3 ก.ย. เวลา 08:06 • ประวัติศาสตร์

เหตุใดมองโกลจึงสามารถยึดครองแผ่นดินจีนได้?

ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ “จีน” คือหนึ่งในชาติที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน และเป็นหนึ่งในอารยธรรมแถวหน้าของประวัติศาสตร์โลก
หนึ่งในเรื่องราวของประวัติศาสตร์จีน คือเรื่องราวการถูกรุกรานจากชนเผ่าเร่ร่อน ซึ่งมักจะรุกรานแผ่นดินจีนจากทางเหนือ
การรุกรานจากชนเผ่าทางเหนือนั้นมีในจีนมาเป็นเวลานาน หากแต่ก็ยังไม่มีครั้งใดที่ชนเผ่าเร่ร่อนนอกด่านเหล่านี้ทำได้สำเร็จ
หากแต่เมื่อ “เจงกิสข่าน (Genghis Khan)” ประมุขแห่งจักรวรรดิมองโกล ได้ปรากฎนามในหน้าประวัติศาสตร์ ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป
1
เจงกิสข่าน (Genghis Khan)
มองโกลภายใต้การนำของเจงกิสข่านสามารถรวบรวมชนเผ่าทางเหนือของจีนให้เป็นปึกแผ่นได้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 12 และต้นศตวรรษที่ 13 และมองโกลยังสามารถขยายอำนาจยึดครองอาณาจักรเซี่ยตะวันตกและราชวงศ์จินได้อีกด้วย
ในปีสุดท้ายของชีวิต เจงกิสข่านสามารถพิชิตอาณาจักรเซี่ยตะวันตกได้ทั้งหมด และเมื่อถึงยุคต่อมา มองโกลก็สามารถพิชิตราชวงศ์จินทั้งหมดได้
1
เมื่ออาณาจักรเซี่ยตะวันตกและราชวงศ์จินล่มสลาย สิ่งที่จีนพอมีเหลือก็คือ “ราชวงศ์ซ่ง (Song Dynasty)”
2
ในไม่ช้า สงครามก็เกิดขึ้นระหว่างมองโกลกับราชวงศ์ซ่ง หากแต่การจะพิชิตราชวงศ์ซ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่กับกองทัพมองโกลที่เกรียงไกรและพิชิตมาแล้วทุกสมรภูมิ
สงครามระหว่างมองโกลกับราชวงศ์ซ่งเริ่มขึ้นในปีค.ศ.1235 (พ.ศ.1778) แต่กว่าจะพิชิตราชวงศ์ซ่งได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็ปาเข้าไปปีค.ศ.1279 (พ.ศ.1822) และมองโกลก็ครอบครองแผ่นดินจีนได้ทั้งหมด นำพาจีนเข้าสู่ความเป็นปึกแผ่นครั้งแรกในรอบ 300 ปีนับตั้งแต่ราชวงศ์ถังล่มสลาย
1
เรียกได้ว่าการพิชิตแผ่นดินจีนนั้นเป็นผลงานเอกของเจงกิสข่านและเหล่าทายาทผู้สืบทอดอำนาจ แต่คำถามก็คือ พวกมองโกลมีเคล็ดลับในการประสบความสำเร็จได้อย่างไร? ทั้งๆ ที่จีนนั้นกว้างใหญ่ไพศาล มีทั้งทรัพยากรและกำลังพลมากกว่ามองโกลหลายเท่า
มองโกลทำได้อย่างไร?
ลองมาหาคำตอบกันครับ
ในประวัติศาสตร์จีนหลายพันปีนั้น สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ วนลูปไปตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นจนมาถึงยุคของมองโกล นั่นก็คือเมื่อแผ่นดินเป็นปึกแผ่นและอยู่ใต้การปกครองของราชวงศ์ใดราชวงศ์หนึ่ง สุดท้ายแล้ว จีนก็จะแตกออกเป็นแว่นแคว้นต่างๆ ปกครองโดยเจ้าผู้ครองแคว้น
1
สถานการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงต้นศตวรรษที่ 13 จีนได้แตกแยกออกเป็นแคว้นต่างๆ และแต่ละแคว้นก็ต่างไม่ได้ญาติดีกันเท่าใดนัก ดังนั้นการส่งกำลังไปช่วยเหลือแคว้นอื่นๆ ในยามสงครามจึงไม่ต้องพูดถึง
เมื่อกองทัพมองโกลของเจงกิสข่านมาถึงอาณาจักรเซี่ยตะวันตก ราชวงศ์จินก็ไม่ยอมส่งกองทัพไปช่วย คิดว่าศัตรูจะตีกัน เราจะไปช่วยให้เปลืองแรงทำไม ให้ฆ่ากันเองน่าจะดีกว่า
แต่ถึงแผ่นดินจีนจะแตกแยก แต่ก็ต้องยอมรับว่าแคว้นต่างๆ ก็ล้วนแต่มีกำลังพลมากกว่ากองทัพมองโกล แต่หากมองในแง่ดี ก็นับว่ายังดีกว่าแผ่นดินจีนที่เป็นปึกแผ่น มีประชากรหลัก 100 ล้านคน
กองทัพมองโกลได้โจมตีอาณาจักรเซี่ยตะวันตกและราชวงศ์จินก่อนเป็นลำดับแรก และในเวลานั้น ดินแดนเหล่านี้ก็ล้วนแต่ไม่ได้ถูกปกครองโดยชาวจีนฮั่น โดยอาณาจักรเซี่ยตะวันตกถูกปกครองโดยชาวตังกุต ส่วนราชวงศ์จินนั้นปกครองโดยชาวหยูเจิน ซึ่งชาวหยูเจินในราชวงศ์จินนั้น มีไม่ถึง 10% ของประชากรทั้งหมดในดินแดน
เท่านั้นยังไม่พอ ประชากรในดินแดนของราชวงศ์จินจำนวนมากก็เลือกที่จะทรยศราชวงศ์จิน ไม่เอาราชวงศ์จินอีกต่อไป
สำหรับเหตุผลสุดท้ายและน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้มองโกลประสบความสำเร็จ ก็คือความสามารถของเหล่าแม่ทัพมองโกลและการบริหารจัดการกองทัพที่มีประสิทธิภาพ
ถึงแม้ว่ากองทัพมองโกลจะมีจำนวนน้อยกว่ากองทัพจีนมาก แต่ก็มีระเบียบวินัยและการบริหารจัดการที่ดีกว่าจีน อีกทั้งผู้นำก็เข้มแข็ง
นอกจากนั้น เจงกิสข่านยังแหกธรรมเนียมเดิมๆ ที่เคยมีมา โดยแต่เดิมนั้น ตำแหน่งสำคัญๆ มักจะตกเป็นของเหล่าคนใหญ่คนโต ลูกหลานตระกูลใหญ่
แต่เจงกิสข่านส่งเสริมคนโดยดูจากความสามารถเป็นหลัก แม่ทัพหลายคนในกองทัพมองโกลก็เป็นคนธรรมดาที่มีความสามารถและได้รับการสนับสนุน
1
นอกจากนั้น เจงกิสข่านยังเป็นผู้นำที่ใฝ่รู้ศาสตร์ใหม่ๆ มักจะดึงคนเก่ง คนมีความสามารถเข้าสู่กองทัพ โดยในกองทัพมองโกลนั้น มีบัณฑิตและวิศวกรชาวจีนจำนวนมากมาเข้ากับกองทัพมองโกล ซึ่งเจงกิสข่านก็อ้าแขนต้อนรับอย่างดีโดยไม่สนใจว่าเป็นคนของฝ่ายศัตรู
1
นี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้กองทัพมองโกลซึ่งมีกำลังพลน้อยกว่าจีนมาก สามารถพิชิตแผ่นดินจีนที่กว้างใหญ่ได้
สั่งซื้อหนังสือ “ประวัติศาสตร์แห่งความหลอกลวง 5,000 ปีของการต้มตุ๋น ฉ้อโกง โกหก ปลอมแปลง” ได้ตามลิ้งค์นี้นะครับ
โฆษณา