27 ส.ค. เวลา 09:04 • การศึกษา

กฎหมายอาญาน่ารู้ : คนเสมือนไร้ความสามารถดำเนินคดีอาญาได้อย่างไร

ในบทความนี้ เรามาดูในส่วนของบุคคลที่เรียกว่า "คนเสมือนไร้ความสามารถ" กันบ้าง
คนเสมือนไร้ความสามารถ คือ บุคคลที่มีกายพิการหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ประพฤติตนสุรุ่ยสุร่ายเป็นอาจิณ หรือเสพสุรายาเมาตลอดเวลา
ถ้าจะถามว่า คนไร้ความสามารถ กับ คนเสมือนไร้ความสามารถแตกต่างกันตรงไหน
ถ้าจะให้สรุปพอจะได้ความว่า คนไร้ความสามารถ จะเป็นบุคคลที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต้องมีผู้อนุบาลกระทำการต่างๆแทน
ส่วนคนเสมือนไร้ความสามารถ จะเป็นบุคคลที่พอจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ บางคนภายนอกอาจจะไม่ได้มีความแตกต่างกับบุคคลทั่วๆไป หากแต่อาจจะมีจิตใจหรือพฤติกรรมบางอย่างที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
สำหรับคนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ถ้าทำว่าสามารถทำนิติกรรมสัญญาได้ด้วยตนเองหรือไม่ คำตอบคือ "ทำได้" ซึ่งสิ่งนี้เป็นหลักการพื้นฐานในเรื่องการทำนิติกรรมสัญญาของคนเสมือนไร้ความสามารถเลย กล่าวคือ คนเสมือนไร้ความสามารถสามารถทำนิติกรรมสัญญาได้ด้วยตนเอง เพียงแต่จะมีนิติกรรมบางอย่างที่กฎหมายกำหนดว่า จะทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมหรืออนุญาตจากผู้พิทักษ์เสียก่อน
ซึ่งรวมถึง สิทธิในการดำเนินคดีของคนเสมือนไร้ความสามาถด้วย
โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 34 วรรคแรก ได้วางหลักไว้ว่า
"คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อน แล้วจึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้ ...
(10) เสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ..."
จึงเห็นได้ว่า หากคนเสมือนไร้ความสามารถจะฟ้องคดีอาญา (รวมถึงคดีแพ่งด้วย) คนเสมือนไร้ความสามารถจะต้องดำเนินคดีอาญาด้วยตนเองโดยต้องได้รับความยินยอมหรืออนุญาตให้ฟ้องคดีจากผู้พิทักษ์เสียก่อน
ซึ่งกรณีนี้จะแตกต่างกับกรณีของคนไร้ความสามารถ ที่ผู้อนุบาลต้องดำเนินการฟ้องคดีอาญาแทนคนไร้ความสามารถเลย แต่ในกรณีของคนเสมือนไร้ความสามารถ ผู้พิทักษ์จะฟ้องแทนไม่ได้ เพียงแต่ให้ความยินยอมเท่านั้น
จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า
คนไร้ความสามารถ มีผู้อนุบาลดูแล หากคนไร้ความสามารถตกเป็นผู้เสียหาย ผู้อนุบาลดำเนินคดีแทนคนไร้ความสามารถได้ได้
แต่
คนเสมือนไร้ความสาสามารถ มีผู้พิทักษ์ดูแล หากคนเสมือนไร้ความสามารถตกเป็นผู้เสียหาย ผู้พิทักษ์ดำเนินคดีแทนไม่ได้ เพียงแต่ต้องให้ความยินยอมเพื่อให้คนเสสมือนไร้ความสามารถไปฟ้องคดีด้วยตนเอง
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา : www.bsru.ac.th
เฟสบุ๊คสาขาวิชานิติศาสตร์ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา : LAWBSRU
เว็บไซต์สาขาวิชานิติศาสตร์ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา : LAWBSRU
โฆษณา