3 ก.ย. 2024 เวลา 05:06 • ธุรกิจ

‘ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น!’ ประยุกต์ใช้แนวคิดจากยอดนักสืบจิ๋วโคนันในการทำธุรกิจ

“ถึงตัวจะเป็นเด็กแต่สมองเป็นผู้ใหญ่ชื่อของเขาคือยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน” ใช่แล้วผู้อ่านไม่ได้มาผิดเพจหรอก นี่คือ Future Trends เอง เพียงแต่ในวันนี้เราเปิดตัวบทความแปลกใหม่หน่อย เพราะว่าเรื่องราวที่เราจะมาแบ่งปันเกี่ยวกับ นักสืบแว่นตัวเล็กจิ๋ว ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความซวยไปที่ไหนก็เกิดคดีขึ้นตลอด 😂
แต่ไม่ต้องกลัวไปในบทความนี้จะไม่มีความซวย เพราะเต็มไปด้วยความรู้สำหรับการทำธุรกิจที่ประยุกต์มาจากแนวคิดของยอดนักสืบจิ๋วโคนัน จะเป็นลักษณะอย่างไรนั้น ตามมาอ่านกันเลย
[ คิดอย่างมีเหตุผล และตั้งประเด็นที่ชัดเจน ]
ก่อนอื่นคุณต้องเข้าใจกับวิธีการคิดอย่างมีเหตุผล วิธีการคิดแบบมีเหตุผลค่อนข้างง่าย เพียงแค่การคิดอะไรก็ตามควรที่จะมีเหตุผลรองรับ เช่น คุณเจอชุดแสนสวยตัวหนึ่ง อยากได้มันมาก แต่ถ้าซื้อมาเลยจะเป็นการคิดที่ไม่สมเหตุสมผล ดังนั้น คุณต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ อย่าง คุณจะสามารถใส่มันได้ไหม ใส่แล้วดูดีหรือเปล่า การพิสูจน์เหตุผลเหล่านี้นำไปสู่การทดลองใส่ก่อน เมื่อคุณลองใส่แล้ว เห็นผลลัพธ์ชัดเจน เท่ากับว่ามีเหตุผลรองรับ ทำให้การซื้อสินค้าชิ้นนี้เป็นการคิดอย่างมีเหตุผล
สำหรับการทำธุรกิจแล้วก่อนจะคิดอย่างมีเหตุผล คุณต้องกำหนด ‘ประเด็น’ สำหรับการ ‘คิด’ ให้ชัดเจนก่อน ลองดูสถานการณ์ตัวอย่าง คุณได้รับมอบหมายให้ทำเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์สินค้าใหม่ คุณต้องการให้คนเห็นเยอะๆ จึงใช้งานแพลตฟอร์ม Facebook ที่มีผู้ใช้งานมาก เป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ แต่หัวหน้าคุณผ่านมาเห็นจึงได้แนะนำให้คุณใช้งานแพลตฟอร์มอื่นที่มีฐานแฟนคลับของแบรนด์อยู่แทน ถ้าคุณทำตามหัวหน้าแนะนำ คือการหลงประเด็น
เพราะความต้องการแรกของคุณคือ ใช้งานแพลตฟอร์ม Facebook ที่มีผู้ใช้งานมาก ถ้าคุณเปลี่ยนเพียงแค่อยากได้ฐานแฟนคลับ คุณก็ควรเปลี่ยนจุดประสงค์ตั้งแต่แรก ดังนั้น การยึดติดกับประเด็นของเราจะช่วยให้คุณคิดอย่างมีเหตุผลได้ดีขึ้น ไม่โอนเอนต่อสิ่งอื่นๆ
[ ใช้งาน Framework ที่เหมาะสมและไม่มากจนเกินไป ]
เมื่อคุณคิดอย่างมีเหตุผลได้แล้ว ต่อมาก็ต้องเข้าใจการทำธุรกิจที่มี Framework เป็นรากฐานสำคัญของการทำงาน ในโลกนี้มีแนวคิดที่หลากหลายมากสำหรับการทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็น 3C, Porter’s, 4Ps ดังนั้นคุณควรเลือกใช้แนวคิดที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณ ไม่ใช่ใช้ทุกอย่างจนเละเทะ
โคนัน บอกว่าแนวคิดที่เหมาะสมต่อการทำธุรกิจควรจะมีเพียงแค่ 3 แนวคิดเท่านั้น ไม่ควรมากไปกว่านี้ ในตัวอย่างโคนันแนะนำ 3 แนวคิดที่ใช้ร่วมกัน ได้แก่
3C (Customer, Company, Competitor) สำหรับการวิเคราะห์บริษัทตัวเอง
4P (Product, Price, Place, Promotion) สำหรับการวางแผนการตลาด
AMTUL (Awareness, Memory, Trial, Usage, Loyalty) สำหรับวิเคราะห์ผู้บริโภค
ทั้งสามแนวคิดจะช่วยส่งเสริมการทำธุรกิจในบริบทต่างๆ ที่ครอบคลุมกันและกัน ซึ่งเป็นคอมโบที่ดีและเหมาะสมสำหรับธุรกิจ
[ ท้ายที่สุดอย่าลืมสมมติฐาน ]
สมมติฐานเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่ไม่ควรพลาด เพราะทุกการคิดวิเคราะห์ต้องมีผลลัพธ์ และทุกการคิดวิเคราะห์ต้องมีสมมติฐาน ก่อนที่เราจะลงมือดำเนินการอะไรเราจำเป็นจะต้องคิดภาพที่ควรจะเป็นของแนวทางนั้นๆ ก่อน เช่น เราอยากจะปล่อยสินค้าตัวนี้ ผ่านช่องทาง Facebook ผลลัพธ์คือการมองเห็นเท่าไหร่ การเข้าถึงเท่าไหร่ และการเปลี่ยนแปลงเป็นลูกค้าเท่าไหร่ เป็นต้น
การตั้งสมมติฐานเป็นเหมือนการคาดเดาต่อแนวทางที่เราจะทำว่ามันจำ Lead พวกเราไปอยู่จุดไหน มันจะไม่หลุดโผลมากนักหรอก จะบวกลบตาม Performance ที่เราสามารถทำได้ แต่การตั้งสมมติฐานจะช่วยอย่างมากในการวางแผนการเคลื่อนไหวต่อไปล่วงหน้า ในกรณีที่สถานการณ์ไม่เป็นใจตามที่เราต้องการจะได้สามารถรับมือได้ทันท่วงที
ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดการประยุกต์ที่ได้รับจากหนังสือเรื่อง “คิดวิเคราะห์แบบโคนัน” ร่วมไขปริศนาและฝึกคิดอย่างมีเหตุผลไปพร้อมกับนักสืบโลกมังงะที่โด่งดังที่สุดตลอดกาล โดยผู้เขียน อุเอโนะ ซึโยชิ สำนักพิมพ์ WE LEARN
“เพราะความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น!”
เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์
#FutureTrends #FutureTrendsetter
โฆษณา