3 ก.ย. เวลา 02:18 • ประวัติศาสตร์

“คอมมิวนิสต์” ข้อหาใหญ่เล่นแรงในการเมืองอเมริกา

เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวน่าสนใจเกี่ยวกับการเมืองสหรัฐจากหลายสื่อ นั่นคือ ข่าวโดนัลด์ ทรัมป์หาว่ากมาลา แฮริส ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตคนใหม่ เป็น “คอมมิวนิสต์”
ตัวอย่างโพสต์ X ของโดนัลด์ ทรัมป์
แน่นอนว่าสำหรับประเทศโลกเสรี ข้อกล่าวหาคอมมิวนิสต์ถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะเป็นการตีตราว่าทรยศชาติ เป็นเผด็จการ และอีกหลายเรื่องซึ่งสะท้อนถึงการต่อสู้ทางความคิดที่ยังหลงเหลือมาจากยุคสงครามเย็น
…แต่ดูเหมือนว่าข้อหานี้จะยิ่งมีความร้ายแรงในสหรัฐที่ถือเป็นประเทศทุนนิยมตัวพ่อที่เป็นขั้วตรงข้ามกับแนวคิดเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์อย่างมากชนิดไม่เผาผี จนถึงกับมีคำกล่าวว่า “ยอมตายดีกว่าเป็นสีแดง” (better dead than red) เลยทีเดียว
ดังนั้นในโพสต์นี้เราจะมาดูประวัติศาสตร์ของข้อหาคอมมิวนิสต์ในอเมริกา จนถึงปัจจุบันที่ยังมีการหยิบยกมาโจมตีกันอยู่นะครับ
เรื่องที่มีที่มาจากข้อเสนอของกมาลา แฮริสในการสั่งห้ามธุรกิจอาหารโก่งราคาหรือขึ้นราคาสินค้าตามใจชอบ (price gouging) ในหมวดอาหารที่ราคาพุ่งสูงจากเงินเฟ้อ ซึ่งอาจมองได้ว่านี่เป็นการตรึงราคาสินค้า (price control) แต่นี่ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์และสื่อฝ่ายขวาออกมาโจมตีว่านี่เป็นเหมือนนโยบายจากเวเนซูเอเลาและอดีตสหภาพโซเวียต และเป็นคอมมิวนิสต์!
จะเห็นว่าแม้หลายๆ ประเทศจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือผู้บริโภคในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ดูเหมือนกับว่าการเสนอนโยบายที่ไปแทรกแซงการทำงานของตลาดเสรีนี้แม้ว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนรากหญ้าก็ยังถูกโจมตีอย่างรุนแรงราวกับว่า “แค่คิดก็ผิดแล้ว” เลยทีเดียว …ทำไมสังคมอเมริกันจึงคิดแบบนั้นกันหนอ?
*** สังคมนิยมกับคอมมิวนิสต์ ***
ก่อนที่จะเข้าเรื่องกันมาทำความเข้าใจคำเจ้าปัญหานี้กันก่อน คำว่า “สังคมนิยม” (socialism) เป็นปรัชญาทางเศรษฐกิจฝ่ายซ้ายอย่างหนึ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามของทุนนิยม มีใจความหลักที่ต้องการแก้ไขปัญหาของทุนนิยมที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำและการกดขี่ชนชั้นแรงงานอย่างสาหัส
ดังนั้นสังคมนิยมจึงเสนอให้ส่วนรวมเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้ทั่วถึงมากขึ้น อย่างไรก็ตามอาจใช้ระบบตลาด (คือยังใช้กลไกอุปสงค์-อุปทาน แต่รัฐเข้ามาแทรกแซงบ้าง) หรือไม่ใช้ระบบตลาดก็ได้ (เช่น ใช้ระบบคูปอง ผลิตสินค้าเท่าที่ประชาชนต้องการ ไม่มีการผลิตเกินเพื่อเอากำไร) นอกจากนี้สังคมนิยมยังมีแนวคิดอีกอย่างคือทำมากควรได้มาก (to each according to his contribution)
ความแตกต่างระหว่างทุนนิยมและสังคมนิยม
ส่วนคำว่า “คอมมิวนิสต์” (communism) เป็นคำเรียกปรัชญาเศรษฐกิจฝ่ายซ้ายอีกอย่างหนึ่ง แม้จะมีความคล้ายคลึงแต่ไม่เหมือนกับสังคมนิยมเสียทีเดียว ตามแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ สังคมคอมมิวนิสต์จะต้องเป็นสังคมที่ไร้รัฐ คนอยู่กันเป็นชุมชนที่ปกครองกันเอง นอกจากนี้ยังไปไกลถึงการยกเลิกกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล
คาร์ล มาร์กซ์ บิดาแห่งแนวคิดคอมมิวนิสต์
…แต่จะมีการจัดสรรสมบัติส่วนกลางไปให้แต่ละคนใช้เพื่อยังชีพและประกอบอาชีพ เช่น เครื่องมือทำกิน ที่อยู่อาศัยหรือเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และผลประโยชน์จะแบ่งให้แต่ละคนเท่าที่จำเป็นต้องใช้ (to each according to his needs)
คอมมิวนิสต์จัดเป็นสังคมในอุดมคติที่หลายคนชี้อย่างถูกต้องว่ายังไม่เคยเกิดขึ้นจริง ส่วนประเทศที่ถูกปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์มาก่อนอย่างสหภาพโซเวียต จีน เกาหลีเหนือ ลาวและเวียดนาม ประเทศเหล่านี้ล้วนมองว่าตัวเองยังเป็น “รัฐสังคมนิยม” ตามทฤษฎีของมากซ์ที่บอกว่าก่อนที่จะเข้าสู่คอมมิวนิสต์จะต้องเปลี่ยนผ่านมาเป็น “สังคมนิยม” ก่อนนั่นเอง
การเปลี่ยนผ่านสู่คอมมิวนิสต์
*** สังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ในอเมริกา ***
แม้อเมริกาจะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเข้มข้น แต่จริงๆ แล้วสังคมนิยมเป็นแนวคิดที่อยู่คู่กับสังคมอเมริกามาช้านาน ตั้งแต่ยุคอเมริกันพื้นเมืองที่อยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน …ซึ่งจะเรียกว่าเป็นสังคมนิยมในความหมายของยุคหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ไม่เต็มปากนัก ดังนั้นจะเริ่มต้นเล่าจากยุคหลังการปฏิวัติอเมริกาเลยนะครับ
อย่างที่หลายท่านทราบกันว่าชาวยุโรปที่อพยพมายังอเมริกายุคแรกๆ มาด้วยเหตุผลทางศาสนา แต่คนที่อพยพมาด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจก็มีไม่น้อย และมีหลายคนที่อพยพมาแล้วก็ตั้งเมืองต่างๆ โดยนำแนวคิดสังคมนิยมที่เฟื่องฟูในยุโรปเวลานั้นมาใช้ด้วย เช่น นิวฮาร์โมนีในรัฐอินเดียนา, บรุคฟาร์มในรัฐแมสซาชูเซ็ตส์ หรือนอร์ทอเมริกันฟาแลงซ์ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ เป็นต้น …สรุปว่าแนวคิดสังคมนิยมได้แพร่หลายเข้ามาในสหรัฐอย่างมากแล้ว และจริงๆ คาร์ล มากซ์ยังได้รับอิทธิพลจากฝั่งอเมริกาไปใส่ในผลงานของตัวเองด้วยซ้ำ
ตัวอย่างชุมชนสังคมนิยมในอเมริกา
นอกจากนั้นสิ่งที่เฟื่องฟูมากในอเมริกาคือการรวมตัวของชนชั้นแรงงานกลายมาเป็นสหภาพแรงงาน โดยเฉพาะ “สหพันธ์แรงงานอเมริกา” (AFL) ที่เป็นสหภาพแรงงานใหญ่สุดของประเทศ พวกเขานัดประท้วงหยุดงานเพื่อเรียกร้องสวัสดิการสำคัญๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างการเลิกใช้แรงงานเด็ก และการจำกัดชั่วโมงทำงานเหลือ 8 ชม. ต่อวัน เป็นต้น
สหพันธ์แรงงานอเมริกา (AFL)
ต่อมาแนวคิดฝ่ายซ้ายยังก่อให้เกิดการประนีประนอมครั้งใหญ่ที่ออกมาในรูปของ “นิวดีล” (New Deal) ซึ่งเป็นนโยบายของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐผู้ยิ่งใหญ่อย่าง “แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์” ที่นำพาประเทศออกจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ โดยในบรรดานโยบายที่ใช้มาจนถึงปัจจุบันก็มีสวัสดิการสังคม (Social Security)
"นิวดีล" รัฐสวัสดิการแบบอเมริกัน
ซึ่ง “รัฐสวัสดิการแบบอเมริกัน” จะมีการต่อเติมมาเรื่อยๆ โดยมีตั้งแต่โครงการ “เมดิแคร์” และ “เมดิเคต” ซึ่งช่วยเหลือรายจ่ายด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุและผู้มีรายได้น้อย, โครงการสแตมป์อาหาร หรือการช่วยเหลือค่าที่อยู่อาศัยและพลังงาน เป็นต้น รวมๆ แล้วเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี …จะเห็นได้ว่าอเมริกานี่จริงๆ แล้วก็รับแนวคิดสังคมนิยมมากกว่าที่เราเห็นภายนอกเยอะ
1
"เมดิแคร์" ประกันสุขภาพไม่ถ้วนหน้า
แต่ในขณะเดียวกันฝ่ายนายจ้างและนักทุนนิยมที่ไม่พอใจกับพวกแข็งข้อเหล่านี้จึงได้ลงขันกันมีมาตรการต่างๆ ขึ้นมาตอบโต้แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงินอำนวยความสะดวกให้กับหน่วยงานทหาร-ตำรวจมาปราบปรามการประท้วง หรือแม้แต่ตำรวจของบางเมืองในอเมริกาก็มีประวัติชัดเจนว่าตั้งขึ้นเพราะคนรวยต้องการใช้เพื่อปราบแรงงานเลยทีเดียว …อย่าง “วันแรงงาน” หรือ “เมย์เดย์” วันที่ 1 พ.ค. ของทุกปีก็เป็นวันรำลึกถึงการใช้กำลังปราบปรามแรงงานจนเสียชีวิตในสหรัฐนี่เอง
*** สหภาพโซเวียตกับผีคอมมิวนิสต์ ***
มาตรการปราบปรามสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ในอเมริกาทวีความรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะหลังการปฏิบัติบอลเชวิคในรัสเซียเมื่อปี 1917 ซึ่งสร้างความกลัวว่าแรงงานอาจก่อการปฏิวัติขึ้นในอเมริกาด้วยเช่นกัน ในช่วงนั้นได้เกิด “ความกลัวสีแดงครั้งที่หนึ่ง” (First Red Scare) ซึ่งมีพวกสังคมนิยมหลายคนถูกจับกุม กักขังและเนรเทศรวมแล้วหลายพันคน
ความกลัวสีแดงครั้งที่หนึ่ง
ในช่วงสงครามเย็นใหม่ๆ เหตุการณ์ที่คอมมิวนิสต์โซเวียตแผ่อิทธิพลไปทั่วโลกได้ทำให้เกิดความกลัวขึ้นอีกครั้ง โดยมีคำว่า “ลัทธิแมคคาร์ธี” (McCarthyism) หรือ “ความกลัวสีแดงครั้งที่สอง” (Second Red Scare) เนื่องจาก สว. อเมริกันคนหนึ่งชื่อแมคคาร์ธีออกมาเปิดเผยว่ามีรายชื่อของคอมมิวนิสต์ที่พยายามล้มล้างรัฐบาล ทำให้มีการเล่นงานและเนรเทศคนจำนวนมากในข้อหาต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งในจำนวนนั้นมีข้าราชการ นักวิชาการ คนวงการบันเทิง และนักการเมืองกับนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายมากมาย
สว. แมคคาร์ธี ต้นกำเนิด “ลัทธิแมคคาร์ธี”
จากสองเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์สำคัญใหญ่ๆ ที่ทำให้คำว่า “สังคมนิยม” กับ “คอมมิวนิสต์” กลายเป็นตราบาปที่สามารถใช้กำจัดคู่แข่งได้ แต่นอกเหนือจากนี้ยังมีประเด็นในแง่ที่ว่า
1
1) คนอเมริกันส่วนใหญ่ยังนับถือศาสนา (ซึ่งตรงข้ามกับสังคมนิยมกับคอมมิวนิสต์)
2) คนเชื่อในแนวคิดค่านิยมครอบครัวและ “American Dream” ซึ่งเป็นแนวคิดตนเป็นที่พึ่งแห่งตน รัฐบาลไม่ควรช่วยเหลือประชาชนมากเกินไปจนเข้าข่าย “รัฐพี่เลี้ยงเด็ก” (nanny state) คือถ้าใครจะจนหรือมีปัญหาชีวิตใดๆ ก็ควรช่วยเหลือตัวเองหมด
1
3) ฝ่ายอนุรักษนิยมบางส่วนที่เชื่อว่ารัฐบาลควรมีบทบาทควบคุมเศรษฐกิจให้น้อย ปล่อยให้ตลาดเสรีกำกับตัวเอง
4) มองว่ารัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ ขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาล เพราะมีการเปิดโปงออกมาหลายครั้งว่ารัฐบาลทำผิดหรือโกหกต่อประชาชนโดยที่ไม่สามารถเอาตัวมาลงโทษได้
…สาเหตุต่างๆ ที่กล่าวมาเลยกลายเป็นว่ายิ่งส่งเสริมให้คนแอนตี้สังคมนิยมกับคอมมิวนิสต์มากขึ้นไปอีก
*** คนรุ่นใหม่ไม่กลัวผีคอมมิวนิสต์แล้ว!? ***
ในช่วงหลังแม้สงครามเย็นยุติลงไปหลายสิบปีแล้ว แต่การใช้วาทกรรมสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์โจมตีคู่แข่งในอเมริกายังคงมีอยู่ เช่น สมัยโอบามาเคยโดนวาทกรรมนี้จากนโยบาย “โอบามาแคร์” ซึ่งเป็นนโยบายถัวเฉลี่ยค่าประกันสุขภาพให้ทุกคนซึ่งทำให้รายจ่ายของบางคนเพิ่มขึ้น
นโยบาย “โอบามาแคร์”
อย่างไรก็ตามในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 มีนักการเมืองที่กล้าประกาศตัวว่าตัวเองเป็นสังคมนิยม นั่นคือ “เบอร์นี แซนเดอส์” ซึ่งจริงๆ แล้วเขาชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นมากว่า 40 ปีแล้ว โดยที่ประกาศตัวว่าเป็นสังคมนิยมนั่นแหละ …แต่เขาก็ย้ำอยู่ตลอดว่าสังคมนิยมในความหมายของเขา คือ รูปแบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในรัฐนอร์ดิกหรือยุโรปเหนือ ซึ่งมีการเก็บภาษีอัตราสูงแลกกับรัฐสวัสดิการที่ดีและครอบคลุม และทำให้คนมีความสุขติดอันดับต้นๆ ของโลกมาช้านาน ที่เขาเรียกว่า “สังคมนิยมประชาธิปไตย” (democratic socialism)
1
(* หมายเหตุ: จริงๆ เขาใช้คำผิดความหมายต้องบอกว่านี่คือ “ประชาธิปไตยสังคมนิยม” หรือ social democracy มากกว่า)
“เบอร์นี แซนเดอส์” นักการเมืองที่กล้าประกาศตัวว่าตัวเองเป็นสังคมนิยม
นโยบายที่แซนเดอส์เน้นย้ำเสมอคือเรื่องสวัสดิการสุขภาพ การศึกษา การขึ้นค่าแรง ไปจนถึงการเก็บภาษีคนรวย ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวอเมริกัน (เช่น นโยบายเมดิแคร์ถ้วนหน้ามีความนิยมทั่วประเทศ 69% ในปี 2020) อย่างไรก็ตามคนส่วนใหญ่ยังมองคำว่า “สังคมนิยม” ในแง่ลบอยู่ แปลว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่สนับสนุนแนวคิดที่เอียงไปทางสังคมนิยมอย่างรัฐสวัสดิการอยู่ทั้งๆ ที่ปากบอกรังเกียจนั่นเอง!
นอกจากนี้ผลโพลใหม่ๆ ยังสะท้อนว่าคนรุ่นหลังติดกับคำว่า “สังคมนิยม” น้อยลง สังเกตได้จากการเลือกนักการเมืองที่ประกาศตัวเป็นสังคมนิยมอย่างเปิดเผย เริ่มตั้งแต่ “อเล็กซานเดรีย โอคาซีโอ-คอร์เทซ” จากรัฐนิวยอร์ก จนปัจจุบันมีสื่อตั้งข้อสังเกตว่าขณะนี้สภาล่างสหรัฐมี ส.ส. สังคมนิยมพร้อมกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว
“อเล็กซานเดรีย โอคาซีโอ-คอร์เทซ” จากรัฐนิวยอร์ก
แปลความได้ว่าในช่วงหลังการโจมตีนักการเมืองอีกฝ่ายว่าเป็นสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์อาจจะใช้ไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่แล้ว หนึ่งคือการเที่ยวกล่าวหาคนอื่นว่าเป็นคอมมิวนิสต์นั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องหลอกลวงอย่างที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์สหรัฐมาแล้วถึง 2 ครั้ง และสองคือคนทั่วไปเริ่มรู้สึกไม่โอเคกับระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน และมองว่าแนวทางที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสังคมนิยมนั้นจริงๆ แล้วตัวเองก็รู้สึกเห็นด้วยไม่น้อย
…จนทีมงานทรัมป์ต้องพยายามเบรกการโจมตีบุคลิกและตัวตนของแฮริสและให้โฟกัสไปที่นโยบายเป็นหลัก แต่ก็ห้ามไม่อยู่ เลยออกมาข่าวประมาณนี้นั่นเอง…
1
จากที่เล่ามาเชื่อว่าท่านคงเห็นความเป็นมาของข้อกล่าวหาคอมมิวนิสต์ในการเมืองอเมริกาแล้วนะครับ แม้ว่าอเมริกาจะเน้นชูความเป็นทุนนิยมในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนมาตลอด …แต่ผลลัพธ์ของทุนนิยมที่เผชิญอยู่ทุกวันได้ทำให้คนเสื่อมศรัทธาในระบบที่ใช้กันอยู่ และมองหาระบบใหม่ที่คนเชื่อว่าเป็นธรรมมากขึ้นนั่นเอง หรือพูดง่ายๆ ต่อไปแนวคิดคิดว่า ”เป็นสีแดงเสียดีกว่าอดตาย (โว้ย)” อาจจะมาแรงก็เป็นได้!
#TWCSummary #TWCUSA #TWC_Cheeze
โฆษณา