28 ส.ค. 2024 เวลา 13:30 • ไลฟ์สไตล์

เมื่อวันเกษียณมาถึง ดึงเงินจากไหนมาใช้ได้บ้าง?

เปิดแหล่งรายได้ของวัยเกษียณ 'ข้าราชการ-พนักงานเอกชน-อาชีพอิสระ'
หากย้อนกลับไปดูข้อมูลการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2557 พบว่า แหล่งรายได้ของคนสูงอายุไทย มาจาก บุตรหลาน ร้อยละ 35.7, การทำงานของผู้สูงอายุร้อยละ 34.3, เบี้ยยังชีพจากทางราชการ ร้อยละ 15.3, คู่สมรส ร้อยละ 4.6, เงินบำเหน็จบำนาญ ร้อยละ 4.5 และ ดอกเบี้ยเงินออมที่ผู้สูงอายุได้เก็บออมไว้.ร้อยละ 3.8
จะเห็นว่า มีเพียง 3.8% เท่านั้นที่สามารถอยู่ได้ด้วยเงินออมที่เก็บไว้ก่อน 34.3% แก่แล้วแทนที่จะได้พักผ่อนกลับต้องทำงานหาเงินเลี้ยงชีพ นอกนั้นต้องพึ่งพาผู้อื่น เช่น บุตร คู่สมรส และเงินสวัสดิการต่างๆ และการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติยังพบว่า เกินครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุมีสถานะทางการเงินที่ไม่มั่นคง
หากวัดจากรายได้และเม็ดเงินเพียงอย่างเดียวจะพบว่า ร้อยละ 26.3 เงินออมไม่พอใช้ ไม่มีลูก-สวัสดิการ ร้อยละ 27.6 มีเงินออมพอใช้แต่ไม่มีลูก-สวัสดิการ หรือมีลูก-สวัสดิการ แต่มีเงินออมไม่พอใช้ ผลสำรวจสะท้อนว่าผู้สูงวัยต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้นในระยะยาว และมีแนวโน้มเป็นโสดและอาศัยโดยลำพังมากขึ้น สวนทางกับแนวโน้มเด็กเกิดใหม่ลดลง ขาดลูกหลานให้พึ่งพา
1
เมื่อการเงินเพื่อวัยเกษียณเป็นเรื่องสำคัญ เรามาดูกันนะว่า ข้าราชการ มนุษย์เงินเดือน อาชีพอิสระ มีแหล่งเงินในยามเกษียณอะไรบ้าง
[ #ข้าราชการ ]
💰(1) ระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
ผู้เกษียณอายุราชการ หากอายุราชการตั้งแต่ 1 แต่ไม่เกิน 10 ปี มีสิทธิได้บำเหน็จอย่างเดียว หากตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปเลือกรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญ อย่างใดอย่างหนึ่ง เท่านั้น
💵· #เงินบำเหน็จ คือ เงินที่รัฐจ่ายให้แก่ข้าราชการที่พ้นจากราชการเพียงครั้งเดียว
📝วิธีการคำนวณ
อายุราชการ (ปี) x เงินเดือนเดือนสุดท้าย (เศษของปีตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป นับเป็น 1 ปี)
💵· #เงินบำนาญ คือ เงินที่รัฐจ่ายให้แก่ข้าราชการซึ่งพ้นจากราชการเป็นรายเดือน จนถึงแก่กรรม
📝วิธีการคำนวณ
o กรณีไม่เป็นสมาชิก กบข.
เวลาราชการ (ปี) x เงินเดือนเดือนสุดท้าย ÷ 50 (เศษของปีตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป นับเป็น 1 ปี)
o กรณีเป็นสมาชิก กบข.
1
เวลาราชการ (ปี) x เงินเดือนเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้าย ÷ 50 (บำนาญจะได้รับไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย)
💰(2) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
เป็นกองทุนการออมเกษียณของข้าราชการ โดยข้าราชการสามารถสะสมเข้ากองทุนได้ตั้งแต่ร้อยละ 3 -30 ของเงินเดือน (เงินที่ออมลดหย่อนภาษีได้) และรัฐบาลจะจ่ายสมทบเข้ากองทุนร้อยละ 3 ของเงินเดือน.เมื่อสมาชิก กบข. ที่สิ้นสุดสมาชิกภาพเนื่องจากออกจากราชการ นอกจากเอาเงินออกทั้งก้อน ยังมีสิทธิเลือกในการดำเนินการเกี่ยวกับเงินที่มีสิทธิได้รับจาก กบข. โดยสามารถเลือกบริการออมต่อได้ถึง 4 รูปแบบคือ
💵1. ออมต่อทั้งจำนวน
💵2. ทยอยรับเงินเป็นงวดๆ
💵3. ขอรับเงินบางส่วน ที่เหลือให้ กบข. บริหารต่อ
💵4. ขอรับเงินบางส่วน ที่เหลือทยอยรับเงินเป็นงวดๆ
[ #มนุษย์เงินเดือน ]
💰(1) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เป็นการออมแบบผูกพันระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุ สำหรับมนุษย์เงินเดือนทั่วไป รวมถึงพนักงานรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างประจำส่วนราชการ เป็นการออมเงิน 2 ขา คือ ลูกจ้างส่งเงินสะสม และนายจ้างจ่ายเงินสมทบร้อยละ 2 – 15 ของเงินเดือน (เงินที่ออมลดหย่อนภาษีได้)
1
ลูกจ้างจะได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินก้อนในจำนวนเท่ากับเงินสะสม เงินสมทบ และผลตอบแทนของเงินดังกล่าว สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอายุตัวตั้งแต่ 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน เงินจากกองทุนทั้งก้อนไม่ต้องเสียภาษี และนอกจากจะเอาเงินออกทั้งก้อน สมาชิกกองทุนสามารถเลือก คงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ ขอรับเงินเป็นงวดได้
3
💰(2) กรณีชราภาพ กองทุนประกันสังคม
สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับจะต้องเข้าเงื่อนไข อายุครบ 55 ปี และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง หรือเมื่อเป็นผู้ทุพพลภาพหรือเสียชีวิต สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ มีดังนี้
💵#บำเหน็จชราภาพ
📝· จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบเฉพาะส่วนของผู้ประกันตนที่จ่ายให้กับสำนักงานประกันสังคม
📝· จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 180 เดือน จะจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบส่วนของผู้ประกันตนและส่วนของนายจ้างที่จ่ายเงินสมทบให้กับสำนักงานประกันสังคม เพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ และผลประโยชน์ตอบแทนประจำปี
.
💵#บำนาญชราภาพ
📝· จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็น รายเดือนตลอดชีวิต คิดเป็นอัตราร้อยละ 20 ของเงินค่าจ้าง(ไม่เกิน 15,000 บาท) เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
📝· จ่ายเงินสมทบเกินกว่า180 เดือน จะเพิ่มอัตราการจ่ายเงินบำนาญ ให้อีก ร้อยละ 1.5 ของระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุกๆ 12 เดือน
[ #อาชีพอิสระ ]
💰(1) เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คือ สวัสดิการที่ทางภาครัฐ จัดสรรให้แก่ ผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือ และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายค่าครองชีพในแต่ละเดือน เนื่องจากรายได้จากอาชีพผู้สูงอายุที่ทำอยู่ในแต่ละเดือนอาจไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย โดย
💵· อายุ 60-69 ปี จะได้รับเบี้ยยังชีพ อัตรา 600 บาท/คน/เดือน
💵· อายุ 70-79 ปี จะได้รับเบี้ยยังชีพ อัตรา 700 บาท/คน/เดือน
💵· อายุ 80-89 ปี จะได้รับเบี้ยยังชีพ อัตรา 800 บาท/คน/เดือน
💵· อายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับเบี้ยยังชีพ อัตรา 1,000 บาท/คน/เดือน
ที่ผ่านมาเบี้ยผู้สูงอายุตกไปถึงคนจนมากกว่าคนรวย โดยไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่จนที่สุดมากถึงร้อยละ 29.7 อันดับที่ 2 เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่เกือบจนที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 26.8 แค่เฉพาะ 2 กลุ่มนี้ก็ได้รับประโยชน์เกินครึ่งหนึ่งไปแล้ว ในขณะที่คนรวยที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 9 เป็นเพราะผู้สูงอายุที่ฐานะดีไม่ได้ลงทะเบียบรับเงินส่วนนี้ ประกอบกับผู้สูงอายุที่รวยจริงๆ ในประเทศไทยก็มีไม่เยอะมาก
💰(2) ประกันสังคมมาตรา 40
เป็นการออมสำหรับคนที่ไม่ใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33 หรือเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 โดยมาตรา 40 คือผู้ประกันตนโดยอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ เช่น ฟรีแลนซ์ เกษตรกร ค้าขาย เป็นต้น เฉพาะผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 และ 3 เท่านั้น ถึงมิสิทธิได้รับประโยชน์กรณีชราภาพ (ผลตอบแทนไม่ต้องเสียภาษี) ดังนี้
💵· ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามจำนวนงวดที่จ่ายเงินสมทบ เดือนละ 50 บาท (สามารถฝากเงินออมเพิ่มได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท) + ผลประโยชน์ตอบแทน
💵· ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามจำนวนงวดที่จ่ายเงินสมทบ เดือนละ 150 บาท (สามารถฝากเงินออมเพิ่มได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท) + ผลประโยชน์ตอบแทน และจะได้รับเงินบำเหน็จเพิ่มอีก 10,000 บาท หากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป
💰(3) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบของการออมเพื่อเกษียณอายุ อย่างเช่น คนที่มีอาชีพอิสระ นักเรียน นักศึกษา ฯลฯ ออมได้สูงสุดปีละ 30,000 บาท (เงินที่ออมลดหย่อนภาษีได้) รัฐสมทบให้ตามสัดส่วนที่กำหนดในแต่ละช่วงอายุ โดยสมทบสูงสุดปีละ 1,800 บาท ทุกช่วงอายุ ดังนี้
💵· อายุไม่เกิน 30 ปี รัฐสมทบ 50%
💵· อายุ 30-50 ปี รัฐสมทบ 80%
💵· อายุ 50 ปีขึ้นไป รัฐสมทบ 100%
จำนวนเงินสะสมและเงินสมทบที่สูงขึ้น จะทำให้สมาชิก กอช. มีเงินบำนาญเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงในอนาคตให้มีเงินเพียงพอในการดำรงชีพยามชราภาพ โดยสมาชิก กอช. ที่เริ่มออมตั้งแต่อายุ 15 ปี และออมต่อเนื่องจนถึงอายุ 60 ปี การได้รับบำนาญจะได้เพดานบำนาญต่อเดือนสูงสุด 12,000 บาท/เดือน ในกรณีส่งเงินสะสมเต็มเพดานเงินสะสม โดยการได้รับบำนาญ จะได้รับต่อเมื่อสมาชิกอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์
นอกจากการออมเพื่อวัยเกษียณเหล่านี้ เรายังมีทางเลือกที่จะเพิ่มเงินออมเพื่อวัยเกษียณได้อีกหลายวิธี เช่น กองทุน RMF ประกันบำนาญ กองทุน SSF กองทุน Thai ESG เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เรามีเงินออมเพื่อวัยเกษียณมากขึ้น ยังสามารถเอาเงินที่ออมไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย
เขียนโดย: สาธิต บวรสันติสุทธิ์, นักวางแผนการเงิน CFP
#aomMONEY #เกษียณ #เงินเกษียณ #วางแผนเกษียณ #ประกันสังคม #กบข #บำเหน็จ #บำนาญ
โฆษณา