2 ก.ย. 2024 เวลา 03:38 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
วัดหนองป่าพง (หลวงปู่ชา)

สัทธานุสารี(ศรัทธานุสาร)และธัมมานุสารี(ธรรมานุสาร) ปุถุชนชั้นเลิศที่เมื่อตายไปจะไม่เกิดในอบายภูมิอีก

พระพุทธวจนกล่าวถึงอริยบุคคล 12 จำพวก ซึ่งที่น่าแปลกใจคือ 2 ในนั้น เป็นปุถุชนที่ถูกรับประกันแล้วว่าจะได้ความเป็นโสดาบันในชาติหน้าหรือในชาตินี้เลย ปุถุชน 2 จำพวกนี้ เป็นกัลยาณปุถุชน คือ ปุถุชนที่จะมีเส้นชัยเป็นอริยบุคคลชั้นต้นอย่างเดียว ไม่มีวันไปเกิดในภพภูมิของสัตว์เดรัจฉาน นรกกำเนิดและปิตติวิสัยอีกต่อไปแล้ว นั่นก็คือ กัลยาณปุถุชนสองประเภท คือ สัทธานุสารีและธัมมานุสารี นั่นเอง
#ปุถุชน #อริยบุคคล #อริยเจ้า
โดยในพุทธวจน คือ คำของพระตถาคต ได้จาระหลักจำแนกนี้ไว้ ใจความว่า ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการเหล่านี้ ๕ ประการ
อะไรบ้าง คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์
ปัญญินทรีย์ ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้แล อินทรีย์ ๕ ประการ.
(1) ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นอรหันต์ เพราะ
อินทรีย์ ๕ ประการนี้เต็มบริบูรณ์
(2) เป็นอันตราปรินิพพายี เพราะอินทรีย์ ๕
ยังอ่อนกว่าอินทรีย์ของอรหันต์
(3) เป็นอุปหัจจปรินิพพายี เพราะอินทรีย์ ๕
ยังอ่อนกว่าอินทรีย์ของอันตราปรินิพพายี
(4) เป็นอสังขารปรินิพพายี เพราะอินทรีย์ ๕
ยังอ่อนกว่าอินทรีย์ของอุปหัจจปรินิพพายี
(5) เป็นสสังขารปรินิพพายี เพราะอินทรีย์ ๕
ยังอ่อนกว่าอินทรีย์ของอสังขารปรินิพพายี
(6) เป็นอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี เพราะอินทรีย์ ๕
ยังอ่อนกว่าอินทรีย์ของสสังขารปรินิพพายี
(7) เป็นสกทาคามี เพราะอินทรีย์ ๕ ยังอ่อนกว่า
อินทรีย์ของอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี
(8) เป็นเอกพีชี เพราะอินทรีย์ ๕ ยังอ่อนกว่า
อินทรีย์ของสกทาคามี
(9) เป็นโกลังโกละ เพราะอินทรีย์ ๕ ยังอ่อนกว่า
อินทรีย์ของเอกพีชี
(10) เป็นสัตตักขัตตุปรมะ เพราะอินทรีย์ ๕
ยังอ่อนกว่าอินทรีย์ของโกลังโกละ
(11) เป็นธัมมานุสารี เพราะอินทรีย์ ๕ ยังอ่อนกว่า
อินทรีย์ของสัตตักขัตตุปรมะ
(12) เป็นสัทธานุสารี เพราะอินทรีย์ ๕ ยังอ่อนกว่า
อินทรีย์ของธัมมานุสารี.
