2 ก.ย. เวลา 03:58 • ความคิดเห็น

อย่า Sink เพราะ Sunk Cost

การตัดสินใจที่ดีที่สุดของภรรยาผมที่เขาพูดถึงบ่อยๆในช่วงโควิดก็คือการตัดสินใจปิดออฟฟิศ คืนพื้นที่ที่เพิ่งใช้เงินเป็นล้านแต่งเสร็จก่อนโควิดจะมา ในตอนแรกภรรยาผมก็จะพยายามยื้อเพราะเสียดายค่าตกแต่ง
3
ตอนที่คุยกัน ผมก็อธิบายถึงคำว่า sunk cost ประกอบว่า การตัดสินใจปิดหรือไม่ปิดออฟฟิศแล้วทำงานจากบ้านแทนนั้น จะต้องไม่นับค่าแต่งพื้นที่เป็นล้านเอาไปคิดเพราะมันเกิดไปแล้ว และก็ไม่มีค่าอะไร ขายใครก็ขายไม่ได้ เวลาคืนพื้นที่เขาก็ทุบทิ้งอยู่ดี ให้ดูแต่ค่าใช้จ่าย ค่าเช่าอนาคตมากกว่า
พอเขาสามารถกดอารมณ์ไม่ให้เสียดายค่าตกแต่งที่ยังไงก็ไม่หวนคืนได้ ยกเลิกการเช่า ประหยัดไปอีกสองปีกว่าโควิดจะหาย พอจบแล้วมองย้อนกลับไปกลับกลายเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องทางการเงินมากๆ
1
Sunk cost ในความหมายง่ายๆ แบบชาวบ้านก็คือ ค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปแล้วและไม่มีทางได้กลับมา ซึ่งในนั้นบ่อยครั้งปนความเสียดาย และความคิดว่ามันยังมีมูลค่าอยู่ ทำให้คนเราตัดสินใจผิดพลาดเรื่องอนาคตจากการลงทุนในอดีตอยู่บ่อยครั้ง ตัวอย่างที่ชัดๆเวลาอธิบายเรื่องนี้ก็คือ สั่งอาหารแพงๆมาแล้วไม่อร่อยแต่ต้องฝืนกินจนหมดเพราะเสียดายค่าอาหารที่จ่ายไปแล้ว เลยจบแบบทั้งเสียตังค์และต้องฝืนกินอาหารไม่อร่อยจนจุก แทนที่จะไปหาอะไรอร่อยๆกินแทน
3
อีกตัวอย่างที่เข้าใจง่ายก็คือเราซื้อบัตรคอนเสิร์ตราคาแพงมาแล้ววันนั้นเป็นไข้หนัก แต่ต้องฝืนเอาตัวเองไปดูเพราะเสียดายตัง ดูไปทรมานไปไข้ทรุดอีก ก็แทนที่จะเสียตังค์แต่เพียงอย่างเดียวกลับเสียสุขภาพเพิ่มไปอีก ทั้งๆ ที่ถ้าเข้าใจเรื่อง sunk cost ก็จะเสียแค่ค่าตั๋วเท่านั้น
1
ที่ผมเขียนเรื่องนี้ก็เพราะวันก่อนได้คุยกับน้องสนิทคนหนึ่งที่ทุ่มเงินทองไปเขียนโปรแกรมซอฟท์แวร์ ตอนนี้ได้ครึ่งๆกลางๆ แต่เงินตัวเองหมดจนถ้าไปต่ออาจจะต้องจำนองบ้านไปลง ผมเลยพยายามอธิบายเรื่อง sunk cost ก่อนตัดสินใจจะลงเงินต่อว่าอย่าเสียดายเวลาและเงินที่ลงไปพัฒนาซอฟท์แวร์ก่อนหน้า เพราะมันจ่ายไปแล้ว และซอฟท์แวร์มันก็พัฒนาแค่ครึ่งทาง ขายก็ไม่มีใครเอา ต้องคิดถึงเงินที่เหลือ ความเสี่ยงของครอบครัว และโอกาสสำเร็จของการจำนองบ้านมาลงกับซอฟท์แวร์นี้ต่อกับทางเลือกในการใช้เงินที่มีอยู่มากกว่า
แต่แน่นอนว่าไม่ง่ายนักเพราะความผูกพัน ความเสียดายเวลาและเงินทองที่ใส่ลงไป ทำให้การตัดสินใจแบบนี้ไม่ใสกระจ่างตามเหตุตามผลนัก
Sunk cost fallacy นี้เกิดได้กับคนทุกคน ความหน้าบางไม่กล้าทำอะไรใหม่ๆเพราะเคยมีชื่อเสียง มีตำแหน่งใหญ่โตมาก่อน ไปดูหนังได้ครึ่งเรื่องแล้วห่วยมากแต่ไม่ลุกออก ทนดูจนจบเพราะเสียดายค่าตั๋ว เล่นพนันแบบไม่ยอมเลิกเพราะเสียดายเงินที่เสียไป หุ้นติดดอยหมดอนาคตไปแล้วแต่ยังทู่ซี้ถือเพราะเสียดายเงินที่ซื้อไปตอนแรก ยอมตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่เลวร้ายเพราะเสียดายเวลาที่คบกันมานาน หรือ โรงงานที่ไร้ประสิทธิภาพแต่เนื่องจากลงเงินไปเยอะ ก็ต้องลุยต่อจนหมดตัว
สายการบินคอนคอร์ดก็เป็นตัวอย่างที่ทางฝรั่งชอบยกมาเวลาพูดถึง sunk cost เพราะเป็นการลงทุนระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับฝรั่งเศส ตอนพัฒนาใส่เงินไปมากและพอให้บริการจริงก็ขาดทุนแต่ไม่กล้าเลิกเพราะลงทุนไปเยอะ ก็ทู่ซี้ลากจนขาดทุนมหาศาลจนมาเลิกเอาในปี 2003 ซึ่งควรจะเลิกก่อนนั้นนานแล้วเป็นต้น คล้ายๆ กับเรื่องออฟฟิศภรรยาผมแต่คนละสเกลกัน
แล้วจะหาทางเอา sunk cost ออกจากสมการการตัดสินใจได้อย่างไร อย่างแรกก็ต้องเข้าใจและสามารถแยกแยะว่าอะไรเป็น sunk cost ได้ก่อน ซึ่งก็คือค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปแล้วและหวนคืนมาไม่ได้
ต่อมาก็คือการพยายามมองแต่อนาคตที่จะเกิดขึ้นเป็นหลักเวลาตัดสินใจ หลายครั้งไปปรึกษาเพื่อนหรือผู้ใหญ่ที่เราเคารพที่มองมาจากข้างนอกก็ช่วยได้มาก เพราะเขาไม่ได้มีอารมณ์ยึดติดเหมือนเรากับ sunk cost พยายามหา framework ต่างๆเช่นพวก cost benefit analysis ก็ช่วยมาก ว่าถ้าดันทุรังทำต่อ จะเสียอะไรเพิ่มบ้าง จะได้อะไรเพิ่มบ้าง โดยไม่เอา sunk cost มารวมด้วย
แต่ที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆก็คือต้องหยุดคิดและทบทวนว่า sunk cost คืออะไรให้เห็นชัดๆ อย่างน้อยก็พอรู้ว่าอะไรจมหายไปแล้วงมไม่ได้ อะไรยังอยู่ในมือ แล้วเพ่งมันเรื่อยๆ ก็พอจะช่วยเรียกสติคืนมาได้ประมาณหนึ่ง
1
ส่วนเรื่องเล็กๆ นั้น ความเข้าใจเรื่อง sunk cost นั้นช่วยมากในการที่จะไม่ต้องทนดูหนังที่ไม่สนุกเพราะเสียดายค่าตั๋ว ไม่ทนกินอาหารที่ไม่อร่อยเพราะเสียดายค่าอาหารที่จ่ายไปแล้ว ไม่ต้องทนป่วยเดินทางเพราะเสียดายค่าทัวร์ หรือไม่ต้องทนกับคนห่วยๆเพราะคบกันมานาน ฯลฯ
4
อะไรเสียไปแล้วจ่ายไปแล้วก็ช่างมัน อะไรที่งมไม่ได้ก็อย่าจมไปกับมันเลยครับ…
4
โฆษณา