27 ส.ค. เวลา 14:19 • ความคิดเห็น

ทำเกินจนเป็นมาตรฐาน

วันก่อนมีโอกาสถามต่าย ธนรัชต์ ซีอีโอหนุ่มแห่งฮั่วเซ่งเฮง บริษัทค้าทองที่มีรายได้เกินล้านล้านบาท บนเวทีที่ HOW Club ว่าทำไมฮั่วเซ่งเฮงถึงได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนานในเมื่อร้านทองมีเป็นร้อยเป็นพันร้าน แต่ทองจากฮั่วเซ่งเฮงนั้นเหมือนจะโดดเด่นกว่าใคร ต่างจังหวัดนี่พอเป็นทองตีตราฮั่วเซ่งเฮงถือว่าเป็นทองพรีเมี่ยมแบบไม่มีตราไหนเทียบได้
5
ต่ายเล่าถึงหนึ่งในเคล็ดลับที่บรรพบุรุษทำในอดีตก็คือรุ่นอากงจะใส่ทองเกินน้ำหนักทุกครั้ง เช่นทอง 96.5% ก็จะใส่เกินไปนิดหน่อย พอเวลาซื้อขายวัดน้ำหนัก ทองจากฮั่วเซ่งเฮงจะเกินตลอด เกินจนผู้ค้าทองไว้ใจและเชื่อใจ จนหลายครั้ง ทองตีตราฮั่วเซ่งเฮงมีพรีเมี่ยมเวลาขายด้วยซ้ำ
5
ผมถามว่าเดี๋ยวนี้ยังมีมาตรฐานใส่เกินอยู่รึเปล่า ต่ายก็พยักหน้ายิ้มๆ แล้วบอกว่าเดี๋ยวนี้ใส่เกินอย่างเป็นระบบ เพราะเทคโนโลยีทำได้ ต่างจากสมัยก่อนใส่เกินมากบ้างน้อยบ้าง แต่ก็เกินทุกก้อนอยู่ดี
2
คุณตัน แห่งอิชิตัน เล่าถึงตอนที่คุณตันเปิดบุฟเฟ่ต์โออิชิสาขาแรกที่ทองหล่อ คุณตันให้ของดีๆมีคุณภาพเยอะมากในสมัยนั้น ในยุคที่อาหารญี่ปุ่นมีราคาแพง แซลมอนสี่ชิ้นมีหลายร้อย ที่บุฟเฟ่ต์โออิชิกินได้ไม่อั้น และมีอาหารที่ราคาแพงแบบนี้อีกเต็มไปหมด
2
ตอนเปิดร้านใหม่ๆ คุณตันไปแอบนั่งฟังลูกค้าคุยกันอยู่ในห้องส้วมซึ่งเป็นที่ที่คุณตันบอกว่าดีที่สุดในการได้ feedback ลูกค้า คุณตันรู้เลยว่าต่อไปจะขายดีแบบเทน้ำเทท่าเพราะมีลูกค้าคุยโทรศัพท์ในร้าน รีบตามเพื่อนให้มากินด่วน เพราะบอกว่าให้เยอะขนาดนี้อีกหน่อยร้านเจ๊งแน่
2
คุณตันเล่าว่าถ้าลูกค้ารู้สึกว่าได้เปรียบเรา ได้เกินกว่าที่คาด นั่นคือจุดสำคัญของการทำธุรกิจ และก็บอกว่ายังไงก็ไม่เจ๊งเพราะบุฟเฟ่ต์พอมีคนกินเยอะๆ มีวอลุ่ม ก็ไปต่อราคาวัตถุดิบได้ถูกมากๆจนกำไรได้ในที่สุด ตอนนี้คุณตันก็ใช้วิธีนี้ทำร้านข้าวต้มบุฟเฟ่ท์ 99 บาทที่โรงแรมของคุณตันที่เชียงใหม่ คนเข้าคิวยาวเหยียดเช่นเคยเพราะคุ้มสุดคุ้ม และคุณตันก็กำไรอีกเช่นกัน
4
Terminal 21 อโศกในตอนที่สร้างใหม่ๆนั้นไม่ง่ายเลย เพราะร้านดังๆไม่กล้ามาเนื่องจากเกรงใจเจ้าใหญ่ เลยได้แต่ร้านค้าเล็กร้านค้าน้อยที่ต้องการ traffic เข้าห้างเพื่อให้อยู่รอด คุณอนันต์ อัศวโภคิน เลยมีไอเดียทำศูนย์อาหารที่อร่อยมากๆและถูกมากๆ เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงลูกค้าเข้าห้าง
ศูนย์อาหาร terminal 21 เลยอยู่บนสุดเพราะลูกค้ากินเสร็จจะได้เดินลง ผ่านร้านต่างๆ คุณอนันต์ทำราคาอาหารที่มีแต่ร้านดังๆ และอร่อย ในราคาที่คนเงินเดือนน้อยๆกินไหว จานละ 29-30 บาทในขณะที่ร้านข้างทางยังราคา 50-60 บาท ศูนย์อาหารนี้โด่งดังจนลง CNN และสำนักข่าวต่างประเทศมาถ่ายอยู่เป็นประจำเพราะทุกคนงงว่าทำราคานี้ได้ยังไง น่าจะขาดทุนเยอะแน่
6
ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริงๆ คุณอนันต์บอกว่าขาดทุนเดือนละล้านบาท แต่สำหรับคุณอนันต์ก็คุ้มเช่นกัน เพราะการขาดทุนปีละ 12 ล้านบาทนั้นอย่างมากก็เท่ากับซื้อบิลบอร์ดโฆษณาห้าง 1 ป้ายใหญ่ แต่การขาดทุนแบบนี้ทำให้ลูกค้าแน่นห้างที่บิลบอร์ดทำไม่ได้ ทำให้ร้านค้าอื่นขายของได้ และได้โฆษณาทางอ้อมจากการบอกต่อที่คุ้มมากกว่าบิลบอร์ด จนเป็นจุดขายของห้างที่แข็งแรงจนใครๆก็จำได้ในที่สุด..
3
ผมเคยไปโรงงานรุ่นพี่ที่ผลิตเก้าอี้หวาย เจอคนอินเดียที่มาสั่งเก้าอี้หวายทีละจำนวนมากๆกลับอินเดีย รุ่นพี่ผมเคยถามว่าทำไมถึงมาสั่งที่ไทยที่แพงก็แพงกว่าอินเดียแถมต้องส่งกลับไปวุ่นวายอีก คนอินเดียที่มาซื้อยังไม่ได้ตอบอะไร แต่ไปเอาเก้าอี้หวายมาหนึ่งตัวแล้วหงายเก้าอี้ขึ้นให้ดู ก่อนบอกว่าที่อินเดียโรงงานที่ทำเก้าอี้หวายนั้นหงายแบบนี้จะสกปรก ไม่เรียบร้อย เป็นขุยๆ แต่ที่ไทยหงายมาก็ยังเนี้ยบ ดูสวยงาม เป็นเหตุผลหลักที่มาสั่งที่ไทยเพราะได้เก้าอี้หวายทั้งตัวคุณภาพสูงที่อินเดียทำไม่ได้
เป็นมาตรฐานการทำเกินที่มีคนเห็น ต่อให้คิดว่าไม่มีใครเห็นก็ตาม…
ในโลกที่หาจุดแข็งให้ธุรกิจตัวเองได้ยากแสนยาก จะสู้กับคนที่มีเทค คนที่ตัวใหญ่กว่า หรือคนที่แข็งแรงกว่าได้นั้น บางทีการสร้างมาตรฐานการทำเกินอะไรบางอย่าง ไม่ใช่แค่เกินบางครั้ง หรือเกินแบบไม่แน่นอน แต่ทำเกินซ้ำๆจนคนรู้สึกและจำได้ก็อาจจะเป็นแนวทางหนึ่งที่น่าลองไปประยุกต์ใช้นะครับ
6
โฆษณา