31 ส.ค. เวลา 07:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ปลายปี 67 ค่าบาทพลิกกลับมา "แข็ง" ศูนย์วิจัยกสิกร แนะ ระวังผันผวนสูง

เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าช่วงปลายปี 67 ศูนย์วิจัยกสิกร เผย การแข็งค่าของค่าเฉลี่ยเงินบาท 1% ต่อปี อาจมีผลกระทบต่อรายได้ผู้ส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี
การเคลื่อนไหวของเงินบาทค่อนข้างผันผวนนับจากต้นปี 2567 โดยเริ่มต้นปีด้วยการทยอยอ่อนค่าไปแตะระดับ 37.17 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2567 (ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือนครึ่งในเวลานั้น) ท่ามกลางจังหวะที่ตลาดมองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่งน่าจะทำให้เฟดเลื่อนเวลาการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไป รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศของไทยที่ยังอ่อนแอ กระตุ้นให้มีกระแสเงินทุนไหลออกจากทั้งในส่วนของตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ไทย
ระยะสั้นค่าเงินบาทยังแข็งค่า
โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบผันผวน ในช่วง 33.88-37.17 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ศูนย์วิจัยกสิกร มองว่า สถานการณ์เงินบาทเริ่มพลิกผันกลับมาแข็งค่าขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 จนทะลุแนว 34.00 ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือนที่ 33.88 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในเดือนสิงหาคม 2567 หลังประธานเฟดส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการเตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หลังข้อมูลกิจกรรมทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของสหรัฐฯ
เริ่มมีภาพอ่อนแอลง ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนค่าและสถานการณ์ความไม่แน่นอนในตะวันออกกลางดันให้ราคาทองคำในตลาดโลกพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ ซึ่งเพิ่มแรงหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอีกทางหนึ่ง
ซึ่งไม่เฉพาะเงินบาทแต่เกิดขึ้นกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคเช่นกัน โดย ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2567 เงินบาทแข็งค่ามากสุดเป็นอันดับ 3 (+0.4% YTD จากต้นปี 2567) ตามหลังอันดับ 1 ซึ่งก็คือ เงินริงกิตของมาเลเซีย (+5.8% YTD) และอันดับ 2 อย่างดอลลาร์สิงคโปร์ (+1.3% YTD) ตามลำดับ
แนวโน้มเงินบาทยังแข็งค่าต่อในระยะสั้น
สำหรับแนวโน้มในระยะสั้น หรือประมาณ 1-2 เดือนจากนี้ มองว่า หาก Sentiment ของเงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนแอจากเรื่องแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดยังคงมีต่อเนื่อง อาจเห็นเงินบาทแข็งค่าแตะระดับ 33.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้ (คาดการณ์โดยสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย)
โดยตลาดคาดการณ์ว่า เฟดน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงทุกรอบการประชุม FOMC ใน 3 รอบการประชุมที่เหลือของปีนี้ ประมาณ 0.75-1.00% เทียบกับโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ในขณะนี้ตลาดคาดว่า อาจเกิดขึ้นประมาณ 1 ครั้งในปีนี้
ด้านปัจจัยในประเทศ แม้จะมีภาพเป็นบวกมากขึ้นเมื่อมีทีมรัฐบาลชุดใหม่ ควบคู่วิสัยทัศน์เชิงนโยบายที่ชัดเจน แต่ก็ต้องรอบทสรุปอย่างเป็นทางการของนโยบายรัฐบาลใหม่ และการให้รายละเอียดในทางปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้น
ดังนั้น ทิศทางค่าเงินบาทในช่วงท้ายปี 2567 จึงยังมีโอกาสแกว่งตัวตามสถานการณ์และข้อมูลเศรษฐกิจที่จะเข้ามาเพิ่มเติม โดยอาจมีการปรับฐานเป็นบางช่วง ทำให้คาดว่าเงินบาทจะปิดปี 2567 ที่ประมาณ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ (ปรับจากคาดการณ์เดิมที่มองไว้ที่ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ภายใต้สมมติฐานเดิมที่มองว่าเฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยช้า)
เงินบาทแข็งค่าเฉลี่ย 1% ต่อปี กระทบรายได้ภาคส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เงินบาทที่แข็งค่าเฉลี่ยทุกๆ 1% ต่อปี อาจมีผลกระทบต่อรายได้ผู้ส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นกว่า 0.5% ของ Nominal GDP โดยผลกระทบดังกล่าว สะท้อนเฉพาะผลในขั้นแรกที่เกิดจากการแปลงรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศของผู้ส่งออกมาเป็นเงินบาท
อย่างไรก็ดี ในการดูผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม จะต้องคำนึงถึงผลในด้านอื่นๆ เช่น ผลดีจากบาทที่แข็งต่อการนำเข้า ตลอดจนผลกระทบจากคำสั่งซื้อที่อาจจะหายไปจากบาทแข็งเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
แม้สภาวะเงินบาทที่ผันผวนจะไม่กระทบกลไกการตั้งราคาสินค้าส่งออกที่มักจะอยู่ในรูปของเงินดอลลาร์ฯ มากนัก แต่คงต้องยอมรับว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจมีผลกระทบต่อเนื่องมายังผู้ประกอบการโดยเฉพาะฝั่งผู้ส่งออกที่มีรายได้ในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ เพราะจะทำให้รายได้เมื่อแปลงกลับมาเป็นรายได้สกุลเงินบาทลดลง
ซึ่งผลกระทบจะยิ่งชัดเจนขึ้นในกรณีที่ผู้ส่งออกดังกล่าวพึ่งพิงวัตถุดิบจากในประเทศเป็นหลัก (สัดส่วน Import Content ต่ำ) เพราะเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถใช้กลไก Natural Hedge เพื่อบรรเทาผลกระทบได้ ตัวอย่างธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ได้แก่ ยางและพลาสติก รถยนต์ และการผลิตอาหาร
ความผันผวนสูงขึ้นของสกุลเงินต่างประเทศ มีผลกระทบทั้งผู้ส่งออก-นำเข้า
นอกเหนือจากทิศทางเงินบาทแข็งค่าจะกลับมาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อรายได้ของผู้ส่งออกในจังหวะเข้าสู่ High Season ของการส่งออกไทยในไตรมาส 3 แล้วนั้น อีกประเด็นที่น่ากังวลเช่นกัน คือ ความผันผวนของค่าเงินที่สะท้อนผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจ ดอกเบี้ย และการเมืองระหว่างประเทศที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว
ความผันผวนของค่าเงินดังกล่าว ปรากฏขึ้นทั้งกรณีเงินบาท เทียบกับสกุลเงินหลักต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดอลลาร์ฯ เยน ยูโร และหยวน (รูปที่ 3) โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ เงินเยน และเงินหยวนมีระดับความผันผวนของค่าเงินนับจากต้นปี 2567 สูงกว่าค่าเฉลี่ยช่วง 5 ปีก่อนโควิด (ปี 2558-2562) ซึ่งหากพิจารณาคู่กับสัดส่วนการชำระเงินสกุลต่างๆ เทียบกับมูลค่าส่งออกและนำเข้ารวมนั้น จะเห็นว่าการส่งออก-นำเข้าด้วยสกุลเงินหยวน มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น
ทำให้ผู้ประกอบการที่ค้าขายในสกุลเงินหยวนจำเป็นต้องตื่นตัวต่อความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน แม้เงินดอลลาร์ฯ จะลดบทบาทลงในการชำระเงินด้านการค้าระหว่างประเทศ แต่ก็ยังมีสัดส่วนสูงที่สุดถึง 75.3% กรณีชำระเงินค่าสินค้าออก และ 80.4% กรณีชำระเงินค่าสินค้าเข้า ณ ไตรมาส 2/2567 ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ทำธุรกรรมสกุลเงินดอลลาร์ฯ ยังจำเป็นต้องใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเช่นกัน
เนื่องจากความผันผวนของค่าเงินที่เพิ่มขึ้น กลายเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตามความซับซ้อนของปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองโลก
ดังนั้น ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ส่งออก-ผู้นำเข้า ที่มีรายรับ-รายจ่ายในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ จึงต้องให้ความสำคัญกับการใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เช่น Forward, Options, Futures
นอกจากนี้ ก็ควรกระจายตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าเพื่อลดความเสี่ยง หลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาโดยตั้งเป้าหมายเพิ่มคุณภาพสินค้าและบริการให้เหนือคู่แข่ง เลือกใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currency) ตลอดจนบริหารจัดการรายได้และต้นทุน และลดความเสี่ยงจาก FX ด้วยวิธีอื่นๆ เช่น Natural Hedge หรือ Foreign Currency Deposits (FCD) เป็นต้น
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกร
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/monetary/231533
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา