1 ก.ย. เวลา 02:43 • อาหาร

ความต่างของ...

กาแฟโบราณ | สั่งยังใงให้โดนใจ
เคยรู้สึกมึนงงสงสัยกันไหมว่า...
ทำไมกาแฟโบราณ ที่เราไปซื้อตามร้านถึงเรียกชื่อไม่เหมือนกันทั้ง ๆ ที่มันก็ชงคล้ายกัน
วันนี้ Baan Khun Yai-บ้านคุณยาย จะพาไปพบกับคำตอบเพื่อครั้งต่อไปจะได้สั่งได้โดนใจอย่างแน่นอน
เมื่อพูดถึงกาแฟโบราณ อดเสียไม่ได้ที่จะนึกถึงบรรยากาศร้านเก่า ๆ ในตลาด มีหน้าร้านในตู้โชว์ไม้ภายในมีเหล่าบรรดากระป๋องกระปุกหลายชนิดวางเรียงรายอยู่เต็มไปหมด และพอมีลูกค้าตะโกนสั่ง เจ้าของร้านก็กุลีกุจอลงมือชงเครื่องดื่ม ตามใจลูกค้า
1
โดยจะมีเอกลักษณ์เฉพาะคือต้องตัดน้ำร้อนขึ้นจากหม้อต้มด้วยกระบวย เอามาใส่ถุงกรองกาก ถุงยาว ๆ ย้วย ๆ ดูจากความเข้มของสีที่ถุงกรองบอกได้เลยว่าผ่านสมรภูมิรบมาแล้วกี่ครั้งแล้ว หลังจากนั้นก็ชักให้น้ำไหลผ่านลงไปยังแก้วหรือกระป๋องที่รองรับ เทไปเทมาอยู่หลายรอบแล้วแต่ความเข้ม แล้วจึงเทลงแก้วที่เติมส่วนผสมอื่น ๆ ไว้แล้ว ก่อนจะยกมาเสิร์ฟแล้วกินคู่กับปาท่องโก๋ตัวใหญ่ ๆ เรียกว่าดื่มไป ดูความวุ่นวาย เงี่ยหูฟังเรื่องเล่าชาวบ้านในตลาดยามเช้าบ้าง อร่อยใช่ย่อยเลยทีเดียว
ก่อนอื่นเรามาเริ่มกันที่ "โอยั๊วะ" ก่อนเลย
ทว่า "โอยั๊วะ" ไม่ใช่เจ้าของร้านชื่อ "โอ" หงุดหงิดแล้ว "ยั๊วะ" นะจ๊ะ แต่คำนี้เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว โดยคำว่า “โอ” แปลว่า ดำ “ยั๊วะ” แปลว่า ร้อน เมื่อนำทั้ง ๒ คำมาก็กลายเป็น โอยั๊ว หรือจะเรียกอีกอย่างว่า กาแฟดำร้อน แต่ถ้าเปรียบกับกาแฟปัจจุบัน ก็ต้องเป็น อเมริกาโนแบบไทยโบราณ ที่ไม่ใส่ครีมหรือน้ำตาลนั่นเอง อย่างนั้นคนที่ชอบดื่ม โอยั๊ว ต้องชื่นชอบกาแฟเป็นอย่างมากจริง เพราะไม่อย่างนั้นร่างกายจะรับคาเฟอีนเข้มข้นนี้ไม่ได้แน่นอน
แต่สำหรับใครถ้าอยากลดดีกรีความเข้มลงมาด้วยการใสน้ำตาล ลงไปในกาแฟ แล้วเติมน้ำแข็งด้วย ก็จะทำให้ "โอยั๊วะ" กลายเป็น “โอเลี้ยง” ขึ้นมาทันทีเลย ซึ่งคำนี้ก็มีที่มาจากจีนแต้จิ๋วเช่นกัน “โอ” แปลว่า ดำ “เลี้ยง” แปลว่าเย็น เมื่อนำ ๒ คำมาร่วมกันก็กลายเป็น "โอเลี้ยง" หรือเราจะเรียกว่า กาแฟดำใส่น้ำแข็ง ซึ่งใครที่ชอบดื่ม โอเลี้ยง นี่เรียกว่าเป็นคนที่เบื้องหน้าที่ดุว่าโหดนั้นก็มีความหวานซ่อนอยู่
ต่อมาถ้าชีวิตใครขาดสีสันต้องการเติมสีสันให้ชีวิตละก็แนะนำเลย "จั้มบ๊ะ" อย่าพึ่งแปลกใจคิดไปไกลว่าจากกาแฟถึงกลายมาเป็น "การเต้นจั้มบ๊ะ" ได้ แต่มันก็คือชื่อเรียก โอเลี้ยง ที่มีความพิเศษตรงที่ไม่ได้ใส่น้ำตาลในการเพิ่มความหวาน แต่จะใส่น้ำหวานสีแดง หรือสีเขียว ตามแต่ที่ร้านจะมีลงไป จนทำให้ "โอเลี้ยงจั๊มบ๊ะ" แก้วนี้มีความหอมหวานไปอีกรูปแบบหนึ่ง และที่สำคัญสีสันฉูดฉาดคล้ายกับชุดนางระบำจั้มบ๊ะ หรือน้ำแข็งไสจ้ำบ๊ะที่ใช้น้ำหวานสีแดงหรือสีเขียวราดนั้นเอง
อีกหนึ่งเมนูที่เด็ดไม่แพ้เมนูอื่น ๆ ก็คือ "ยกล้อ" ไม่ใช่ว่าคนชงชงกาแฟไปยกล้อไป หรือยกล้อมาเสิร์ฟแต่อย่างไร แต่กาแฟยกล้อคือ โอเลี้ยงใส่นม โดยมีการสันนิษฐานกันว่า น่าจะมาจากการที่ ยี่ห้อนมข้นจืดในสมัยนั้นเป็นรูปจักรยาน เมื่อคนชงเทนมลงไปมีลักษณะคล้ายการยกล้อ นั่นเอง หรือถ้าจะเรียกให้เข้าใจแบบปัจจุบันก็ต้องเป็น กาแฟลาเต้
อีกหนึ่งเมนูที่ฟังดู ทะแม่ง ๆ ก็คือ "โกปี๊" คำนี้เป็นคำทับศัพท์มาจาก Coffee แต่ออกเสียงแบบสำเนียงภาคใต้ ว่า โกปิ๊ โกปี้ หรือโกปี แล้วแต่ท้องถิ่น ซึ่งมันก็คือ กาแฟดำใส่นมข้นหวาน แต่ถ้าเรียกว่า “โกปี๊ออ” คือกาแฟดำร้อน ไม่ใส่นมนั่นเอง
สำหรับเมนูสุดท้ายที่จะขาดเสียไม่ได้นั่นก็คือ "กาแฟเย็น" เชื่อได้เลยว่าเป็นที่โปรดปรานของใครต่อหลายคนอย่างแน่นอน เพราะเรียกว่าส่วนผสมครบสูตร เริ่มจากการนำ กาแฟดำใส่นมข้นหวาน ใส่น้ำแข็ง แล้วราดด้วยนมสดทำให้ได้กาแฟเย็น ที่จัดเต็ม จัดถึง รสชาติหอมหวานมันตรงตามจริตของคนไทยได้เป็นอย่างดี
แต่เชื่อได้เลยว่าทั้ง ๖ เมนูดังกล่าวไม่ใช่เมนูท้ายที่สุดอย่างแน่นอนเพราะด้วยภูมิปัญญาของคนไทยสามารถปรุงแต่ง ผสมผสาน รังสรรค์ เมนูแปลกใหม่ขึ้นมาได้อย่างแน่นอน
รฦก รัก l รฦก รส l ตำรับคุณยาย
ทุก ๆ คำ คือความทรงจำแห่งความสุข
ที่จะถูกส่งมอบสู่ทุกคน ผ่านเรื่องราว
เรื่องเล่า ตำรับบ้านคุณยาย
#กาแฟโบราณ
โฆษณา