28 ส.ค. 2024 เวลา 05:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ก.ค. 67 ส่งออกโตแรง 15.2% สูงสุดในรอบ 2 ปี 4 เดือน

พาณิชย์ เผยส่งออกไทยเดือน ก.ค. 67 ขยายตัว 15.2% สูงสุดในรอบ 2 ปี 4 เดือน ขณะที่ภาพรวมส่งออก 7 เดือนแรกของปี ขยายตัว 3.8%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ก.ค. 67 พบส่งออกไทยฟื้นตัว โดยมีมูลค่า 938,285 ล้านบาท ขยายตัว 15.2% สูงสุดในรอบ 2 ปี 4 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 65 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ยังคงขยายตัว 9.3%
การชะลอตัวของเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลกช่วยเพิ่มอำนาจซื้อให้กับผู้บริโภค ขณะที่การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นและการปรับตัวของค่าจ้างในประเทศคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะในยุโรป ส่งผลให้การบริโภคฟื้นตัวเป็นปัจจัยบวกต่อ
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
ตลาดหลักที่กลับมาฟื้นตัวได้ดี อาทิ สหรัฐฯ จีน อาเซียน และสหภาพยุโรป สอดคล้องกับการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของ IMF ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี และเศรษฐกิจยุโรปที่ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแล้ว ทั้งนี้การส่งออกไทย 7 เดือนแรกของปี 67 ขยายตัว 3.8% เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 4%
ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย
มูลค่าการค้ารวม ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ
  • เดือน ก.ค. 67 ส่งออกมีมูลค่า 25,720.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15.2% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน นำเข้ามีมูลค่า 27,093.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.1% ขาดดุล 1,373.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • ภาพรวม 7 เดือนแรกของปี 67 ส่งออกมีมูลค่า 171,010.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นำเข้ามีมูลค่า 177,626.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.4% ขาดดุล 6,615.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
มูลค่าการค้ารวม ในรูปเงินบาท
  • เดือน ก.ค. 67 ส่งออกมีมูลค่า 938,285 ล้านบาท ขยายตัว 21.8% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน นำเข้ามีมูลค่า 999,755 ล้านบาท ขยายตัว 19.4% ขาดดุล 61,470 ล้านบาท
  • ภาพรวม 7 เดือนแรกของปี 67 ส่งออกมีมูลค่า 6,129,300 ล้านบาท ขยายตัว 9.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นำเข้ามีมูลค่า 6,437,235 ล้านบาท ขยายตัว 9.9% ขาดดุล 307,935 ล้านบาท
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดี ตามภาพรวมเศรษฐกิจคู่ค้าที่มีสัญญาณปรับดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลัก อาทิ สหรัฐฯ จีน อาเซียน (5) กลุ่ม CLMV และสหภาพยุโรป
- ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 26.3% (ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 67 ขยายตัว 13.3%
- ตลาดจีน กลับมาขยายตัว 9.9% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และยางพารา เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 67 ขยายตัว 0.3%
- ตลาดญี่ปุ่น หดตัว 2.5% (หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ไก่แปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 67 หดตัว 6.9%
- ตลาดสหภาพยุโรป (27) ขยายตัว 17.1% (ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 67 ขยายตัว 6.1%
- ตลาดอาเซียน (5) กลับมาขยายตัว 17.8% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 67 หดตัว 0.01%
- ตลาด CLMV ขยายตัว 19.8% (ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 67 ขยายตัว 8.6%
- ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัว 29.5% (ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เคมีภัณฑ์ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 67 ขยายตัว 9%
- ตลาดทวีปออสเตรเลีย หดตัว 2.8% (หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 67 ขยายตัว 9.6%
- ตลาดตะวันออกกลาง กลับมาหดตัว 3.7% สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายใน และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 67 หดตัว 0.6%
- ตลาดแอฟริกา กลับมาหดตัว 6.7% สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายใน และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 67 หดตัว 4.9%
- ตลาดลาตินอเมริกา ขยายตัว 4.4% (ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยางเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 67 ขยายตัว 10.2%
- ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS กลับมาขยายตัว 0.5% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และผลไม้กระป๋องและแปรรูป เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยางอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และอากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 67 ขยายตัว 8.3%
- ตลาดสหราชอาณาจักร ขยายตัว 13.3% (กลับมาขยายตัวในรอบ 11 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ไก่แปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 67 หดตัว 11.5%
ปัจจัยสนับสนุนการส่งออก
ปัจจัยกดดันการส่งออก
แนวโน้มการส่งออกในปี 67 คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่กำลังปรับตัวดีขึ้น รวมถึงสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมของโลก ขณะเดียวกันคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลจะสนับสนุนสินค้าที่เกี่ยวเนื่องให้เติบโตตลอดทั้งปี
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงที่กดดันการส่งออกจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ และความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าหลังการเลือกตั้งในหลายประเทศที่สำคัญ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/economic/231366
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา