2 ก.ย. เวลา 14:19 • ความคิดเห็น

"ไม่รู้" แปลว่าอะไร เห็นพูดกันจัง

เราโตมากับคำว่า "ไม่รู้" และทุกครั้งที่ตอบคำถามพ่อแบบนี้ก็มักจะโดนตำหนิว่า"ไม่รู้อะไรเลยสักอย่าง แล้วรู้อะไรบ้าง" แม้แต่แม่เราที่พูดว่า"ไม่รู้" บ่อย ๆ ยังพูดแบบเดี๋ยวกับพ่อเราเป๊ะเลย ถ้าให้เราซื่อสัตย์และตอบไปตามตรง บางครั้งที่คำว่า"ไม่รู้"โพล่งออกมาจริง ๆ เรากำลังบอกว่า "ขี้เกียจอธิบาย"เสียมากกว่า พอเราสังเกตคนอื่นมากขึ้นเราถึงได้เข้าใจว่า เวลาตอบว่า"ไม่รู้" คนเรามักไม่ได้หมายความตามคำแปลของมันจริง ๆ
ครั้งนึงพ่อเราเคยบอกว่านักปรัชญาชาวกรีกคนหนึ่งเคยพูดประมาณว่า "สิ่งเดียวที่เขารู้คือเขาไม่รู้อะไรเลย"(พ่อเราพูดเป็นภาษาอังกฤษแต่เราเขียนแปลไทย) ถ้าให้เสิร์ชกูเกิ้ลตอนนี้คนที่พูดก็คือโสกราตีส แต่มันกลับดูขัดแย้งกับการตอบสนองของพ่อตอนเราตอบคำถามเขาว่าไม่รู้ เขามักจะบอกกลับมาว่าคนเราจะไม่รู้ไปเสียทกอย่างได้ไง ไอเดียเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็พูดออกมาได้ ไม่ใช่ตอบแค่ไม่รู้ มันดูไม่มีมารยาท ก็จริง จริงอย่างที่พ่อเราว่า แต่คงต้องเท้าความอย่างนี้ก่อน พ่อเราเป็นคนที่มีหัวคิดเชิงตรรกะมากมาย
เขาเคยเป็นวิศวกรไฟฟ้าที่สวีเดน และชอบเอาปัญหาเชิงวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์หรือจิตวิทยามาถามลองเชิงบ่อยครั้งบ่อยครั้งมาก ๆ จนบางครั้งก็ถามซ้ำแล้วซ้ำอีก เราตอบได้บางตอบไม่ได้บางแต่ประเด็นมันหลังจากที่เราตอบไป ไม่ว่าจะถูกหรือผิด พ่อเราก็จะอธิบายเสียยืนยาวเสมือนนั่งฟังเลคเชอร์ในห้องเรียน หลัง ๆมานี่(ซึ่งก็ทำงี้มาเป็นปี ๆ แล้ว)
เราก็เลยตอบไปว่าไม่รู้ แล้วเดินหนีออกจากบทสนทนาให้ไว แต่ก็หนีไม่พ้น แทบไม่เคยพ้น โดนดักแถมคำตำหนิมาด้วยอีกต่างหาก จริง ๆ ไม่ใช่ว่ามันเป็นเรื่องไม่ดี บางครั้งคำถามของพ่อเรามันน่าขบคิดมากจริง ๆ
แต่ให้ตายเถอะไม่ใช่ตอนนี้ได้ไหมล่ะ ขี้เกียจใช้สมอง ฉะนั้นบางครั้งคำว่าไม่รู้ของเราจึงกลายเป็น ขี้เกียจอธิบายบางละ ค่อยคิดได้ไหมบางละ ไม่ก็ถามว่าอะไรนะไม่ได้ฟัง และเราก็ไม่ได้มีนิสัยอย่างนี้กับพ่ออย่างเดียว ตอนไปเรียนพอเพื่อนถามอะไรเกี่ยวกับเนื้อหาเราก็มักจะตอบว่าไม่รู้ด้วยเหตุผลใกล้เคียงกันกับที่ตอบพ่อ ไม่ก็อยากจะบอกว่าเงียบ ๆ ก่อนค่อยคุยครูยืนมองพวกเราอยู่ คำว่าไม่รู้จึงกลายเป็นเสมือนคำต้องห้ามในครอบครัว
ไม่ว่าเราหรือแม่เราก็คงจะสำเนียกอยู่บ้างตอนจะตอบว่าไม่รู้ ส่วนพ่อเขาไม่ตอบว่าไม่รู้จะอธิบายทุกความเป็นไปได้ก่อนแล้วลงท้ายว่าให้เดาคงเป็นแบบนี้ เจ้าตัวเป็นคนสร้างแรงกดดันแบบนี้เองก็เลยไม่สามารถกลืนน้ำลายตัวเองได้ลง
