา