9 ก.ย. 2024 เวลา 10:45 • ปรัชญา

Paradox of tolerance: สังคมเสรีควรปฏิบัติต่อ “ความเห็นต่าง” อย่างไร?

ในช่วงหลังผู้ที่เรียกตัวเองว่า “เสรีนิยม” มักถูกกล่าวหาจากอุดมการณ์ฝั่งอนุรักษนิยมว่าไม่อดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่าง
“ถ้าเสรีจริง ทำไมถึงสนับสนุนแนวคิดแบบเผด็จการหรือสนับสนุนการใช้ความรุนแรงไม่ได้?”
“ถ้าเสรีจริง ทำไมถึงมีแนวคิดไม่สนับสนุนความเสมอภาค เช่น ประเทศนี้ควรเป็นประเทศของคนขาว คนมีอายุน้อยต้องเคารพผู้มีอายุมากเสมอ เพศชายต้องเป็นช้างเท้าหน้า ฯลฯ ไม่ได้?”
“ถ้าเสรีจริง ทำไมถึงต่อต้านผู้ลี้ภัย คนต่างด้าว และศาสนาบางศาสนาไม่ได้?”
“ถ้าเสรีจริง ทำไมถึงต่อต้านการกระทำและข้อเรียกร้องบางอย่างของ LGBTQ และ woke ไม่ได้?”
ก่อนจะปิดท้ายด้วยคำว่า “เผด็จการ” ถูกนำมาประณามผู้มีแนวคิดเสรีนิยมเพราะมองว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของตัวเองถูกปิดกั้น ทั้งที่แนวคิดเสรีนิยมควรเปิดกว้างรับความเห็นต่างทุกแบบ การปิดกั้นนี่มันตรงข้ามกับเสรีนิยมชัดๆ เลยมิใช่หรือ?
แต่จริงๆ ประเด็นว่าสังคมเสรี (หมายถึงประชาธิปไตยแบบชาติตะวันตก) ควรปฏิบัติต่อการไม่อดทนอดกลั้น (intolerance) อย่างไรเคยมีนักปรัชญาออกมาถกเถียงกันหลายครั้งแล้ว …ในโพสต์นี้เราจะมาติดตามดูข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องนี้กันครับ
***สังคมเสรีคืออะไร?***
1. ก่อนอื่นเรามานิยามคำว่า “สังคมเสรี” ที่กำลังกล่าวถึงนี้ก่อน ในที่นี้คำนี้จะหมายถึงประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมซึ่งเป็นรูปแบบประชาธิปไตยที่แพร่หลายจากตะวันตก ซึ่งมีแบบอย่างจากนครรัฐเอเธนส์จากยุคกรีกโบราณ ส่วนในยุคกลางนั้นมีแบบอย่างจากอังกฤษ (ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ) และสหรัฐ (ระบอบสาธารณรัฐ) …ส่วนบางประเทศนั้นแม้เป็น “ประชาธิปไตย” แต่ก็ไม่ได้เป็นแบบเสรีนิยม เช่น สิงคโปร์หรือรัสเซีย ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไม่เสรี (illiberal) หรือกึ่งประชาธิปไตย (semi-democracy)
2. ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมมีแนวคิดที่เน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพ การจำกัดอำนาจของรัฐบาล การคุ้มครองตามกฎหมาย ไปจนถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง …แน่นอนว่าเสรีภาพในการพูดและการแสดงออกย่อมได้รับการคุ้มครองในแนวคิดเช่นนี้ด้วย เพราะมองว่าการจำกัดเสรีภาพในการพูดและการแสดงออกเป็นเครื่องมือในการควบคุมคนของผู้มีอำนาจ และขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตย
3. ทั้งนี้ต้องเข้าใจอีกว่าคำว่า “เสรีนิยม” ไม่ใช่แนวคิดที่ส่งเสริมให้คนมีเสรีภาพอย่างไร้ขอบเขต หรือบอกว่ามนุษย์จะทำอะไรก็ได้โดยไม่มีข้อห้ามเลย เพราะแม้แต่แนวคิดที่สนับสนุนเสรีภาพมากที่สุดที่เคยมีบนโลกนี้อย่าง “ลัทธิอนาธิปไตย” (anarchism) ก็ไม่ได้ปฏิเสธการมีอยู่ของกฎเกณฑ์สังคมที่มาจากการตกลงร่วมกัน …คือสรุปว่าคนที่โจมตีแนวคิดไหนว่าสนับสนุนสิ่งนี้นั้นแค่ต้องการโจมตีเฉยๆ
4. แต่ทว่าในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะหลังจากมีโซเชียลมีเดียแล้ว การถกเถียงในประเด็นทางสังคมที่ร้อนแรง โดยเฉพาะเรื่องศาสนาบางศาสนา, ผู้ลี้ภัย และ/หรือ คนเข้าเมือง, การสนับสนุนการใช้ความรุนแรงต่อผู้เห็นต่างและชนกลุ่มน้อย, การยกย่องเชิดชูคนบางกลุ่มที่ขัดต่อหลักความเสมอภาค, การแสดงความเห็นที่รุนแรงต่อผู้หญิงและ LGBTQ เป็นต้น …ประเด็นเหล่านี้ได้ทำให้ข้อกล่าวหาว่าการไม่ยอมรับความเห็นต่างเป็นเผด็จการเพิ่มขึ้นอย่างมาก ว่าแต่การตอบโต้เหล่านี้มันถูกต้องแล้วหรือ?
***ปกป้องสังคมเสรีด้วย “Paradox of tolerance”?***
5. ในปี 1945 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีนักคิดคนหนึ่งชื่อ คาร์ล พอปเพอร์ ได้เสนอแนวคิด “Paradox of tolerance” หรืออาจแปลว่า “ความย้อนแย้งเรื่องความอดทนอนกลั้น” โดยมีใจความว่าหากปล่อยให้เกิดความไม่อดทนอดกลั้น สังคมที่อดทนอดกลั้นอาจล่มสลายลงได้
คาร์ล พอปเพอร์
6. พอปเพอร์ได้เสนอแนวคิดนี้ขึ้นมาเพื่อตอบแนวคิดของนักปรัชญาคนก่อนๆ เริ่มจาก “เพลโต” นักปรัชญาชาวกรีกโบราณซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นบิดาแห่งปรัชญาการเมือง ซึ่งแนวคิดของเขาคือสนับสนุน “ราชาปราชญ์” หรือผู้นำคนเดียวที่มีสติปัญญาและไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนในการปกครองบ้านเมือง
เพลโต
7. สำหรับคนที่พอทราบประวัติของเพลโตจะทราบว่าแนวคิดนี้เกิดขึ้นจากการเห็นข้อเสียของประชาธิปไตยยุคนั้นที่ใช้เสียงข้างมากโหวตให้โสกราตีสอาจารย์เขาปลิดชีพตัวเอง เพลโตจึงเกิดแนวคิด “Paradox of freedom” มีใจความว่า เสรีภาพที่ไม่มีการตรวจสอบจะนำมาซึ่งเสรีภาพในการจำกัดเสรีภาพของผู้อื่น ซึ่งจะทำไปสู่เผด็จการทรราชได้ในที่สุด
8. แนวคิดของพอปเปอร์เองก็มีส่วนคล้ายกับเพลโตในแง่ที่ว่าเขาเชื่อว่าจำเป็นต้องมีการจำกัดเสรีภาพและความอดทนอดกลั้นแบบไร้ข้อจำกัดเพื่อป้องกันการเผด็จอำนาจ อย่างไรก็ตามเขามองต่างจากเพลโตว่าราชาปราชญ์นั้นไม่มีอยู่ในโลกความเป็นจริง และมองว่าสถาบันแบบประชาธิปไตยเสรีนิยมเป็นทางออกที่ดีกว่า …พูดง่ายๆ ว่าพอปเพอร์เสนอให้ใช้ประชาธิปไตยแบบไม่เลยเถิดไม่ใช่แก้ด้วยการไปยอมรับเผด็จการ
9. งานเขียน The Open Society and Its Enemies ของพอปเปอร์ถูกยกย่องว่าเป็นงานชิ้นสำคัญและปกป้องประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง มีนักปรัชญามาต่อยอดแนวคิดของพอปเพอร์หลายคน เช่น เพรสตัน คิง (1976) ที่มีมุมมองว่าแนวคิดอดทนอดกลั้นจะต้องยืนยันว่าการไม่เชื่อแนวคิดนี้เป็นสิ่งผิด ไม่เช่นนั้นมันจะไม่ใช่การอดทนอดกลั้นแต่เป็นการเพิกเฉยหรืออิกนอร์เท่านั้นเอง
The Open Society and Its Enemies ของพอปเปอร์ ซึ่งถูกยกย่องว่าเป็นงานชิ้นสำคัญและปกป้องประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง
10. หรือไรเนอร์ ฟอร์สต์ (2013) ที่ระบุว่ามีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความอดทนอดกลั้นอยู่ 4 รูปแบบ
- แบบแรก คือ แนวคิดการอนุญาต (permission conception) คือผู้มีอำนาจจะต้องอนุญาตให้ชนกลุ่มน้อยสามารถใช้ชีวิตตามความเชื่อของตนเองได้ตราบเท่าที่ชนกลุ่มน้อยนั้นยอมรับสถานะนำของผู้มีอำนาจหรือคนส่วนใหญ่ หรือสรุปง่ายๆ ว่า ในสังคมจะต้องปฏิบัติเหมือนกับคนส่วนใหญ่ แต่การใช้ชีวิตส่วนตัวจะได้รับความคุ้มครอง
- แบบที่สอง คือ แนวคิดการอยู่ร่วมกัน (coexistence conception) คือความสัมพันธ์ของประชาชนที่มีอำนาจเท่ากันในสังคมซึ่งเห็นว่าความอดทนอดกลั้นต่อกันและกันเป็นวิธีการสร้างความสมานฉันท์ในสังคมและเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อกลุ่มตนเองด้วย
- แบบที่สาม คือ แนวคิดความเคารพ (respect conception) ที่ระบุว่าแต่ละฝ่ายเคารพสิทธิ เสรีภาพและสิทธิได้รับจัดสรรทรัพยากรแบบไม่ให้เอื้อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไป
- และแบบที่สี่ คือ แนวคิดการยกย่องนับถือ (esteem conception) คือขั้นกว่าของการเคารพแนวคิดซึ่งกันและกันในฐานะที่เท่าเทียม แต่ยังมองไปถึงขั้นว่าแนวคิดอื่นก็มีคุณค่าและมีคนรับเชื่อด้วยเหตุผลอันดี
ไรเนอร์ ฟอร์สต์
11. จากแนวคิดทั้งสี่ที่ฟอสต์สรุปมาจะเห็นได้ว่านอกจากแนวคิดแรกซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจกับชนกลุ่มน้อยแล้ว อีกสามแนวคิดที่เหลือเป็นแนวคิดที่ให้ประชาชนที่มีฐานะเท่ากันในสังคมอดทนอดกลั้นต่อแนวคิดที่ไม่เหมือนกับตน “ตราบเท่าที่” คนที่มีแนวคิดนั้นๆ อดทนอดกลั้นต่อคนอื่นด้วย ไม่ใช่ว่าความอดทนอดกลั้นเป็นสิ่งที่ได้มาฟรีๆ โดยไม่มีราคาที่ต้องจ่าย
12. โดยใช้หลักการไม่อดทนอดกลั้นต่อความไม่อดทนอดกลั้นนี้ ทำให้หลายๆ ประเทศมีกฎหมายบางลักษณะขึ้นมา เช่น กฎหมายแบนสัญลักษณ์นาซี, กฎหมายแบนสัญลักษณ์ค้อนเคียว, กฎหมายที่ระบุว่าการปฏิเสธฮอโลคอสต์ (Holocaust denial law) หรือการบอกว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่มีอยู่จริง
13. ไปจนถึงคำตัดสินของศาลที่สำคัญที่เป็นบรรทัดฐานในประเด็นดังกล่าว เช่น การยุบพรรคนีโอนาซีและพรรคคอมมิวนิสต์ในเยอรมนี หรือการสั่งห้ามพรรคกัช (Kash) ที่เป็นยิวขวาจัดลงเลือกตั้งในอิสราเอลเมื่อปี 1988 เพราะมีแนวคิดปฏิเสธประชาธิปไตยและเหยียดพลเมืองอิสราเอลเชื้อสายอาหรับ
14. อย่างไรก็ตามแนวคิดเรื่องการปิดกั้นแนวคิดที่ไม่เสรีในสังคมเสรีมักเป็นประเด็นถกเถียงมากกว่าในสังคมอเมริกาซึ่งเชิดชูแนวคิด free speech ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ นักคิดฝั่งอเมริกามักแย้งว่าไม่ควรปิดกั้น hate speech หรือวาทะที่สร้างความเกลียดชัง แต่ให้คนส่งเสียงมากขึ้นเป็นการกลบกลุ่มที่ต้องการสร้างความเกลียดชังนั้นแทน (แต่จริงๆ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 ที่มักอ้างกันนั้นเป็นเพียงการห้ามรัฐบาลออกกฎหมายควบคุมเสรีภาพการพูดและนับถือศาสนาเท่านั้น ไม่ได้พูดถึงเอกชน)
15. โดยแนวคิดต่อ Paradox of tolerance ปรากฏในวาทะของนักคิดอเมริกัน เช่น อดีตประธานาธิบดี โธมัส เจฟเฟอร์สัน กล่าวถึงผู้มีแนวคิดบั่นทอนเสถียรภาพของสหรัฐว่า “อย่าไปยุ่งกับพวกนั้น ให้มันเป็นอนุสาวรีย์ของความปลอดภัยซึ่งเราอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่ผิดพลาด ปล่อยให้เหตุผลเป็นคนจัดการมันเอง”
โธมัส เจฟเฟอร์สัน
หรือนักคิดอย่างจอห์น รอลส์ (1971) ที่ระบุว่า “สังคมที่ยุติธรรมจำเป็นต้องอดทนอดกลั้นต่อความไม่อดทนอดกลั้น มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นไม่อดทนอดกลั้นเสียเอง” แต่ต่อมาก็ยอมรับว่าในบางกรณีสังคมก็มีสิทธิปกป้องตัวเองหากเสรีภาพของผู้ไม่อดทนอดกลั้นลิดรอนเสรีภาพของผู้อื่น และความมั่นคงและสถาบันแห่งเสรีภาพถูกคุกคาม…
จอห์น รอลส์
*** “Paradox of tolerance” กับดีเบตยุคใหม่ ***
16. ในช่วงทศวรรษ 2010 มีเหตุการณ์สำคัญที่ได้สร้างประเด็นถกเถียงที่ร้อนแรงมากมาย โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผู้ลี้ภัยมุสลิมในทวีปยุโรป, คนเข้าเมืองผิดกฎหมายในสหรัฐ, การเมืองอัตลักษณ์ สิทธิ LGBT, การเรียกร้องความเสมอภาคด้านเชื้อชาติและเพศสภาพของ woke ไปจนถึงการชนะเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ซึ่งมีผลทำให้กลุ่มฝ่ายขวาต่างๆ ที่บางกลุ่มก็มีแนวคิดที่รุนแรงแสดงความเห็นและลงมือก่อเหตุหลายครั้ง สิ่งเหล่านี้ทำให้การปะทะกันของแนวคิดที่อดทนอดกลั้นกับแนวคิดที่ไม่อดทนอดกลั้นนั้นรุนแรงเด่นชัดขึ้น
โดนัลด์ ทรัมป์
17. ประเด็นต่างๆ ข้างต้นทำให้ดีเบตเรื่องสังคมเสรีจำเป็นต้องยอมรับแนวคิดที่ไม่เสรีหรือไม่อดทนอดกลั้นมากขนาดไหน ทั้งๆ ที่คนที่โจมตีผู้มีแนวคิดเสรีนิยมนั้นบางทีก็ชัดเจนว่าขัดแย้งกับประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมซึ่งเป็นระบอบการปกครองของประเทศอย่างชัดเจน เช่น การสนับสนุนเผด็จการ, สนับสนุนความไม่เสมอภาค เชิดชูคนบางกลุ่ม (เพศ เชื้อชาติ ศาสนา) เหนือกว่าคนอื่นๆ
ซึ่งบางทีก็ยัดเยียดว่าการพยายามยกระดับคนที่เคยมีฐานะด้อยกว่าให้ขึ้นมาเท่าเทียม เช่น เฟมินิสต์ กลุ่มสิทธิทรานส์ กลุ่มสิทธิคนดำ เป็นความพยายามกดขี่ผู้ชายคนขาวที่เป็นคนส่วนใหญ่และเป็นเผด็จการเสียอีก …รวมถึงบ่อยครั้งบางทีแค่ไปวิจารณ์ แย้งหรือล้อเลียนคนที่มีแนวคิดเช่นนี้ก็มีโอกาสถูกสวนกลับมาว่าเป็นเผด็จการ และไม่ยอมรับความเห็นต่างด้วย (ในเน็ตมีการเอาแนวคิดของพอปเพอร์ไปทำมีมบอกว่ากลุ่มคนที่ฝ่ายซ้ายต่างๆ และอิสลามนั่นแหละคือคนที่ไม่อดทนอดกลั้น)
18. แต่ที่กล่าวมาก็ไม่ได้หมายความว่าแนวคิดและแนวทางของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าเสรีนิยมจะได้รับการยอมรับเสมอไป เช่น
- กลุ่มเฟมินิสต์ก็มีถูกโจมตีว่าในกลุ่มมีผู้หญิงที่รังเกียจผู้ชายและอยากเป็นใหญ่กว่าผู้ชายจริงๆ,
- กลุ่มสิทธิคนดำที่มีชื่อเสียงเช่น Black Lives Matter ถูกโจมตีจากนักเสรีนิยมด้วยกันว่าเห็นด้วยกับเป้าหมาย แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่เน้นรบกวนผู้อื่นและทำให้สังคมแตกแยกมากกว่าเดิม
- กลุ่มสิทธิทรานส์ขัดแย้งกับเฟมินิสต์บางกลุ่ม เช่น เรื่องการรับรู้ว่าเพศมีอยู่จริงหรือไม่, การใช้ห้องน้ำและการแข่งขันกีฬา
- กลุ่มที่สนับสนุนสิทธิผู้ลี้ภัยและคนเข้าเมืองโดยเฉพาะมุสลิมถูกโจมตีว่าปล่อยปละละเลยต่อปัญหาที่เกิดจากคนเข้าเมืองจำนวนมากเกินไป และปิดปากคนเห็นต่างว่าเกลียดคนต่างด้าวหรือเหยียดเชื้อชาติ (แต่พวกนี้ก็มีอยู่จริงๆ)
- กลุ่ม woke ในสื่อบันเทิงต่างๆ ถูกโจมตีว่าเอางานมาดัดแปลงสอดแทรกตัวละครสีผิวและเพศไม่ตรงกับต้นฉบับ และชาวเน็ต woke ถูกโจมตีว่าเป็นพวกเอาดีเข้าตัว ยกตนข่มผู้อื่นว่าเป็นผู้มีศีลธรรมสูงกว่า รวมถึงใช้ cancel culture หรือแบนคนที่เคยทำสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ เป็นต้น
19. ระหว่างที่สังคมกำลังเกิดการปะทะกันระหว่างแนวคิดสองขั้ว เราจะตัดสินอย่างไรว่าเส้นแบ่งความเหมาะสมควรจะอยู่ตรงไหน? ในประเด็นนี้ คาร์ล พอปเพอร์ เจ้าพ่อแนวคิด Paradox of tolerance เอง ก็ได้แสดงทัศนะเอาไว้ว่า “ผมไม่ได้สื่อว่าเราควรกดทับปรัชญาที่ไม่อดทนอดกลั้นเสมอไป ตราบเท่าที่เราสามารถตอบโต้พวกนั้นด้วยด้วยเหตุผลและมีความเห็นสาธารณะควบคุมไว้อยู่
แต่เราควรอ้างสิทธิในการปราบปรามพวกนั้นแม้ด้วยกำลังหากจำเป็น เมื่อกลายเป็นว่าพวกนั้นไม่พร้อมใช้เหตุผลแต่ปฏิเสธเหตุผลทุกอย่าง และสอนให้สาวกตอบโต้ด้วยกำปั้นหรือปืน” …หรือสรุปง่ายๆ ว่าพอปเพอร์บอกว่าการตอบโต้แนวคิดไม่อดทนอดกลั้นด้วยกำลังควรเกิดขึ้นเมื่อสัญญาณเกิดความรุนแรงจากแนวคิดนั้นกำลังมาถึงนั่นเอง
20. จากที่เล่ามานี้เป็นเพียงบางส่วนของประเด็นถกเถียงที่ว่าสังคมปัจจุบันควรเปิดพื้นที่ให้แนวคิดที่เห็นต่างมากน้อยเพียงใด? การยอมรับซึ่งกันและกันระหว่างแนวคิดอดทนอดกลั้นและไม่อดทนอดกลั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริงๆ หรือไม่? ในโพสต์นี้ไม่อาจตอบได้ว่าสังคมควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อเจอกับเรื่องราวเหล่านี้ เป็นสิ่งที่คนในสังคมประชาธิปไตยจะต้องตัดสินกันเองครับ…
#TWCSummary TWC_Cheeze
โฆษณา