29 ส.ค. เวลา 11:53 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

รีวิว วิมานหนาม- หลานม่าเวอร์ชั่นอันตราย ความไม่เท่าเทียมที่ทิ่มแทงชีวิตได้แหลมคมยิ่งกว่าหนามทุเรียน

แม้ว่าหน้าหนังของ “วิมานหนาม” จะถูกฉาบด้วยปัญหาที่เกิดจาก “รสนิยมเพศทางเลือก” ของชายสองคน แต่ผลงานของผู้กำกับ บอส-นฤเบศ กูโน เรื่องนี้ก็ได้พาผู้ชมไปไกลกว่าแค่ความไม่เท่าเทียมเรื่องเพศและขยับขยายไปจนสุดขอบของความบัดซบที่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งตกเป็นจำเลยของความไม่เท่าเทียม มันจึงเป็นเวทีสำหรับเหล่าคนที่ถูกสังคมตราหน้าว่า “ไม่มีสิทธิ์” จนต้องฟาดฟันกันเองเพื่ออยู่รอดภายใต้สวนทุเรียนที่ถูกอุปโลภว่าเป็น “วิมาน” แห่งนี้
วิมานหนาม
หากจะทำหนังวิพากย์สังคมขึ้นมาสักเรื่องอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่การจะเล่าให้ย่อยง่ายและสนุกถูกใจผู้ชม พร้อมทั้งให้ความรู้สึกเหมือนถูกรองเท้าแตะตีหน้าเบาๆ ตลอดเวลาเป็นเรื่องยากกว่ามาก บทภาพยนตร์ของบอส นฤเบศ นั้น “บรรเจิด” ในการนำเสนอความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นให้ออกมาเป็นตัวละครที่เข้าใจได้ง่ายและไม่ต้องมีประสบการณ์ร่วมกับพวกเขา ผู้ชมก็สามารถรับรู้ความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับ ทองคำ (เจฟ ซาเตอร์) ได้แบบถึงกึ๋นถึงอารมณ์ และมันเป็นตัวอย่างที่เหมือนตะโกนใส่หน้าพวกอนุรักษ์นิยมแบบจังๆ ว่า
ทำไมต้องมีกฏหมายสมรสเท่าเทียม
วิมานหนาม
วิมานหนาม ดำเนินเรื่องโดยใช้ตัวละครเพียงไม่กี่ตัวภายใต้พล็อตที่ว่าด้วยการพยายามแย่งชิงสวนทุเรียนกลับคืนมาของทองคำ หลังจากที่ เสก (พงศกร เมตตาริกานนท์) คนรักของเขาเสียชีวิตอย่างกระทันหัน แม่แสง (สีดา พัวพิมล) ผู้มีสิทธิ์ได้รับมรดกตามกฎหมายในฐานะมารดาจึงได้รับที่ดินและสวนทุเรียนแห่งนี้ไปแบบส้มหล่น จึงได้พา โหม๋ (อิงฟ้า วราหะ) ลูกสาวที่เก็บมาเลี้ยงตั้งแต่เด็กและจิ่งนะ (หฤษฎ์ บัวย้อย) น้องชายของโหม๋เข้ามาอยู่ในสวนทุเรียนของทองคำตามสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน...
...ซึ่งจากตัวละครเพียงหยิบมือนี้เองที่ผู้กำกับบอส นฤเบศ ใช้ถ่ายทอดความบัดซบของสังคมได้อย่างเฉียบคมและมีระดับ
วิมานหนาม
มีข้อควรระวังว่า “คุณไม่ควรจะแสดงความรักของตัวละครเร็วเกินไป” เพราะมันจะทำให้หลังจากนี้ดำเนินเรื่องได้ยากขึ้น และ “ยูเรนัส 2324” ไซไฟอวกาศไทยเรื่องแรกที่เพิ่งฉายไปไม่นานมานี้ก็เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประโยคดังกล่าว(เป็นเพราะบทหนังอ่อนด้วยก็ส่วนหนึ่ง)...
...แต่กับภาพยนตร์เรื่องล่าสุดจาก GDH เรื่องนี้ แม้ผู้ชมจะได้เห็นฉากอันเร่าร้อนของทองคำและเสกตอนต้นเรื่องเช่นกัน แต่ผลลัพธ์กลับต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะในขณะที่ยูเรนัส 2324 ประสบปัญหาในการดำเนินเรื่องที่ขาดแรงจูงใจจากฉากเลิฟซีนนั้น ฝ่ายวิมานหนามกลับใช้มันเป็นหมุดหมายนำพาเรื่องราวไปสู่ทิศทางที่สนุกและเดาทางแทบจะไม่ได้เลยด้วยซ้ำ
วิมานหนาม
หลังจากดำเนินเรื่องมาได้ระยะหนึ่งเมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง ภาพแทนตัวละครทั้ง 4 ไม่ต่างอะไรจากการเล่นชักเย่อของทองคำและโหม๋ โดยมีแม่แสงเป็นกรรมการและมีจิ่งนะเป็นตัวแปรสำคัญที่สามารถเปลี่ยนผลแพ้ชนะได้ นี่เป็นอีกครั้งที่สัมผัสได้ถึงความเหนือชั้นของบทภาพยนตร์ เพราะช่วงแรกในขณะที่ฝ่ายทองคำซึ่งเสียเปรียบอย่างเต็มประตูจากข้อกฏหมายเฮงซวย แต่กลายเป็นว่าโหม๋ก็ไม่ได้เปรียบมากนัก...
...เนื่องจากเธอเป็นเด็กที่ถูกเก็บมาเลี้ยงไม่ใช่ลูกแท้ๆ (เสียดายว่าในตัวอย่างไม่น่าเผยจุดนี้ออกมา) จุดนี้จึงเปิดโอกาสให้ทองคำพอจะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อยู่บ้าง แต่ก็มีความลับบางอย่างของเสกที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นของทองคำเพิ่มเข้ามาปั่นประสาท รวมทั้งจิ่งนะที่เดาทางไม่ถูกอีกคน
วิมานหนาม
ด้วยชั้นเชิงการดำเนินเรื่องที่แยบยลและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนว่าใครจะเข้าเส้นชัยของวิมานหนามนี่แหละ ที่เปิดช่องให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วม(คิดและลุ้น)ไปกับเรื่องได้ตลอดเวลา มันจึงเป็นขั้นแรกของความบันเทิงที่ไม่ว่าใครก็สามารถสนุกตามด้วยได้ไม่ยาก ด้วยความที่เรื่องของการต่อสู้และการแย่งชิง เป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ จึงเป็นธรรมดาที่มันจะสามารถเข้าถึงผู้ชมได้ง่าย...
...ยิ่งแล้วก็ความไม่เป็นธรรมที่ทองคำได้รับมันก็ช่างชวนให้ผู้ชมอยู่ข้างเดียวกับเขาเพื่อทวงคืนสิ่งที่ควรจะเป็นของเขาตั้งแต่แรก (แน่นอนว่าตัวหนังย้ำหลายครั้งว่านี่คือสมบัติอย่างสุดท้ายของทองคำ)
วิมานหนาม
ถึงแม้ว่าพล็อตการแย่งสมบัติ(สวนทุเรียน)จะไม่ต่างอะไรกับละครน้ำเน่าหลังข่าวที่ถูกผลิตซ้ำจนน่าเบื่อ แต่สิ่งที่ทำให้วิมานหนามหลุดพ้นจากบรรดาหนังหรือละครรุ่นพี่ที่อยู่ในแนวเดียวกันได้นั้น เป็นเพราะตัวหนังไปไกลกว่าเพียงแค่จะมอบความบันเทิงจากการฟาดฟันกันของตัวละครเพียงอย่างเดียว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะจบลงด้วยบทสรุปอันแบนราบ
วิมานหนาม
กลับกันวิมานหนามเปิดประเด็นตั้งคำถามให้ผู้ชมอยู่ตลอดว่า สิ่งเหล่านี้สมควรจะเกิดขึ้นหรือไม่ หากกฏหมายสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นในเรื่องทองคำจะต้องพบชะตากรรมแบบนี้หรือไม่ หากโหม๋ได้รับการศึกษาที่ดีมีงานทำจะต้องมาแย่งของของคนอื่นหรือเปล่า หากวันนั้นระบบการคมนาคมไปถึงพื้นที่ห่างไกลแม่โสมก็คงมาถึงโรงพยาบาลได้ทันและเซ็นยินยอมให้ผ่าตัดสมองซึ่งเสกก็อาจจะไม่ตาย...
...เหล่านี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของสารอีกชั้นที่วิมานหนามชวนให้ใครก็ตามที่ได้รับชมครุ่นคิดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ว่ามันมาจากปัจเจกบุคคล จากความโลภ ความชั่วในกมลสันดาน หรือมันเป็นผลของความไม่เท่าเทียมที่บีบให้ตัวละครต้องเอาตัวรอดกันแน่
วิมานหนาม
บทภาพยนตร์ที่ดีก็ยิ่งวิเศษขึ้นไปเมื่อมันอยู่ในงานสร้างเปี่ยมล้นคุณภาพ การถ่ายภาพที่ไม่เคยมีที่ว่าง แม้การเงยหน้ามองด้านบน ก็ยังมีแต่หนามแหลมๆ ของทุเรียนเต็มไปหมด การจัดวางองค์ประกอบภาพที่ดูอึดอัด เต็มไปด้วยสิ่งของแต่กลับมีระเบียบอย่างบอกไม่ถูก เสียงดนตรีประกอบโทนต่ำที่อึดอัด บ่งบอกถึงความอัดอั้นตันใจของตัวละครและความไม่ชอบมาพากล...
...ในขณะที่โลเคชั่นหลักของเรื่องก็มีนัยยะซ่อนอยู่(ความเป็นทุเรียนที่เป็นผลไม้ราคาแพง ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำที่สุด) ยังไม่รวมถึงบทสนทนา การแสดง เสื้อผ้าของตัวละคร และอื่นๆ ที่แฝงนัยยะให้ตีความอีกมากมาย มันเป็นการบ่งบอกถึงความตั้งใจของผู้สร้างที่ทุกวินาทีของภาพยนตร์ล้วนผ่านการคิดและการวางแผนมาอย่างดีแล้วจริงๆ
วิมานหนาม
ความตั้งใจเย้ยหยันและเสียดสีสังคมในฐานะของภาพยนตร์ระทึกขวัญ ทำให้หลายองค์ประกอบของวิมานหนามหลุด “ความเป็นจริง” ไปบ้าง ชัดๆ เลย คือ ตัวของเจฟ ซาเตอร์ ในบททองคำ ที่มองยังไงก็ไม่ใช่คนสวนแน่ๆ หากคุณจะต้องทำสวนแค่สองคนโดยไม่มีลูกน้องหรือคนช่วย ไม่มีทางที่คุณจะมีใบหน้าและผิวพรรณอันผ่องใส หรือรูปร่างที่สมส่วนชวนฝันแบบนี้แน่...
...หรือการแก้ชื่อป้ายก็ดูเป็นเรื่องตลกที่ไม่น่าจะมีใครทำกัน (เอาสีไปเขียนทับชื่อเก่าทื่อๆ) ในขณะที่ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะมีทางออกอีกมากมายนักหากหันหน้าเข้าคุยกันดีๆ (แบ่งผลประโยชน์กัน) แต่เหล่านี้มันถูกมองข้ามไปได้เพราะสารของเรื่องมันแข็งแรงเกินกว่าจะมานั่งจับผิดและสามารถมองได้ว่า “มันคือหนัง”
วิมานหนาม
ทั้งหมดที่เกิดขึ้นชวนให้เรานึกถึงภาพยนตร์รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสัญชาติเกาหลีใต้อย่าง Parasite (2019) ของผู้กำกับ บง-จุนโฮ ที่โดดเด่นในเรื่องของการวิพากย์และเสียดสีสังคมเหมือนกัน แต่สิ่งที่ทำให้วิมานหนามยังไปไม่ถึงจุดที่เรียกว่า “มาสเตอร์พีช” นั้น หลักๆ มาจากช่วงท้ายของเรื่องที่ดูแผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด การไม่ยอมให้ตัวละครเดินทางไปถึงจุดที่ดำมืดจนหันหลังกลับไม่ได้อีกแล้ว ทำให้ความระทึกที่ปูมาตั้งแต่ต้นจางหายไป ...
...ทางลงที่เกิดขึ้นก็ดูจะละมุนละม่อมเกินไปหน่อย สารที่อุตส่าห์ตีแผ่ออกมาควรจะทรงพลังเพราะมันผูกอยู่กับชีวิตของตัวละครจึงทำงานได้ไม่เต็มที่ หนำซ้ำตลอดทั้งเรื่องที่เรายังเฝ้ารอว่าจะมีหมัดฮุกเด็ดๆ ซ่อนอยู่จากความดุเดือดของศึกในครั้งนี้ น่าเสียดายที่มันเป็นเพียงหมัดแย็บที่น็อคผู้ชมไม่ได้ (แต่ก็เจ็บอยู่นะ)
วิมานหนาม
มีข้อสังเกตว่าเมื่อเทียบกับ “หลานม่า” แล้ว ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้มีความคล้ายคลึงกันอย่างน่าประหลาด เดิมทีผู้ที่จะมารับบทตัวละครทองคำในวิมานหนาม คือ พีพี-กฤษฏ์ อำนวยเดชกร แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จนท้ายที่สุดเป็น เจฟ ซาเตอร์ มารับบทแทน เป็นไปได้ว่าทั้งสองเรื่องมีแพลนที่จะเป็นภาพยนตร์ฝาแฝดกัน ด้วยพล็อตที่คล้ายกันในเรื่องของการหวังสมบัติ ฝ่ายแรกเป็นค่อยๆ ช่วงชิงแบบละมุนละม่อมและอ่อนโยนอย่างที่สุด แต่ฝ่ายหลังมันคือการใช้กำลังห่ำหั่นกันอย่างเผ็ดร้อน...
...ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ทั้งสองเรื่องนี้เป็นผลงานที่เรียกได้ว่า “คุณภาพ” ของ GDH ที่เห็นได้ชัดว่าพวกเขากำลังสร้างภาพยนตร์ในแนวทางใหม่ๆ มากขึ้น และอาจจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เมื่อมีป้ายชื่อ GDH แปะเมื่อไหร่ ก็มั่นใจได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นจะเป็นหน้าเป็นตาให้วงการและฝากความหวังไว้ได้เสมอ
วิมานหนาม
โฆษณา