2 ก.ย. เวลา 10:22 • ประวัติศาสตร์

สงครามอิหร่าน-อิสราเอลจะเกิดขึ้นจริงหรือ?

ช่วงเดือน เม.ย. ปีนี้ที่มีการโจมตีสถานกงสุลอิหร่านในซีเรีย แล้วอิหร่านตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธและใช้โดรนโจมตีอิสราเอล ส่วนอิสราเอลมีการยิงขีปนาวุธคืนใส่อิหร่านครั้งหนึ่งแต่ไม่ได้ยิงใส่เมือง
ช่วงปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ผู้นำฮามาสถูกสังหารในอิหร่าน ซึ่งคาดว่าเป็นฝีมืออิสราเอล เหตุนี้ถูกมองว่าเป็นการ “ยั่วยุ” อิหร่านอย่างมากเพราะเป็นการโจมตีแผ่นดินอิหร่านตรงๆ ครั้งแรก
อิสมาอิล ฮานิเยห์ หัวหน้าสูงสุดฝ่ายการเมืองของฮามาส
ก่อนหน้านี้มีการเตือนออกมาว่าอิหร่านจะโจมตีอิสราเอลกลับ แต่ดูเหมือนว่าเวลาผ่านไป 3 สัปดาห์ จะยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น โดยทางการอิหร่านประกาศว่า “ยังไม่รีบ”
มีการวิเคราะห์ออกมาเชิงว่าอิหร่านมีโอกาสตอบโต้ด้วยการสนับสนุนตัวแทนของตัวเองในการโจมตีใส่ทหารอเมริกันหรือใส่อิสราเอล หรือการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ของตัวเอง
เหตุการณ์เหล่านี้อาจทำให้หลายท่านตื่นตระหนกว่าอาจเกิดสงครามใหญ่ขึ้นมาในโลก แต่ว่ากันตามจริงอิหร่านกับอิสราเอลและสหรัฐล้วนมีความสัมพันธ์ย่ำแย่มานาน และมีการกระทำหลายอย่างที่อาจบานปลายเป็นสงครามได้ แต่เรื่องราวทั้งหมดก็ดูเหมือนจะจบลงไปแบบ “ต่างฝ่ายต่างแยกย้าย”
สถานการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางที่ผ่านมามีอะไรบ้าง? และพอจะทำให้เราสามารถทำนายเหตุการณ์ในอนาคตได้หรือไม่? มาติดตามในโพสต์นี้กันครับ
***ปฐมบทความขัดแย้ง***
1. เวลาเราพูดถึงความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตก ต้องนับไปถึงเหตุการณ์การปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 ซึ่งเปลี่ยนอิหร่านจากระบอบกษัตริย์มาเป็นสาธารณรัฐอิสลาม ซึ่งผู้นำอิหร่านยุคหลังจากนี้จะไม่ยอมรับอิสราเอลอย่างสิ้นเชิง บางคนถึงกับประกาศกร้าวว่าจะลบอิสราเอลออกจากแผนที่โลก
การปฏิวัติอิหร่านในปี 1979
2. ความขัดแย้งรอบแรกมาถึงไม่นานหลังการปฏิวัติ ในปี 1979 มีกลุ่มหัวรุนแรงในอิหร่านบุกเข้าสถานทูตสหรัฐในเตหะราน และจับทูตเป็นตัวประกันนานกว่า 444 วัน สหรัฐส่งทหารจะเข้าไปช่วยเหลือแต่ล้มเหลวกลับมา สุดท้ายจึงมีการเซ็นสัญญาตกลงผลประโยชน์เพื่อแลกกับการปล่อยตัวประกัน
เหตุการณ์บุกเข้าสถานทูตสหรัฐในเตหะราน
3. ในปี 1980 เกิด “สงครามอิรัก-อิหร่าน” เมื่อซัดดัม ฮุสเซนบุกโจมตีอิหร่านด้วยเหตุผลว่าต้องการยึดชัตอัลอาหรับและมองว่ารัฐบาลศาสนาอิหร่านเป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาลฆราวาสของตัวเอง อิสราเอลเป็นฝ่ายขายอาวุธที่ผลิตในสหรัฐบวกกับส่งที่ปรึกษาและช่างเทคนิคไปสนับสนุนอิหร่านเองด้วยซ้ำ ส่วนสหรัฐก็แอบขายอาวุธให้อิหร่านอย่างลับๆ ที่เรียกว่า “กรณีอิหร่าน-คอนทรา”
4. ในช่วงปลายสงครามอิรัก-อิหร่าน ปี 1988 มีเหตุการณ์ที่สหรัฐโจมตีแท่นขุดเจาะน้ำมันและเรือรบอิหร่านสืบเนื่องจากเหตุการณ์เรือรบสหรัฐถูกวางทุ่นระเบิดและโจมตีเรือขนส่งน้ำมันคูเวต เหตุการณ์นี้ถูกมองว่าเป็นปัจจัยกดดันให้อิหร่านต้องยอมหยุดยิงกับอิรักทั้งๆ ที่กำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบอยู่ในเวลานั้น
5. นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์สหรัฐยิงเครื่องบินโดยสาร “อิหร่านแอร์ เที่ยวบินที่ 655” ตกโดยมีพลเรือนเสียชีวิต 290 คน ทั้งสองเหตุการณ์นี้นับเป็นเรื่องร้ายแรง แต่ก็ไม่ได้บานปลายไปกว่านั้น (ซึ่งอาจมองได้ว่าสองเหตุการณ์นี้อิหร่านกำลังติดพันกับอิรักอยู่ ไม่สามารถตอบโต้สหรัฐได้มากนัก)
*** โลกยุคใหม่ กับภาพจำอิหร่าน ไม้เบื่อไม้เมาของอเมริกา-อิสราเอล ***
6. หลังจากสงครามเย็นยุติลง ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตกเริ่มกลายมาเป็นแบบปรปักษ์อย่างเปิดเผยมากขึ้น โดยอิหร่านถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ที่คอยทิ่มแทงอิสราเอลอยู่ตลอด และมีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้อิสราเอลลงมือด้วยการโจมตีเป้าหมายที่เป็นกลุ่มบริวารของอิหร่าน ทั้งฐานทัพ ขบวนรถและเรือขนส่งอาวุธ และฐานต่างๆ ไปจนถึงการปฏิบัติการลับในดินแดนอิหร่านที่มีการสังหารนักวิทยาศาสตร์ตลอดจนปล่อยไวรัสคอมพิวเตอร์ไปบ่อนทำลายโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน
7. ฝ่ายอิหร่านก็ตอบโต้อิสราเอลด้วยการลงมือโจมตีสถานทูตและลอบวางระเบิดที่มุ่งเป้าไปยังพลเมืองอิสราเอลในหลายประเทศ รวมทั้งไทยด้วย …ที่เล่ามาทั้งหมดไม่ใช่อะไรนะครับ สิ่งเหล่านี้จะใช้เป็นชนวนในการก่อสงครามก็คงได้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้บานปลายเลยสักรอบ
8. ในปี 2007 มีเหตุการณ์ที่สหรัฐบุกสถานกงสุลอิหร่านในเมืองเออร์บิล ประเทศอิรัก โดยทางการสหรัฐอ้างว่าเพราะอิหร่านใช้เป็นฐานทัพของเหล่าพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ที่อิหร่านส่งมาก่อการในอิรักอยู่เรื่อยๆ ขณะที่เคอร์ดิสถานและอิหร่านประณามเหตุดังกล่าว
9. มาถึงยุคโดนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี นับเป็นยุคที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิหร่านเสื่อมลงอีกรอบหลังมีการฟื้นฟูขึ้นระดับหนึ่งในยุคโอบามา เริ่มจากการสั่งถอนตัวออกจากความตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ตามมาด้วยการสั่งคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจอิหร่าน ตามมาด้วยความตึงเครียดในช่องแคบโอมานหลังจากเรือบรรทุกน้ำมันของชาติพันธมิตรสหรัฐได้รับความเสียหายหลายลำ แต่ก็ไม่ได้บานปลายกว่านั้น
10. ในช่วงปี 2019-2020 ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ ทั้งการยิงโดรน การยิงถล่มฐานทัพและสถานทูตสหรัฐในอิรัก แต่เหตุการณ์ที่พีคสุดคือการสังหารนายพล IRGC “กาเซม โซเลย์มานี” ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของอิหร่านและสั่งการบริวารอิหร่านในภูมิภาค
กาเซม โซเลย์มานี
11. เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้นำอิหร่านประกาศจะตอบโต้สหรัฐอย่างรุนแรง (และอ้างว่าสหรัฐส่งสาส์นมาขอให้อิหร่านตอบโต้แบบไม่หนักมือเกินไปด้วย) มีการยิงจรวดกว่าสิบลูกถล่มฐานทัพในอิรัก โดยมีเป้าหมายหนึ่งอยู่ในเมืองเออร์บิลด้วย ซึ่งคุณปั๊บ พงศ์ศรณ์ เจ้าของเพจ The Wild Chronicles ก็ได้อยู่ในเหตุการณ์และให้สัมภาษณ์สื่อไทยหลายสำนักด้วย
…สรุปว่าที่อิหร่านจะตอบโต้สหรัฐจนในช่วงนั้นคนก็กลัวกันว่าจะบานปลายเป็นสงครามนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือการยิงจรวดใส่เป้าหมายทางทหารของสหรัฐ ไม่ได้ขยายวงเพิ่ม
*** ความตึงเครียดในตะวันออกกลางช่วงหลัง ***
12. และความรุนแรงในรอบล่าสุดเกิดขึ้นเป็นผลพวงจาก “สงครามอิสราเอล-ฮามาส” โดยอิหร่านได้ยิงใส่เป้าหมายที่เป็นฐานทัพสหรัฐในตะวันออกกลางตั้งแต่เดือน พ.ย. 2023 อ้างว่าเป็นเพราะสหรัฐยังคงสนับสนุนการกระทำของอิสราเอลในฉนวนกาซา
13. ต่อมาในเดือน เม.ย. 2024 มีเหตุการณ์ความตึงเครียดใหญ่อีกครั้งเมื่ออิสราเอลโจมตีใส่สถานกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย เชื่อว่าเป้าหมายของการโจมตีดังกล่าวเพื่อสังหารนายพล IRGC คนสำคัญที่ร่วมมือกับกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ สื่อวิเคราะห์ว่านี่อาจเป็นครั้งแรกที่อิสราเอลโจมตีแผ่นดินอิหร่านตรงๆ (ไม่นับปฏิบัติการลับซึ่งสาวรอยได้ยาก)
*** จริงๆ แล้วอิหร่าน-อิสราเอลไม่ได้อยากทำสงคราม? ***
.
16. อย่างไรก็ตามสำหรับท่านที่อ่านมาจนถึงตรงนี้น่าจะเห็นภาพแล้วว่านอกจากสงครามอิรัก-อิหร่านแล้ว อิหร่านยังไม่เคยทำสงครามตรงๆ กับชาติอื่นเลย ส่วนที่ขู่ว่าจะตอบโต้สหรัฐหรืออิสราเอลแต่ละครั้งนั้น เอาเข้าจริงยังถือว่า “เบา” กว่าสิ่งที่สหรัฐหรืออิสราเอลเปิดฉากก่อนหลายครั้งด้วยซ้ำ
17. หลายคนกลัวกันว่าภูมิภาคตะวันออกกลางอาจเป็นสถานที่เกิดสงครามระหว่างมหาอำนาจรอบใหม่ และถึงแม้ในช่วงนี้จะมีสงครามใหญ่เกิดขึ้นติดๆ กันอย่างรัสเซีย-ยูเครนและอิสราเอล-ฮามาส แต่สงครามเหล่านี้เป็นสงครามกับประเทศหรือดินแดนที่อยู่ติดกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ตรงกับการวิเคราะห์ของเราที่มองว่าจริงๆ ศักยภาพทางการทหารของอิหร่านไม่ได้เข้มแข็งขนาดบุกประเทศอื่นได้ ยิ่งมีหลายประเทศอยู่กั้นระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านยิ่งทำให้ปัจจัยสำคัญในการทำสงครามอย่าง “ลอจิสติกส์” เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เข้าไปใหญ่ (สื่อหลายสำนักมองตรงกันว่าประเทศเดียวที่มีความพร้อมทำสงครามที่ไหนก็ได้บนโลกนี้มีสหรัฐชาติเดียว)
18. การยิงถล่มกันด้วยอาวุธร่อนหรือพิสัยไกลตอบโต้กันดูเหมือนน่ากลัวที่จะกลายเป็นสงคราม แต่สำหรับชาติตะวันออกกลางเขาเจอเรื่องแบบนี้มาเป็นประจำอยู่แล้ว ตอนที่อิสราเอลกับอิหร่านยิงตอบโต้กันไปในช่วงเดือน เม.ย. ปีนี้นั้นก็ไม่ได้ถือว่าทำสงครามกัน …แถมตอนที่ยิงตอบโต้กันทั้งสองก็เลือกยิงใส่ฐานทัพกับพื้นที่ว่างๆ ไม่ค่อยมีคน ไม่ได้ยิงใส่เมืองกัน เรียกได้ว่าไม่ได้กะเล่นงานให้มีคนเสียชีวิตเลย
1
19. โดยในทฤษฎีเกี่ยวกับความขัดแย้ง เวลาเกิดข้อพิพาทกันจะมีสิ่งที่เรียกว่า “การยกระดับ” (escalation) หรือเป็นการเพิ่มระดับความเข้มข้นในการคุกคามฝ่ายตรงข้ามเพื่อเป็นการกดดันอีกฝ่ายให้ยอมหรือหาสมัครพรรคพวกของตัวเอง คล้ายๆ กับเกมแข่งจ้องตาที่ใครหลบตาก่อนแพ้ อย่างไรก็ตามแต่ละประเทศก็ต้องดูดีๆ ไม่ปล่อยให้เลยเถิดกลายเป็นสงครามที่จะนำมาซึ่งความสูญเสียต่อทุกฝ่าย ซึ่งเท่าที่เห็นคือเวลามีการยกระดับความรุนแรงขึ้นแต่ละครั้งก็มีฝ่ายหนึ่งที่ยอมถอยให้ ที่เรียกว่า “การลดระดับความรุนแรง” (deescalation)
20. และอีกประเด็นคือเราไม่ควรลืมว่าประเทศเหล่านี้ต่างก็มีฐานเสียงที่เป็นพวกชาตินิยมที่มีใจรักชาติ และจะไม่ยอมหากชาติตัวเองเป็นฝ่ายถูกกระทำโดยไม่ตอบโต้อะไรซักอย่าง แถมยิ่งอิหร่านกับอิสราเอลเจอกับปัญหาเศรษฐกิจและสังคมภายในด้วยกันทั้งคู่ การมีศัตรูภายนอกจึงเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลจะหันเหความสนใจไปทางอื่น และการตอบโต้เหล่านี้เป็นการกู้หน้าและความนิยมกลับมาได้ในระดับหนึ่ง
21. กล่าวมาถึงจุดนี้ก็ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการลอบสังหารผู้นำฮามาสในอิหร่านที่เราเคยคาดว่าไม่น่าเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นนอกเหนือจากการยิงตอบโต้กัน แต่หลังจากผ่านไปกว่า 3 สัปดาห์แล้วอิหร่านกลับยังสงวนท่าทีอยู่
22. สำหรับปัจจัยที่เรามองว่าทำให้อิหร่านยังไม่ตอบโต้ในตอนนี้มีอยู่หลายประการ ตั้งแต่
1) เศรษฐกิจอิหร่านยังอ่อนแอจากการคว่ำบาตร
2) อิหร่านยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผู้นำใหม่ หลังผู้นำคนก่อนเสียชีวิตในเหตุ ฮ. ตก และผู้นำคนใหม่ยังถือว่าอยู่ในค่าย “ปฏิรูป” คืออยากกลับมาสานสัมพันธ์กับตะวันตกด้วยซ้ำ
และ 3) อิหร่านไม่ได้รับไฟเขียวจากรัสเซียกับจีนในการตอบโต้
“มาซูด เปเซชเคียน” ประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่
23. ในช่วงเดือน เม.ย. สำนักข่าวรอยเตอส์เคยวิเคราะห์ว่าอิหร่านอาจมีตัวเลือกในการตอบโต้อิสราเอลกับสหรัฐอยู่ 3 ทางคือ
1) สนับสนุนตัวแทนของตัวเองในการโจมตีทหารอเมริกันหรือแผ่นดินอิสราเอลโดยไม่ต้องออกหน้าเอง
2) โจมตีแผ่นดินอิสราเอลตรงๆ แบบครั้งก่อน
3) อาจพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ของตัวเองต่อ ซึ่งก็มีข่าวออกมาว่าอิหร่านกำลังพัฒนาอาวุธอย่างขมักเขม้นซึ่งทางการสหรัฐและอิสราเอลออกมาแสดงความกังวล แต่อิหร่านยังไม่ได้ใช้นิวเคลียร์ออกมาขู่ใดๆ ในช่วงนี้
24. เช่นเดียวกับอิสราเอลที่ถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติจากการปฏิบัติต่อพลเรือนชาวปาเลสไตน์ในช่วงสงครามกับฮามาส ถึงแม้ชาติพันธมิตรจะให้ความช่วยเหลืออิสราเอลหากถูกโจมตีตรงๆ แต่ก็ถูกเบรกอย่างแรงไม่ให้ยกระดับความขัดแย้งให้บานปลายไปมากกว่านี้
25. สิ่งสำคัญซึ่งเป็นที่น่าจับตาในตอนนี้คือ “ดีลหยุดยิงอิสราเอล-ฮามาส” ซึ่งดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังติดขัดในประเด็นว่าอิสราเอลต้องการคงกำลังทหารไว้ในบางพื้นที่ของฉนวนกาซาและตรวจอาวุธชาวกาซาที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งฮามาสระบุว่านี่เป็นข้อเรียกร้องใหม่ของอิสราเอลทั้งที่ฮามาสเคยตกลงไปแล้ว …เชื่อว่าอิหร่านยังไม่ดำเนินการใดๆ ในช่วงนี้เพื่อรอดูว่าดีลนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่
*** ความปลอดภัยในการเดินทางไปอิหร่าน ***
26. ทีนี้มาถึงคำถามเรื่องความปลอดภัยในอิหร่านและตะวันออกกลางกัน ถึงแม้จะมีสถานการณ์ความตึงเครียดแต่ก็มีตัวเลขออกมาว่าปีปฏิทินอิสลาม 2023-2024 มีชาวต่างประเทศเดินทางเข้าอิหร่านถึง 6 ล้านคน หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าอิสราเอลหลังจากสงครามเริ่มต้นเมื่อปีที่แล้วกว่า 6.4 แสนคน …สถานการณ์ต่างๆ ยังเป็นปกติ
สนามบินนานาชาติอิหม่ามโคมินิ
27. หากไล่เรียงสถิติจะพบว่าความถี่ของการเกิดการก่อการร้ายในอิหร่านนี้ไม่ได้ต่างจากในยุโรปมากนัก จะมีบางพื้นที่ของอิหร่านที่เป็นพื้นที่อันตรายจริงๆ โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนอิหร่านกับอิรัก (ทางตะวันตก) และที่ติดกับอัฟกานิสถานและปากีสถาน (ทางตะวันออก) ซึ่งมักไม่ใช่พื้นที่ท่องเที่ยวอยู่แล้ว
…ทั้งหมดนี้คือโพสต์สรุปประเด็นความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตก มาจนถึงความตึงเครียดครั้งล่าสุดที่คนกลัวกันว่าจะเกิดสงครามขึ้นนะครับ จะเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมีเหตุผลรองรับและไม่ได้ใกล้เคียงกับชนวนเกิดสงครามใหญ่อย่างที่หลายคนกลัวกันเลย เพราะจริงๆ แล้วสิ่งที่ทั้งรัฐบาลอิหร่านและอิสราเอลต้องการคือความอยู่รอดของตัวเอง ไม่ใช่การทำลายล้างอีกฝ่าย
#TWCNews #TWCIran TWC_Cheeze #การเมืองโลก #ตะวันออกลาง #อิหร่าน #อิสราเอล #ปาเลสไตน์ #กาซา #ฮามาส
โฆษณา