2 ก.ย. เวลา 03:00 • ธุรกิจ

ITOCHU คือบริษัทอะไร ทำไมมีทั้ง CP และ Berkshire เป็นเจ้าของร่วมกัน

ลองนึกภาพว่า เราเปิดประตูห้องประชุมเข้าไป แล้วเจอกับคนที่รวยที่สุดในไทยอย่าง เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ และนักลงทุนระดับตำนาน อย่างคุณวอร์เรน บัฟเฟตต์ นั่งอยู่ข้างใน ตอนวันประชุมผู้ถือหุ้น เราเองก็คงจะรู้สึกตื่นเต้นไม่น้อย
2
แต่แน่นอนว่าคำถามในหัวของเราที่จะตามมาคือ บริษัทนี้มีดีอะไร ถึงดึงดูดใจของทั้ง 2 มหาเศรษฐีจากคนละซีกโลก ให้มาถือหุ้นร่วมกัน
แถมทั้ง 2 มหาเศรษฐี ก็ไม่ได้มาเล่น ๆ เพราะบริษัท Berkshire Hathaway ของคุณวอร์เรน บัฟเฟตต์ นั้นคือผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ตามมาด้วยบริษัท CP Group ของเจ้าสัวธนินท์ ที่เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ของบริษัท
และบริษัทที่ว่านั้นก็คือ บริษัทจากญี่ปุ่นที่ชื่อว่า ITOCHU
แล้วทั้ง CP และ Berkshire Hathaway มองเห็นอะไรใน ITOCHU ถึงทุ่มเงินลงทุนมหาศาลในบริษัทนี้ ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
1
จุดเริ่มต้นของบริษัท ITOCHU ต้องย้อนกลับไปในปี 1858 สมัยที่ผู้ก่อตั้งบริษัทอย่างคุณ Chubei Itoh เริ่มทำการค้าขาย ขณะที่ยังมีอายุได้เพียง 15 ปี เท่านั้น
ต้องใช้เวลาเกือบ 200 ปี กว่าที่บริษัท ITOCHU จะขยับขยายธุรกิจเรื่อยมา จากเดิมที่เป็นเพียงบริษัทที่ค้าขายแค่ระหว่างหัวเมืองต่าง ๆ ในญี่ปุ่น
จนกลายเป็นผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศรายใหญ่แห่งหนึ่งของญี่ปุ่น โดยปัจจุบัน ITOCHU แบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 8 กลุ่มหลัก คือ..
1. ธุรกิจขายสินค้าสิ่งทอ
2. ธุรกิจขายเครื่องจักร
3. ธุรกิจเหมืองแร่
4. ธุรกิจพลังงาน และเคมีภัณฑ์
5. ธุรกิจอาหาร
6. ธุรกิจขายสินค้าทั่วไป และธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
7. ธุรกิจ ICT และการเงิน
8. กลุ่มธุรกิจใหม่ รวมถึงเครือข่ายร้านค้าสะดวกซื้อ อย่าง FamilyMart ด้วย
3
กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ที่นำสินค้าเข้ามาขายในญี่ปุ่น แบบ ITOCHU มีชื่อเรียกว่า Sogo Shosha ซึ่งธุรกิจเหล่านี้เป็นเหมือนกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจญี่ปุ่น
3
เนื่องจากญี่ปุ่นมีภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะ ทำให้มีทรัพยากรธรรมชาติจำกัด จึงต้องมีธุรกิจ Sogo Shosha เป็นตัวกลางจัดหาสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขาย
4
นอกจาก ITOCHU แล้ว ในกลุ่ม Sogo Shosha เองก็ยังมีบริษัท Mitsubishi, Mitsui & Co., Sumitomo และ Marubeni ที่คอยทำหน้าที่จัดหาสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายในญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน
2
จุดเริ่มต้นที่ทำให้กลุ่ม CP เข้ามาถือหุ้นใน ITOCHU คือตอนที่ CP เข้าลงทุนในบริษัท Ping An Insurance Group กลุ่มบริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดของจีนในปี 2013
2
ในตอนนั้นผู้บริหารของ Ping An ต้องการแนะนำให้เจ้าสัวธนินท์ รู้จักกับคุณ Masahiro Okafuji ประธานบริษัท ITOCHU ในเวลานั้น
เมื่อเจ้าสัวธนินท์ ตรวจสอบประวัติของคุณ Okafuji ก็รู้สึกทึ่งกับความสามารถของคุณ Okafuji มาก
เพราะในเวลานั้นกลุ่มบริษัท Sogo Shosha ของญี่ปุ่น ต่างถอดใจกับธุรกิจสิ่งทอกันหมดแล้ว เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่สร้างผลกำไรให้บริษัท
2
แต่คุณ Okafuji กลับสามารถทำกำไรในธุรกิจสิ่งทอเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่า
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของ ITOCHU ดูเหมือนจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับธุรกิจของกลุ่ม CP เท่าไรนัก เจ้าสัวธนินท์ จึงไม่ได้พบกับคุณ Okafuji เสียที
1
จนเวลาผ่านมาเกือบครึ่งปี เจ้าสัวธนินท์ มีโอกาสบินไปทำธุรกิจที่ญี่ปุ่น เขาจึงถือโอกาสเข้าพบคุณ Okafuji ด้วย
และในวันเดียวกันนั้นเอง เจ้าสัวธนินท์ ก็เป็นฝ่ายยื่นข้อเสนอขอซื้อหุ้น ITOCHU ในสัดส่วน 10%
แต่สุดท้ายก็ตกลงกันว่ากลุ่ม CP จะถือหุ้นใน ITOCHU ประมาณ 4.9% ส่วน ITOCHU จะถือหุ้นในบริษัท C.P. Pokphand ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง 25%
3
ซึ่งบริษัท C.P. Pokphand ในตลาดหุ้นฮ่องกง คือบริษัทย่อยของ CPF ซึ่งทำธุรกิจเกษตร และอาหารในประเทศเวียดนาม และจีน
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในวันที่เจ้าสัวธนินท์ ตัดสินใจแลกหุ้น C.P. Pokphand กับ ITOCHU วันนั้นราคาหุ้น ITOCHU มีราคาอยู่ที่ 1,300 เยนต่อหุ้นเท่านั้น
แต่ในวันนี้ราคาหุ้น ITOCHU มีราคาหุ้นไม่ต่ำกว่า 7,000 เยน..
1
เวลาล่วงเลยผ่านมาจนถึงปี 2020 Berkshire Hathaway ของคุณวอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้เข้าซื้อหุ้นในบริษัท Sogo Shosha ของญี่ปุ่นพร้อมกันถึง 5 แห่ง
คือ ITOCHU, Marubeni, Mitsubishi, Mitsui & Co. และ Sumitomo โดยเข้าถือหุ้นบริษัทละ 5%
พร้อมกับประกาศว่าจะเข้าซื้อหุ้นในบริษัทเหล่านี้สูงสุดไม่เกิน 9.9% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดในแต่ละบริษัท
1
โดยคุณวอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยพูดถึงการเข้ามาลงทุนในกลุ่ม Sogo Shosha ทั้ง 5 บริษัทของญี่ปุ่น ว่าเป็นการลงทุนระยะยาว และยังเชื่อมั่นในอนาคตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่
2
นอกจากนี้บริษัททั้ง 5 แห่ง ยังมีการลงทุนออกไปยังหลายประเทศทั่วโลกอีกด้วย
1
Berkshire Hathaway เข้ามาซื้อหุ้นของ ITOCHU เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ของ ITOCHU คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 7.5%
1
ส่วนผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 2 ก็คงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากกลุ่ม CP จากเมืองไทย ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 4.5%
ปัจจุบัน ITOCHU มีมูลค่าบริษัท 2.6 ล้านล้านบาท เมื่อคิดจากสัดส่วนการถือหุ้นแล้ว Berkshire Hathaway มีหุ้น ITOCHU คิดเป็นมูลค่าประมาณ 198,349 ล้านบาท
1
ส่วนกลุ่ม CP จะมีหุ้น ITOCHU คิดเป็นมูลค่าประมาณ 118,726 ล้านบาท
แม้ทั้ง Berkshire Hathaway และกลุ่ม CP จะมีเหตุผลในการเข้าลงทุนใน ITOCHU แตกต่างกัน
แต่ผลการดำเนินงานของ ITOCHU ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ทั้ง 2 ฝ่าย ตัดสินใจถูก ที่มาถือหุ้นในบริษัทแห่งนี้ร่วมกัน
3
- ปี 2021 รายได้ 2,433,939 ล้านบาท กำไรสุทธิ 94,287 ล้านบาท
1
- ปี 2022 รายได้ 2,887,420 ล้านบาท กำไรสุทธิ 192,662 ล้านบาท
- ปี 2023 รายได้ 3,275,503 ล้านบาท กำไรสุทธิ 188,023 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า เมื่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นจากช่วงที่มีโรคระบาด ผลประกอบการของ ITOCHU ก็กลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
และผลประกอบการที่แข็งแกร่ง ก็ส่งผลทำให้ราคาหุ้นของ ITOCHU ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดในช่วงปี 2020 ถึง 350%
3
จนกลายเป็นหุ้นที่สร้างผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่าง Berkshire Hathaway ของคุณวอร์เรน บัฟเฟตต์ และกลุ่ม CP ของเจ้าสัวธนินท์ ได้อย่างงดงาม..
#สรุปธุรกิจ
#หุ้นนอก
#เจ้าสัวซีพี
โฆษณา