29 ส.ค. เวลา 19:10 • การศึกษา

Supporter's Story : เส้นทางของนักพัฒนาองค์กรและผู้สร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ร่วมกันบนโลกออนไลน์

ในเดือนนี้บนหน้าเพจ MIND BUDDY CLUB เราได้นำเสนอเรื่องและมุมมองต่าง ๆ เกี่ยวกับ "ผู้สนับสนุน" หรือ "Supporter" ในบทความที่แล้ว เราได้พูดถึงความเป็น "ตัวตน" หรือบุคคลที่มีลักษณะความเป็น "ผู้สนับสนุน (Supporter)" ทั้งในมุมของธรรมชาติความเป็นเขา จุดที่เน้นสนใจ และจุดที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติความเป็น "ผู้สนับสนุน (Supporter)" ได้มากขึ้น
แต่แน่นอน... ความ "เป็นผู้สนับสนุน" นั้น ไม่ใช่แค่เพียงบุคลิกภาพเท่านั้น แต่อาจเป็น "บทบาท / หน้าที่" ได้ด้วยเช่นกัน และวันนี้ได้เชิญชวนคนใกล้ตัวที่มีความสนิทสนมกันมาพูดคุยถึงการทำงานในฐานะการเป็นผู้สนับสนุนในงานด้านต่าง ๆ และคิดว่าบทสัมภาษณ์ของทั้งสองคน อาจจะทำให้ทุกคนที่ได้เข้ามาอ่านพบเรื่องราวที่สนใจ เรื่องบันดาลใจจากเรื่องเล่าก็ได้นะ
และในบทความนี้ของเริ่มต้นที่ SUPPORTER คนรุ่นใหม่ไฟแรงอย่างพี่ขุนพล (เศรษฐพล ปริญญาพล พลเศษ) ผู้ร่วมก่อตั้งพื้นที่การเรียนรู้อย่าง The Moving Forward กระบวนกรด้านการพัฒนาองค์กร และนักเรียนรู้และสื่อสารเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs and IDGs)
👨‍💻 ชวนพี่ขุนพลได้แนะนำตัวเองหน่อยครับ... ถ้าจะนิยามชายที่ชื่อว่า "ขุนพล" เขาเป็นใคร ?
พี่ขุนพล : พี่ก็คือ "ขุนพล" นะ เป็นคนธรรมดาไม่ได้พิเศษอะไร เป็นคนที่สื่อสารความเรียบง่ายผ่านความเป็นตัวเองออกไปให้คนอื่นได้รับรู้จากสิ่งที่เราคิด และสิ่งที่เรารู้สึก พี่ว่าสิ่งนี้มันทำให้พี่รู้สึกสบายใจ ถ้าจะให้นิยามตัวเองก็คงเป็นความเรียบง่ายล่ะกันครับ
ส่วนถ้าในมุมของการทำงาน ถ้าพี่อุปมาอุปไมยในความเป็นตัวเองนะ พี่ว่าพี่เป็นเหมือน "หนอน" นะ ที่เข้าไปช่วยพรวนดินในองค์กรให้สภาพของดินมีความชุ่มชื้น ในคุณภาพของดินเป็นดินที่ดี และถ้าจะเกิดการเพาะปลูกพืชพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นชนิดไหน พันธุ์อะไรมันจะเกิดความงอกงามจากดินที่มีคุณภาพนั้น
👨‍💻 ผมอยากชวนพี่ขุนพลย้อนเวลากลับไปถึงจุดเริ่มต้นของการเดินทางในเส้นทางของการพัฒนาองค์กรหน่อยครับ พี่ขุนพลเดินทางเข้ามาสู่เส้นทางนี่ได้ยังไง ?
พี่ขุนพล : มันเป็นความบังเอิญและความจำเป็นที่มันเกิดขึ้นพร้อมกันนะ ที่พูดแบบนี้เพราะพี่ไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อม หรือไม่ตั้งมีภาพของการทำงานสายนี้ตั้งแต่แรกนะ มันเริ่มต้นจากตอนเรียนปริญญาโท ต้องมีการทำวิจัยเพื่อให้เรียนจบ ซึ่งเป็นเงื่อนไขตามปกติของมหาวิทยาลัย คราวนี้พี่ไม่ค่อยถนัดในการทำวิจัยเชิงปริมาณที่มันเป็นตัวเลข เพราะรู้สึกว่าเราไม่ค่อยเก่ง เราชอบทำงานเชิงคุณภาพ ที่นี้ก็ต้องหาอาจารย์ที่ปรึกษาที่ทำงานเชิงคุณภาพก็เลยไปเจอกับอาจารย์ภิญโญ แต่ในตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าอาจารย์ทำงานด้านไหน
แต่พอสืบค้นไปนาน ๆ ก็เจอว่าอาจารย์มีความถนัดในเรื่อง OD (Organizational Development) ก็เลยต้องศึกษาในเรื่องที่เกี่ยวกับตัวอาจารย์เพราะพอเรารู้ว่าอาจารย์ทำอะไร เราก็เลยไปตามเรียนคลาสต่าง ๆ ที่อาจารย์สอน ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้รู้สึกชอบเรื่อง OD หรอก แต่ต้องทำวิจัยจบ ทำในเชิงปริมาณเราก็ไม่ถนัด จะทำในเชิงคุณภาพเพราะมันเป็นสิ่งที่เราถนัด แต่จะทำวิจัยเชิงคุณภาพไหน ? มันมีหลายประเภท
แต่พอไปเจออาจารย์ภิญโญที่หลายคนบอกว่า "อาจารย์ให้อิสระกับคนทำงานวิจัย เด็กจะทำอะไรอาจารย์สนับสนุน แกไม่ใช่ที่พยายามจะชี้นำให้เด็กทำอย่างนั้นอย่างนี้" ซึ่งมันตรงกับความต้องการของเรา
คราวนี้ถ้าอยากให้อาจารย์เป็นที่ปรึกษา เงื่อนไขของอาจารย์คือเราก็ต้องไปอ่านบทความต่าง ๆ มาก่อน แต่พอไปอ่านแล้วรู้สึกว่ายังไม่เข้าใจเรื่องราวเหล่านั้นชัดเจนมากพอ ก็เลยไปตามเรียนในคลาสต่าง ๆ ของอาจารย์ซ้ำหลายครั้ง และพอกลับมาอ่านบทความมันช่วยให้เราเข้าใจได้มากขึ้น
เมื่อได้ที่ปรึกษา มีองค์ความรู้ในระดับหนึ่งแล้วก็มีองค์กรหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เราเข้าไปทำวิจัยผ่านการทำ Workshop เป็นเวลาหนึ่งวันครึ่ง เราก็เอาความรู้และรูปแบบการทำกระบวนการแบบอาจารย์ภิญโญมาปรับใช้ในงานนั้น ซึ่งเมื่อจบงานก็ได้รับเสียงตอบกลับมาว่า "ขอบคุณมากเลยนะที่มาสอน" "ดีใจที่มากเลยที่มาสอนเรื่องนี้" "ขุนพลเก่งนะ" ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่รู้เลยว่าเราเก่งหรือมีความสามารถ เราแค่มาทำงานวิจัยให้มันจบ
แต่มันกลายเป็นว่าสิ่งนี้มีความหมายต่อใครบางคนที่อยู่ตรงหน้าเรา และเราสัมผัสได้ถึงพลังตรงนั้น ตัวเราก็รู้สึกถึงความสุขที่เกิดขึ้น และก่อนหน้านี้เป็นคนที่ค่อนข้างจะขี้อาย เอาจับไมค์จะไม่ค่อยมั่นใจ และไม่สามารถดึงเอาสิ่งที่เราคิดและถ่ายทอดออกมาได้อย่างเต็มที่ แต่วันนั้นเรากลับทำได้ เกิดความมั่นใจ และเหมือนได้เห็นศักภาพบางอย่างที่เราไม่เคยพบมาก่อน และไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ และหลังจากนั้นก็มีคนแนะนำให้ไปทำงานลักษณะแบบนี้ต่อจนกลายเป็นอาชีพครับ
👨‍💻 จากที่พี่ขุนพลเล่ามาผมสัมผัสได้ถึงการไปรับการดูแลและสนับสนุนจากอาจารย์ปรึกษาที่มากพอสมควรเลยอยากให้พี่ขุนพลลองเล่าให้ฟังหน่อยครับว่า... อาจารย์ภิญโญให้การดูแลและสนับสนุนพี่ขุนพลยังไงบ้าง ?
พี่ขุนพล : การดูแลของอาจารย์ภิญโญหรอ... พี่คิดว่าอาจารย์แบบนี้ในมหาวิทยาลัยเป็นอะไรที่หายาก ยากมากที่จะเจออาจารย์แบบนี้ คืออาจารย์มีสไตล์การสอนที่ไม่เหมือนคนอื่น อาจารย์สอนด้วยรูปแบบการทำ Workshop ไม่ใช่การ Lecture (บรรยาย) ซึ่งสำหรับพี่มันว้าวนะกับการเรียนรู้แบบนี้ในมหาวิทยาลัย เนื้อหา หรือกระบวนการที่อาจารย์นำมาสอนก็เป็นอะไรที่ใหม่ตลอด แม้ว่าเนื้อหาจะเป็นหัวข้อเดิม แต่วิธีการและกระบวนการไม่เหมือนเดิมเลย
และการพูดคุยกับอาจารย์ อาจารย์ก็ใช้จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) ในการคุยกับเรานะ อาจารย์จะชมในสิ่งที่เราทำได้ดี ซึ่งเป็นการชมจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ นะ ไม่ใช่ชมแบบโลกสวยทุกอย่างดีไปหมดนะ การชมแบบนี้คนในบ้านแบบที่ยังไม่พูดกับเราขนาดนี้เลย แต่เราได้รับจากอาจารย์ และที่อาจารย์สื่อสารกับเราแบบนี้มันทำให้เรามีกำลังและเกิดพลังในการทำงานต่อ และรู้สึกอยากทุ่มเทมากกว่าเดิม มาหาอาจารย์ที่ไรก็รู้สึกว่าได้รับพลังจากอาจารย์ และรู้สึกว่าอาจารย์เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเรา
อีกอย่างหนึ่งคืออาจารย์เป็นคนที่ให้โอกาส นักเรียนบางคนที่อาจจะไม่ได้เข้าเรียนบางคลาส แกก็จะบอกว่าวันนี้แกมีงานที่ไหน และเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาเข้ามาร่วมเรียนรู้และสังเกตการณ์ในบรรยากาศจริงไปด้วยกัน ซึ่งทำให้เราได้เห็นบริบทและวิถีการทำงานจริงในองค์กร และอาจารย์ก็เปิดโอกาสให้เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างเต็มที่ ให้โอกาสเราได้แชร์เรื่องราวต่าง ๆ กับคนในองค์กรนั้น มันก็ทำให้เราเกิดความมั่นใจมากขึ้น
และอีกสิ่งที่สังเกตได้คืออาจารย์ภิญโญใส่ใจลูกศิษย์ทุกคนเลย... พี่เห็นจากครั้งแรกที่โทร. คุยกับอาจารย์ตอนนั้นเราก็ฟุ้งเน้อะ อยากทำ Project แบบจะเปลี่ยนแปลงทั้งจังหวัด จะทำแบบนั้นแบบนี้ คิดไปซะใหญ่โตเลย ทำอะไรเกินเรื่องไปหมด อาจารย์ก็สังเกตและจับทางเราได้แกก็จะแนะนำให้เราไปทำเรื่องนี้ ไปอ่านตรงนี้เพิ่มเติม แต่กับเพื่อนบางคนแกให้ความมั่นใจและสั่งลุยทันที หรือบางคนแกก็ให้ไปอ่านเพิ่มอะไรแบบนี้ สำหรับพี่นี่คือสิ่งที่ได้รับการดูแลจากอาจารย์ภิญโญ
👨‍💻 พี่ขุนพลได้จุดเริ่มต้นของการเดินทาง และการได้รับการดูแลจากอาจารย์ไปแล้วเลยอยากรู้ครับว่าจุดเริ่มต้นของการทำงานสาย OD ของพี่ขุนพลเป็นอย่างไรบ้าง พบเจอความท้าทายอะไรบ้าง และสิ่งที่หล่อเลี้ยงให้พี่ขุนพลเดินทางบนเส้นทางสายนี้คืออะไร ?
พี่ขุนพล : เริ่มต้นจากที่พี่ได้รับไปทำวิจัยในองค์กรองค์กรหนึ่ง และมีคนเห็นศักยภาพของเราในการทำงานสายพัฒนาองค์กรเลยมีคนแนะนำให้เราเข้าไปทำงานในองค์กรอื่น ๆ ด้วย คราวนี้ความท้าทายคือ ตอนนั้นพี่เริ่มทำ Workshop สายพัฒนาองค์กรตอนอายุ 26 ปี ซึ่งมันไม่ค่อยมีคนทำกัน ยิ่งบอกว่าเป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กร มันก็จะมีเสียงตามมาว่า "อายุ 26 เป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาเนี่ยนะ"
เพราะงั้นความท้าทายแรกของพี่เลยคือ... ทำอย่างไรให้เขาเชื่อมั่นในความเป็นตัวเรา เพราะแน่นอน... เราไม่สามารถห้ามความคิดของคนอื่น ๆ ที่มีต่อเราได้ และเราไม่รู้เลยว่าเขามองเราอย่างไร เราก็ต้องค่อย ๆ สร้างความเชื่อมั่นด้วยการทำงานอย่างเต็มที่ สร้าง Profile ของเราในด้านการพัฒนาองค์กรขึ้นมาเรื่อย ๆ
ในช่วง 1 - 2 ครั้งแรก มีคนที่แนะนำเราให้กับเพื่อนสนิทของเขา และบอกว่าคนนี้มีความสามารถและบรรยายได้ดีเลย เพราะพอเราเข้าไปทำงานในองค์กรนั้นเขาก็จะเชื่อใจ ให้เกียรติ และอยู่กับเราตั้งแต่ต้นจนจบ แม้แรก ๆ เขาอาจรู้สึกว่า... เอ๊ะ... อาจารย์พัฒนาองค์กร มันดูละอ่อนแบบนี้
หลังจากนั้นพี่ก็มีโอกาสที่จะทำ Project เกี่ยวกับการเป็นที่ปรึกษาภายในองค์กรเริ่มต้นตั้งแต่การกำหนดวัตถุประสงค์ ทำ Workshop สัมภาษณ์เก็บข้อมูล กลับมาถอดบทเรียนและมีการคืนความรู้ให้กับคนในองค์กร และมี Project ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราจัดฝึกอบรมอีก 7 - 8 อย่าง ซึ่งเราก็มีการถ่ายรูปเก็บไว้ และมันก็ทำให้พี่มีงานลักษณะแบบนี้ติดต่อเข้ามาจากองค์กรต่าง ๆ เข้ามาอยู่เรื่อย ๆ
พอเราทำได้งานในลักษณะแบบนี้บ่ิยขึ้นมันทำให้เรามี Profile และมีประสบการณ์การทำงานจริง จนทำให้เกิดความมั่นใจ และเมื่อมีองค์กรที่ไม่รู้จักกันเลยติดต่อเข้ามามันก็ทำให้เกิดความมั่นใจและพูดคุยกับเขาได้ในหลายบริบท
และถ้าถามว่าอะไรเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงให้ทำงาน OD อย่าแรกคือเมื่อเราได้ทำงานนี้และได้ยินกับเสียงขอบคุณที่คนตรงหน้าเขาพูดกับเรามันทำให้เรารู้สึกดีและมีความสุขที่จะทำมันนะ และก็พี่มีความคิดว่า... พี่อยากเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย
แต่พอเราเข้ามาทำงานสาย OD ทำให้รู้สึกว่าเรากำลังพัฒนาคนและสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง เหมือนกับที่อาจารย์มหาวิทยาลัยกำลังทำ เพียงแต่เราขยับออกมาสร้างพื้นที่ในการทำนอกมหาวิทยาลัยเท่านั้นเอง และเราก็สามารถเข้าไปเป็นอาจารย์พิเศษในรั้วของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ด้วย มันให้เรารู้สึกว่าการทำงานสาย OD เป็นการทำงานที่มีความกว้างมากในการทำงาน และสามารถเลี้ยงชีพได้ในระยะยาว
👨‍💻 ชวนพี่ขุนพลมาคุยถึงสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันบ้างดีกว่า กับโปรเจค The Moving Forward อยากให้พี่ขุนพลเล่าถึงที่มาและเป้าประสงค์สำคัญของโปรเจคนี้ให้ฟังหน่อยครับ
พี่ขุนพล : The Moving Forward มันเริ่มต้นมาจากสองส่วนนะ อย่างแรกคือความจำเป็นที่จะต้องทำอะไรบ้างอย่าง กับอีกส่วนหนึ่งคือคำพูดของอาจารย์ภิญโญตอนที่เราไปทำงานร่วมกันก่อนช่วงโควิด
ช่วงนั้นอาจารย์ภิญโญแกมี Project เป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และพี่เป็นหนึ่งในทีมวิทยากรที่ไปร่วมโปรเจคนี้ ซึ่งเป็นโปรเจคระยะยาวประมาณ 11 เดือน โดยวิทยากรหลักคืออาจารย์ภิญโญ ส่วนพี่ก็เป็นหน่วยสนับสนุนคนในทีม และในระหว่างการทำงานก็ได้มีโอกาสพูดคุยกันแบบส่วนตัว และอาจารย์ภิญโญก็แนะนำว่า "ขุนพล... คุณต้องสร้างอะไรที่เป็นของตัวเองนะ" เพราะถ้าคุณอยู่ในบริบทแบบนี้ คุณจะเป็นผู้ตามไปเรื่อย ๆ คุณจะไม่มีพื้นที่เป็นของตัวคุณเอง คุณต้องสร้างพื้นที่ของคุณ และคุณต้องทำอะไรบางอย่างของตัวเอง
คราวนี้พอถึงช่วงสถานการณ์โควิดเข้ามา พี่เลยเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า "จะเป็นไปได้ไหม... ถ้าเราจะทำงานในสายนี้และมีเวลาให้กับครอบครัวไปด้วยพร้อม ๆ กัน" แต่ก็พบว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบริบทของพี่คือไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ การที่จะทำงานลักษณะแบบนี้มันก็ไม่ได้มีมาก หรือถ้ามีรายได้ที่เข้ามาก็ไม่เท่ากับตอนที่เราทำงานที่กรุงเทพฯ แน่นอน และในช่วง 2 ปีที่โควิดระบาดหนัก ๆ งานสายวิทยากรก็ถูกพักกันไปหมด ทุกคนเริ่มหันมากิจกรรมต่าง ๆ ผ่านออนไลน์กันมากขึ้น
ตอนนั้นพี่กับคุยกับรุ่นพี่อีกคนหนึ่งว่า "เรามาทำโปรเจคด้วยกันไหม" นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด The Mving Forward ขึ้นมา โดยเริ่มต้นจากพี่และรุ่นพี่อีกคนหนึ่ง โดยรุ่นพี่ถนัดเรื่องของการ Coaching ส่วนพี่ก็ถนัดเรื่องของการทำกระบวนการเรียนรู้ ก็เลยร่วมกันออกแบบกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันมาเรื่อย ๆ
คราวนี้ถ้าถามว่า The Moving Forward มันคือไร ?
นิยามของมันก็ชัดเจนว่ามันคือพื้นที่การเรียนรู้แบบผสมผสานที่มีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในกับบุคคลหรือกลุ่มคนกลุ่มต่าง ๆ ด้วยกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ
👨‍💻 แล้วจากการเดินทางของ The Moving Forward มาตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้พี่ขุนพลอะไรที่น่าสนใจที่อยากนำมาแบ่งปันบ้างครับ ?
พี่ขุนพล : The Moving Forward แม้ว่าจะยังไม่ได้จดจักตั้งเป็นบริษัทขึ้นมา แต่โดยตัวมันเองก็จะเป็นไปในเชิงของสถาบันแล้วนะ เพราะมันมีโปรแกรมที่ถูกว่างไว้ มีหลักสูตรที่สามารถปรับเปลี่ยนไปตามโจทย์และความต้องการของลูกค้าได้
ความมัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับ The Moving Forward ตั้งแต่เราเริ่มต้นทำมาตั้งแต่ปี 2020 ถึงตอนนี้ก็ 4 ปีแล้วนะที่เราทำกิจกรรมต่าง ๆ บนออนไลน์ มันทำให้เราได้พบกับผู้คนที่หลากหลายทั้งในมิติของกลุ่มอายุ ที่อยู่ ประสบการณ์ และอาชีพ และผู้คนที่เข้ามาประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นกลุ่มคนที่พี่รู้จักและเชิญชวนเข้ามาในกลุ่ม ทำให้มีความสนิทสนมเป็นพื้นฐาน ทำให้เกิดความใกล้ชิดและการดูแลอย่างทั่วถึง
ผู้คนเข้าที่เข้ามาเป็นผู้คนที่มี "ความสนใจ" ในเรื่องราวบางอย่างร่วมกัน นอกจากความสนใจในเรื่องราวต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นเรื่องของ "ความสะดวกสบาย" ในการเรียนรู้เพราะเป็นพื้นที่บนโลกออนไลน์
สุดท้ายเป็นแหล่งข้อมูลแบบเปิดที่ให้สมาชิกสามารถนำองค์ความรู้ต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยน พูดคุย ต่อยอด และหยิบออกไปใช้เพื่อการพัฒนาตัวเอง หรือทำโปรเจคบางอย่างที่ต่อยอดและสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับสังคม โดยสามารถจะร่วมมือกับทาง The Moving Forward เอง หรือคนในกลุ่มจะทำความรู้จักกันและรวมตัวไปทำโปรเจคต่าง ๆ ด้วยกนก็ได้
👨‍💻 บทเรียนสำคัญที่ได้รับจากการทำ The Moving Forward
พี่ขุนพล : การเรียนรู้สำคัญถ้าเป็นในมุมตัวเองก่อนนะ ในช่วงปีแรกที่ทำมันก็มีความกังวลในเรื่องการดูแลและบริหารจัดกลุ่มให้มันอยู่ได้ ทั้งในเรื่องของการวาง Content และเรื่องอื่น ๆ แต่พอเข้าสู่ปีที่สองก็รู้สึกว่า เราเริ่มบริหารจัดการมันได้ดีและไม่รู้สึกเป็นภาระอะไรนะ และเรามีเวลาใช้ชีวิตส่วนตัว และกลุ่มก็เคลื่อนตัวได้ปกติ
ส่วนในมุมของการทำงานกับ The Moving Forward มีสองเรื่องสสำคัญที่ได้เรียนรู้ คือ
เรื่องการดูแลความสัมพันธ์ในการทำงาน พี่พบว่าถ้าเราอยากทำงานให้สำเร็จไปด้วยกัน เราต้องแชร์เวลา เป้าหมายให้เห็นภาพร่วมกันให้ได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักและเข้าใจตัวตนของสมาชิกแต่ละคนในทีมด้วย และควรมีการสื่อสารกัน
และหลังจากนั้นรุ่นพี่ก็มีภารกิจเกี่ยวกับครอบครัว ทำให้พี่ต้องขึ้นมาดูแลพื้นที่ตรงนี้คนเดียว ก็ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องวิธีการทำงานอีกแบบหนึ่ง อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้ครับ
นี่ก็เป็นบทสัมภาษณ์ที่เราชวนพี่ขุนพลมันพูดคุยถึงการเดินทางสายพัฒนาองค์กรและการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ The Moving Forward บทความนี้ดูเผิน ๆ ก็เป็นการเล่าเรื่องราวชีวิตธรรมดา ๆ แต่ถ้าลองอ่าน ลองฟังดี ๆ มันมีแง่มุมที่น่าสนใจอยู่เยอะมากเหมือนกัน และคิดว่าน่าจะช่วยฉายภาพในมุมมองของการเป็นผู้ดูแลและผู้รับการดูแลผ่านเรื่องราวของเดินทางของพี่ขุนพลได้ชัดขึ้น และหวังว่าเพื่อน ๆ จะได้มุมมอง สาระ ประโยชน์จากบทสัมภาษณ์นี้ไม่มากก็น้อยนะครับ
และถ้าพบอะไรที่สำคัญอย่าลืมมาบอกเล่าไว้ในช่อง Comment กันได้นะครับ 🙂
#SUPPORTER
#MINDBUDDYCLUB
#CLUBOFYOURBUDDY
สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเรา ได้ที่
โฆษณา