Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เมืองไทยไดอารี่ by Supawan
•
ติดตาม
2 ก.ย. 2024 เวลา 08:08 • ท่องเที่ยว
พระจุฑาธุชราชฐาน .. รอยจำที่ไม่เคยจาง ที่เกาะสีชัง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าให้สร้างพระราชฐาน และพระตำหนักต่างๆขึ้นที่เกาะสีชังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2432 ด้วยทรงมีพระดำริว่า เกาะสีชังแห้งนี้ อากาศดี มีภูมิสถานเป็นที่สบาย พิสูจน์ได้จากการที่ชาวเกาะสีชังส่วนใหญ่มีอายุยืน ดังพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้า รัชกาลที่ 5 บทว่า ..
ถิ่นสุขกายด้วย ถิ่นดี
จิตรโปร่งปราศราคี ชุ่มชื้น
สองสุขแห่งชาวสี- ชังเกาะ นี้แฮ
อายุย่อมยืนพื้น แต่ร้อยเรือนริม
ระหว่างปีพุทธศักราช 2434 – 2436 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้ที่นี่เป็นพระตำหนักฤดูร้อน สำหรับแปรพระราชฐานเพื่อสำราญพระอิริยาบถ และเป็นที่ประทับในพระเจ้าลูกยาเธอที่ประชวร จะได้รับอากาศบริสุทธิ์ตามข้อวินิจฉัยของคณะแพทย์ โดยได้เริ่มสร้างพระราชฐานตั้งต่ปี พ.ศ. 2432
โกสีย์วสุภัณฑ์ มุนธาตุรัตนโรจน์
โชติรสประกาต์ เมขลามณี
วาสุกรีก่องเก็จ เพชร์ระยับ
ทับทิมสด มรกฏสุทธิ์
บุษราคัม ก่ำโกมิน
นิลแสงสุก มุกดาพราย
เพทายใส ไพฑูรย์กลอก
ดอกตะแบกลออ โอปอร์จรูญ
มูลการเวก เอกฟองมุก
แทบไม่น่าเชื่อว่า คำที่คล้องจองกันทั้งหมดนี้ คือพระนามแห่งพระที่นั่ง และพระตำหนักที่เคยประดิษฐานอยู่จริงในเขต “พระจุฑาธุชราชฐาน” พระราชฐานบนเกาะสีชัง ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสีชัง บริเวณแหลมวัง บนเนื้อที่ 237 ไร่
ภายในพระราชฐาน มีพระที่นั่ง 4 องค์ คือ พระที่นั่ง โลกีย์วสุภัณฑ์ พระที่นั่งมันธาตุรัตน์โรจน์ พระที่นั่งโชติรสประภา และพระที่นั่งเมขลามณี และมีพระตำหนัก 14 หลัง ชื่อคล้องจองกันดังกล่าวข้างต้น
นาม “พระจุฑาธุชราชฐาน” ได้รับพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 5 เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก ในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ที่ทรงมีพระประสูติกาล ณ พระตำหนักมรกฏสุทธ์ ในพระราชฐานฤดูร้อนบนเกาะสีชังแห่งนี้ เมื่อวันที่ 5 กรกฏาคม 2435
เมื่อเดินลัดเลาะจากทางสัญจรริมทะเล ลัดเลาะผ่านบ่อน้ำ ลำธาร น้ำตก น้ำพุ ภายในเขตพระราชฐาน ที่ล้วนมีรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่งดงาม รับกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติ .. ชวนให้จินตนาการบรรเจิดว่าห้วงยามนั้น พระจุฑาธุชราชฐานจะงามสง่า น่าอภิรมย์มากเพียงใด
พื้นที่ของพระราชฐานเป็นเชิงเขาริมทะเล ส่วนใหญ่เป็นหิน มีหน้าผาและถ้ำหลายแห่ง มีธารน้ำและแอ่งน้ำธรรมชาติ แต่ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้มากนัก ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯให้ขุดสระ บ่อน้ำ สร้างธารน้ำขึ้น สำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้
เกาะสีชัง .. กาลเวลาของพระราชวังบนเกาะ
ในวันนั้น .. พระที่นั่งจุฑาธุชราชฐาน และพระตำหนักต่างๆถูกทิ้งร้างเป็นเวลานานนับศตวรรษ จนทรุดโทรมลงไปมาก .. เหลือเพียงชื่อไว้ให้ระลึกถึง ..
ด้วยใน ร.ศ. 112 หรือ ปี พ.ศ. 2436 เกิดกรณีพิพาทเรื่องดินแดนอินโดจีน ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส มหาอำนาจฝรั่งเศสกดดันสยามด้วยการปิดอ่าวไทย และส่งกองทหารเข้าครองยึดเกาะสีชัง นับตั้งแต่นั้นมา ในหลวงรัชกาลที่ 5 ก็รับสั่งให้ยุติการก่อสร้าง และมิได้เสด็จฯประทับแรมอีกเลย …
พระที่นั่งและพระตำหนักต่างๆ ซึ่งสร้างด้วยเครื่องไม้เป็นพื้น โปรดเกล้าฯ ให้รื้อถอนไปสร้างที่อื่น … โดยเฉพาะพระที่นั่งพระที่นั่งเครื่องไม้สักรูปแปดเหลี่ยมสามชั้น นาม “มันธาตุรัตนโรจน์” ซึ่งตั้งอยู่ริมหาด ใกล้สะพานอัษฎางค์
… เป็นเรือนเครื่องไม้สักทองรูปแปดเหลี่ยมสามชั้น ถูกรื้อนำไปสร้างใหม่ข้างอ่างหยก ในพระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “พระที่นั่งวิมานเมฒ”
ส่วนที่ยังคงหลงเหลืออยู่บนเกาะสีชังจึงยังคงมีเพียง ฐานรากเดิมขององค์พระที่นั่งให้เห็นเป็นหลักฐานของการเคยมีชีวิตของพระราชฐานอันงดงาม ..
ฉันยืนมองฐานรากเดิมแล้วจินตนาการไปว่า ..
หากพระราชวังองค์เดิม หรือพระที่นั่งวิมานเมฒ ยังคงอยู่ที่เกาะสีชัง .. พระราชวังไม้สักทองอันงามวิจิตร .. ริมทะเลสีคราม น้ำสีมรกต
.. รายล้อมด้วยบรรยากาศของทะเลสวย ฟ้าสีใส ที่ยังบริสุทธ์อยู่มาก .. เกาะแห่งนี้คงโรแมนติกมากมายเกินบรรยาย .. คงเหมือนชะลอเอาสรวงสวรรค์มาวางไว้บนผืนดิน
ส่วนที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน มีเพียงเรือนไม้สามหลัง ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างขึ้น สำหรับพสกนิกรผู้ป่วยได้รักษาตัว เรียกว่า “อาไศรยฐาน” ..
เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2431 ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระคลังข้างที่ สร้างเรือนพักขึ้นสำหรับผู้ป่วยโดยไม่ต้องเสียค่าบริการเรียกว่า “อาไศรยสถาน” จำนวน 3 หลัง
.. และพระราชทานนามตามพระนามสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี และพระอรรคชายาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์
.. โดยเหตุที่ทั้ง 3 พระองค์ ได้ทรงพระราชศรัทธาพระราชทรัพย์ให้จัดซื้อเครื่องตกแต่ง และเครื่องใช้สำหรับไอสไศรยสถานเหล่านี้ .. เรือนทั้ง 3 หยุดให้บริการ เมื่อล้นเกล้าฯเสด็จมาประทับ ณ เกาะสีชัง
เรือนวัฒนา .. คืออาคารหลังแรก เป็นตึกสี่เหลี่ยมสองชั้นมีเฉลียง สถาปัตยกรรมแบบยุโรป ก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่ริมทะเล
พระตำหนักส่วนบนเป็นเรือนไม้สี่เหลี่ยมสองชั้น มี 4 ห้อง มีเฉลียงด้านที่หันหน้าเข้าหาทะเลทั้งสองชั้น .. ปัจจุบัน เป็นสถานที่จัดแสดงเหตุการณ์สำคัญในเกาะสีชัง ในสมัยรัชกาลที่ 5
ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมศิลปากร ได้ดำเนินการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์ รวมทั้งจัดนิทรรศการแสดงภายในอาคาร จนสามารถเปิดเป็น “พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน” อย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา นับเป็นพิพิธภัณฑ์พระราชฐานที่ตั้งอยู่บนเกาะเพียงแห่งเดียวของประเทศไทย
แม้พระที่นั่งและพระตำหนักทั้งหมด ..จะเลือนหายไปพร้อมกับกาลเวลา .. แต่ดูเหมือนว่าวันนี้ จิตวิญญาณแห่งพระราชฐาน เคยเป็นสถานที่ทรงสำราญพระราชหฤทัยในปิยะกษัตริย์พระองค์หนึ่ง และบรรเทาพระอาการประชวรในพระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ จะหวนกลับคืนมาอีกครั้ง ในฐานะ “พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน” อันจะตราครึงในความทรงจำของคนไทยไปตราบนานเท่านาน
ชั้นล่างของพระที่นั่ง จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับ พระจุฑาธุชราชสถาน พระราชวังแห่งแห่งเดียวบนเกาะ .. มีรูปปั้นหินอ่อนที่สวยงามอยู่ตรงกลางห้อง
ชั้นบนของพระที่นั่ง .. จัดแสดงพระบรมฉายลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์
มองออกไปจากเฉลียงชั้นสองของพระตำหนัก .. มองเห็นทะเลสีคราม น้ำสีมรกต และสระน้ำพข้างพระตำหนัก .. เป็นหนึ่งในวิวที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของ พระจุฑาธุชราชสถาน
ด้านหลังของเรือนวัฒนา ยังคงมีร่องรอยของรากฐานพระที่นั่ง เมขลามณี และพระตำหนักวาสุกรีก่องเก็จ
ถัดไปเป็นน้ำพุฝอยสุหร่าย .. หนึ่งใน 4 น้ำพุที่ยังคงเหลืออยู่คู่กาลเวลา .. น้ำพุทั้ง 4 ได้รับพระราชทานนามคล้องจองกันไปทั้งหมด คือ .. พุพุ่งกระแส พุแพร่เฉวียง พุเพนียงน้อย พุฝอยสุหร่าย
ด้านหน้าเรือนวัฒนา เป็นทางเดินเลียบทะเล .. ที่มีท่าเทียบเรือสีสันฉูดฉาดตัดกับสีมรกตของท้องน้ำ และสีครามใสของท้องฟ้า .. เหมือนภาพวาดในโปสการ์ดจากเมืองนอก
ด้านหน้าที่ติดกับทะเล มีทางเดินเลียบเชิงผา .. มองเห็นกระชังปลา .. และประภาคารอัษฎางค์สีขาวนวลในมุมหนึ่งที่สวยที่สุด
บันไดปูน ทอดยาวลงไปจนถึงทะเลและโขดหินด้านล่าง .. อากาศสดชื่น .. น้ำใสดังแก้ว .. แต่งแต้มให้วันธรรมดาๆ ที่ฟ้าสวย เป็นวันที่พิเศษขึ้นมาในทันทีทันใด...
ภายในบริเวณ พระที่นั่งจุฑาธุชราชฐาน .. ทุกบ่อน้ำ ทุกบันได ทุกทางสัญจร ล้วนทรงพระราชทานนามไว้อย่างคล้องจองกันทั้งหมด อาทิ เช่น
ทางโรยทองพราย ทางรายทองเหรียญ
ทางเดียรทองบาท ทางดาษทองใบ
ทางไล้ทองหลอม ทางอ้อมทองหล่อ
ทางต่อทองลวด ทางกวดทองก้อน
ทางดอนทองพัด ทางอัดทองทศ
ทางจรดทองพิศ ทางปิดทองแผ่น
ทางแล่นทองลิ่ม ทางริมทองมุ่น
ทางหนุนทองเม็ด ทางเสร็จทองอาบ
ทางราบทองแร่ ทางแผ่ทองเลี่ยม
ทางเอี่ยมทองลาด ทางพาดทองแท่ง ..ฯลฯ
“เรือนไม้ริมทะเล” .. ตั้งอยู่ใกล้กับ “เรือนวัฒนา” สันนิษฐานว่าเคยเป็นเรือนพักตากอากาศของฝรั่งที่เข้ามาค้าขายในสมัยนั้น รวมทั้งท่าเรืออัษฏางค์ .. สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าสร้างเมื่อไหร่
ที่สันนิษฐานว่าเคยเป็นเรือนพักตากอากาศของฝรั่งที่เข้ามาค้าขายในสมัยนั้น ต่อมาได้ปรับปรุงเป็นที่ประทับแรมของพระราชวงศ์ในคราวเสด็จมารักษาพระองค์ ก่อนที่จะมีการก่อสร้าง พระจุฑาธุชราชฐานในพุทธศักราช 2432
ปัจจุบันเป็นสำนักงาน ส่วนบริการนักท่องเที่ยว และจัดแสดงนิทรรศการสถานที่น่าสนใจใจเกาะสีชัง .. มีส่วนบริการนักท่องเที่ยวทางด้าน อาหารว่างและเครื่องดื่มเย็นๆ หลังการเดินชมพระราชฐานและเรือนต้นต่างๆ
ใกล้ๆกับเรือนไม้ริมทะเล มีจารึกเกี่ยวกับ พระจุฑาธุชราชสถาน และเรื่องต้นมะขามทรงปลูก
เรียงรายอยู่ข้างถนนทางเดิน คือม้านั่งยาว ที่มีต้นลั่นทมเป็นฉากหลัง .. ให้นั่งภายใต้โอบกอดของธรรมชาติ เบื้องหน้ามีทิวทัศน์กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ปล่อยจินตนาการให้ล่องลอยไปไกลในทะเลสวยอย่างเสรีโดยไม่มีอะไรมาขวางกั้น .. อยากจะเหงา .. อยากจะคิดถึงใครที่อยู่ไกล ..
.. อยากจะนั่งยามเช้าที่อากาศกำลังสบายๆ ลมเย็นพัดเบาๆให้หัวใจละมุน ชื่นชมกับเส้นแสง สีสวย ของอาทิตย์ยามโผล่พ้นน้ำทางด้านอ่าวไทย .. ทำได้เท่าที่หัวใจปรารถนา และเรียกร้อง ..
ปลายสุดของสายตา .. คือประภาคารอัษฎางค์ สีขาวนวล .. ตั้งโดดเด่นอยู่บนเนินเขาปลายแหลม .. ทำให้คิดถึงประภาคารอีกหลายแห่ง ที่เคยไปเยี่ยมเยือน .. คิดถึงเรือใบสีขาว ที่แล่นฝ่ายอดคลื่นไปยังอีกฝั่งของฟากฟ้า .. คิดถึงความรู้สึกดีๆที่มีให้กันทุกๆวัน .. ที่เลือนหายไปกับพรายฟองคลื่น ..
บันทึก
3
1
1
3
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย