29 ส.ค. 2024 เวลา 03:30 • ธุรกิจ

Pacamara ธุรกิจกาแฟ Specialty 700 ล้าน เจ้าของเดียวกับ Café Amazon

การเดินเข้าร้านกาแฟ แล้วมีตัวเลือกเมล็ดให้หลากหลาย เป็นเรื่องปกติในยุคนี้
แต่ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน มีไม่กี่ร้านที่ทำกัน
ซึ่ง Pacamara ก็เป็นหนึ่งในนั้น
รู้หรือไม่ว่า ปีที่ผ่านมา Pacamara มีรายได้ถึง 700 ล้านบาท โดยมีมอดูลัส เวนเจอร์ บริษัทลูกของ OR เจ้าของร้านกาแฟ Café Amazon เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
เรื่องราวของ Pacamara เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
1
จุดเริ่มต้นของร้านกาแฟ Pacamara คือเมื่อ 13 ปีที่แล้ว โดยคุณชาตรี ตรีเลิศกุล ที่เคยเปิดร้านกาแฟเล็ก ๆ มาก่อน แต่ก็ล้มแล้วลุกอยู่หลายครั้ง
จนมาเป็นโรงคั่วกาแฟชื่อ Pacamara Coffee Roasters โดยชื่อมีที่มาจากเมล็ดพันธุ์กาแฟที่ใหญ่กว่าปกติ 2 เท่า เพื่อให้ย้อนแย้งกับโรงคั่วของตัวเองที่มีขนาดยังเล็กอยู่
ตามมาด้วยการเปิดร้านกาแฟ Pacamara สาขาแรกที่เชียงใหม่ ซึ่งมีเมล็ดกาแฟเกรด Specialty ให้เลือกหลายชนิด รวมถึงมีระดับการคั่วหลายแบบ
1
ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ในยุคนั้น เพราะร้านกาแฟสดส่วนใหญ่ ยังไม่มีตัวเลือกเมล็ด และมีแต่แบบคั่วเข้มกัน
โดยคุณชาตรีต้องการให้ Pacamara เป็นร้านกาแฟที่เสิร์ฟกาแฟดี ๆ ให้คนทั่วไปดื่มได้ทุกวัน ภายใต้สโลแกน Everyday Specialty นั่นเอง
นอกจากนี้ Pacamara ยังเป็นคอมมิวนิตีสำหรับคนสนใจเรื่องกาแฟ ที่ให้คำแนะนำเรื่องกาแฟสำหรับคนซื้อไปทำเองที่บ้าน รวมถึงการเปิดคลาสสอนชิมกาแฟด้วย
หลังจากนั้น Pacamara ก็ขยายสาขาในกรุงเทพฯ
ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Pacamara Coffee Roasters x Specialty Coffee Lab แถวทองหล่อ
ที่เป็นทั้งร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านขายอุปกรณ์ทำกาแฟ และโรงเรียนสอนทำกาแฟสำหรับคนที่ต้องการเปิดร้านกาแฟ
1
จากโรงคั่วกาแฟ สู่ร้านกาแฟ มาถึงวันนี้ Pacamara ได้เติบโตมาเป็นธุรกิจกาแฟแบบครบวงจร
2
โดยหลัก ๆ แบ่งเป็น
2
- ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ทำกาแฟ Peaberry Thai ที่จำหน่ายวัตถุดิบ และอุปกรณ์ทำกาแฟของแบรนด์ชั้นนำทั่วโลก
- ธุรกิจร้านกาแฟ Pacamara ทั้งหมด 25 สาขา
(24 สาขาในกรุงเทพฯ และ 1 สาขาในเชียงใหม่)
โดยราคาเครื่องดื่มของ Pacamara อยู่ที่ 105-135 บาท อยู่ตรงกลางระหว่างร้านกาแฟ Café Amazon และ Starbucks
1
โดยในปี 2563 บจ.มอดูลัส เวนเจอร์ บริษัทลูกของ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ได้เข้าลงทุน Pacamara ในสัดส่วน 65% ด้วยเงินลงทุน 172 ล้านบาท
(ก็คือตอนนั้น Pacamara ถูกประเมินมูลค่าธุรกิจอยู่ที่ 265 ล้านบาท ถ้าถือหุ้นในสัดส่วน 100%)
ถือเป็นการขยายธุรกิจร้านกาแฟของ OR ที่เป็นเจ้าของร้านกาแฟ Café Amazon อยู่แล้ว
และจากข้อมูลล่าสุด สัดส่วนการลงทุน Pacamara ของ OR เพิ่มขึ้นเป็น 81% แล้ว
ในส่วนของผลประกอบการบริษัท พีเบอร์รี่ ไทย จำกัด หรือ Pacamara ในช่วงที่ผ่านมา
- ปี 2564 รายได้ 321 ล้านบาท ขาดทุน 21.7 ล้านบาท
- ปี 2565 รายได้ 474 ล้านบาท กำไร 14.4 ล้านบาท
- ปี 2566 รายได้ 712 ล้านบาท กำไร 14.0 ล้านบาท
จะเห็นว่า แม้รายได้ของ Pacamara จะเติบโต 50% ในปีที่ผ่านมา แต่กำไรกลับไม่โตตาม รวมถึงมีอัตรากำไรในระดับต่ำด้วย
ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะในปี 2566 ทาง Pacamara ได้ลงทุนเปิดสาขาเพิ่ม 6 สาขา ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น
แล้วอีกเรื่องก็น่าจะเป็นเพราะการแข่งขันที่สูงมากในตลาดร้านกาแฟ เห็นได้จากการเดินไปที่ไหนก็เจอร้านกาแฟเต็มไปหมด ทั้งร้านกาแฟทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเชนใหญ่ ร้านกาแฟเล็ก ๆ ที่คอยดักลูกค้าให้เปลี่ยนใจไปอุดหนุนร้านอื่นได้ง่าย ๆ
รวมถึงร้านกาแฟแบบ Specialty Coffee ที่เจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม ก็มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งหลายร้านมีเครื่องคั่วกาแฟเป็นของตัวเอง เพื่อให้กาแฟของที่ร้านมีจุดเด่นแตกต่างจากร้านอื่น
อย่างไรก็ตาม ในสงครามทะเลเดือดนี้ Pacamara เองก็ได้ประโยชน์อยู่เหมือนกัน เพราะมีธุรกิจจำหน่ายเมล็ดกาแฟและอุปกรณ์ทำกาแฟ สำหรับขายให้ร้านกาแฟอื่น ๆ หรือแม้แต่คนที่ทำกาแฟดื่มเองที่บ้าน
โดย Pacamara ตั้งเป้าไว้ว่าในปีนี้ จะเปิดเพิ่มอีก 12 สาขา และต้องการเป็นแบรนด์ Specialty Coffee ที่มีสาขามากที่สุดในไทย
ต้องติดตามกันต่อไปว่า เส้นทางของ Pacamara จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ที่เห็นก็คือการที่ OR เข้ามาถือหุ้นใหญ่ ก็คงช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านเงินทุนและเครือข่ายให้กับ Pacamara เพื่อให้ไปถึงฝั่งฝัน ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว..
โฆษณา