29 ส.ค. เวลา 09:58 • หนังสือ

ฮ​ า​ จิ​ โ​ ก​ ะ

เรื่ิองของสุนัขพันธ์อาคิตะที่ผูกพันกับเจ้านายตราบลมหายใจสุดท้าย
ผู้อ่านหลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวความรักที่แสนซาบซึ้งใจระหว่างเจ้าสุนัข “ฮาจิโกะ” และศาสตราจารย์ท่านหนึ่งในญี่ปุ่นมาบ้าง ซึ่งทำให้เรารู้ว่า การรอคอยนั้นมีความหมายสำหรับใครบางคนยิ่งนัก ... ความรักและการรอคอยอย่างซื่อสัตย์ที่มันมีต่อเจ้านายทำให้เราอดไม่ได้ที่จะรู้สึกซาบซึ้งและรักมันอย่างเต็มหัวใจเลยทีเดียว
.
“ฮาจิโกะ” (Hachiko. El gos que esperava) เป็นผลงานของหลุย์ พรัทส์ (Lluís Prats) นักเขียนชาวสเปน ในภาษากาตาลัน ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของสเปน และได้มีการแปลเป็นภาษาสเปนโดยออลก้า การ์เซีย ฉบับภาษาไทยแปลโดยอาจารย์รัศมี กฤษณมิษ นักแปลวรรณกรรมเยาวชนภาษาสเปนยุคบุกเบิก
 
.
เรื่อง ”ฮาจิโกะ” แบ่งเป็นสองภาคคือ ภาคแรกในปี ค.ศ. ๑๙๒๔-๑๙๒๕ (พ.ศ. ๒๔๖๗-๒๔๖๘) และ ภาคสองช่วงปี ค.ศ. ๑๙๒๕-๑๙๓๕ (พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๘) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฮาจิโกะมีชีวิตอยู่ เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อศาสตราจารย์เอซาบูโร อูเอโนะ แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวได้ไปรับสุนัขตัวหนึ่งซึ่งตั้งใจจะให้เป็นของขวัญแก่ลูกสาว เขาไม่คิดสักนิดเลยว่า เจ้าสุนัขตัวนี้จะกลายเป็นเสมือนเพื่อนสนิทของเขา และเขาจะรักมันมากจนกลายเป็นความผูกพันกับมันอย่างลึกซึ้งในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์
.
“คุณไม่ใช่เด็ก ๆ แล้วนะคะ ศาสตราจารย์เอซาบูโร คุณอายุตั้งห้าสิบสามปีแล้ว คุณหลงใหลคลั่งไคล้หมาขนาดนี้ได้อย่างไรกัน” (น.๓๕) เขาเคยขำและถามภรรยาว่าเธอหึงเขาใช่ไหมที่เขาใส่ใจกับฮาจิโกะ หมาตัวนี้มากกว่าเธอ เพราะเขาใช้เวลาอยู่กับมันมากกว่าเธอ ในตอนเช้าเวลาแปดโมงครึ่งเขาจะเดินจากบ้านไปสถานีรถไฟชิบูย่าโดยมีหมาตัวนี้เดินเป็นเพื่อนไปด้วยเสมอจนเพื่อนบ้านและผู้คนที่สถานีต่างคุ้นตา
.
เมื่อถึงเวลาห้าโมงสิบห้านาทีในตอนเย็น ฮาจิโกะก็จะวิ่งออกจากบ้านไปรอเขาที่สถานี ครั้นได้ยินเสียงหวูดรถไฟเข้ามาก็จะยึดคอขึ้นรอดูนายมันเดินลงมาจากรถไฟ...กิจวัตรประจำวันของฮาจิโกะเป็นเช่นนี้จนเวลาผ่านไป .... เมื่อลูกสาวของศาสตราจารย์เอซาบูโรจะแต่งงาน และอาจจะต้องเอาฮาจิโกะไปเลี้ยงต่อด้วยแต่ว่าที่ลูกเขยบอกว่าแพ้สัตว์ก็จะไม่เอามันไป นั่นกลับกลายเป็นข่าวดีสำหรับศาสตราจารย์ เขารู้สึกดีใจยิ่งกว่าถูกล็อตเตอรี่เสียอีก
.
เวลาผ่านไปนานวันก็มีเหตุหนึ่งเกิดขึ้นทำให้ฮาจิโกะที่เฝ้ารอนายมันไม่ได้มีโอกาสได้เจอศาสตรจารย์เอซาบูโรเช่นเคยอีกต่อไป....แต่มันก็ยังคงไปรอศาสตราจารย์ที่สถานีรถไฟ...รอจนผู้โดยสารคนสุดท้ายเดินออกมาและนายสถานีปิดประตู มันก็จะเดินกลับบ้าน และกลับมาใหม่ตอนเย็นทุกวัน เพราะมันจำได้ว่า นายมันไม่เคยผิดคำสัญญากับมันมาก่อน
.
การรักใครสักคนและเฝ้ารอคอยพบกันทุกวันเมื่อคนที่รักกลับมา เป็นความรักความผูกพันที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง แต่ถ้าคนที่เฝ้ารอนั้นไม่รู้เลยว่าคนที่รักนั้นได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับมาเจอกันอีกแล้ว...แต่ยังคงรอคอยคนรักที่เดิมเวลาเดิมทุกวันนานเป็นปี ๆ คงเป็นความเจ็บปวดยิ่งกว่าสำหรับผู้ที่รับรู้เรื่องราวนี้...
.
ทุกคนที่สถานีรถไฟต่างรู้ดีว่านายของฮาจิโกะไม่มีวันกลับมาหามันอีกแล้ว แต่ก็ไม่คาดคิดว่าฮาจิโกะจะกลับมาเฝ้ารอศาสตราจารย์ทุกวันเมื่อได้ยินหวูดเสียงรถไฟตอนห้าโมงครึ่ง มีคนที่สถานีรถไฟบางคนซึ่งไม่ชอบหมา และไม่อยากเห็นฮาจิโกะป่วนเปี่ยนอยู่แถวสถานีรถไฟทุกวันในเวลาเดียวกันคิดว่าสักวันมันคงเบื่อไปเอง แต่เขาคาดผิดถนัด
.
เกอิชา ซาซากิ ที่เคยเห็นฮาจิโกะและเอ็นดูมันเข้าใจความผูกพันของฮาจิโกะที่มีต่อนายอย่างดีนั้นคิดต่างจากเขา เพราะเธอรู้ว่า ฮาจิโกะเป็นหมาพันธุ์อาคิตะ ซึ่งเป็นหมาของซามูไรนั้นมันมีความหนักแน่นมั่นคง
 
.
ฮาจิโกะเป็นเช่นนั้น...ไม่ว่ามันจะถูกส่งจากบ้านไปอยู่ที่ไกลแสนไกลจากโตเกียวเพียงใด มันก็หาทางกลับมาที่นี่จนได้ หรือแม้เมื่อมันต้องอยู่เพียงลำพังอย่างโดดเดี่ยวขณะที่อายุค่อย ๆ มากขึ้น ฤดูร้อน ฤดูหนาวหมุนเวียนผ่านไปปีแล้วปีเล่า...ผู้คนที่คุ้นเคยกับมันทยอยห่างหายไปไม่ได้อยู่ดูแลมันอีก ฮาจิโกะก็ยังคงเดินช้า ๆ มาคอยรอรับศาสตราจารย์ที่หน้าสถานีรถไฟ ณ จุดเดิม...เวลาเดิมจวบจนถึงวันสุดท้ายที่มันหมดลมหายใจ
.
เรื่องของฮาจิโกะ (หรือฮะจิโค ในภาษาญี่ปุ่น)​ และตัวละครในเรื่องล้วนมีอยู่จริง เรื่องนี้เคยมีการสร้างเป็นภาพยนตร์อเมริกันชื่อ "ฮาชิ หัวใจพูดได้" (Hachi: A Dog's Tale) เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๙ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ซึ่งดัดแปลงมาจากภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง Hachikō Monogatari ในปี ค.ศ. ๑๙๘๗ (พ.ศ. ๒๕๓๐)
.
หลุย์ พรัทส์ ผู้เขียนได้ถ่ายทอดความรู้สึกที่เจ็บปวดของการสูญเสีย ความรักและความหมายที่มีคุณค่าของการรอคอยอย่างซื่อสัตย์และยาวนานโดยปราศจากเงื่อนไขของฮาจิโกะ ที่สถานีรถไฟชิบูย่าได้อย่างซาบซึ่งจนผู้อ่านเองก็คงกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ขณะอ่านเรื่องของฮาจิโกะ นักแปลก็เลือกใช้ถ้อยคำที่ไพเราะลึกซึ้งทำให้เราอ่านด้วยความเข้าใจและเข้าถึงอารมณ์ของเรื่องได้อย่างดี
.
วรรณกรรมเรื่องนี้ทำให้แอดมินคิดถึงเรื่อง “มอม” ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งท่านก็ประพันธ์ไว้ดีมากด้วย เป็นเรื่องราวความรักความผูกพันระหว่างคนและสุนัขอีกเรื่องที่อ่านแล้วต้องเสียน้ำตาด้วยความซาบซึ้งในตอนท้าย หรือวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง "ชาร์ล็อตต์ แมงมุมเพื่อนรัก" แต่ต่างกันเล็กน้อยที่เป็นเรื่องของหมูและแมงมุมของอี.บี.ไวท์
.
หลุย์ พรัทส์ เป็นอาจารย์สอนวิจัย เขาเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีที่สเปน เป็นบรรณาธิการหนังสือศิลปะ และเคยกำกับภาพยนตร์ด้วย เขาเขียนหนังสือศิลปะและวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนมากกว่าสิบสองเล่มและมีแปลหลายภาษา รวมทั้งนวนิยายประวัติศาสตร์ (อเรสเตสแห่งเอสปารต้า สำนักพิมพ์ปามิเอส)
 
.
หนังสือเรื่อง "ฮาจิโกะ" ปกนี้เป็นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี​สองปีที่แล้วโดยสำนักพิมพ์พิคโึคโล่ แอดอ่านอีกครั้งก็ชอบมากจริง ๆ คงมีครั้งต่อไปแน่นอน หากใครเคยดูหนังหรือไปเที่ยวที่ชิบูย่า ญี่ปุ่นมาแล้วแอดขอแนะนำว่าควรอ่านสักครั้ง เปิดอ่านแล้วรับรองว่าคุณจะวางไม่ลง คุณจะหลงรักฮะจิโกะและน้ำตาคลอด้วยความรักอย่างแน่นอนค่ะ
#อ่านอักครั้งก็ยังชอบ #ฮาจิโกะ #HachikoElgosqueesperava #หลุย์พรัทส์ #LluísPrats #นักเขียนชาวสเปน #ออลก้าการ์เซีย #วรรณกรรมแปล #รัศมีกฤษณมิษ #วรรณกรรมเยาวชนภาษาสเปนยุคบุกเบิก #สำนักพิมพ์พิคโคโล่ #ความรักระหว่างคนและสุนัข #การรอคอยอย่างมีความหมาย
โฆษณา