2 ก.ย. 2024 เวลา 10:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ตำนาน 250 ปี “Birkenstock” ช่างทำรองเท้าในชนบท สู่รองเท้าแตะระดับโลก

ย้อนตำนานรองเท้าแตะ “Birkenstock” เริ่มต้นจากครอบครัวช่างทำรองเท้าในชนบท ผู้ปฏิรูปการทำรองเท้าเพื่อสุขภาพ จนสุดท้ายกลายเป็นรองเท้าแตะระดับโลก
สำหรับหลายคน รองเท้าที่ดีต้องสวมใส่แล้วรู้สึกสบาย และจะเพอร์เฟกต์ยิ่งขึ้นหากมีรูปลักษณ์หรือการออกแบบที่ดูดีมีสไตล์ด้วย
หากจะหารองเท้าที่ครบเครื่องตอบทุกโจทย์แบบนั้น อาจต้องนึกถึง “Birkenstock” (เบอร์เคนสต็อก) แบรนด์รองเท้าสัญชาติเยอรมันที่มีชื่อเสียงจาก “ความสบายแบบมีสไตล์” การันตีด้วยองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นต่อเนื่องหลายร้อยปี
ทุกคนอ่านไม่ผิด Birkenstock มีประวัติศาสตร์ที่ย้อนไปได้ถึงหลักร้อยปี โดยเพิ่งมีอายุครบรอบ 250 ปีในปี 2024 นี้เอง
Birkenstock แบรนด์รองเท้าสัญชาติเยอรมัน
ตระกูลช่างทำรองเท้าเก่าแก่
ความจริงแล้วเชื่อกันว่าตระกูลเบอร์เคนสต็อกมีประวัติศาสตร์ยาวนานมากกว่า 250 ปีเสียอีก แต่หลักฐานแรกสุดที่พบคือเอกสารบันทึกของโบสถ์ในหมู่บ้านแลงเกิน-แบร์กไฮม์ (Langen-Bergheim) หมู่บ้านเล็ก ๆ ในรัฐเฮสเซินของเยอรมนี ใกล้กับนครแฟรงก์เฟิร์ต ซึ่งมีการระบุถึงชื่อของ “โยฮันส์ เบอร์เคนสต็อก” ช่างทำรองเท้าประจำหมู่บ้าน
อาชีพช่างทำรองเท้าถือว่ามีความสำคัญมากในสังคมเยอรมันในอดีต เนื่องจากผู้คนที่อาศัยอยู่ในชนบทของเยอรมนีส่วนใหญ่มักยากจนและสามารถซื้อรองเท้าได้เพียงคู่เดียวเท่านั้น ซึ่งจะต้องใช้งานได้จริงและทนทาน
รองเท้าคู่เดิม ๆ นี้จะได้รับการซ่อมแซมโดยช่างทำรองเท้าในหมู่บ้านตลอดหลายปี และบางครั้งอาจกลายเป็นมรดกที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นเลยทีเดียว
ตระกูลเบอร์เคนสต็อกเองใช้ชีวิตเรียบง่ายตามประสาช่างฝีมือในชนบท ทำรองเท้าด้วยมือตั้งแต่ต้นจนจบ โดยสร้างรายได้แค่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพเท่านั้น
เอกสารจากโบสถ์ที่กล่าวถึงครอบครัว Birkenstock
ปฏิรูปการทำรองเท้า
สมาชิกครอบครัวเบอร์เคนสต็อกหาเลี้ยงชีพเป็นช่างทำรองเท้าต่อมาเรื่อย ๆ จนกระทั่ง 120 ปีต่อมา ในปี 1896 “คอนราด เบอร์เคนสต็อก” เหลนชายของโยฮันส์ หรือนับเป็นรุ่นที่ 4 ของตระกูลเบอร์เคนสต็อก ได้ตัดสินใจออกจากชนบทไปเปิดร้านทำรองเท้าในกรุงแฟรงก์เฟิร์ต ซึ่งเป็นศูนย์กลางของงานฝีมือการทำรองเท้าในสมัยนั้น
คอนราดได้พยายามปฏิรูปการทำรองเท้า ด้วยการคิดค้น “รองเท้าเพื่อสุขภาพ” โดยออกแบบแม่พิมพ์รองเท้าที่มีรูปร่างเหมาะสมกับเท้าตามหลักกายวิภาค คือเป็นมิตรกับกระดูก ข้อ เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อของผู้สวมใส่
1 ปีต่อมา เขาประสบความสำเร็จในการพัฒนาแม่พิมพ์รองเท้าที่มีรูปทรงตามหลักกายวิภาคทั้งหมด โดยพื้นรองเท้าด้านนอก (sole) มีส่วนเว้าโค้ง ส้นรองเท้าโค้งมน และแยกความแตกต่างระหว่างเท้าซ้ายและขวา
แม่พิมพ์รองเท้าแบบใหม่ที่ คอนราด เบอร์เคนสต็อก คิดค้นขึ้น
คอนราดยังเปลี่ยนจากร้านทำรองเท้าเป็นบริษัท Konrad Birkenstock GmbH อย่างเป็นทางการในปีเดียวกันนั้น
จากนั้นในปี 1902 คอนราดทดลองผลิตแผ่นรองพื้นรองเท้าชั้นใน (insole) ที่มีรูปร่างตามหลักกายวิภาคชิ้นแรก และยังมีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งเป็นคู่ที่สมบูรณ์แบบของแม่พิมพ์รองเท้าที่มีรูปร่างตามหลักกายวิภาค
แผ่นรองพื้นรองเท้าที่ คอนราด เบอร์เคนสต็อก คิดค้นขึ้น
เมื่อรวมสององค์ประกอบนี้เข้าด้วยกัน คอนราดจึงได้รองเท้าเพื่อสุขภาพชิ้นแรกของ Konrad Birkenstock อย่างเป็นทางการ
เดิมทีแผ่นรองพื้นรองเท้าชั้นในเพื่อรักษาหรือสมานเท้าที่ได้รับบาดเจ็บจะทำจากโลหะ นั่นเป็นเพราะมุมมองในยุคนั้นเชื่อว่า เท้าจะหายเจ็บหรือมั่นคงได้ก็ต่อเมื่อ “ถูกยึด” อยู่กับที่เท่านั้น แต่คอนราดคิดว่า แผ่นรองพื้นรองเท้าไม่ได้มีไว้สำหรับรักษาเท้าที่ได้รับบาดเจ็บหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยที่เท้าเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อสุขภาพเท้าโดยรวมด้วย
ความท้าทายคือ การรักษาการทำงานของฐานรองรับให้มั่นคงในขณะที่ทำให้แผ่นรองพื้นรองเท้ามีความยืดหยุ่น เป็นเวลากว่าทศวรรษที่คอนราดทดลองใช้หลากหลายวัสดุ จนสุดท้ายในปี 1913 เขาตัดสินใจใช้แผ่นรองพื้นรองเท้าที่ทำจากวัสดุหลายชนิดผสมกัน รวมถึงไม้ก๊อก และตั้งชื่อแผ่นรองพื้นรองเท้านั้นว่า “Footbed”
แม้จะประสบความสำเร็จในการคิดค้นรองเท้าเพื่อสุขภาพที่ถูกต้องตามหลักกายวิภาคที่เขาตั้งชื่อว่า “Birkenstock System” แต่ธุรกิจของคอนราดในช่วงแรกทำเงินได้ไม่มากนัก เพราะเขาโฟกัสการพัฒนารองเท้ามากเกินไปจนละเลยงานด้านการขายและการตลาด จนเกิดปัญหาทางการเงินและต้องย้ายร้านออกจากแฟรงก์เฟิร์ตไปที่ฟรีดแบร์ก (Friedberg) แทน
อย่างไรก็ตามในช่วงทศวรรษปี 1920 รองเท้าเพื่อสุขภาพของเขาเริ่มประสบความสำเร็จ หลังคอนราดและลูกชายคนโต “คาร์ล เบอร์เคนสต็อก” เดินสายเผยแพร่ข้อมูลวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพสำหรับอาการปวดเท้าและปัญหาในการเดิน โดยเดินทางไปทั่วเยอรมนี ข้ามไปสวิตเซอร์แลนด์และออสเตรีย เพื่อบรรยายให้เหล่าช่างทำรองเท้ารู้เกี่ยวกับประโยชน์ของ Birkenstock System
ความนิยมที่เพิ่มขึ้นทำให้คอนราดก่อตั้งโรงงานขนาดเล็กเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตรองเท้าเพื่อสุขภาพ และในปี 1925 เขาจดทะเบียน “Footbed” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัท Konrad Birkenstock GmbH
ช่วงเวลานี้ แผ่นรองพื้นรองเท้าของ Birkenstock ได้รับการยอมรับในวงกว้างมากขึ้นว่าเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเท้า และมีการส่งออกไปยังหลายสิบประเทศในยุโรป และแม้แต่ทหารเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังมาซื้อรองเท้าของพวกเขา เพื่อแก้ไขอาการบาดเจ็บจากการใส่รองเท้าทหารที่ไม่เป็นมิตรต่อสุขภาพเท่าไรนัก
นอกจากนี้ คาร์ลซึ่งได้รับความหลงใหลเกี่ยวกับการทำรองเท้ามาจากพ่อ ได้ตั้งคอร์สสอนช่างทำรองเท้าและผู้ขายรองเท้าถึงวิธีการทำ Birkenstock System โดยเรียนรู้การปรับแต่งพื้นรองเท้าให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละราย โดยกำหนดว่า Birkenstock จะขายรองเท้าให้เฉพาะคนที่จบคอร์สนี้เท่านั้น
โลโก้ Birkenstock เกิดจากเคยเป็นรองเท้าเพื่อสุขภาพมาก่อน
ความสำเร็จที่ไม่ได้เกิดจากแฟชั่น
ในปี 1954 “คาร์ล” ลูกชายของคาร์ล ตัดสินใจเข้ามาช่วยธุรกิจของครอบครัว นับเป็นรุ่นที่ 6 เขาเป็นคนที่สนใจเทคโนโลยีและวัสดุใหม่ๆ อย่างมาก และเป็นเจ้าพ่อความคิดพอ ๆ กับคอนราดผู้เป็นปู่
คาร์ลเชื่อมั่นในเรื่องของการทำรองเท้าเพื่อสุขภาพที่ดีต่อการเดิน อย่างไรก็ตาม เขาพบวิธีแก้ปัญหาในคนละแบบกับคอนราด คาร์ลได้คิดค้นแผ่นรองพื้นรองเท้าแบบมาตรฐาน โดยใช้ค่าเฉลี่ยความยาวเท้าลูกค้าทั้งหมดที่วัดได้ เพื่อให้มีขนาดมาตรฐานเพียงขนาดเดียว และยังได้ให้กำเนิดแผ่นรองพื้นยาง-ไม้ก๊อกที่เป็นเอกลักษณ์ของ Birkenstock จนถึงปัจจุบัน
ในปี 1963 Birkenstock ได้เปิดตัวรองเท้าแตะ “Original Birkenstock-Footbed Sandal” โดยแผ่นรองพื้นรองเท้าเป็นยาง-ไม้ก๊อกแบบยืดหยุ่นมาตรฐาน และมีสายรัดแบบปรับได้ที่เรียบง่าย
รองเท้าแตะนี้เปิดตัวที่งานแสดงสินค้ารองเท้าในปี 1963 ในเมืองดุสเซลดอร์ฟ แต่ต้องเผชิญกับความล้มเหลว เพราะแฟชั่นรองเท้าในทศวรรษ 1960 ได้รับอิทธิพลจากอิตาลี ทำให้ความล้ำสมัยของรองเท้าแตะของคาร์ลไม่ได้รับการยอมรับ
เส้นทางสู่ความสำเร็จของ Birkenstock นั้นชัดเจนว่าไม่ได้มาจากแฟชั่น แม้ว่าคาร์ลจะบรรยายรองเท้าแตะของเขาว่าทันสมัยและเก๋ไก๋แค่ไหนก็ตาม แต่มาจากความสำเร็จที่เกิดขึ้นในแง่ของการดูแลสุขภาพต่างหาก
คาร์ลเปลี่ยนวิธีการ โดยไปเชิญชวนแพทย์มาเป็นพันธมิตรในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับรองเท้า เขาจัดทำโบรชัวร์ที่อธิบายอย่างละเอียดเกี่ยวกับการใช้งานของรองเท้าแตะ ไม่นานเขาก็ได้รับคำสั่งซื้อจากบุคลากรทางการแพทย์
นอกจากนี้ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทำให้ผู้คนมีเวลาว่างมากขึ้น และส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ที่บ้าน ผู้คนจึงมองเรื่องสะดวกสบายมากกว่าสไตล์สำหรับรองเท้าสำหรับใส่ในบ้าน และหันมาเลือก Birkenstock กันมากขึ้นแทน
Birkenstock เริ่มข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังสหรัฐฯ หลังนักท่องเที่ยวจากฟรานซิสโกที่ชื่อ มาร์โกต์ เฟรเซอร์ เดินทางมาเยอรมนีในปี 1966 เธอได้ค้นหารองเท้าที่จะช่วยให้เท้าของเธอผ่อนคลายขณะเที่ยวอยู่ที่นี่ และซื้อ Birkenstock ไป
เธอได้นำรองเท้าแตะกลับไปด้วย และเห็นโอกาสว่า รองเท้าแบรนด์นี้น่าจะสามารถประสบความสำเร็จในสหรัฐฯ ได้ เฟรเซอร์รีบซื้อสิทธิ์ในการนำเข้าเพื่อขายรองเท้า Birkenstock
ในช่วงแรก ร้านขายรองเท้าในท้องถิ่นไม่สนใจ แต่เฟรเซอร์ไม่ยอมแพ้ และเริ่มขายรองเท้าแตะในร้านขายอาหารเพื่อสุขภาพ กลายเป็นรากฐานแรกของ Birkenstock ในสหรัฐฯ
เมื่อเข้าสู่สหรัฐฯ รองเท้าแตะ Original Birkenstock-Footbed Sandal ได้รับความนิยมจากกลุ่มวัฒนธรรมย่อยต่าง ๆ โดยเฉพาะพวกฮิปปี้ ซึ่งมองว่า Birkenstock เป็นรองเท้าแตะที่แหกกฎเกณฑ์และขนบความนิยม ต่อมารองเท้าแตะรุ่นนี้จึงได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นรองเท้าแตะ “มาดริด” (Madrid) ในปี 1979
Birkenstock Madrid
รองเท้าแตะไอคอนิกหลายต่อหลายรุ่น
ความคิดสร้างสรรค์ของคาร์ลกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้เขาออกแบบสไตล์ใหม่ ๆ ที่ไม่ซ้ำใครในอีกไม่กี่ปีต่อมา
ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1964 ที่งาน Foot and Shoe Trade Fair ในเมืองฮัมบูร์ก เขาได้เปิดตัวรองเท้าแบบปิดนิ้วเท้า ซึ่งต่อมากลายเป็นที่รู้จักในชื่อ “ซูริก” (Zurich) รองเท้าแตะรุ่นนี้มีส่วนบนที่กว้าง มีให้เลือกทั้งแบบหนังกลางแจ้งและขนสัตว์สำหรับใส่ในบ้าน
หลังจากนั้นในปลายปี 1973 ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของ Birkenstock เพราะมีการเปิดตัว “แอริโซนา” (Arizona) รองเท้าแตะที่ต่อยอดมาจาดรุ่นซูริก โดยคงรูปลักษณ์เดิมไว้ แต่เปลือยนิ้วเท้า
ตลอด 50 กว่าปีที่ผ่านมา มีการออกแบบรองเท้าแอริโซนารุ่นต่าง ๆ หลายร้อยแบบและขายได้หลายล้านคู่ ทำให้รุ่นไอคอนิกนี้กลายเป็นสินค้าขายดีที่สุดของ Birkenstock
ดีไซน์นี้เคยปรากฎอยู่ในนิตยสารแฟชั่นชื่อดัง รวมถึงบนเท้าของคนดังระดับโลกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น สตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิล ซึ่งเป็นผู้นำเทรนด์ในช่วงทศวรรษ 1970 หรือดาราฮอลลีวูดชื่อดังอย่าง เลโอนาร์โด ดิคาปริโอ, จูเลีย โรเบิร์ตส์, ชาร์ลิซ เธอรอน ฯลฯ
Birkenstock Arizona
ปี 1976 Birkenstock เริ่มผลิตรองเท้าแตะไม้ก๊อก “บอสตัน” (Boston) โดยแทนที่จะมีน้ำหนักมากหรือแข็งเหมือนรองเท้าแตะไม้หลาย ๆ แบบในสมัยนั้น รองเท้าแตะบอสตันนั้นมีน้ำหนักเบาและยืดหยุ่นได้ กลายเป็นรองเท้าอีกแบบที่ทุกคนต้องหยิบมาใส่ทั้งในร่มและกลางแจ้ง ไปทำงานหรือไปพักผ่อน
ทั้งนี้ ผลงานของคาร์ลไม่ค่อยสอดคล้องกับกระแสแฟชั่นทั่วไป โดยเขาไม่เคยนำดีไซน์รองเท้าแตะแบบธรรมดา ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของเขามาปรับใช้กับเทรนด์แฟชั่นเลย
แต่เมื่อรองเท้าแตะแบบมีส้นเตี้ยเริ่มแพร่หลาย ในที่สุดคาร์ลก็มองเห็นว่า เขาสามารถสร้างสรรค์สิ่งพิเศษ ๆ อีกครั้งได้โดยการออกแบบสไตล์ใหม่
คาร์ลเห็นว่า รูปทรงรองเท้าแตะส้นเตี้ยไม่เข้ากันกับพื้นรองเท้าของ Birkenstock เขาจึงเริ่มหาทางออกแบบให้มันเข้ากันได้
หลังจากใช้เวลา 3 ปีในการปรับแต่งอย่างพิถีพิถัน ในที่สุดเขาสามารถออกแบบรองเท้าแตะส้นเตี้ยที่มีสไตล์แต่ยังคงคอนเซ็ปต์ดีต่อเท้าอยู่ นั่นคือ “กิเซห์” (Gizeh) ซึ่งวางขายในปี 1983 และประสบความสำเร็จอย่างมาก จนยังคงเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลกชันหลักในปัจจุบัน
เข้าสู่วงการแฟชั่น
ในช่วงทศวรรษ 1980-1990 Birkenstock ยังคงจำหน่ายรองเท้าแตะให้กับบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลัก แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เมื่อมีช่างภาพนำรองเท้ารุ่นแอริโซนาและบอสตันไปถ่ายภาพให้กับนิตยสาร British Elle และลงหน้าปกนิตยสาร The Face
ท้ายที่สุด รองเท้าแตะของ Birkenstock ได้ไปปรากฏบนพรมแดงและรันเวย์
โลกแฟชั่นเริ่มให้ความสนใจ Birkenstock อย่างเป็นทางการ ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น และทางแบรนด์ยังเริ่มเปิดโอกาสให้นักออกแบบแฟชั่นนำรองเท้าของพวกเขาไปต่อยอด จนประสบความสำเร็จหลายต่อหลายรุ่น
ปี 2019 Birkenstock เปิดตัวสตูดิโอ “1774” ขึ้นที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส มหานครแห่งแฟชั่น โดยเน้นการทำงานร่วมกับนักออกแบบที่มีชื่อเสียงและนักออกแบบหน้าใหม่ ทำให้แบรนด์กลายเป็นส่วนสำคัญของวงการแฟชั่นอย่างสมบูรณ์
Birkenstock แบรนด์รองเท้าแตะระดับโลก
จากธุรกิจครอบครัว สู่แบรนด์ระดับโลก
หลังจากทำหน้าที่ออกแบบและบริการ Birkenstock มานานหลายสิบปี คาร์ลตัดสินใจวางมือ และส่งต่อธุรกิจให้กับลูกชาย 3 คน
แต่ความเป็นธุรกิจครอบครัวของ Birkenstock สิ้นสุดลงในปีรุ่นที่ 7 นี้เอง หลังในปี 2012 ครอบครัวเบอร์เคนสต็อกตัดสินใจเปลี่ยนระบบการบริหาร โดยแต่งตั้งซีอีโอและคณะกรรมการขึ้นมาดูแลแทนระบบครอบครัวแบบเดิม โดยแต่งตั้งที่ปรึกษาอย่าง “มาร์คัส เบนส์แบร์ก” และ “โอลิเวอร์ ไรเชิร์ต” เป็นซีอีโอร่วม
นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 200 ปีของ Birkenstock ที่นำคนนอกมาบริหารงาน และดูจะเป็นทางที่ถูกต้อง เพราะวิธีการทำงานแบบใหม่นี้ส่งผลให้ยอดขายเติบโตอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
ในปี 2021 เบนส์แบร์กได้ลาออก ทำให้ไรเชิร์ตดำรงตำแหน่งซีอีโอเพียงคนเดียวของบริษัท
เมื่อปี 2023 Birkenstock ประกาศราคาเสนอขายหุ้นสามัญต่อสาธารณะ (IPO) ครั้งแรกจำนวน 32,258,064 หุ้น โดยเสนอขายหุ้นสามัญจำนวน 10,752,688 หุ้น และผู้ถือหุ้นขายหุ้นสามัญจำนวน 21,505,376 หุ้น เริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ต.ค. 2023 ใช้ชื่อว่า “BIRK”
มูลค่าหุ้น Birk โตขึ้นเกือบ 2 เท่าในเวลาไม่ถึง 2 ปี จากราว 36 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ่นในเดือน ต.ค. 2023 มาอยู่ที่ระดับ 62 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น ณ ปลายเดือน ส.ค. 2024
ด้านผลประกอบการของ Birkenstock ต้องเรียกว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ในปีงบประมาณล่าสุดซึ่งสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. 2023 ถือเป็นปีที่แบรนด์ประสบความสำเร็จสูงสุดในประวัติศาสตร์ 250 ปีหากพิจารณาจากรายได้
โดย Birkenstock ทำรายได้ถึง 1.49 พันล้านยูโร (ราว 5.6 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อนหน้า ส่วนกำไรสุทธิก่อนการปรับปรุงอยู่ที่ 75 ล้านยูโร (2.8 พันล้านบาท) ลดลงจาก 187 ล้านยูโร (7 พันล้านบาท) แต่กำไรที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 207 ล้านยูโร (7.8 พันล้านบาท)
การเดินทางของ Birkenstock นั้นต้องบอกว่ามาไกลมาก จากครอบครัวช่างทำรองเท้าในชนบทของเยอรมนี ทุกวันนี้กลับกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์รองเท้าที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก
เบื้องหลังความสำเร็จของ Birkenstock มาจากรากฐานความเชี่ยวชาญในการทำรองเท้าของตระกูลเบอร์เคนสต็อกที่ส่งต่อมาอย่างมั่นคง ประกอบกับความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างจากคู่แข่งในตลาด
และแม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน แต่หัวใจการออกแบบที่ยึดความสบายของผู้สวมใส่เป็นหลัก ทำให้ Birkenstock ยืนหยัดอยู่ในอุตสาหกรรมรองเท้าได้มั่นคง และได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเจ้าตลาดรองเท้าแตะที่ครองใจผู้ใช้ทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้
ประวัติธุรกิจ Birkenstock
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/231589
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา