29 ส.ค. 2024 เวลา 09:00 • ธุรกิจ

ถอดกลยุทธ์ “ตี๋เล็กฟู้ดส์”จากร้านเล็กในโรงอาหารต่อยอดสู่แฟรนไชส์สร้างเครือข่ายธุรกิจเติบโตแบบครบวงจร

หนึ่งในเมนูอาหารรองท้องที่อิ่มแบบพอดี มีคุณค่าทางโภชนาการ หาซื้อง่ายในราคาที่ทุกคนเอื้อมถึง หลายคนต้องนึกถึง ‘ขนมจีบ-ซาลาเปา’ ซึ่งมีขายทั่วไปในท้องตลาด แต่การจะทำให้โดดเด่น โดนใจผู้บริโภค จนสร้างยอดขายหลักล้านได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังเส้นทางการเติบโตของ “ตี๋เล็กฟู้ดส์”
ภายใต้การบริหารของ คุณภัทรธนัฐ ตั้งเมธากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตี๋เล็กฟู้ดส์ จำกัด ผู้ได้แรงบันดาลใจจากซาลาเปาของเตี่ยกับแม่ ต่อยอดธุรกิจสู่การทำแฟรนไชส์ สร้างเครือข่ายธุรกิจแบบครบวงจร เขาทำได้อย่างไร Bangkok Bank SME จะพาทุกคนไปหาคำตอบด้วยกัน
จุดพลิกผันของชีวิต
คุณภัทรธนัฐ กล่าวถึงจุดพลิกผันในชีวิตว่า ตอนเข้าเรียนปี 1 ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งระยะที่ 3 ต้องดรอปเรียน เพื่อรักษาตัว ระหว่างพักรักษาตัวอยู่นาน ทำให้ได้ข้อคิดในการใช้ชีวิตว่า “เวลา” คือสิ่งสำคัญ ทุกวินาทีมีค่า ต้องใช้เวลาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด จึงเริ่มคิดว่า “ต้องทำอะไรสักอย่าง”
หลังพักรักษาตัวจนหายดีจนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ จึงเริ่มเอาขนมจีบ ซาลาเปาของเตี่ยกับแม่ ไปขายที่โรงอาหารของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ตั้งแต่ปี 2553 (ตอนเรียนปี 2) ด้วยจุดเด่นของซาลาเปา แป้งนุ่ม ไส้เยอะ รสชาติอร่อย ราคาไม่แพง จึงเริ่มมีลูกค้าที่เป็นนักศึกษา อาจารย์ บุคลากร รวมถึงบุคคลภายนอกที่มาทำธุระ ซื้อรับประทานแล้วติดใจ อยากรับไปขาย จึงเห็นโอกาสต่อยอดธุรกิจ บวกกับความโชคดีที่มีรายการทีวีมาขอถ่ายทำ ทำให้แบรนด์ “ตี๋เล็กฟู้ดส์” เริ่มมีชื่อเสียงและมีคนรู้จักมากขึ้น
จากร้านเล็กๆในมหาวิทยาลัยสู่โรงงานผลิตขนมจีบ ซาลาเปา
คุณภัทรธนัฐ ฉายภาพการทำธุรกิจว่า “ตี๋เล็กฟู้ดส์” เริ่มจากขายขนมจีบ ซาลาเปา บนรถเข็น แล้วขยับเป็นคีออส จากนั้นพัฒนาเป็นซาเล้งพ่วงข้าง เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น ต่อมามีลูกค้าสนใจอยากเปิดร้าน จึงทำเป็นแฟรนไชส์ และขยายตลาดเข้าสู่ห้างฯ นอกจากนี้ยังมี Food Truck และหน้าร้านที่เป็นแบรนด์ของตัวเอง (OBM) รวมถึงรับจ้างผลิต (OEM) ให้ลูกค้าที่จำหน่ายในห้างท้องถิ่น และร้านอาหาร เช่น ร้านสุกี้
เมื่อยอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปี 2556 จึงตัดสินใจสร้างโรงงานขนาดเล็ก บนพื้นที่ 100 ตารางวา โดยเริ่มใช้เครื่องจักร และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างมาตรฐานการผลิตมากขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำขนมจีบ ซาลาเปาให้อร่อยและมีคุณภาพ ตอบโจทย์ผู้บริโภค
คุณภัทรธนัฐ เผยแนวคิดว่า ถ้าอยากให้คนจำได้ ต้องมีแบรนด์ จึงตั้งชื่อ พร้อมออกแบบโลโก้ (จดลิขสิทธิ์) โดยใช้ชื่อเตี่ย (ตี๋) กับแม่ (เล็ก) มาเป็นชื่อแบรนด์ คือ “ตี๋เล็ก ซาลาเปา” ส่วนโลโก้ แทนตัวเองที่เป็นคนรุ่นใหม่ คนไทยเชื้อสายจีน โดยจดทะเบียนในนามบริษัท ตี๋เล็กฟู้ดส์ จำกัด ในปี 2559
ปัจจุบัน “ตี๋เล็ก ซาลาเปา” ยกระดับภาพลักษณ์เป็นขนมจีบ ซาลาเปาที่ทันสมัย ภายใต้การผลิตซึ่งได้มาตรฐาน มีสาขาของตัวเองและตัวแทนรวมกว่า 20 แห่ง เมนูจะมีให้เลือกหลากหลาย เช่น ซาลาเปาไส้ต่าง ๆ ขนมจีบกุ้ง ขนมจีบปู ขนมจีบหมูหยก ขนมจีบหมูสาหร่าย หมั่นโถว และบักกุ๊ดเต๋
ผู้บริหารหนุ่ม เผยถึงการวางแผนธุรกิจในอนาคตว่า จะเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคได้กว้างขวางยิ่งขึ้น นอกจากเดินหน้าสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก และจดจำในฐานะเมนูซิกเนเจอร์ของดีประจำจังหวัดแล้ว คุณภัทรธนัฐ ยังมองเห็น 5 โอกาสในการสร้างความสำเร็จ ด้วยการสร้างเครือข่ายธุรกิจที่เอื้อกันแบบครบวงจร ดังนี้
โอกาสที่ 1 ต่อยอดจากรถเข็นสู่แฟรนไชส์
มองหาความแตกต่างในโอกาส เมื่อซาลาเปาเริ่มขายดี ยอดขายโตอย่างต่อเนื่อง จาก คีออส จึงขยับเป็นการทำรถซาเล้งพ่วงข้าง ภายใต้ Concept ซาลาเปา Delivery โดยกู้เงินมาทำรถประมาณ 100 คัน ด้วยการจ้างพนักงาน และให้ยืมใช้ เพื่อช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้กับผู้ที่สนใจอยากทำธุรกิจ ซึ่งเราลงทุนและซื้อของให้ทั้งหมด
เงื่อนไขของการเป็นตัวแทน เริ่มจากการลงพื้นที่จริง เพื่อดูความเป็นไปได้ทั้งคนขายและพื้นที่ขาย โดยจะขยายตลาดไปในจังหวัดใกล้เคียง อาทิ กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และหลังจากผ่านการพิจารณา บริษัทจะลงพื้นที่อีกครั้งเพื่อให้รางวัลตัวแทนที่ทำยอดขายทะลุเป้า ซึ่งแต่ละรายมียอดขายประมาณวันละ 5,000 บาท สร้างรายได้ให้คนขาย 800 - 1,500 บาทต่อวัน
ต่อมา คุณภัทรธนัฐ อยากทำให้แบรนด์มีมาตรฐานมากขึ้น บวกกับมองเห็นปัญหาของการขายรูปแบบรถซาเล้ง คือไม่สามารถส่งสินค้าในพื้นที่ที่ไกลได้ จึงทำรูปแบบแฟรนไชส์ ซึ่งผลตอบรับดีมาก เพราะมีหลายราคาให้เลือกลงทุน ตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่น และมีโมเดลหลากหลายให้เลือก อาทิ เคาน์เตอร์ รถเข็นขนาดเล็ก และใหญ่
“เราคัดเลือกตัวแทนขายและทำเลที่ตั้งอย่างจริงจัง ซึ่งตัวแทนต้องผ่านการสัมภาษณ์ด้วย เพื่อให้ได้มาตรฐานที่ดี และสามารถขายได้จริง เพราะนั่นหมายถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ ตี๋เล็ก ซาลาเปา”
คุณภัทรธนัฐ เล่าว่า ก่อนที่จะทำแฟรนไชส์ เราให้คนซื้อซาลาเปาของเราไปขาย เอาแบรนด์ “ตี๋เล็ก ซาลาเปา” ไปใช้ได้เลยโดยไม่คิดเงิน สุดท้ายรู้ว่า การให้ฟรี คนรับจะไม่เห็นคุณค่า ในที่สุดจึงเปลี่ยนมาทำระบบแฟรนไชส์เต็มรูปแบบ มีทั้งอาหาร อุปกรณ์ ชื่อแบรนด์ ผ้ากันเปื้อน ในราคาที่เลือกได้ตามงบประมาณของลูกค้า
ซึ่งการตอบรับดีมาก จนปี 2562 ได้รับการรับรองจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้เป็น “10 แฟรนไชส์มาตรฐานดีที่สุด” ( 10 Best Case Franchise Standard) และได้รับคัดเลือกให้เป็น “ของดีประจำจังหวัดนครปฐม” จาก สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยด้วย best case franchise Standard
โอกาสที่ 2 ต่อยอดจาก ‘ตี๋เล็ก ซาลาเปา’ สร้างแบรนด์ใหม่ ‘อรพรรณ ติ่มซำ ซาลาเปา’
คุณภัทรธนัฐ ยอมรับว่า จากการทำธุรกิจมา 10 กว่าปี ไม่มีอะไรราบรื่น ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และปรับตัวตามสถานการณ์ โดยมีเป้าหมายว่า จะมอบความอร่อยและคุ้มค่า ให้กับลูกค้าในทุกวัน และตั้งเป้าจะทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จัก ครอบคลุมทั้งภาคกลาง ภายใน 3 ปี
ยุคสมัยเปลี่ยนไป เราอยากสร้างแบรนด์ “ตี๋เล็ก ซาลาเปา” ให้แข็งแกร่งขึ้น ปัจจุบัน มีทั้งหมด 20 สาขา ซึ่งช่วงที่เราหยุดขายแฟรนไชส์ มีผู้สนใจติดต่อมาจำนวนมาก จึงคิดต่อยอด สร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมาคือ “อรพรรณ ติ่มซำ ซาลาเปา” เป็นชื่อของภรรยา ซึ่งโมเดลธุรกิจจะเหมือน “ตี๋เล็ก ซาลาเปา”
แต่ราคาถูกลงและเน้นการขายแฟรนไชส์ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงง่ายขึ้น ขณะที่แบรนด์ “ตี๋เล็ก ซาลาเปา” จะเน้นปรับรูปแบบ เน้น Take Away หรือซื้อกลับบ้าน และใช้วัตถุดิบพรีเมียมมากขึ้น
“ยุค Social ใครไม่ปรับตัวจะตกขบวน เรื่องนี้ไม่เกินจริง ปัจจุบันนอกจากจะใช้ Influencer แล้ว เราต้องทำ Content ของเราเองด้วย เพื่อสร้างตัวตนให้คนรู้จักมากขึ้น”
โอกาสที่ 3 เปิดร้าน โกตี๋ ติ่มซำ “ห้องรับแขก แห่งนครปฐม”
คุณภัทรธนัฐ มองเห็น Pain point ของผู้บริโภคที่ชอบรับประทานอาหารจีน แต่ส่วนใหญ่ราคาแพง และค่อนข้างหารับประทานยาก จึงต่อยอด แตกไลน์สู่ร้านอาหารจีน ชื่อ โกตี๋ ติ่มซำ ตั้งเป้าให้เป็น “ห้องรับแขกแห่งนครปฐม” โดยเปิดเป็นลักษณะ Restaurant ตกแต่งสไตล์จีน หรูหรา แต่ราคาเข้าถึงได้ และมีอาหารหลากหลายทั้ง ติ่มซำ บักกุ๊ดเต๋ โจ๊ก ปาท่องโก๋ ขนมจีน ไข่กระทะ ฯลฯ ซึ่งกำลังจะเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้
โอกาสที่ 4 สร้างเครือข่ายพันธมิตร
คือ การสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในธุรกิจ อาทิ ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ OEM โดยปัจจุบันเป็นคู่ค้ากับ 7-11, Villa Market, Foodland, Lotus, ถูกดี, FoodsTRK, ไทยฟู้ดส์ เฟรช มาร์เก็ต, ทรัพย์ไพศาล ฟู้ดพลัส, CJ, ไอศกรีมไผ่ทอง, ลัคกี้สุกี้ เป็นต้น
โอกาสที่ 5 ขยายตลาดส่งออก
ผู้บริหารหนุ่ม กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กำลังขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV เนื่องจากมองเห็นโอกาสจากวัฒนธรรมการบริโภคของประเทศเพื่อนบ้านที่คล้ายคลึงกับไทย โดยปัจจุบัน ได้เข้าไปขายในห้าง Big C ประเทศลาว ซึ่งขณะนี้ บริษัทพร้อมขยายกำลังการผลิตด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัย โดยสามารถผลิตซาลาเปาได้วันละ 30,000 ลูก และขนมจีบอีกมากกว่า 100,000 ลูกต่อวัน ผ่านมาตรฐานการรับรองระดับโลก
สร้างเครือข่ายธุรกิจแบบครบวงจร
บริษัท ตี๋เล็กฟู้ดส์ จำกัด จะสร้างเครือข่ายธุรกิจแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เพื่อรองรับธุรกิจในภาพรวม เริ่มจากร้านเบเกอรี่ “BAKE 56” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเบเกอรี่แบบครบวงจร จำหน่ายวัตถุดิบในการทำเบเกอรี่ ใหญ่ที่สุดในนครปฐม ปัจจุบันมี 2 สาขา คือ สาขาสามพราน และนครปฐม
ต่อด้วย ธุรกิจขนส่งแช่เย็น Inter Express ในนาม “ตี๋เล็ก อินเตอร์ โลจิสติกส์” ซึ่งถ้ามองในวงจรของธุรกิจ (Business Cycle) จะเห็นว่า เรามีตั้งแต่ต้นทาง คือวัตถุดิบ ที่นำมาทำซาลาเปา จนถึงการจัดส่งให้ลูกค้า ด้วยระบบขนส่งของเราเอง
และอีกหนึ่งธุรกิจที่เห็นโอกาส คือ “บริษัท ตี๋เล็ก มาร์เก็ตติ้ง จำกัด”
โดยมีเป้าหมายในการซื้อธุรกิจแฟรนไชส์อื่นมาบริหาร ซึ่งนอกจากจะทำเพื่อเป้าหมายทางธุรกิจแล้ว ยังสามารถนำแนวทางการดำเนินงานมาปรับใช้กับธุรกิจหลักได้ ถือเป็นโอกาสในการเรียนรู้ เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจของเราไปในตัวได้อีกด้วย
ระบบสะสมแต้ม กลยุทธ์ที่แบรนด์ยุคใหม่ต้องมี
ทั้งหมดนี้ ทำให้เราสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างครบถ้วนทุกความต้องการ ในฐานะที่ปรึกษาทางการตลาด ไม่ใช่แค่คู่ค้าเท่านั้น ซึ่งการให้คำปรึกษามีทั้งจากบริษัทเอง และมีทีมการตลาดมืออาชีพที่บริษัทจัดหามาเพื่อดูแลลูกค้า โดยมีการทำโปรโมชั่นให้ราคาพิเศษ หรือการสะสมแต้ม ที่ทั่วไปจะใช้แต้มมาเป็นส่วนลด แต่ที่นี่ในทุกยอดสั่งซื้อจะถูกเก็บเป็นคะแนน เพื่อนำมาแลกคำปรึกษา เพื่อช่วยให้ลูกค้าขายได้ ยิ่งขายดี เขาก็จะยิ่งกลับมาซื้อเยอะขึ้น ทำให้เราเติบโตไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน
ก้าวต่อไปของ บริษัท ตี๋เล็กฟู้ดส์ จำกัด
คุณภัทรธนัฐ เผยว่า เราเพิ่งเริ่มทำธุรกิจเบเกอรี่เพียง 2 ปี แต่พบว่าธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด มี Supplier ถึง 300 ราย โดยแผนธุรกิจปี 2568 ร้านเบเกอรี่ของเราจะไม่ได้ขายแค่วัตถุดิบเบเกอรี่เท่านั้น แต่จะเป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัตถุดิบ หรือการตลาด เราให้คำปรึกษาได้อย่างครบวงจร เพราะผู้ประกอบการที่เป็นคู่ค้ากับเรา ก็ต้องการเติบโต
หากได้รับคำปรึกษาที่ดี มีการตลาดที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้เขาเติบโตได้ และย้อนกลับมาซื้อวัตถุดิบจากเรา ยิ่งเราทำให้เขาขายดีมากเท่าไหร่ เขาก็จะซื้อของเราบ่อยขึ้น ถือเป็นโอกาสทางการขาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความยั่งยืนในธุรกิจของเราได้เช่นกัน
เราวางแผนที่จะเชื่อมโยงกลุ่มพันธมิตร อาทิ นักออกแบบ นักการตลาด โรงงานแพคเกจจิ้ง โดยใช้เว็บไซต์เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสาร ปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบพัฒนาเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้แบบครบวงจร
นอกจากนี้ เราจะสร้าง Mini Factory เพื่อเป็นครัวสำหรับให้ลูกค้าที่ต้องการทำเบเกอรี่ แต่ไม่มีเครื่องมือ & อุปกรณ์ ลูกค้าที่ซื้อวัตถุดิบที่เรา สามารถมาทำที่ Mini Factory ของทางร้าน พร้อมใช้บริการขนส่งที่เราได้เลย เพราะเรามี Inter Express รองรับการขนส่งแบบรักษาอุณหภูมิได้ทั่วประเทศ
อีกทั้งยังสามารถขายผ่านตลาดที่เราจะสร้างขึ้นในอนาคต ในลักษณะศูนย์รวมของอร่อย เช่น BAKE 56 Market โดยอาจร่วมมือกับห้างเซ็นทรัล หรือผู้สร้างเพจธุรกิจในนครปฐม ให้ลูกค้าของเราสามารถเช่าพื้นที่ได้ในราคาพิเศษ หรือใช้คะแนนแลกได้ด้วย
“ทั้งหมดที่พูดมา อยู่ในมือผม 90% แต่อนาคตทุกอย่างจะอยู่ในมือผมคนเดียวไม่ได้ ต้องมี Holding Company เพื่อรองรับการเติบโต และส่งมอบธุรกิจให้ลูกหลาน รวมถึงลูกน้องที่จะเติบโตไปกับองค์กรได้อย่างมั่นคง”
ร่วม Big Brother หาพันธมิตร สร้างแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ
นอกจากจะสนใจทำธุรกิจแล้ว สิ่งที่ คุณภัทรธนัฐ ไม่เคยหยุด คือการแสวงหาความรู้ทางธุรกิจ อย่างเช่น การเข้าร่วมโครงการ Big Brother ถึง 3 ปี ตั้งแต่รุ่น 4-6 ซึ่งแต่ละปีมีวัตถุประสงค์การเข้าร่วมโครงการที่แตกต่างกันไป
“ต้องบอกว่า โครงการนี้ช่วยเรื่องการทำธุรกิจได้อย่างมาก โดยวัตถุประสงค์ที่เข้าร่วม อย่างแรกคือ ต้องการหาพันธมิตรเพื่อสร้าง Connection วันนี้ การเติบโต ต้องมีพลังมากขึ้น ต้องรู้เขา รู้เรา รู้ว่าคนอื่นทำอะไร เขาอยู่ได้อย่างไร เพื่อเป็นการจุดไฟให้เราเห็นภาพว่าทำอย่างไร ถึงจะต่อยอดธุรกิจเราได้
อย่างที่สองคือ ช่วยกระตุ้นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ และสามารถนำมาต่อยอดได้ 2 เรื่อง คือได้ไปเยี่ยมชมบริษัทชั้นนำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ถือเป็น Connection ที่ดีมาก โดยบริษัทเหล่านี้ ในฐานะพี่เลี้ยงของโครงการจะแนะนำข้อมูลและวิเคราะห์สินค้าให้เรา เพื่อชี้แนวทางในการดำเนินธุรกิจ”
นอกจากนี้ ยังได้อาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งท่านให้ข้อคิดในการ Rebranding ธุรกิจ ให้แบรนด์เป็นที่จดจำ มีองค์ประกอบอยู่ 3 สิ่ง คือ 1) โลโก้ ต้องไม่เน้นลายเส้นที่เยอะเกินไป 2) สีต้องสด เช่น สีแดงจะกระตุ้นความหิว 3) ชื่อ ต้องไม่เกิน 3 พยางค์ เพราะจะทำให้ลูกค้าจดจำได้ยาก ซึ่งเร็ว ๆ นี้ ตี๋เล็กซาลาเปา จะมีการ Rebranding อีกครั้งหนึ่ง เพื่อสร้างตัวตนให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ฝากถึง SME
คุณภัทรธนัฐ ฝากแง่คิดถึง SME ว่า Data Marketing คือสิ่งสำคัญในการต่อยอดธุรกิจ เพราะแค่ความคิดไม่สามารถตอบโจทย์ได้ถูกต้อง เนื่องจากไม่ใช่ข้อมูลที่แท้จริง แต่ Data สามารถนำมาเชื่อมโยง ผูกต่อกันได้ เช่น ลูกค้าซื้อซาลาเปา เราให้แต้ม นำมาเป็นส่วนลดในการซื้อเบเกอรี่ หรือใช้บริการขนส่งได้
การทำธุรกิจ ไม่ใช่คิดว่าแค่อยากทำอะไร แต่ต้องใช้ Data หรือข้อมูลที่มี นำมาคิดวิเคราะห์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปัจจุบันโลกเปลี่ยนเร็วมาก ต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
“เหมือนกับ บริษัท ตี๋เล็กฟู้ดส์ จำกัด ที่เติบโตมาถึงวันนี้ได้ เป็นเพราะเราปรับตัวอยู่ตลอดเวลา”
ช้าแต่ชัวร์ น้อยแต่มาก
คุณภัทรธนัฐ กล่าวทิ้งท้ายว่า Concept ของเรา เน้น “ช้าแต่ชัวร์ น้อยแต่มาก” หมายความว่า สาขาไม่ต้องเยอะ แต่ทำให้มาก เพราะเราได้รับบทเรียนและประสบการณ์มากมาย ทั้งดีและไม่ดี ซึ่งสุดท้าย เราไม่สามารถดูแลอย่างทั่วถึง ทำให้เจอปัญหาเยอะมาก
“ทำน้อยได้มาก ดีกว่าทำมากได้น้อย ผมเจ็บมาเยอะ แต่บทเรียนและประสบการณ์ก็สอนผมเยอะมากเช่นกัน”
ทั้งหมดนี้ คือ แนวทางการดำเนินธุรกิจของ บริษัท ตี๋เล็กฟู้ดส์ จำกัด ที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
โฆษณา