อริยบุคคลทั้ง12จำพวกข้างต้น มีโสดาบัน 3 จำพวก(สัตตักขัตตุปรมะผู้เกิดไม่เกินอีก ๗ ชาติ โกลังโกละผู้เกิดอีกไม่เกิน ๓ ชาติ และ เอกพีชีผู้เกิดอีกเพียงชาติเดียว ก่อนเข้าสู่นิพพาน) มีสกิทาคามี 1 จำพวก มีอนาคามี 5 จำพวก(อุทธังโสโตอกนิฏฐคามีผู้มีอินทรีย์เข้ม สสังขารปรินิพพายีผู้มีอินทรีย์เข้มกว่า อสังขารปรินิพพายีผู้มีอินทีย์เข้มกว่ามากและไม่ปรุงแต่งฟุ้งซ่าน อุปหัจจปรินิพพายีผู้มีอินทรีย์เข้มกว่ามากขึ้นและทรงอยู่ในวิมุตติสุขารมณ์ และอันตราปรินิพพายี ผู้มีอินทรีย์เข้มข้นที่สุดแต่ยังไม่ถึงพระอรหันต์)
สุดท้ายคือ อริยบุคคลระดับสูงที่สุด คือ พระอรหันต์ แปลว่าผู้สิ้นกิเลสทุกประการ ซึ่งจะไม่กลับมาเวียนตายวนเกิดซ้ำไปมาในวัฏสงสารอีกแล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจและเป็นกำลังใจให้ปุถุชนได้รู้ว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มีที่มาที่ไปอย่างไร ทุศีลอยู่หรือไม่ แต่คุณก็สามารถสร้างเหตุปัจจัยสู่อริยบุคคลเพื่อปิดอบายภูมิทุคติวินิบาตได้สบายๆ นั่นก็คือ สัทธานุสารีและธัมมานุสารี กล่าวคือ ผู้ที่มีศรัทธาเชื่อมั่นในคำสอนของพระตถาคต ๑ และ ผู้ที่มีความรู้เท่าทันว่า ธรรมชาติของสัตว์โลกย่อมเป็นไปเพื่อความดับทั้งสิ้น ๒
สัทธานุสารีและธัมมานุสารีนี้เอง ที่จะเป็นผู้ทรงอยู่ในความยึดมั่นต่อพระธรรม สัทธานุสารีจะมีความเข้มข้นในการเจริญภาวนาอ่อนกว่าธัมมานุสารีบุคคล เพราะสัทธานุสารีบุคคลจะกระทำไว้ในใจด้วยความเชื่อ คือเชื่อในทุกพุทธวจนที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเผย แต่ธัมมานุสารีบุคคลจะกระทำไว้ในใจด้วยความแยบคายพิตรรกะพิจารณา จนรู้ว่าธรรมชาติของสัตตานังมีแต่ความเสื่อมความดับทุกผู้ทุกนาม
ข้อแตกต่างของปุถุชนที่เป็นสัทธานุสารีและธัมมานุสารี ที่ไม่เหมือนปุถุชนทั่วไปคือ แม้ยังมีรัก มีโลภ มีโกรธ มีหลงอยู่ แต่จะยั้งไว้ไม่ให้กิเลสทั้งสี่เหล่านั้นกำเริบเสิบสาน แม้สัทธานุสารีกับธัมมานุสารีจะยังมีจิตคิดอกุศลบ้าง แต่จะมีหิริโอตตัปปะหรือความละอายชั่วกลัวบาปมาตัดรอนไม่ให้อกุศลเหล่านั้นมาควบคุมพฤติกรรมได้ ดังนั้นสัทธานุสารีและธัมมานุสารีจึงเคารพนอบน้อมในพระรัตนตรัยเหมือนพระโสดาบัน แต่ยังไม่เป็นโสดาบันเพราะอินทรีย์อ่อนกว่า กล่าวคือ รู้เท่าทันสังขารจิตได้ไม่ไวเท่าโสดาบัน ละนันทิช้ากว่าโสดาบัน
แต่ธัมมานุสารีจะเด็ดขาดกว่าสัทธานุสารีตรงที่ปลงได้ ทำใจได้ เริ่มหลุดพ้นจากระบบสมมติปัญญัติได้ แม้จะยังยินดีในความสุขทางโลกอยู่ แต่ธัมมานุสารีจะรู้ว่าความสุขมันมีเข้ามาไม่นานก็จะจากไป และแน่นอน หัวใจของธัมมานุสารีจะเหมือนศรัทธานุสารีและโสดาบันตรงที่เขาจะหยั่งลงมั่นในพระรัตนตรัย เชื่อมั่นในพุทธวจนแต่เพียงอย่างเดียว มีไตรสรณคมน์เป็นปกติวิสัย แม้จะใช้ชีวิตอย่างปุถุชนทั่วไปโดยไม่ได้แสดงออกมาก็ตาม ธัมมานุสารีจะเพียรพยายามละสักกายทิฏฐิจนอาสวะบางส่วนหมดไป แต่ยังไม่ถึงขั้นสมุทเฉทปหาร(ขาดสูญ)แบบโสดาบัน
ส่วนการรักษาศีลของศรัทธานุสารีและธัมมานุสารี จะรักษาศีลห้าไว้ได้ดี แต่ไม่งวดเท่าโสดาบัน คือ ไม่ฆ่าสัตว์(ยกเว้นเผลอไผลไม่รู้ตัว) ไม่ลักทรัพย์(แต่เขาย่อมรักษาผลประโยชน์ของตัวเองอย่างเที่ยงตรง) ไม่ประพฤติผิดในกาม(ไม่นัดมั่วสำส่อน ไม่เป็นชู้หรือมีชู้ หรือจะมีเพศสัมพันธ์ก็แต่กับคนที่รู้แน่ว่าโสดเหมือนตนและต้องบรรลุนิติภาวะหรือมีผู้ปกครองให้การอนุญาตอิสระในพฤติกรรมทางเพศเหมือนตนเท่านั้น)
ไม่พูดปด(แต่มีการพูดเล่นได้ นินทาคนชั่วได้ ถ้าถูกละเมิดก่อนก็ด่ากลับได้ตามสมควร บ่นหยาบได้แต่ไม่ไปทำให้ใครรู้สึกทุกข์ใจด้วยการด่ากราดสาดเสียประณามหยามเหยียดเขาก่อน ไม่พูดตะแบง ไม่พูดเลี่ยงบาลี ไม่พูดเพ้อเจ้อหลอกล่อยุยงให้คนบาดหมาง ไม่โกหกคนเพราะหวังผลเสียเปรียบได้เปรียบ) และแน่นอน ศรัทธานุสารีและธัมมานุสารีจะเว้นขาดไม่ดื่มน้ำเมาทุกชนิดในโลกเลยแม้เพียงหยดเดียว เพราะกัลยาณปุถุชนทั้งสองกลุ่มนี้ ยึดถือว่า สิ่งใดก็ตามที่ทำลายสติและศรัทธา ทำลายการภาวนาโดยตรง พวกเขาจะไม่แตะ (ตรงนี้จะเหมือนโสดาบันมากๆ))
ทั้งนี้นี่เป็นเพียงสมมติศัพท์ที่ใช้ถ่ายทอดเท่านั้น เราควรปฏิบัติเพื่อให้รู้ด้วยตัวเอง
ข้อดีของศรัทธานุสารีคือ เขาจะมีชาติหน้าเป็นธรรมานุสารี หรือไม่ก็ได้เป็นธรรมานุสารีในชาตินี้ หรือไม่ก็ได้เป็นธรรมานุสารีก่อนตาย แล้วพอตายไปก็จะได้ไปฟังธรรมในสุคติโลกสวรรค์จากการเทศนาธรรมแห่งเพื่อนเทวดาจนบรรลุเป็นพระอริยบุคคลในชั้นนั้น กล่าวคือ เขาสามารถปิดอบายภูมิได้โดยอ้อม ส่วนธัมมานุสารี จะสามารถพิสูจน์ได้ว่าทุกอย่างล้วนไม่เที่ยงแล้ว ตื่นรู้ความจริงของธรรมชาติระดับเดิมแท้แล้ว ทำให้เขาสามารถเป็นพระโสดาบันได้ในชาตินี้ หรือไม่ก็เป็นโสดาบันได้เลยในขณะกระทำกาละ คือ ช่วงสุดท้ายของลมหายใจ สรุปก็คือ...
ทั้งศรัทธานุสารีและธัมมานุสารีล้วนเป็นกัลยาณบุคคล หรือ กัลยาณปุถุชนที่มีศักดิ์ใกล้เคียงพระโสดาบัน และสามารถรับประกันตัวเองว่าปิดอบายภูมิได้แล้ว แม้จะเกิดอีกมากกว่าเจ็ดชาติ แต่ย่อมไม่มากจนเกินไป และทุกชาติจะเกิดในภูมิมนุษย์บ้าง เทวดาบ้าง สลับกันไป ไม่มีวันเกิดในทุคติอีก พระตถาคตถึงกับทรงยกย่องบุคคลสองประเภทนี้ว่า ศรัทธานุสารีและธัมมานุสารีเทียบได้กับพระอริยบุคคลจำพวกหนึ่งที่อินทรีย์อ่อนแต่ก็มีวินัยมากพอนั่นเอง
แอดมินอันตราปรินิพพายี แห่งเพจเฟ๊ซบุ๊คธรรมะแฟนตาซี
โฆษณา