2 ก.ย. 2024 เวลา 04:07 • ข่าวรอบโลก

สมรภูมิเคิร์สก์: ศึกสำคัญ(?) ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ในประวัติศาสตร์การสงคราม สมรภูมิเคิร์สก์ในปี 1943 ระหว่างนาซีเยอรมนีกับสหภาพโซเวียต ถือเป็นสมรภูมิที่มีชื่อเสียงมากในแนวรบด้านตะวันออกของสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยขึ้นชื่อว่าเป็นยุทธการขนาดใหญ่สุดและมีรถถังเข้าร่วมรบด้วยมากที่สุดในประวัติศาสตร์
สมรภูมิเคิร์สก์ในปี 1943
ผ่านมาอีกหลายสิบปี ในปี 2024 กองทัพยูเครนเปิดฉากบุกเข้าไปในมณฑลเคิร์สก์ของรัสเซีย ซ้ำรอยสถานที่เดียวกับอดีตสมรภูมิชี้ชะตานี้
สื่อมองปฏิบัติการของยูเครนในครั้งนี้แตกต่างกัน บ้างก็บอกว่ายูเครนกำลังทำให้ปูตินขายหน้าครั้งใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันบ้างก็บอกว่าการบุกของยูเครนไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไรกันแน่ และไม่น่ามีผลอะไรต่อสงครามขนาดนั้น
…ว่าแต่เรารู้อะไรเกี่ยวกับสมรภูมิเคิร์สก์แห่งปี 2024 แล้วบ้าง? มาอ่านได้ที่นี่เลยครับ…
ป้ายบอกทางไปเมืองเคิร์สก์
เกิดอะไรขึ้นบ้าง?
1. ก่อนอื่นเลยการ “บุกรัสเซีย” ตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนเริ่มต้นในปี 2022 เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ครั้งนั้นเป็นกลุ่มต่อต้านชาวรัสเซียที่ปฏิบัติการจากแผ่นดินยูเครนโดยทางการยูเครนอ้างได้ว่าไม่มีส่วนรู้เห็น ส่วนครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่กองทัพยูเครนมีส่วนโดยตรง
2. การบุกมณฑลเคิร์สก์ของรัสเซียเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2024 โดยมีประมาณการว่ามีทหารยูเครนเข้าร่วม 10,000-12,000 นาย พร้อมด้วยยานเกราะ ปืนใหญ่และโดรน ผลคือยูเครนสามารถครอบครองพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วถึง 1,000 ตร.กม. ในสัปดาห์แรก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัสเซียคาดไม่ถึงด้วยจึงมีการวางกำลังอย่างเบาบาง และแม้แต่ทหารเสนารักษ์หรือแพทย์สนามก็ยังไม่มี
พาหนะยูเครนผ่านชายแดนรัสเซีย-ยูเครน
3. เพียงแค่ช่วงแรกๆ ก็มีข่าวทหารเกณฑ์กับทหารชายแดนรัสเซียพากันมายอมจำนนหลายร้อยนาย สามารถยึดบางส่วนของท่อส่งแก๊สรัสเซียที่ส่งไปยังยูเครนได้ และเพียง 3 วัน หรือในวันที่ 9 ส.ค. ก็มีความเดือดในหมู่บล็อกเกอร์ทหารรัสเซียที่ประณามนายทหารฝ่ายตัวเองที่หย่อนสมรรถภาพจนพาทหาร 1 กองพันไปถูกจรวด HIMARS จากฝั่งยูเครน จนมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บกว่า 500 นาย!
4. ปฏิบัติการนี้ถือเป็นฝีมือสั่งการของนายพลโอเล็กซานเดอร์ ซีร์สกี (Oleksandr Syrskyi) ผบ. สูงสุดคนล่าสุดของยูเครนซึ่งมีการเปลี่ยนตัวเมื่อต้นปีนี้ และยังเป็นคนเดียวกับที่สั่งการการตีโต้ตอบที่คาร์คิฟเมื่อปี 2022 ที่ทำให้ได้พื้นที่กลับคืนมามากด้วย อย่างไรก็ตามเขาถูกวิจารณ์ว่าเอาชีวิตลูกน้องไปเสี่ยง จนได้ฉายาว่า “มือเชือด” (the Butcher)
5. ต่อมาวันที่ 15 ส.ค. ทางการยูเครนประกาศตั้งฝ่ายปกครองทหารขึ้นดูแลพื้นที่ยึดครอง ซึ่งมีภารกิจเบื้องต้นในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม อย่างไรก็ตามยูเครนยืนยันว่าไม่ได้ต้องการยึดครองพื้นที่อย่างถาวร
6. และล่าสุดมีตัวเลขว่ายูเครนอาจได้พื้นที่ในรัสเซียไปแล้ว 1,200 ตร.กม. ซึ่งถึงแม้จะช้าลงกว่าสัปดาห์แรกและไม่ค่อยมีผลมากนักเมื่อเทียบกับภาพรวมใหญ่ แต่ก็ยังถือว่าเยอะกว่าพื้นที่ที่รัสเซียตีได้ตลอดปี 2024 เสียอีก!
แผนที่การบุกมณฑลเคิร์สก์ของยูเครน
เป้าหมายของยูเครน
7. ประธานาธิบดีเซเลนสกีแห่งยูเครนเคยประกาศว่าเป้าหมายของปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการสร้างแนวกันชนเพื่อป้องกันการโจมตีข้ามชายแดนมาจากฝั่งรัสเซีย แต่จนถึงขณะนี้ก็มีการวิเคราะห์เป้าหมายที่แท้จริงออกไปหลายทาง เริ่มจากการเบี่ยงเบนความสนใจมาจากแนวรบด้านตะวันออกของประเทศที่รัสเซียเป็นฝ่ายเดินหน้าบุกมาหลายเดือน โดยนักข่าวบีบีซีประเมินว่าอาจมีทหารรัสเซีย 10-15% ถูกเคลื่อนออกจากทางดอนบัสมายังเคิร์สก์ แต่ทหารยูเครนบางคนยังบอกว่าสถานการณ์ที่แนวหน้ายังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่
เซเลนสกีเยี่ยมทหารที่ชายแดนยูเครน-รัสเซีย
8. ประเด็นที่สองคือข้อถกเถียงเรื่องการรับอาวุธและข้อจำกัดการใช้อาวุธที่ยูเครนได้รับจากชาติตะวันตก โดยก่อนหน้านี้ยูเครนออกมาส่งเสียงกระตุ้นพันธมิตรตลอดให้เพิ่มการสนับสนุนและปลดข้อจำกัดในการใช้อาวุธตะวันตกโจมตีลึกเข้าไปในแผ่นดินรัสเซีย ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นนี้เป็นการลบการสบประมาทว่าการให้ความสนับสนุนยูเครนต่อไปไม่มีประโยชน์เพราะไม่เห็นทางชนะ
รวมถึงความไม่แน่นอนของการสนับสนุนจากสหรัฐในกรณีทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปีนี้ ส่วนเรื่องการใช้อาวุธพิสัยไกลโจมตีรัสเซียนั้น เซเลนสกีก็ออกมาระบุอีกว่า “ถ้าอนุญาตให้ใช้ตั้งแต่แรก ยูเครนก็ไม่ต้องบุกรัสเซียตรงๆ แบบนี้หรอก”
9. ประเด็นที่สามคือเรื่องขวัญกำลังใจ แน่นอนว่าปฏิบัติการนี้ทำให้ฝ่ายยูเครนมีใจฮึกเหิมยิ่งขึ้นหลังเป็นฝ่ายบุกสวนรัสเซียไปบ้าง ถึงกับมีทหารยูเครนลั่นว่าจะบุกไปถึงเครมลินในกรุงมอสโกเลยทีเดียว ในขณะเดียวกันขวัญกำลังใจของประชาชนรัสเซียโดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนได้รับผลกระทบหนัก ขณะนี้มีการอพยพประชาชนรัสเซียจากพื้นที่สู้รบแล้วกว่า 2 แสนคน ซึ่งปูตินสัญญาว่าจะมีเงินชดเชยให้ แต่ประชาชนรัสเซียไม่น้อยก็รู้สึกว่าตัวเองถูกทอดทิ้งจากรัฐบาล
เชลยศึกรัสเซียที่ยูเครนจับได้
10. และประเด็นที่สี่คือเรื่องแต้มต่อในการเจรจา ซึ่งคาดว่าประโยชน์ที่ยูเครนจะได้รับจากปฏิบัติการนี้อาจมีตั้งแต่การสร้างแต้มต่อในการแลกเปลี่ยนเชลยศึก ไปจนถึงการเพิ่มแรงกดดันต่อสังคมรัสเซียให้ทางการรัสเซียต้องยอมเจรจา ถึงแม้ล่าสุดปูตินจะออกมายืนยันว่าจะไม่มีการเจรจาใดๆ โดยเฉพาะหลังแผ่นดินรัสเซียถูกบุกดังกล่าว แต่ถือได้ว่านี้คือการพลิกสถานการณ์หลังจากรัสเซียดูเป็นฝ่ายได้เปรียบฝ่ายเดียวเพราะเดินหน้าบุกได้อย่างต่อเนื่องในช่วงหลัง
สถานการณ์ใหญ่สงครามรัสเซีย-ยูเครน
ผลกระทบเป็นอย่างไร?
11. ผลกระทบที่เห็นได้ชัดๆ เรื่องแรกของการบุกมณฑลเคิร์สก์ของยูเครนในครั้งนี้คือนี่นับเป็นครั้งแรกที่มีทหารต่างชาติบนแผ่นดินรัสเซียนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และนับเป็นการหักหน้าปูตินอย่างร้ายแรงที่เคยขู่ยูเครนกับชาติตะวันตกหากบุกข้ามชายแดนเข้าไปในรัสเซีย จนกลัวกันว่าปูตินอาจงัดอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาใช้
1
รูปปั้นเลนินได้รับความเสียหาย
12. เรื่องน่าสนใจหลังจากการบุกมณฑลเคิร์สก์ของยูเครนคือปฏิกิริยาที่เงียบนิ่งของทางการรัสเซียเป็นเวลาหลายวัน ก่อนที่ปูตินจะออกแถลงการณ์ ต่อมามีข่าวว่าฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียได้รับโจทย์มาว่าต้องทำให้ชาวรัสเซียชินชากับสถานการณ์เหมือนกับเป็น “นิวนอร์มอล” และทางการรัสเซียจะช่วงชิงดินแดนกลับคืนมาได้ในที่สุด แต่ต้องอดใจรอหน่อย
13. สิ่งที่เกิดขึ้นกับปูตินในเวลานี้อาจเรียกได้ว่าเป็น “การเสื่อมบารมี” โดยปูตินอ้างตนเป็นผู้ปกป้องชาวรัสเซีย (ชูประเด็นนี้หาเสียงทุกครั้ง) แต่ในช่วงหลังมีเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนภาพลักษณ์ของปูตินหลายเรื่องนับตั้งแต่กบฏวากเนอร์ เหตุก่อการร้ายในกรุงมอสโกเมื่อต้นปี และล่าสุดคือแผ่นดินรัสเซียถูกทหารต่างชาติบุกอีก มีผลโพลออกมาว่าประชาชนรัสเซียมองรัฐบาลในแง่ลบเพิ่มสูงถึงประมาณ 25% ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับกบฏวากเนอร์
วลาดีมีร์ ปูติน
14. นอกจากนี้ในฐานะพี่ใหญ่ของพันธมิตรทางทหารอย่าง CSTO ที่ถูกมองว่าเป็น “นาโต้ฝั่งรัสเซีย” การที่ชาติระดับรัสเซียถูกโจมตีน่าจะเรียกการสนับสนุนจากชาติในเครือข่ายมาร่วมรบได้ตามหลักการป้องกันร่วมกัน แต่ผ่านมาหลายสัปดาห์แล้วชาติต่างๆ กลับไม่ได้ส่งทหารมาช่วยเลย แม้แต่แถลงการณ์ประณามยูเครนหรือเข้าข้างรัสเซียยังไม่มี!
จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป?
15. ถึงแม้ข่าวที่ออกมาเกี่ยวกับการบุกมณฑลเคิร์สก์ของยูเครนจะเป็นข่าวที่ออกมาสนับสนุนยูเครนเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อถอยออกมามองในภาพรวมจะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่าปฏิบัติการของยูเครนในครั้งนี้แทบไม่ได้มีผลต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนมากขนาดนั้น ยิ่งมองดูเป้าหมายของยูเครนแต่ละข้อที่วิเคราะห์มาแล้วทั้งหมดก็ต้องใช้เวลาดูกันไปยาวๆ ทั้งสิ้น
16. สิ่งน่าสังเกตอย่างหนึ่งคือถึงแม้ยูเครนจะบุกข้ามเขตแดนรัสเซียเข้าไปได้อย่างรวดเร็วในช่วงแรก แต่ช่วงหลังๆ ดูเหมือนจะช้าลง มันก็เป็นสิ่งบ่งบอกที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่ายูเครนไม่ได้มีกำลังคนและยุทโธปกรณ์มากพอที่จะตีได้พื้นที่มากๆ และรักษาพื้นที่นั้นไว้ได้เหมือนกับรัสเซียที่ถึงแม้จะติดขัดด้วยเหตุผลทางการเมือง แต่จริงๆ ยังสามารถเรียกระดมพลได้ รวมทั้งการผลิตยุทโธปกรณ์ก็ยังคงเดินหน้าต่อไปด้วยการอัดฉีดเงินอย่างหนักของทางการรัสเซีย
17. สถานการณ์ฝั่งเคิร์สก์อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามเหตุการณ์ในอนาคต หากรัสเซียยังคงเดินหน้าบุกต่อในฝั่งดอนบัสโดยที่แนวรบฝั่งเคิร์สก์ไม่ขยับ สุดท้ายยูเครนก็อาจจะต้องทิ้งพื้นที่และนำกำลังไปอุดที่แนวรบตามเดิม หรือถ้าหากยูเครนสามารถดึงทหารรัสเซียจากจุดอื่นมาไว้ที่เคิร์สก์หรือยูเครนยังเป็นฝ่ายเดินหน้าได้ก็อาจจะอยู่พร่ากำลังที่แนวรบด้านนี้ต่อ …ทั้งหมดคงต้องขึ้นอยู่กับฝีมือของทหารหาญแห่งยูเครนว่าจะยืนหยัดต่อสู้กับศัตรูที่มีจำนวนเหนือกว่าได้หรือไม่?
…สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนออกมาประมาณนี้ ท่านล่ะมองว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป…
#TWCNews #TWCUkraine #TWCRussia #รัสเซีย #ยูเครน #สงครามรัสเซียยูเครน
Written by #TWC_Cheeze
โฆษณา