Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ธเนศเล่าขาน "ทานทางปัญญา"
•
ติดตาม
27 ส.ค. เวลา 13:06 • การศึกษา
"บารมี 10": ช่วยเสริมสร้างกำลังใจ นำไปสู่การพ้นทุกข์
-------------
ผมได้รับหนังสือ " บารมี 10" โดยพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง มาเล่มหนึ่ง อ่านแล้วได้ความว่า"เราจะต้องทำแต่ละบารมีให้ครบถ้วน จึงจะนำไปสู่การพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง"
นึกถึงตอนไปอบรมหลักสูตรวิปัสสนา 10 วัน จากศูนย์ธรรมต่างๆ ที่สอนโดย ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า มาหลายครั้ง ซึ่งการอบรมแต่ละครั้งท่านอาจารย์จะเน้นย้ำให้เราพยายามสร้างบารมี 10 ให้ได้อย่างครบถ้วน โดยได้จัดบรรยากาศการดำเนินชีวิตและกำหนดกฏระเบียบในการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จึงอยากนำเรื่องราวการสร้างบารมี10 ดังกล่าวมาเล่าสู่กันฟังโดยย่อครับ
ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า ได้อธิบายความหมายของ บารมี10 ประการไว้ว่า หมายถึงคุณธรรมที่จะช่วยให้เรา ข้ามมหาสมุทรแห่งความทุกข์ยากไปยังฝั่งอันปราศจากความทุกข์ทั้งมวล ได้อย่างจริงจังและครบถ้วน กล่าวคือ
1. "เนกขัมมะบารมี" เป็นบารมีจากการดำเนินชีวิตอย่างนักบวช ที่จะช่วยทำลายอัตตาคือความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนให้หมดสิ้นไป โดยการอบรมแต่ละครั้ง ไม่มีผู้ใดต้องเสียค่าใช้จ่ายในการมาอบรม แต่เกิดจากผู้ที่มาปฏิบัติรุ่นก่อนได้บริจาคไว้แล้วทั้งสิ้น เราจึงมีโอกาสที่จะปฏิบัติเพื่อสร้างบารมีนี้ได้อย่างเต็มที่ เฉกเช่นภิกษุ
2. "ศีลบารมี" เราได้ปฏิญานตนรักษาศีล ภายใต้บรรยากาศของธรรมะและกฏกติกาที่เคร่งครัด จึงช่วยให้เราสามารถรักษาศีลได้อย่างไม่ด่างพร้อย โดยเฉพาะกฏของการรักษาความเงียบ ต้องแยกเขตชาย เขตหญิง ไม่แตะเนื้อต้องตัวกัน ไม่พูดจาสื่อสารใดใดติดต่อกันตลอดการอบรมทั้ง 10 วัน
3. "วิริยะบารมี" แต่ละวันเราต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ เริ่มปฏิบัติตั้งแต่ตีสี่ครึ่งถึงสามทุ่ม วันละประมาณ 8-9 ชั่วโมงรวมทั้งได้รับฟังธรรมะบรรยาย และมีกฏแห่งการตรงต่อเวลา ทำให้เราเกิดความพากเพียรทุกขณะที่ปฏิบัติ
4. "ปัญญาบารมี" เป็นการพัฒนาปัญญาจากประสบการณ์ของการปฏิบัติจริงในการรักษาศีล บำเพ็ญสมาธิ และเจริญวิปัสสนาเพื่อสร้างปัญญา ได้ค้นพบความจริงภายในตนเอง ซึ่งก็คือภาวนามยปัญญาไม่ใช่เพียงสุตมยปัญญาหรือจินตามยปัญญาดังที่เราเคยคุ้นชิน
5. "ขันติบารมี" คือความอดทน อดกลั้น ในการที่ต้องปฏิบัติร่วมกับผู้อื่นเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่ ที่จะไม่ทำให้เกิดการรบกวนผู้อื่น แต่ถ้าจะมีใครสักคนมารบกวนตน เช่น ไอหรือจามออกมา เราก็จะไม่เกิดความขุ่นมัว แต่จะอภัยให้ความรักและความเมตตาต่อเขา
6. "สัจจะบารมี" แม้เราจะรักษาศีลอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว แต่ทุกย่างก้าวของการปฏิบัติเราจะต้องอยู่แต่กับความจริง เราจะไม่ใช้จินตนาการ แม้ว่าจะเริ่มจากความจริงขั้นหยาบๆก่อน แต่แล้วก็จะค่อยๆละเอียดขึ้น ลึกซึ้งขึ้นเป็นลำดับ
7. "อธิษฐานบารมี" เราจะต้องมีความตั้งใจอันแน่วแน่ในการปฏิบัติ ระหว่างปฏิบัติ เราจะต้องรักษากฎ ระเบียบ วินัย และตารางเวลา ตลอดจนการรักษาความเงียบ และหลังจากเริ่มเข้าสู่การฝึกวิปัสสนาในวันที่ 4 เราจะต้องนั่งโดยไม่เปลี่ยนท่านั่งเลย วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง รวม 18 ชั่วโมง ซึ่งเราเรียกว่า "ชั่วโมงอธิษฐานบารมี"
ซึ่งเป็นบารมีที่จะนำไปสู่จุดหมายปลายทาง เฉกเช่นพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงตั้งจิตอธิษฐานอย่างแน่วแน่ไว้ว่า "เราจะไม่เปลี่ยนท่านั่งเลย จนกว่าจะบรรลุโพธิญาณ"
8. "เมตตาบารมี" หมายถึงความรักความเมตตาต่อผู้อื่น เราได้เรียนรู้วิธีการแผ่ความรักและความเมตตาให้แก่ผู้อื่น หลังจบวิปัสสนาทุกครั้ง เราจะแผ่เมตตาแก่ผู้อื่น โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆเลย
9. "อุเบกขาบารมี" หลักสูตรนี้จะฝึกอานาปานสติเพื่อให้เกิดพลังสมาธิ 3 วันแรกก่อน จากนั้นก็จะฝึกวิปัสสนาต่อเนื่องอีก 7 วัน ขณะปฏิบัติเมื่อเกิดเวทนาหรือความรู้สึกใดใดขึ้น จะพอใจหรือไม่พอใจต่อความรู้สึกนั้นก็ตาม เราก็จะพยายามวางอุเบกขาหรือวางเฉยต่อความรู้สึกนั้นๆ เพื่อตัดวงจรการสร้างสังขารที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ให้เบาบางลงไป โดยเข้าใจว่า เวทนาทั้งหลายล้วนไม่เที่ยง ล้วนเป็นอนิจจัง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะดับไปเองตามธรรมชาติ
10. "ทานบารมี" เมื่อเราได้รับทานจากการบริจาคของผู้อื่นในการมาปฏิบัติครั้งนี้ ดังนั้นเมื่อเสร็จสิ้นการอบรม หากเรามีจิตที่จะบริจาคทานเพื่อผู้อื่นที่จะเข้ามาปฏิบัติในรุ่นต่อๆไปบ้าง ตามกำลังที่เราสามารถทำได้ มีน้อยก็บริจาคน้อย มีมากก็บริจาคมาก ก็จะเป็นการขัดเกลากิเลส ความเห็นแก่ตัวให้ลดน้อยลง และจะนำความสุขมาสู่ตนเอง
เมื่อเราสามารถบำเพ็ญบารมี 10 ได้อย่างจริงจัง ครบถ้วน ตลอดทั้ง 10 วัน จึงทำให้การปฏิบัติของเรามีความก้าวหน้า และเกิดกำลังใจให้นำไปสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง
ธรรมะ
ธรรมะภาคปฏิบัติ
คำสอน
1 บันทึก
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย