14 ก.ย. เวลา 02:46 • การศึกษา

💭มาทำความเข้าใจระหว่าง Turning Point และ True Climax กัน

สำหรับเพื่อน ๆ ที่เคยลองศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างเรื่อง คงจะเคยได้ยินทั้งสองคำนี้ใช่ไหมคะ สองคำนี้จะปรากฏให้เราเห็นในขั้นตอนการวางโครงเรื่อง (Plot) ซึ่งเป็นสองจุดสำคัญที่หลายคนมักจะเกิดการสับสนว่าความรุนแรงของสถานการณ์ที่เราจะต้องใส่เข้าไป จุดไหนคือพีคกว่า และควรจะคิดดีไซน์สถานการณ์นั้นในรูปแบบไหน
เราลองมาดูกันก่อนว่าทั้งสองคำนี้มีความหมายว่าอย่างไรนะคะ
↩️Turning Point คือ จุดหักมุม จุดเปลี่ยน จุดพลิกผัน
จุดนี้มันคือ จุดหักเหที่เกิดขึ้นในช่วงกลางเรื่องค่ะ เช่น เรื่องที่ตัวละครเอกเฝ้าติดตามดันเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ไม่ใช่ตามที่คาดไว้ เหมือนว่าจะชนะแต่ไม่ใช่ชัยชนะที่แท้จริง หรือถ้าตัวละครผิดพลาดหรือพ่ายแพ้ก็จะได้รับโอกาสอีกครั้ง ในช่วง Turning Point นี้มักจะเป็นเหตุการณ์ที่จะพาตัวละครไปสู่ที่นั่งลำบาก
หากดูจาก ACT ทั้งหมด 3 ACT จะพบว่าจุดนี้จะอยู่ตรง ACT 2 หรือก็คือช่วงกลางเรื่องพอดี หากเราลองพลอตเป็นกราฟอารมณ์ตัวละครเอก จุดนี้อาจจะ “สูง” หรือ “ต่ำมาก” จนกลายเป็น “ยอดเขา” หรือ “หุบเหว” ของตัวละครเอกก็ได้
ในขณะที่…
💥True Climax คือ การเผชิญหน้าที่แท้จริง
จากการเผชิญหน้าที่แท้จริง ทำให้อารมณ์ของตัวละครเอกพุ่งสูงสุดก่อนจะเกิดการคลี่คลาย หากต้องการให้ตัวละครเอกชนะ จงให้เขาชนะและไปถึงเป้าหมายแบบหืดขึ้นคอ หรือถ้าอยากให้จบแบบตัวละครเอกพ่ายแพ้ก็ต้องแพ้แต่ได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง
จุดนี้คือจุดพีคของ ACT 3 เป็นฉากที่ตัวละครเอกได้เผชิญหน้ากับเป้าหมายหลัก หลังผ่านการเรียนรู้และหาหนทางเจอหลังจุด Turning Point มาแล้ว ซึ่งจุดพีคนี้อารมณ์ของตัวละครเอกมักจะเป็นค่าบวกที่สูง แต่ก็มีบางครั้งที่ตัวเลขอาจจะอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ๆ ได้ เช่น เรื่องที่ตัวละครเอกเข้าสู่ด้านมืด หดหู่และสิ้นหวัง ในช่วงเวลา True Climax จึงเป็นช่วงตัดสินใจสุดท้ายที่จะต้องทำให้อารมณ์ของตัวละครเอกตึงเครียด และนำไปสู่ผลลัพธ์สุดท้ายว่าจะจบลงอย่างไรค่ะ
✍️สรุปแล้วทั้ง Turning Point และ True Climax คือการสร้างจุดพีคให้กับเรื่อง มันคือการสร้างยอดเขาและหุบเหว เป็นจุดที่อารมณ์ของตัวละครเอกจะพุ่งสู่จุดต่ำสุดหรือสูงที่สุด ซึ่งมันจะชวนให้คนดูหรือคนอ่านอินและลุ้นมากที่สุดเช่นกัน
แต่เราต้องรู้ว่าเราควรสร้างสถานการณ์แบบไหนเพื่อให้เหมาะสมกับจุดนั้น ๆ ของเรื่องเรา โดยปกติแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างยอดเขาหรือหุบเหว ในจุด True Climax ควรจะต้องมีตัวเลขต่ำหรือสูงสุดให้มากกว่าจุด Turning Point เพราะมันคือจุดไคลแมกซ์ของเรื่องนั่นเองค่ะ
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้จุด True Climax ทำงาน นั่นคือเราต้องทำให้คนดูหรือคนอ่านรู้สึกผูกพันและเอาใจช่วยตัวละครเอกของเราด้วยนะคะ
หวังว่าบทความนี้น่าจะช่วยคลี่คลายความสับสนและสร้างความเข้าใจให้กับเพื่อน ๆ ได้มากขึ้น หากยังจุดไหนที่ต้องการให้ทาเล่าหรืออธิบายเพิ่มเติมสามารถ Comment กันเอาไว้ได้ค่ะ
และหากอยากฝึกใช้เครื่องมือที่ช่วยเราสร้างเรื่องแบบมีโครงสร้าง สามารถทดลองใช้ได้ฟรีที่นี่เลยนะคะ
บทความโดย
วงแหวนดาวเสาร์
โฆษณา