อย่างไรก็ตามคำว่าไม่รู้ยังมีอีกหลายสถานการณ์ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความคิดเหตุผลหรือบุคลิกส่วนตัว เรามองว่ามันถูกฝั่งรากแอบแฝงในวัฒธรรมและทุนนิยมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เคยได้ยินคำถามที่ว่า "นัดเวลาฝรั่งหรือเวลาไทย?" ไหม มันเป็นคำถามเชิงล้อเลียนว่าถ้าจะเอาตรงเวลาก็คือเวลาฝรั่งส่วนเวลาไทยก็คือมาสายแน่นอนและอาจจะสายขั้นต่ำสามสิบนาทีเลยด้วยซ้ำ ทำให้กลายเป็นว่าเวลาเรามีนัดมันจึงเกิดเหตุการณ์ว่าไม่รู้มาตอนไหน
แม่เรามีพี่น้องญาติมิตรสหายมากมาย หลายครั้งพวกเขาจะมาเที่ยวที่บ้านมาสังสรรค์พูดคุยกัน และหลายครั้งก็ไม่ได้มาตรงเวลา พ่อกับแม่เราจึงทะเลาะกันเรื่องนี้บ่อยพอสมควร เวลาที่พ่อถามว่า เขาจะมากันกี่โมงตอนแรกก็ว่าจะมาเช้าแต่พอเที่ยงแล้วไม่มา ก็กลายเป็นว่า "ไม่รู้" ความไม่แน่นอนนี้ก็ไม่ได้แค่ส่งผลกับเรื่องของเวลา เราเชื่อว่าแผนงานการทำงานโครงงานบางอย่าง เมื่อทำเสร็จส่งไปเราอาจจะได้ยินวลีว่า ไม่รู้ว่าผ่านไหม
ครั้งนี้คงหมายความอย่างตรงตัว ก็ไม่รู้จริง ๆ ทั้ง ๆ ที่เราสามารถเดาได้อย่างข้อกำหนดกฏเกณฑ์ต่าง ๆ จากชิ้นงานที่หัวหน้าหรือรายงานที่ครูสั่ง หากพวกเขาทำตามกฏเกณฑ์ และสร้างมาตรฐานให้ตรงกันกับทุกคนจริง ๆ เราคงจะตอบว่า น่าจะผ่าน หรือไม่ก็ อาจจะไม่เพราะว่าขาดเรื่องนี้ไป แต่เพราะบางครั้งกฏเกณฑ์ไม่ได้ทำหน้าที่ของมัน จึงกลายเป็นการเดาใจแทน
คำว่าไม่รู้บางครั้งคือการหลีกหนีตัวตนของตัวเองได้เช่นกัน เพราะกลัวว่าถ้าตอบไปคนอาจจะเป็นคนผิด จึงกล่าวเพื่อหนีปัญหาไปว่า เรื่องนี้ก็ไม่รู้นะ เป็นงั้นไป การเป็นตัวของตัวเองมีความคิดและจุดยืนของตัวเองจึงกลายเป็นเรื่องเสมือนจะต้องปิดบังในสังคมไทย ถึงแม้ในปัจจุบันหลายคนกล้าที่จะหยิบยกประเด็นมาพูดด้วยความมั่นใจและใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยครั้งที่คนส่วนใหญ่ยังต้องใช้คำว่าไม่รู้เพื่อปกปิดหรือหลบหลีกความขัดแย้งในอนาคต
ทั้ง ๆ ที่มันคือความคิดเห็น และความคิดเห็นมีสองด้านเสมอ เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บางครั้งวัฒนธรรมที่ผู้คนถูกหล่อหลอมจึงกลายเป็นโซ่ตรวนของความกล้า ทุกคนต่างกลัวที่จะพูดในสิ่งที่คิดแล้วตอบไปว่า ไม่รู้ ราวกับมันคือโล่ปกป้องตนเอง แน่นอนละ เพราะบางครั้งกฏเกณฑ์ไม่ได้ปกป้องเรา
ทุกคนมีสิทธิ์ที่พูดว่าไม่รู้ ไม่ว่าจะสถานการณ์ไหน แต่คุณไม่ควรลืมว่าไม่รู้ ณ เวลานั้นของคุณหมายถึงอะไร เพราะตอนนี้ทุกคนต่างตื่นรู้และเข้าใจอะไรมากขึ้นแล้ว และคุณไม่ควรลืมว่าคุณควรมีความรับผิดชอบตอบสังคมฉะนั้นจะมาบอกว่าไม่รู้กับเรื่องนี้คงไม่ได้
สำหรับคนที่ติดตามอ่านบล็อก Danny Boy เราจะพยายามขี้เกียจให้น้อยแล้วหาเรื่องมาเขียนเล่น ๆ ให้ได้อ่านกันบ่อยขึ้นนะ รู้สึกยังไง เจอคำผิดอะไรก็แสดงความคิดเห็นทิ้งไว้ได้
โฆษณา