Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Thai PBS - ไทยพีบีเอส
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
28 ส.ค. 2024 เวลา 09:00 • ข่าว
คุยกับนักผังเมือง “กรุงเทพฯ” ทำไมน้ำท่วมซ้ำซาก ?
กรุงเทพฯ กับฝนตก มีคำพูดเล่นกันในกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ ฝนมักจะตกอยู่ 2 เวลา ก่อนเข้างาน และหลังเลิกงาน ไม่มากก็น้อย คำพูดเหล่านี้สะท้อนความกลัวฝนของชีวิตคนเมือง ที่อาจพังลงจากการต้องรอรถติดหลายชั่วโมง ฝ่าฝนลุยน้ำที่ท่วมสูง และน้ำท่วมสูงหลายครั้งอาจสร้างความเสียหาย
ชวนให้สงสัย เหตุใดกรุงเทพมหานครที่ได้ว่าเป็นเมืองหลวง แต่กลับรับมือกับฝนตกได้อย่างยากลำบาก Thai PBS ชวน รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมนักผังเมืองไทย ร่วมพูดคุยเข้าใจของปัญหาที่คนเมืองต่างเผชิญอยู่กัน
รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา
น้ำท่วมที่เปลี่ยนไป “หัวเมืองยุคเก่า” สู่ “มหานครยุคใหม่”
มหานครเมืองใหญ่สำคัญทั่วโลกมักจะตั้งอยู่ที่บริเวณปากแม่น้ำ ตามประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอารยธรรมมนุษย์นั้น ความเจริญมักจะขึ้นอยู่ในภูมิศาสตร์ลักษณะนี้ เนื่องจากจะได้รับความอุดมสมบูรณ์ของทั้งน้ำจืด น้ำเค็มและน้ำกร่อยที่มาบรรจบกัน กลายเป็นที่พื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร
“ประโยชน์ของน้ำทั้ง 3 แบบ เหมาะกับพืชพรรณทางการเกษตรที่ต่างกัน ทำให้พื้นที่ปากแม่น้ำเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงเมืองสำคัญทั่วโลก และแน่นอนว่าเมื่อเวลาผ่านไป เมืองหลวงเหล่านั้นก็เจอปัญหาในลักษณะเดียวกันกับเรา” รศ. ดร.พนิต กล่าว
เวลาผ่านไปเมืองบริเวณปากแม่น้ำกลายเป็นเมืองท่า เป็นภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมกับการติดต่อค้าขายทางชายฝั่ง เมืองใหญ่ทั่วโลกจึงตั้งอยู่ในพื้นที่ลักษณะนี้รวมถึงกรุงเทพฯ ด้วย
โดยพื้นที่ลักษณะนี้แม้จะข้อดีตามที่กล่าวมาข้างต้น แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ข้อดีกลับกลายเป็นข้อเสียที่ในช่วงน้ำหลากที่จะต้องรับน้ำหลายทาง ทั้งจากปริมาณฝนตกในพื้นที่ น้ำที่ไหลผ่านจากแม่น้ำ และน้ำจากชายฝั่งที่ท่วมสูงขึ้นได้
“เดิมทีกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่การเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ น้ำท่วมแท้จริงแล้วเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อใช้น้ำทำการเกษตร แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป วิถีชีวิตแบบเกษตรในอดีตเปลี่ยนสู่วิถีชีวิตแบบเมือง กรุงเทพฯ จะน้ำท่วมไม่ได้แล้ว วิถีชีวิตของเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลอีกแล้ว เพราะน้ำท่วมส่งผลเสียต่อผู้คน จึงเกิดเป็นระบบระบายน้ำและรวมถึงคันกั้นน้ำขึ้นเพื่อช่วยไม่ให้กรุงเทพฯ น้ำท่วม ทว่าระบบเหล่านั้นกลับใช้การไม่ได้อย่างที่วางแผนไว้”
เข้าใจระบบระบายน้ำกรุงเทพฯ
รศ. ดร.พนิต อธิบายถึงระบบการระบายน้ำของกรุงเทพฯ โดยสามารถสรุปได้เป็น 4 ส่วนหลัก ๆ ดังนี้
1. ระบบคันกั้นน้ำ ให้น้ำไหลผ่านเมืองรอบนอก คือแนวคันกั้นน้ำที่ไหลมาจากนอกเมือง โดยจะมีคันกั้นน้ำพระราชดำริ กันให้น้ำไหลไปทางน้ำไหลตะวันออก (Flood way กรุงเทพฯ ตะวันออก) ทำให้น้ำไหลไปยังพื้นที่รับน้ำคือกรุงเทพฯ รอบนอก ด้านตะวันออก ได้แก่ เขตคลองสามวา มีนบุรี ลาดกระบัง และบางส่วนของเขตหนองจอก เพื่อระบายน้ำที่ไหลมาจากภาคเหนือขณะที่ทางกรุงเทพฯ
ฝั่งตะวันตกนั้นจะมีแม่น้ำสองสาย ได้แก่ แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก
ระบบคันกั้นน้ำนี้มีการวางระบบขึ้นไปถึงจังหวัดอยุธยารวมถึงชัยนาทเพื่อกันน้ำเหนือปริมาณมาก โดยต้องเบี่ยงทางน้ำให้ไปลงที่แม่น้ำบางประกงและต่อไปยังทางน้ำไหลตะวันออกอีกที
2. ระบบระบายน้ำภายในเมือง คือระบบท่อระบายน้ำต่าง ๆ รวมถึงอุโมงค์ยักเพื่อการระบายน้ำ เนื่องจากพื้นที่ของกรุงเทพฯ ชั้นในเองก็มีบริเวณที่เป็นที่ลุ่มต่ำ มีอยู่ประมาณ 14 เขต น้ำฝนที่ตกภายในพื้นที่จะไหลมารวมกันในพื้นที่ลักษณะนี้ จึงมีระบบอุโมงค์ยักมาช่วยระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง ยังคงใช้ท่อระบายน้ำสำหรับระบายน้ำฝน กับท่อน้ำจากครัวเรือนเป็นระบบเดียวกัน ระบบระบายน้ำส่วนนี้จะนำเอาน้ำฝนที่ตกหนักในช่วงหน้าฝนออกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ให้เกิดการท่วมในเมือง
3. แก้มลิงรับน้ำ คือพื้นที่รับน้ำกรณีที่น้ำในอ่าวไทยมีปริมาณสูงขึ้น น้ำจะไม่สามารถระบายออกได้ พื้นที่รับน้ำที่เรียกกันว่า “แก้มลิง” ที่บริเวณพื้นที่ด้านตะวันออก และตะวันตกของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่แนวยาวขนานกับอ่าวไทย เมื่อน้ำเหนือลงมาก็จะมาอยู่ในพื้นที่แก้มลิงรับน้ำก่อน เมื่อน้ำในอ่าวไทยลดลง จึงค่อยระบายน้ำในแก้มลิงออก
4. เขื่อนตลอดแนวแม่น้ำ พื้นที่กรุงเทพฯ มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกลาง จึงมีการสร้างเขื่อนตลอดแนวเพื่อกันน้ำจากแม่น้ำไหลท่วมเมืองชั้นในด้วย
ผู้คนเดินกลางสายฝน บนมหานครใหญ่
เหตุใดระบบระบายน้ำต่างล้มเหลว
ระบบระบายน้ำของกรุงเทพฯ ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่จากหลากหลายปัจจัยที่ซ้อนทับกัน ฝนตกหนักเพียงไม่นานก็ทำให้เกิดน้ำท่วมได้ อาจารย์พนิต ไล่เรียงแต่ละปัจจัยหลักไว้ดังนี้
1. พื้นที่รับน้ำนอกเมืองที่หายไป ระบบระบายน้ำผ่านทางพื้นที่ชานเมืองทั้ง 2 ฝั่งของกรุงเทพฯ รอบนอก เดิมทีมีการวางฝังเมืองกำหนดให้เป็นพื้นที่ระบายน้ำ ไม่ใช่พื้นที่สำหรับอยู่อาศัย ทว่ากลับมีการสร้างที่อยู่อาศัยในพื้นที่เหล่านั้นเป็นจำนวนมาก หมู่บ้านจัดสรรผุดขึ้น มีบ้านเรือนกว่า 3 หมื่นหลังอยู่ในบริเวณเหล่านั้น ทำให้น้ำไม่สามารถไหลผ่านได้
2. การยกพื้นถนนแบบต่างฝ่ายต่างทำ พื้นถนนในเมืองใหญ่มีลักษณะและหน้าที่ต่างจากถนนตามชนบท โดยถนนในชนบทจำเป็นจะต้องมีระดับที่สูงกว่าพื้นบ้านเรือน เพื่อใช้เป็นคันกั้นน้ำ ให้น้ำได้กักอยู่ในพื้นที่ทำการเกษตร แต่ถนนในเมืองจะต้องมีระดับที่ต่ำกว่าบ้านเรือน เนื่องจากถนนเหล่านี้จะทำหน้าที่ช่วยระบายน้ำออก
ทว่าทุกปี ๆ จะมีการก่อสร้างยกระดับถนน ถมพื้นที่ให้สูงขึ้น เสมือนว่าพื้นที่สูงขึ้นจะช่วยป้องกันน้ำท่วม บ้านเรือนของประชาชนก็อยู่ระดับต่ำลง หรือต้องยกพื้นขึ้นมาเอง การทำแบบนี้ในแต่ละพื้นที่ของเขตเมืองที่ไม่มีการประสานกัน ทำให้น้ำไม่สามารถไหลไปยังทิศทางที่ถูกต้องเพื่อออกไปสู่แม่น้ำได้ ส่งผลให้หลายครั้งการระบายน้ำทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
ตัวอย่างเช่น การสร้างอุโมงค์ยักษ์ในพื้นที่ต่ำที่สุด ณ ช่วงเวลาที่สร้างขึ้น ถนนที่ถูกยกขึ้นอย่างไม่มีการวางแผนก็จะทำให้น้ำไม่ได้ไหลมาสู่อุโมกค์ยักษ์อย่างที่ควรจะเป็น เกิดเหตุน้ำท่วมแต่อุโมกค์ยักษ์ไม่ได้ใช้งานขึ้นได้
3. ระบบท่อระบายน้ำแบบท่อรวม ตามเมืองใหญ่ทั่วโลกจะใช้ท่อระบายแยกระหว่างท่อระบายน้ำฝนกับท่อระบายน้ำจากครัวเรือน เพราะลักษณะการใช้งานนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง ท่อระบายน้ำจากครัวเรือนแม้ปริมาณไม่เยอะแต่ต้องใช้ตลอดเวลา มีค่าความสกปรกค่อนข้างสูง โดยหลักการแล้วต้องเป็นระบบปิด มีท่อขนาดเล็กและต้องไหลเข้าสู่โรงบำบัดน้ำเสียที่น้ำต้องผ่านกระบวนการบำบัดเป็นเวลานาน
ส่วนท่อระบายน้ำฝนจะใช้ปีละราว 4 – 5 เดือนในช่วงหน้าฝนเท่านั้น แต่จะต้องระบายน้ำปริมาณมาก และต้องระบายน้ำให้ไหลไปอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้เพราะจะทำให้น้ำท่วม และเพราะน้ำฝนยังมีค่าความสะอาดค่อนข้างสูง ทำให้การพักน้ำตากแดดไว้ให้ตกตะกอนจากคราบน้ำมัน คราบฝุ่นตามถนนก็เพียงพอให้สามารถระบายน้ำออกสู่ธรรมชาติได้แล้ว
การใช้ท่อรวมกันในเมืองขนาดเล็กยังสามารถทำได้ แต่ในมหานครขนาดใหญ่จะทำให้เกิดปัญหาตาม ทั้งการระบายน้ำที่ทำได้ยาก น้ำฝนกลายเป็นน้ำสกปรกสู่ธรรมชาติ หรือหากมีน้ำท่วมจะพบน้ำผุดตีกลับไปสู่บ้านเรือนของผู้คนได้
1
น้ำท่วมกรุงเทพฯ หนทางแก้อยู่ตรงไหน ?
ทางแก้จำเป็นจะต้องไล่แก้ไปทีละปม ปัจจัยบางอย่างแทบจะไม่สามารถแก้ไขได้อย่างระบบท่อระบายน้ำที่ต้องจัดการทั้งเมือง อาจารย์พนิต ในฐานะที่ทำงานด้านผังเมือง มองว่าภาพรวม ต้องทำให้เมืองกลับมาเป็นเมืองอย่างที่มีการวางแผนไว้ผ่านการสร้างผังเมืองที่เป็นธรรม โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้
1. สร้างข้อตกลงช่องทางน้ำไหลนอกคันกั้นน้ำ กรุงเทพฯ อยู่ในพื้นที่ปากแม่น้ำ สิ่งจำเป็นสำคัญในการทำให้น้ำไม่ท่วมคือการทำให้น้ำไหลผ่านไป กรณีพื้นที่ฟลัดเวย์กรุงเทพฯ ทั้งด้านตะวันตกและตะวันออก ถึงตอนนี้มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างมากมายไว้แล้ว สิ่งที่ต้องทำคือสร้างข้อตกลงเพื่อยุติการขยายตัวของเมืองในพื้นที่เหล่านี้ พร้อมกันนั้นต้องมีการใช้เครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมทดแทนส่วนของพื้นที่ที่หายไปเพื่อทำให้เกิดการไหลของน้ำผ่านไปรอบนอกของเมือง
2 การสร้างยกถนนต้องมียุทธศาสตร์ร่วมกัน การที่ถนนยกสูงขึ้นไม่ได้ช่วยลดน้ำท่วมเสมอไป ดังนั้นการทำถนนต่าง ๆ สำหรับรับมือน้ำท่วมจำเป็นจะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อให้น้ำไหลไปในทิศทางตามแผนรับมือที่วางไว้
โดยหลักการแล้วถนนในคันกั้นน้ำพระราชดำริต้องต่ำกว่าแปลงที่ดิน และต้องเปลี่ยนวิธีคิด น้ำไหลลงถนนต้องไหลไปยังทิศทางที่ระบายออกได้รวดเร็ว น้ำจากบ้านเรือนให้ลงสู่ถนนและระบายออกได้โดยไม่ทำให้เกิดน้ำท่วมขวางการเดินทาง ขณะที่ถนนในเขตนอกคัดกั้นน้ำต้องสูงกว่าแปลกที่ดินเพื่อเป็นแนวกั้นน้ำและมีการกำหนดผังเมืองใช้งานที่ชัดเจนให้เป็นพื้นที่รับน้ำและน้ำไหลผ่าน
3. มีมาตรการชดเชยพื้นที่รับน้ำสร้างผังเมืองที่เป็นธรรม ถนนนอกคันกั้นน้ำพระราชดำริต้องสูงกว่าแปลกที่ดินเพื่อเป็นแนวกั้นน้ำ ต้องมีการกำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินแบบชนบทและเกษตรกรรม นั่นคือบ้านที่จะอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ต้องเป็นบ้านที่ยกขึ้นสูง พร้อมมาตรการชดเชยให้กับประชาชนที่เสียประโยชน์ในพื้นที่ โดยหน่วยงานรัฐต้องทำหน้าที่ออกมาตรการ ทั้งเก็บเงินจากประชาชนส่วนที่อยู่ในคันกั้นน้ำเพื่อมาชดเชยให้ผู้ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ สร้างผังเมืองที่เป็นธรรมร่วมกัน
“เมื่อผังเมืองไม่มีความเป็นธรรม ก็ไม่มีใครทำตามกฎระเบียบนั้น ๆ นักผังเมืองมีการออกข้อเสนอแนะแล้ว แต่หน่วยงานรัฐไม่ได้ทำตาม เราอยู่ปากแม่น้ำ มีน้ำมาอยู่แล้วฉะนั้นน้ำต้องมีที่ไปของมัน แต่ตอนนี้ให้น้ำไปไหน ทุกคนบอกไม่เอาเลย มันก็ท่วม เราวางแผนให้มีช่องผ่านไปแล้ว แต่ต้องสร้างผังเมืองที่มีความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น มีกลไกชดเชย เก็บเงินจากพื้นที่ด้านใน จ่ายชดเชยให้พื้นที่น้ำท่วม และทำงานร่วมกัน” รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา กล่าวทิ้งท้าย
เกาะติดสถานการณ์ #น้ำท่วม ได้ที่
www.thaipbs.or.th/Flood67
#ThaiPBS #ข่าวไทยพีบีเอส #ข่าวที่คุณวางใจ#ThaiPBS #ข่าวไทยพีบีเอส #ข่าวที่คุณวางใจ
ข่าว
ข่าวรอบโลก
ความรู้รอบตัว
1 บันทึก
2
1
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย