27 ส.ค. 2024 เวลา 11:59 • ธุรกิจ

เคล็ดลับความสำเร็จของ Kay's ร้านอาหารเช้าสุดชิค ที่เริ่มต้นจาก อยากตอบโจทย์ธุรกิจโรงแรม

บทความนี้ เราจะพาไปพูดคุยกับ คุณปวิตรา กอบกุลสุวรรณ ผู้บริหารร้าน Kay's ธุรกิจที่เกิดจากแนวคิดการสร้างสรรค์อาหารเช้าแบบมีสไตล์ เพื่อให้ลูกค้าที่มาพักในโรงแรมได้รับประทาน โดยสร้างจากความตั้งใจของพี่น้องตระกูลกอบกุลสุวรรณ ร่วมกันบริหาร จนกลายเป็นร้านที่โดดเด่นด้วยเมนูอาหารเช้าสุดชิค เป็นที่รู้จักและชื่นชอบของลูกค้าเป็นอย่างมาก ทั้งยังต่อยอดธุรกิจสู่อาหารหลากหลายสไตล์ในเครือ
คุณปวิตรา เล่าว่า เราเป็นครอบครัวที่ทำธุรกิจอยู่แล้ว ซึ่งย้อนไปประมาณ 8-9 ปีที่ผ่านมา เกิดความคิดว่า อยากขยายกิจการให้หลากหลายขึ้น เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ เรากับพี่ชายทั้ง 2 คน คือ คุณปณิธาน และคุณปณิธิ จึงตัดสินใจเริ่มทำธุรกิจโรงแรม ชื่อ K Maison Boutique Hotel ที่ซอยรางน้ำ โดยเริ่มจากขนาดเล็กเพียง 21 ห้อง
ตอนนั้น โรงแรมยังไม่มีไลน์อาหารเช้าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีเพียงไข่ดาว หรืออาหารเช้าแบบง่าย ๆ ให้ลูกค้ารับประทาน ซึ่งยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร ด้วยความที่เราจบการศึกษาทางด้านบัญชี และไม่ชอบทำงานประจำ เราจึงลองหันมาทำธุรกิจร้านอาหารดู เพราะชอบทำอาหารอยู่แล้ว โดยเน้นไปที่อาหารเช้า เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าที่มาพักในโรงแรม
แต่การจะเปิดร้านอาหารภายในโรงแรมขนาดเล็ก ต้องลงทุนเรื่องอุปกรณ์ครัวและพนักงานค่อนข้างมาก เราจึงคิดว่า น่าจะเปิดให้บริการลูกค้าภายนอกด้วย เพื่อกระจายรายได้และเพิ่มฐานลูกค้า โดยเริ่มจากการทำอาหารเช้าให้กับลูกค้าโรงแรม แล้วค่อย ๆ ขยายฐานลูกค้าออกไปจนประสบความสำเร็จ
จากการตัดสินใจครั้งนั้น ทำให้ร้านอาหารของเรา ได้รับความสนใจจากลูกค้าภายนอกจำนวนมาก กลายเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์อาหารเช้าชื่อ Kay’s สาขาแรก ภายใน K Maison Boutique Hotel ที่ซอยรางน้ำ
Kay’s ร้านอาหารเช้าสุดชิค
คุณปวิตรา กล่าวว่า ปัจจุบัน ธุรกิจโรงแรมมี 2 สาขา คือ K Maison Boutique Hotel (เคเมซอง บูทิคโฮเต็ล) ที่ซอยรางน้ำ กรุงเทพฯ และ K Maison Lanna (เคเมซอง ล้านนา) จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทั้ง 2 สาขาจะมีบริการอาหารเช้า Kay’s ที่เป็นเอกลักษณ์เหมือนกัน
ช่วง 8-9 ปีที่แล้ว ตลาดอาหารเช้ายังไม่ค่อยมีการแข่งขันสูงนัก ถือเป็น ตลาดเฉพาะ (Niche Market) แต่ละร้านจะมีเมนูพิเศษที่แตกต่างกัน ทำให้การทำตลาดไม่ยากเกินไป เราจึงเลือกที่จะเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ชื่นชอบการรับประทานอาหารเช้าสไตล์เก๋ ๆ เนื่องจากเราไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจร้านอาหารมาก่อน จึงเริ่มต้นจากกลุ่มลูกค้าขนาดเล็ก เพื่อทดลองและพัฒนาเมนูให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า
โดยส่วนใหญ่ ลูกค้าของเราจะเป็นกลุ่มชาวต่างชาติและคนไทยที่ชอบไลฟ์สไตล์แบบตะวันตก ซึ่งมักจะมารับประทานอาหารเช้าเป็นครอบครัวในวันหยุดสุดสัปดาห์ นอกจากอาหารเช้า ยังมีเมนูเครื่องดื่มและเบเกอรี่สไตล์คาเฟ่ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ชอบถ่ายรูปและแชร์ภาพลงโซเชียลมีเดีย ซึ่งสมัยนั้น Instagram กำลังเป็นที่นิยม ทำให้การทำตลาดของเราง่ายขึ้น
พอเริ่มมีลูกค้าสนใจมากขึ้น เราขยายสาขาที่ 2 ซึ่งใช้เวลานานพอสมควรในการเตรียมการ เพราะเราเลือกเปิดที่เซ็นทรัลเอ็มบาสซี่ (Kay's Central Embassy) ซึ่งเป็นทำเลระดับพรีเมียม ทำให้ได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ที่แตกต่างจากสาขารางน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าชาวต่างชาติ การเปิดสาขาที่เซ็นทรัลเอ็มบาสซี่ ช่วยให้แบรนด์ของเราเป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบน และชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในย่านเพลินจิต
สำหรับสาขาที่ 3 เราเลือกเปิดที่สุขุมวิท 49 (Kay's Sukhumvit 49) ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด 19 พอดี แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่สาขานี้กลับได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเราได้ทำเลที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ตกแต่งให้ร้านมีบรรยากาศอบอุ่นจากแสงธรรมชาติและต้นไม้ ทำให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลายและประทับใจ สาขานี้จึงช่วยให้แบรนด์ของเราเป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีก รวมถึงสาขาที่ 4 ย่านสาทร (Kay’s Sathorn) ที่เน้นความสะดวกสบาย เหมาะสำหรับคนทำงาน
ให้ความสำคัญทั้งรสชาติ และเทรนด์รักสุขภาพ
การทำธุรกิจอาหาร ต้องอาศัยความเข้าใจในพฤติกรรมผู้บริโภค และการปรับตัวให้ทันต่อเทรนด์ต่าง ๆ การมีแบรนด์ที่ชัดเจนและเน้นจุดแข็งของแบรนด์ จะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในระยะยาว การพัฒนาเมนูใหม่ ๆ จึงมีความท้าทาย เพราะเทรนด์อาหารเปลี่ยนแปลงเร็ว แบรนด์ Kay’s จะให้ความสำคัญกับการปรับปรุงเมนูตามเทรนด์สุขภาพ เช่น เมนู Vegan และ High Protein ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าเทรนด์สุขภาพจะได้รับความนิยม แต่รสชาติของอาหาร ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกรับประทาน เราจึงต้องหาจุดสมดุลระหว่างรสชาติที่อร่อยและคุณค่าทางอาหาร โดยให้ความสำคัญกับรสชาติ 70% และสุขภาพ 30% เหตุผลที่ต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพ เพราะปัจจุบันผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น เราจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับลูกค้า โดยการนำเสนอเมนูอาหารที่อร่อยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพไปพร้อมกัน
แตกไลน์ Day by Kay's สไตล์ Grab&Go รับเทรนด์ 'ผู้บริโภคยุคใหม่'
นอกจาก Kay’s เรายังได้ขยายธุรกิจสู่แบรนด์ Day by Kay’s มี 2 สาขา คือ ที่ Sale Gallery โครงการ ROMM Convent ในซอย สาทร 6 และสุขุมวิท 49 ที่เปิดปีนี้เช่นกัน โดยเน้นกลุ่มขนมอบและเครื่องดื่ม เช่น เฟรนซ์โทสต์ ครัวซองต์ แซนด์วิช กาแฟ และชา ในรูปแบบ Grab&Go เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว โดยเปิดให้บริการตลอดทั้งวัน
สำหรับร้าน Day by Kay's ตั้งใจจะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น เน้นขนมอบและเครื่องดื่มที่รับประทานง่าย ในราคาจับต้องได้ จุดเริ่มต้นของร้านสาขานี้ มาจาก โครงการ ROMM Convent ติดต่อมา ว่าอยากได้ร้านอาหารมาให้บริการเพื่อรองรับลูกค้าที่มาดูคอนโดมิเนียมของโครงการ แต่เนื่องจากพื้นที่ค่อนข้างจำกัด
เราจึงคิดคอนเซ็ปต์ใหม่ที่ไม่ต้องใช้ครัวขนาดใหญ่ เหมาะกับพื้นที่เล็ก ๆ และสามารถขยายสาขาได้ง่ายขึ้น นั่นคือ Café ใน Sale Gallery หนึ่งในเมนู Signature ของเราคือ เฟรนซ์โทสต์ ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของครอบครัวที่ได้รับความนิยมมาก เป็นเมนูที่ดึงดูดลูกค้าให้มาลองชิมอาหารที่ร้านของเรา
ผลตอบรับจากลูกค้าค่อนข้างดี โดยเฉพาะช่วงที่โครงการคอนโดฯ เปิดตัวใหม่ แต่เราทราบดีว่าจำนวนลูกค้าอาจลดลงในระยะยาว ดังนั้นเราจึงวางแผนที่จะเพิ่มบริการเดลิเวอรี่เข้ามาเสริม
‘ธุรกิจร้านอาหาร’ กับการก้าวข้ามอุปสรรค
ช่วงโควิด 19 ธุรกิจเราได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการล็อกดาวน์ ทำให้รายได้ลดลงอย่างมาก เราจึงต้องหาวิธีบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้ โชคดีที่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารกรุงเทพ ผ่านโครงการ Soft Loan ทำให้เราสามารถรักษาพนักงานทุกคนไว้ได้ แม้ธุรกิจต้องหยุดชะงัก นอกจากนี้ เราได้ปรับตัวด้วยการเพิ่มบริการเดลิเวอรี่ และให้พนักงานช่วยกันส่งอาหารเอง เพื่อสร้างรายได้ และควบคุมต้นทุนให้ได้มากที่สุด
หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย ลูกค้าเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติและอยากออกไปเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่สำหรับลูกค้าของเรา พบว่ากลุ่มลูกค้าชาวอาหรับยังคงให้ความสนใจและกลับมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นเพราะมีอินฟลูเอนเซอร์หลายท่านมารีวิวร้านของเรา
ปัจจุบัน แม้ว่ากำลังซื้อของลูกค้าชาวไทยจะลดลง แต่ลูกค้าชาวอาหรับก็ยังคงเป็นกลุ่มหลักที่ช่วยให้ธุรกิจของเราสามารถดำเนินต่อไปได้ ในช่วง Low Season เราจะใช้เวลานี้ในการพัฒนาพนักงาน และปรับปรุงระบบ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับช่วง High Season ที่กำลังจะมาถึง
“เรียนรู้ จากการทำงานจริง"
พนักงานของเรา ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในการทำงาน โดยเฉพาะการให้บริการลูกค้าชาวอาหรับ ซึ่งมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่แตกต่างจากลูกค้ากลุ่มอื่น เช่น ไม่รับประทานหมูและอาหารดิบ ดังนั้นเราจึงปรับปรุงเมนูอาหารเช้าให้ปรุงสุกทั้งหมด เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้
การมีลูกค้าชาวอาหรับจำนวนมาก ทำให้เราต้องวางแผนการจัดเตรียมวัตถุดิบและเมนูอาหารล่วงหน้า เพื่อป้องกันการขาดแคลน หรือเหลือทิ้ง โดยเฉพาะเมนูที่มีส่วนผสมที่เฉพาะเจาะจง
นอกจากการสังเกตพฤติกรรมของลูกค้าแล้ว เรายังมีการเก็บข้อมูลการขายจากระบบต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์ว่าเมนูใดขายดี และลูกค้ามีความต้องการอะไรบ้าง จากนั้นจึงนำข้อมูลเหล่านี้มาปรับปรุงเมนูและบริการให้ตรงใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น
ต่อยอดสู่ Kanori Hand Roll Bar ร้านแฮนด์โรลญี่ปุ่น ซอยสุขุมวิท 49
สำหรับร้าน Kanori Hand Roll Bar คืออีกหนึ่งธุรกิจของเรา เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นระดับพรีเมียมที่เน้นความสะดวกและรวดเร็ว ชูความสดใหม่ของวัตถุดิบ โดยเฉพาะสาหร่ายและข้าวที่นำมาห่อเป็น Temaki hand roll ให้ลูกค้ารับประทานได้ทันที ปัจจุบันมีสาขาอยู่ที่สุขุมวิท 49 และเอ็มควอเทียร์ และกำลังจะเปิดสาขาใหม่ที่เซ็นทรัลเอ็มบาสซี่ เร็ว ๆ นี้
สำหรับกลยุทธ์การทำธุรกิจอาหาร ต้องวิเคราะห์จุดแข็งของแบรนด์ และเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น Kanori Hand Roll Bar เน้นความเป็นพรีเมียมและความรวดเร็ว ทำให้ลูกค้าจำแบรนด์ได้ง่าย
ในยุคที่ร้านอาหารเปิดใหม่มากมาย การรักษากระแสความนิยมของแบรนด์เป็นสิ่งสำคัญ วิธีการรับมือคือ เน้นคุณภาพของผลิตภัณฑ์ สิ่งสำคัญที่สุดคือการรักษาคุณภาพของอาหารและเครื่องดื่มให้คงที่ ทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง ปรับปรุงเมนูให้ทันสมัย สร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ อยู่เสมอ
แผนขยายธุรกิจของ Kay’s
คุณปวิตรา กล่าวว่า เราเล็งเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจโรงแรมไปยังภาคใต้ และมีแผนขยายตลาดไปยังต่างประเทศในอนาคต อย่างไรก็ตาม เราต้องศึกษาข้อมูลและเตรียมความพร้อมอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ เพราะถึงแม้จะมีหลายประเทศสนใจที่จะนำแบรนด์ของเราไปเปิด แต่ต้องพิจารณาถึงศักยภาพของพาร์ทเนอร์ และความเหมาะสมของตลาดด้วย
ในขณะเดียวกัน เรายังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาธุรกิจในประเทศไทย เช่น การเปิดตัวแบรนด์ใหม่อย่าง Kanori Hand Roll ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน และกำลังศึกษาไอเดียใหม่ ๆ เกี่ยวกับอาหารญี่ปุ่นเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายสาขาร้าน Kay’s ไปยังพื้นที่นอกเมือง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มใหม่
สำหรับการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ อาจพิจารณารูปแบบแฟรนไชส์ หรือร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น แต่เน้นเลือกพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจอาหาร และมีความเข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อให้มั่นใจว่าแบรนด์ของเราจะประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศ
ทิ้งท้าย..สำหรับคนทำธุรกิจ
สิ่งที่ คุณปวิตรา อยากฝากไว้เป็นข้อคิด โดยเฉพาะคนที่ทำธุรกิจร้านอาหาร คือ ต้องมีความอดทน และ มีทีมงานที่ดี การที่ทีมมีความสามารถที่หลากหลาย จะช่วยให้เราได้มุมมองที่แตกต่าง และแก้ปัญหาได้อย่างรอบด้าน ยกตัวอย่างเช่น ในทีมเราจะดูแลภาพรวม ขณะที่พี่ชายทั้ง 2 คน มีความละเอียด และมักจะตั้งคำถามเรื่องธุรกิจ ที่ช่วยให้เราหาคำตอบที่ดีที่สุดได้เสมอ แม้ความคิดเห็นจะแตกต่างกันบ้าง แต่เราสามารถหาจุดสมดุลและทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น
นอกจากนั้น คือ การทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งการบริหารจัดการวัตถุดิบ พนักงาน ซัพพลายเออร์ สิ่งสำคัญ คือ เราต้องเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของตัวเอง และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากคนรอบข้างรวมถึงลูกค้าด้วย ต้องใช้เวลา และความพยายาม ไม่มีอะไรสำเร็จได้ในทันที Kay’s ใช้เวลา 8 ปี กว่าจะมาถึงความสำเร็จอย่างในตอนนี้
อีกหนึ่งเรื่อง คือ การบริหารจัดการด้านการเงินสำคัญมาก SME หลายคน มักจะมองข้ามเรื่องนี้ไป แต่การควบคุมต้นทุน เป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจร้านอาหาร ดังนั้นการลงทุนด้านต่าง ๆ ต้องทำอย่างรอบคอบ และคำนึงถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นด้วย
โฆษณา