Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Reporters
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
31 ส.ค. เวลา 00:30 • ธุรกิจ
เปิดอาชีพสงวนของคนไทย ทำไมต้องห้ามต่างด้าวทำ
แรงงานต่างด้าว เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะพี่น้องแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตามเพื่อความเป็นระเบียบ และประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ต้องมีการบริหารจัดการ และการควบคุมให้อยู่ภายใต้กฎหมาย และเงื่อนไขต่างๆ ป้องกันการลักลอบเข้าเมือง และลักลอบทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต
1
เพื่อปกป้องคนไทย และแรงงานไทย ตั้งแต่ปี 2475 รัฐบาลได้ออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อควบคุมการทำงานของแรงงานต่างด้าว และการสงวนอาชีพ - วิชาชีพบางประเภทไว้สำหรับคนไทย จนในปี 2516 มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับอาชีพสงวนสำหรับคนไทย (ห้ามแรงงานต่างด้าวทำ) และมีการปรับปรุงต่อมาเรื่อยๆ ให้เข้ากับบริบทสังคมในขณะนั้น
จนในปี 2563 กระทรวงแรงงานออกประกาศกระทรวงเรื่องกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ โดยแบ่งเป็น 4 บัญชี ได้แก่ งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด ได้แก่ 1.งานแกะสลักไม้ 2.งานขับขี่ยานยนต์ ยกเว้นงานขับรถยก (Forklift) 3.งานขายทอดตลาด 4.งานเจียระไนเพชร/พลอย 5.งานตัดผม/เสริมสวย 6.งานทอผ้าด้วยมือ 7.งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ฟาง ไม้ไผ่ ขนไก่ เส้นใย ฯลฯ 8.งานทำกระดาษสาด้วยมือ 9.งานทำเครื่องเขิน
10.งานทำเครื่องดนตรีไทย 11.งานทำเครื่องถม 12.งานทำเครื่องทอง/เงิน/นาก 13.งานทำเครื่องลงหิน 14.งานทำตุ๊กตาไทย 15.งานทำบาตร 16.งานทำผ้าไหมด้วยมือ 17.งานทำพระพุทธรูป 18.ทำร่มกระดาษ/ผ้า 19.งานนายหน้า/ตัวแทน 20.งานนวดไทย 21.งานมวนบุหรี่ 22.งานมัคคุเทศก์ 23.งานเร่ขายสินค้า 24.งานเรียงอักษร 25.งานสาวบิดเกลียวไหม 26.งานเลขานุการ และ 27.งานบริการทางกฎหมาย
บัญชีที่ 2 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพันภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย ได้แก่ วิชาชีพบัญชี วิชาชีพวิศวกรรม วิชาชีพสถาปัตยกรรม
บัญชีที่ 3 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง ได้แก่ 1.งานกสิกรรม 2.งานช่างก่ออิฐ/ช่างไม้/ช่างก่อสร้างอาคาร 3.งานทำที่นอน 4.งานทำมีด 5.งานทำรองเท้า 6.งานทำหมวก 7.งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย 8.งานปั้นเครื่องดินเผา
และบัญชีที่ 4 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้างและได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MoU) ได้แก่ งานกรรมกร และงานขายของหน้าร้าน
*เปิดเหตุผล ทำไมต้องมีงานห้าม*
นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ในฐานะหน่วยงานหลักในการพิจารณาออกใบอนุญาตทำงาน และควบคุมตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวให้ถูกต้อง เปิดเผยว่า แรงงานต่างด้าว ความหมายคือแรงงานทุกสัญชาติที่ไม่ใช่คนไทย ซึ่งในปัจจุบันจะมีอยู่ 4 สัญชาติหลัก คือ เมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมากที่สุด โดยมีแรงงานถูกกฎหมายที่มีใบอนุญาตมากถึงประมาณ 3 ล้านคน ขณะที่แรงงานสัญชาติอื่น ทั้งญี่ปุ่น จีน อเมริกา หรือยุโรป จะทำงานอยู่ในไทยประมาณ 1.7 แสนคน
นายสมชาย อธิบายว่า งานห้ามสำหรับแรงงานข้ามชาติ เกิดขึ้นเนื่องจากงานบางจำพวกอาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของคนไทย ซึ่งบางทีแรงงานไทยอาจไม่สามารถแข่งขันกับแรงงานประเทศเพื่อนบ้านได้ รวมถึงงานบางกลุ่มเกี่ยวข้องกับขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมไทย ที่ต้องสงวนไว้สำหรับคนไทยทำเท่านั้น
เช่น การเร่ขายสินค้า ถือเป็นงานประเภทหนึ่งที่ถูกจัดอยู่ในบัญชีหมวดอาชีพแรงงานข้ามชาติห้ามทำเด็ดขาด เนื่องจากงานเร่ขายสินค้าเป็นอาชีพอิสระ มีรายได้ค่อนข้างสูง เป็นอาชีพที่ต้องสงวนไว้ให้คนไทยทำ ทั้งนี้ งานเร่ขายสินขายจะมีลักษณะของการไม่อยู่กับที่ ต้องที่การเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ส่วนการขายของหน้าร้านคือตั้งอยู่กับที่ และขายของที่ผลิตสำเร็จแล้วเรียบร้อย ขายตามท้องตลาด ต้องมีนายจ้าง มีหลักแหล่ง มีที่ตั้งเป็นถาวร ซึ่งเปิดไว้สำหรับแรงงานตาม MOU
“งานต้องห้ามบางงานเราต้องสงวนไว้ เพราะเป็นงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย ส่วนงานที่เหลือก็เป็นงานที่เราต้องสงวนไว้สำหรับคนไทย เพราะบางอาชีพเรามองว่าคนไทยควรต้องเป็นคนทำ โดยเฉพาะอาชีพที่เป็นเรื่องของอาชีพอิสระ เราต้องการให้คนไทยประกอบอาชีพอิสระมีรายได้ ถ้าเราเปิดกว้างให้แรงงานเข้ามาทำได้ทุกอาชีพ เชื่อเลยว่าแรงงานเพื่อนบ้านจะเข้ามามากมาย ส่งผลกระทบกับคนไทย อาชีพสงวนจึงยังมีความจำเป็นอยู่”
*แม้จะไม่ใช่งานห้ามก็ต้องควบคุมให้เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย*
อย่างไรก็ตาม แม้งานบางประเภทจะเปิดพื้นที่ให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้ามาทำงานได้โดยไม่ได้จัดอยู่ในหมวดหมู่งานที่ห้ามโดยเด็ดขาดก็ตาม แต่การทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้องด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการดำเนินงานของกรมการจัดหางานในการผลักดันการทำงานอย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้กระทบต่อการทำงานของคนไทย รวมถึงส่งผลต่อการแข่งขันกับคนไทยในตลาดแรงงานของประเทศ
“ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของเร่ขายสินค้า ขายของหน้าร้านบ้าง แล้วงานก่อสร้างจะเป็นเรื่องของการลักลอบเข้ามา ก็คือไม่มีใบอนุญาตทำงาน เจอค่อนข้างเยอะ ขณะนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศเพื่อนบ้านมีการสู้รบตามชายแดน ก็มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านหลบหนีเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นช่วงที่เราไม่ได้เปิดผ่อนผันให้ลงทะเบียน แรงงานเหล่านี้ก็จะลักลอบเข้ามาทำงานกับสถานประกอบการต่าง ๆ”
นอกจากนี้ ผู้ที่ลักลอบเข้ามาบางทีไม่ได้มาทำงานที่ต้องสงวน เป็นงานที่ขอใบอนุญาตทำงานได้ เพียงแต่เป็นช่วงที่ไม่ได้เปิดให้ลงทะเบียน ก็ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการขออนุญาตอย่างถูกต้อง กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งจะพบการลักลอบทำงานอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับสถานประกอบการไทยก็ขาดแคลนแรงงาน จึงมีการลักลอบเกิดขึ้น
“ณ วันนี้ นโยบายของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ก็ได้มีนโยบายในเรื่องของการทำโครงการ เจอ จับ ปรับ ผลักดัน ออกนอกประเทศ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงทั้ง ตม. ฝ่ายปกครอง กอ.รมน. ในการตรวจสอบ จับกุม ปราบปราม ทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน”
*“เจอ จับ ปรับ ผลักดัน” คืออะไร*
โครงการ “เจอ จับ ปรับ ผลักดัน” ถือเป็นนโยบายที่กรมการจัดหางาน ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทยที่มีการลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย นำไปสู่การแย่งงาน เกิดปัญหาการว่างงานของแรงงานไทย โดยโครงการนี้มีการดำเนินการทั่วประเทศพร้อมกัน ทั้งส่วนของจังหวัด จะร่วมกับ กอ.รมน.จังหวัด ฝ่ายปกครองจังหวัด ในการตรวจสอบ และส่วนกลางจะร่วมกับกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน ตม. และ กอ.รมน.กลาง ในการตรวจสอบ
นายสมชาย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการตรวจสอบนายจ้างที่จ้างแรงงานข้ามชาติกว่าหลายหมื่นสถานประกอบการ มีแรงงานที่ผ่านการตรวจกว่าแสนคน ในจำนวนนี้มีการจับกุม ปราบปราม และผลักดันออกนอกประเทศหลายพันคน และยังคงพบเจออยู่เรื่อย ๆ
สำหรับแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานผิดกฎหมายในประเทศไทย หรือไม่มีใบอนุญาตให้ทำงาน จะมีโทษคือการปรับตั้งแต่ 5,000–50,000 บาท และผลักดันออกนอกประเทศ ขณะที่ นายจ้าง หรือสถานประกอบการ ที่จ้างแรงงานข้ามชาติที่กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน จะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาทต่อการจ้าง 1 คน รวมถึงห้ามใช้แรงงานข้ามชาติเป็นระยะเวลา 3 ปี
“คนที่ได้รับการผ่อนผันแล้วมีใบอนุญาตทำงานอยู่ ก็ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ เพราะว่าการทำงานที่ไม่ตรงกับที่เราอนุญาตก็จะมีผลกระทบตามมา ทั้งในเรื่องของการที่จะถูกดำเนินคดี และก็ถูกส่งกลับ ก็เป็นเรื่องสำคัญ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว
#TheReporters #เดอะรีพอร์ตเตอร์ #กรมการจัดหางาน #แรงงานต่างด้าว #งานห้ามของคนต่างด้าวในไทย
2 บันทึก
13
2
4
2
13
2
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย