2 ก.ย. 2024 เวลา 10:13 • ท่องเที่ยว

พระจุฑาธุชราชฐาน … รอยจำที่ไม่เคยจาง ที่้กาะสีชัง (2)

เรือนผ่องศรี .. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นอาไศรย์สฐาน เพื่อเป็นที่พักฟื้นสำหรับชาวไทยและชาวต่างประเทศ
สร้างแล้วเสร็จเมื่อปีพุทธศักราช 2432 และพระราชทานนามตามพระนามของ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี (พระยศในขณะนั้น) ซึ่งทรงบริจาคทรัพย์จัดซื้อเครื่องตกแต่งภายในเรือน
.. ต่อมาใช้เป็นเรือนประทับของพระราชวงศ์ ก่อนที่จะมีการสร้าง พระจุฑาธุชราชฐาน ในปีพุทธศักราช 2435
เรือนผ่องศรี ..เป็นตึกที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ก่ออิฐถือปูน เป็นตึกกลมตั้งอยู่บนเนินเขา มี 3 ห้อง เฉลียงรอบ
จัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติ และประวัติบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับเกาะสีชังในอดีต
พระบรมรูปที่ประดิษฐาน ณ กลางเรือนผ่องศรี ในปัจจุบัน ปั้นหล่อมาจากพระบรมฉายาลักษณ์ทรงฉาย ณ เกาะสีชัง (จากซ้าย) .. สมเด็จฯเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ .. ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 .. สมเด็จฯเจ้าฟ้าอัษฏางค์เดชาวุธ .. และสมเด็จฯเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
การเดินอย่างรื่นรมย์สู่เรือนผ่องศรี (เช่นเดียวกับการเดินรอบๆพระจุฑาธุชราชฐาน) .. เราจะเดินผ่านทางเดินก่ออิฐ ถือปูนอยู่รายรอบทุกด้าน ขนาบด้วยต้นลั่นทมสีขาวนวล ที่ทิ้งดอกแสนงามกล่นเกลื่อนอยู่ทั่วทางเดิน
.. เหมือนทางเดินสู่สรวงสวรรค์ ที่มีคนโปรยดอกไม้ไว้ต้อนรับแขกที่มาเยือน .. บรรยากาศอบอุ่น ในทุกก้าวย่าง
ทางเดินขึ้นไปที่พระตำหนัก ผ่านไปบนทางเดินสร้างด้วยปูน มีชื่อคล้องจองกันดังที่ได้กล่าวมาแล้ว บนเนินที่สูงขึ้นไประดับหนึ่ง เป็นที่ตั้งของลานสรงน้ำ .. สร้างด้วยไม้ฐานก่อปูน
.. ว่ากันว่า ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดที่จะเสด็จมาสรงน้ำที่ลานแห่งนี้มาก .. มหาดเล็กจะตักน้ำจากสระมหาโนดาดที่อยู่ข้างๆ .. มาถวายให้ล้นเกล้าฯได้ทรงสรงน้ำ ท่ามกลางธรรมชาติและสวนสวย ให้เบิกบานพระราชหฤทัย ..
สระแสนสวย รูปหัวใจแห่งนี้ .. ในอดีต น้ำไม่เคยเหือดแห้งไปจากสระ .. ดูจากรูปทรงของสิ่งก่อสร้างหลายอย่างที่นี่ ก็พอจะอนุมานว่า ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 คงเป็นพระมหากษัตริย์ที่โรแมนติกมากมาย .. เป็นที่รักและเทิดทูนของทุกผู้ที่ใกล้ชิด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชดำริว่า น้ำจืดที่จะใช้ในการบริโภคและใช้สอยใน เกาะสีชัง มีไม่เพียงพอ จึงโปรดเกล้าฯให้ “พระยาชลยุทธโยธิน” ออกตรวจหาตาน้ำ
เมื่อพบบ่อน้ำที่บ่อตาสีข้าง “วัดอัษฎางคนิมิตร” จึงโปรดเกล้าฯให้ขุดบ่อให้ลึกลงไปอีก ทำโพงสำหรับตักน้ำ แล้วก่อคันกั้นน้ำสำหรับกักน้ำฝน พระราชทานนามว่า “บ่ออัษฎางค์” และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เป็นสาธารณประโยชน์
ภายในบริเวณพระราชฐานมีลักษณะพื้นที่เป็นโขดหินและแอ่งธารตามธรรมชาติจำนวนมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อขอบหินยาปูน หรือขุดให้มีขนาดใหญ่ และลึกมากขึ้นเป็นบ่อน้ำ สระ ธาร สำหรับกักน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขามิให้ไหลลงทะเลไปหมด
บ่อ ธาร สระน้ำ จึงมีอยู่ทั่วบริเวณในระดับต่างๆ เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง รูปร่างต่างๆ ลดหลั่นกันไป และได้พระราชทานนามคล้องจองกันดังนี้
บ่อน้ำ ได้แก่ .. บ่อเชิญสรวล บ่อชวนดู บ่อชูจิตร บ่อพิศเพลิน บ่อเจริญใจ บ่อหทัยเย็น บ่อเพ็ญสำราญ บ่อศิลารอบ บ่อขอบก่อ บ่อล้อหอย บ่อน้อยเขา บ่อเลาเหมือนคู่ บ่อดูเหมือนต่อ
ธารน้ำ ได้แก่ .. ธารเครื่องหอมปน ธารสุคนธ์ปรุง
สระน้ำได้แก่ .. สระเทพนันทา สระมหาโนดาดต์ สระประพาสชลธาร
น้ำตก ได้แก่ .. น้ำตกไหลหลั่ง น้ำตกถั่งธาร น้ำตกปานร่ม น้ำตกสมพู่ น้ำตกพรูสวย
เรือนอภิรมย์ .. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นอาไศรย์สฐาน เพื่อเป็นที่พักฟื้นสำหรับชาวไทยและชาวต่างประเทศ สร้างแล้วเสร็จเมื่อปีพุทธศักราช 2432 และพระราชทานนามตามพระนามของ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ พระอรรคชายาเธอ (พระยศในขณะนั้น) ซึ่งทรงบริจาคทรัพย์จัดซื้อเครื่องตกแต่งภายในเรือน
.. ต่อมาใช้เป็นเรือนประทับของพระราชวงศ์ ก่อนที่จะมีการสร้าง พระจุฑาธุชราชฐาน ในปีพุทธศักราช 2435
หลังจากเกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 3436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจาอยู่หัว ไม่ได้แปรพระราชฐานมายังเกาะสีชังอีกเลย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รื้อพระที่นั่งและพระตำหนักซึ่งเป็นเครื่องไม้ไปสร้างที่อื่น นับจากนั้น พระจุฑาธุชราชฐานก็ร้างไป…
.. แม้เวลาที่ประทับเรือพระที่นั่งมหาจักรีเสด็จประพาสทะเล จะทรงแวะเกาะสีชังบ้าง แต่ก็ทรงประทับบนเรือพระที่นั่ง
การดูแลพระราชฐานนั้น ทรงโปรดเกล้าฯให้กรมทหารเรือเป็นผู้ดูแลรักษา แล้วเปลี่ยนมาเป็นกรมตำรวจภูธร ในปี 2450 ทรงอนุญาตให้กองตระเวนใช้เป็นที่ฝึกหัดเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี ที่เป็นอันธพาล ประพฤติชั่ว
ในปี 2488 ทางอำเภอศรีราชา ตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้น ชื่อโรงเรียนปัญจมราชานุสรณ์ ได้อาศัยเรือนอภิรมย์เป็นอาคารเรียน จนถึง ปี 2492 จึงได้ย้ายโรงเรียนไปอยู่ที่อื่น
ปัจจุบัน เรือนอภิรมย์ ซึ่งเป็นตึกยาว 5 ห้อง มีเฉลียงหน้าบ้าน จัดแสดงนิทรรศการสิ่งปลูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5
ถ้ำเสาวภา ..ซ่อนตัวอยู่ใกล้ๆกับเรือนอภิรมย์ .. ไม่ปรากฏว่ามีป้ายที่ชี้บ่งว่ามีถ้ำในเขตพระราชฐาน บังเอิญมองเห็นรั้วเตี้ยๆ และทางเดินเล็กๆ รกร้างอยู่แถวนั้น .. ด้วยความสงสัย จึงเดินช้าๆ เรื่อยๆลงไปตาม slope ทางเดิน .. สุดทางเดินจึงเห็นว่าเป็นที่ตั้งของถ้ำเล็กๆ นามว่า “ถ้ำเสาวภา”
ป้ายสลักข้อความที่ทางเข้าถ้ำ บอกไว้ว่า ..ถ้ำเสาวภา ถูกค้นพบเมื่อ เดือนกรกฎาคม ร.ศ. 112 ไม่ปรากฏว่ามีข้อความบอกให้รู้ว่าใครกันที่ค้นพบ unseen ของพระราชฐานแห่งนี้ ..
จากปากถ้ำ .. มีบันไดก่อด้วยอิฐ ลาดชันลงไปในเงาสลัวๆของแสงสว่างที่ส่องลอดต้นไม้เล็กๆ ที่ขึ้นระเกะระกะอยู่ในบริเวณนั้น
ภายในถ้ำชั้นแรกพบสิ่งสักการะที่คงมีผู้นำมาบวงสรวง หรือถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่าสิงสถิตอยู่ภายใน
เมื่อเดินลึกลงไปตามบันได .. มองไม่เห็นสิ่งของ หรือรูปปั้นใดๆ แต่ทางเดินซึ่งแคบอยู่แล้ว กลับแคบลงอีกมาก พร้อมกับเพดานถ้ำที่หากเดินทางต่อคงต้องก้มลอด และคลาน
.. ด้วยความกลัวสัตว์ที่มีพิษ ซึ่งอาจจะหลบซ่อนตัวอยู่ภายในถ้ำ .. เลยไม่ได้เดินทางต่อ .. หากใครจะลองคืบคลานไปจนสุดอีกด้านหนึ่งของถ้ำ .. ช่วยกลับมาเล่าด้วยนะคะ ว่ามีอะไรที่ปลายอุโมงค์ ...
พระเจดีย์อุโบสถวัดอัษฏางคนิมิต .. ในปี 2434 ทรงพระราชดำริว่า ที่ดินกับเขตวัดเกาะสีชังมีเรือนพักให้ชาวตะวันตกเช่าพักตากอากาศ และในเวลาที่ทรงประทับแรม ณ เกาะสีชัง ก็ประทับใกล้กับวัด
.. มีพระประยูรญาติ ข้าราชบริพาร มากมายร่วมตามเสด็จ ทำให้เกิดความไม่สะดวกหลายประการ รวมถึงไม่มีความสงบอย่างที่ทรงพระประสงค์ .. เพราะบริเวณนั้นพลุกพล่าน และเป็นเหตุให้ไม่เหมาะสมสำหรับพระสงฆ์ที่จะประกอบศาสนกิจ
จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างวัดขึ้นใหม่ บนไหล่เขา ด้านใต้ของพระราชฐาน พระราชทานนามว่า วัดอัษฎางคนิมิตร และพระราชทานอุทิศที่เขตพระอุโบสถให้เป็นที่วิสูงคามสีมา เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2435
ภายในวัดมี เจดีย์อุโบสถ ที่เรียกว่า “เจดีย์อุโบสถ” เพราะรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถนี้ขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2435 แทนวัดปลายแหลมที่มีมาแต่เดิม ..
“เจดีย์อุโบสถ” ออกแบบโดยช่างชาวอิตาเลียน ชื่อ ลาสซ์ มีรูปทรงกลมหลังคาแบน แล้วมีพระเจดีย์ซ้อนอยู่บนหลังคาอีกชั้นหนึ่ง
ที่น่าสนใจตือ ช่องประตูหน้าต่างของอุโบสถทำเป็นรูปโค้งยอดแหลม ช่องแสงประดับกระจกสีเป็นลวดลายสวยงาม (Stained Glass) คล้ายกับศิลปะ “โกธิก” ที่พบตามโบสถ์คริสต์ในยุโรป ขณะที่องต์เจดีย์เป็นทรงระฆังคว่ำทรงลังกา มีบัลลังก์ตรงกลาง อย่างที่นิยมกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
กล่าวได้ว่า รัชกาลที่ 5 ทรงนำศิลปะสถาปัตยกรรมของฝรั่งมาผสมผสานกันอย่างแยบยล และปรีชาชาญด้วยการให้เจดีย์ทรงไทยทับอยู่บนโบสถ์ทรงฝรั่ง ..
ทรงพระราชทานนาม “วัดอัษฏางคนิมิตร” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฏาค์เดชาวุธ ซึ่งทรงพระประชวร แล้วเสด็จมาประทับรักษาพระวรกายที่เกาะสีชัง
รอบๆพระอุโบสถหลังงาม เป็นลานประทักษิณรูปกลม กำแพงแก้วทำเป็นลูกกรงกระเบื้องดินเผาเคลือบล้อมรอบ บนราวลูกกรงตั้งศิลา จารึกคำสอนในพระพุทธศาสนา 8 อย่าง .. ให้พุทธศาสนิกชนที่สนใจ และศรัทธาได้มาอ่านน้อมรับคำสอนของพระพุทธองค์
ด้านหน้าพระอุโบสถด้านทิศตะวันออก ด้านที่มองเห็นทะเล ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 ทรงปลูกต้นโพธิ์พันธุ์พระศรีมหาโพธิ์ ซึ่ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระยาดำรงค์ราชานุภาพ ทรงนำมาหน่อมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย
มีหลักฐานในราชกิจจานุเบกษา ระบุว่า ระหว่างวันที่ 21-23 พฤษภาคม 2435 ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ในการพระราชกุศลวิสาขะบุรณมี เนื่องในวันวิสาขบูชา โดยทรงเวียนเทียนรอบพระอุโบสถวัดอัษฏางคนิมิตร ขณะที่ทหารเรือทำเพลงแตรถวาย ส่วนข้าราชบริพาร พากันจัดโคมวิสาขะเป็นรูปแปลกๆ เช่น รูปปลา หอย ช้างน้ำ ฯลฯ ตามแต่จะจินตนาการ แล้วนำมาแขวนบนเนินพระอุโบสถอย่างเอิกเกริก ..
ใกล้ๆกับวัดอัษฎางคนิมิตร .. เป็นที่ตั้งของเจดีย์เหลี่ยมขนาดเล็ก .. ไม่ทราบวัตถุประสงค์ และที่มาในการโปรดเกล้าฯให้สร้างเจดีย์องค์นี้ในเขตพระราชฐาน ..
ระฆังหิน.. ถัดจากเจดีย์เหลี่ยม .. มีส่วนที่เป็นหินห้อนใหญ่ๆ หน้าตาไม่มีความแตกต่างกับหินก้อนอื่นๆ ที่เรียงราย กระจัดกระจายอยู่ทั่วพระตำหนัก .. ความพิเศษของก้อนหินธรรมชาติอันนี้ ก็คือ .. เมื่อเคาะด้วยหินขนาดเล็กที่วางอยู่คู่กัน จะมีเสียงดังกังวาน ดุจระฆังที่ทำด้วยโลหะ เป็นที่น่าอัศจรรย์ .
ลองเคาะหินก้อนอื่นในบริเวณนั้น ไม่ปรากฏว่า มีเสียงระฆังออกมาให้ได้ยิน
.. ใครอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ .. ช่วยบอกทีค่ะ ..
โฆษณา