3 ก.ย. 2024 เวลา 13:08 • ธุรกิจ

การทำธุรกิจแบบ ‘O2O' หมัดเด็ดที่สินค้าไทยจะเอาชนะสินค้าต่างชาติได้ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ตั้งแต่โลกเราพบเจอกับโควิด 19 วิถีชีวิตของเราก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนล้วนตระหนักรู้กันดี โชคดีที่สถานการณ์โควิดเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงและถูกขับเคลื่อนโดยระบบดิจิทัล การทำงาน การเรียน และการใช้ชีวิตในเวลานั้นจึงเปรียบเสมือนการทดลองว่ามนุษย์จะสามารถอยู่ร่วมกับระบบดิจิทัลได้มากน้อยขนาดไหน
ซึ่งเราต่างรู้คำตอบดีว่าดิจิทัลสามารถเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ได้ แต่อย่างไรเสียเรายังคงต้องการสังคมที่จับต้องได้อยู่ดี ผู้อ่านอาจจะส่งสัยว่าเราเปิดบทความด้วยเรื่องของสังคมแห่งการจับต้องได้ทำไม?
พอดีเราอยากจะชวนผู้อ่านมาพูดคุยเกี่ยวกับตัวเลขทางสถิติที่น่าสนใจของคนไทยกัน รู้หรือไม่? ว่าจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมานี้ ส่งผลสู่การซื้อสินค้าช่องทางออนไลน์ในหลากหลายแพลตฟอร์มมากยิ่งขึ้น โดยรวมแล้วการซื้อสินค้าออนไลน์ หรือ E-Commerce มีส่วนแบ่งทางตลาดอยู่ที่ 51 เปอร์เซ็นต์
ในส่วนของแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศก็จะประกอบไปด้วย Shopee, Lazada, และ TikTok Shop โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เผยว่าการมาของโควิด ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เข้าถึงการซื้อขายสินค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้น
ส่งผลต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัล มันได้เปลี่ยนแปลงวิธีการทำธุรกิจในหลายด้าน นำไปสู่การเข้ามาของผู้ประกอบการต่างชาติในตลาดของประเทศไทย ซึ่งเป็นผลอันเนื่องมากจากการขายสินค้าผ่านระบบ E-Commerce ผู้ประกอบการต่างชาติไม่ต้องมีหน้าร้านในไทย เพียงแค่มีหน้าร้านในแพลตฟอร์มก็ได้แล้ว
สร้างความท้าทายให้กับผู้ประกอบการชาวไทยอย่างมาก ถึงแม้ในอดีตการแข่งขันระหว่างคนไทยและต่างชาติจะไม่ใช่เรื่องที่ใหม่นักในวงการธุรกิจ ผู้ประกอบการไทยล้วนมีประสบการณ์การต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์แฟชั่นที่มีชื่อเสียงจากยุโรป หรือจะเป็นแบรนด์เทคโนโลยีจากเอเชียด้วยกันเอง
ผู้ประกอบการไทยต้องต่อสู้กับคู่แข่งจากหลายทิศทางเสมอมา แต่ในตอนนี้มันท้าทายและยากลำบากมากขึ้นด้วยระบบ E-Commerce ที่ส่วนมากเป็นแพลตฟอร์มของต่างชาติ ทำให้เกิดการเสียค่า GP หรือ ค่าบริการ ถ้าหากคนไทยนำสินค้าไปขายในแพลตฟอร์มเหล่านั้น
แต่จะทำอย่างไรได้พฤติกรรมของผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว หนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญก็ยังคงต้องพึ่งพา E-Commerce แต่สิ่งที่เรามีเหนือกว่าชาวต่างชาติ คือ ‘Offline’
ในสภาพแวดล้อมที่ดูเหมือนว่าผู้ประกอบการไทยจะเสียเปรียบมากในตลาดการแข่งขัน เรายังมีกลยุทธ์ไม้เด็ดที่เรียกว่า Online-to-Offline (O2O) มันเป็นหมัดเด็ดที่ผู้ประกอบการไทยสามารถนำมาใช้เพื่อสร้างความแตกต่างและความได้เปรียบในตลาด
โดยกลยุทธ์ O2O ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้ประกอบการเชื่อมต่อระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์ได้อย่างลงตัว มันยังช่วยให้สามารถใช้ประโยชน์จากความเป็นเจ้าของ สร้างการปรับตัว และประสบการณ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคไทยได้ดียิ่งขึ้น
[ หมัดเด็ดของผู้ประกอบการไทย Online-to-Offline (O2O) ]
Online-to-Offline เป็นแนวคิดที่เน้นสร้างความเชื่อมโยงและความต่อเนื่องของการทำธุรกิจ ที่ผสมผสานความเป็นออนไลน์และออฟไลน์เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว โดยมุ่งเน้นให้ผู้บริโภคมีประสบการณ์การซื้อขายสินค้าผ่านหน้าร้าน ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี
Online-to-Offline Cycle คือกระบวนการที่เชื่อมโยงระหว่างประสบการณ์ออนไลน์ และออฟไลน์ของผู้บริโภค เพื่อสร้างเส้นทางการซื้อขายที่ครบวงจรและมีประสิทธิภาพ โดยมีขั้นตอนสำคัญดังนี้
1. Online Discovery (การค้นพบในช่องทางออนไลน์)
ขั้นตอนแรกของ O2O Cycle คือการดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือแอปพลิเคชันมือถือ ในขั้นตอนนี้ ผู้ประกอบการจะต้องมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ในสินค้าและบริการ โดยใช้กลยุทธ์การตลาดดิจิทัล เช่น การทำ SEO การโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย และการสร้างเนื้อหาที่ดึงดูดเพื่อให้ผู้บริโภคค้นพบแบรนด์ของคุณอย่างง่ายดาย
2. Offline Purchase (ดึงดูดให้เกิดการซื้อสินค้าในช่องทางออฟไลน์)
หลังจากที่ผู้บริโภคตระหนักรู้และสนใจสินค้าแล้ว ขั้นตอนถัดไปคือการกระตุ้นให้พวกเขามาซื้อสินค้าที่ร้านค้าจริง หรือ สถานที่ให้บริการ ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้เราเอาชนะ การขายสินค้าผ่านช่องทาง E-Commerce อย่างเดียวของผู้ประกอบการต่างชาติ
โดยการดึงดูดอาจจะใช้วิธีการเสนอโปรโมชั่นพิเศษ การใช้คูปองที่ได้รับจากทางออนไลน์ทางหน้าร้าน หรือการจัดกิจกรรมที่ดึงดูดลูกค้าให้มาซื้อสินค้าหน้าร้าน
ดังนั้น ขั้นตอนนี้เป็นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์ O2O ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและประสบการณ์ที่ดีในการซื้อสินค้า
3. Post-Purchase Feedback (การแสดงความคิดเห็นหลังการซื้อ)
หลังจากที่ผู้บริโภคได้ทำการซื้อสินค้าไปแล้ว ผู้ประกอบการควรสนับสนุนให้พวกเขาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น รีวิวบนเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือแอปพลิเคชันของร้าน ขั้นตอนนี้ไม่เพียงช่วยสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ แต่ยังเป็นการเก็บข้อมูลและข้อเสนอแนะที่สำคัญในการปรับปรุงสินค้าและบริการในอนาคต
4. Amplification and Advocacy (การขยายและการสนับสนุน)
ขั้นตอนสุดท้ายของกลยุทธ์ O2O คือการเปลี่ยนให้ลูกค้ากลายเป็นผู้สนับสนุนแบรนด์ โดยการแชร์ประสบการณ์ที่ดีของพวกเขาผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น การเขียนรีวิวที่ดี การแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย หรือการแนะนำสินค้าให้กับคนรู้จัก สิ่งนี้ช่วยขยายขอบเขตการรับรู้ของแบรนด์และสร้างการสนับสนุนที่ยั่งยืนจากฐานลูกค้าที่มีอยู่
เราจะเห็นได้ถึงความสำคัญที่สุดในข้อ 2 แต่ว่าการจะเกิดเป็นวงจรได้นั้นไม่สามารถขาดข้อใดข้อหนึ่งไปได้เลย ข้อ 3 และ 4 เองก็มีส่วนช่วยให้เกิดการขายสินค้าผ่านหน้าร้านได้สม่ำเสมอ นำไปสู่การเอาชนะแพลตฟอร์มและผู้ประกอบการตต่างชาติได้
[ ปัจจัยและเหตุผลที่ทำให้กลยุทธ์นี้เป็นหมัดเด็ดของผู้ประกอบการไทย ]
1. ความเข้าใจในวัฒนธรรมและพฤติกรรมของผู้บริโภคไทย
ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการท้องถิ่น ผู้ประกอบการไทยมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งในวัฒนธรรม ประเพณี และพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคไทย ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการออกแบบประสบการณ์ O2O ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างลงตัว
ความเข้าอกเข้าใจนี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต่างชาติที่ไม่เคยมาตั้งรากฐานในประเทศไทย สามารถที่จะเข้าถึงได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทย สามารถนำเสนอสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับความต้องการได้ดีกว่า รวมถึงสิ่งที่เป็นกระแสในประเทศอีกด้วย
ตัวอย่างในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือ วันแม่แห่งชาติ ผู้ประกอบการไทยสามารถสร้างแคมเปญ O2O ที่สอดคล้องได้ เช่น การมอบส่วนลดพิเศษสำหรับการพาคุณแม่มาซื้อสินค้าหน้าร้าน เป็นต้น
2. การใช้ประโยชน์จากช่องทางออฟไลน์
หนึ่งในความได้เปรียบที่สำคัญของผู้ประกอบการไทยคือมีช่องทางออฟไลน์ เช่น ร้านค้าปลีกในพื้นที่ ตลาดสด หรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ช่องทางออฟไลน์เหล่านี้เป็นจุดแข็งที่ช่วยเสริมสร้างกลยุทธ์ O2O ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในขณะที่ผู้ประกอบการต่างชาติต้องเน้นไปที่การขายสินค้าออนไลน์ ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ช่องทางออฟไลน์ในการสร้างประสบการณ์ที่เหนือกว่า โดยการเชื่อมโยงประสบการณ์ในร้านค้าจริงกับการซื้อขายออนไลน์ เช่น การให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าราคาพิเศษผ่านเว็บไซต์และมารับสินค้าที่ร้านเพื่อรับของสมนาคุณเพิ่มเติม
3. การปรับตัวและการสร้างความยืดหยุ่น
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในสังคม ผู้ประกอบการไทยจะมีความได้เปรียบมากกว่า เพราะรู้เท่าทันเหตุการณ์ สามารถปรับตัวและการสร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจได้สูง ซึ่งการปรับตัวนี้อาจรวมถึงการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ทางการตลาด การปรับปรุงสินค้า และปรับปรุงบริการ ให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนไปของลูกค้า หรือการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น
[ การใช้กลยุทธ์ O2O ร่วมกับ Omni-Channel ]
Omni-Channel เป็นการสร้างประสบการณ์การซื้อขายที่เชื่อมต่อกันในทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือออฟไลน์ ทำให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนผ่านจากช่องทางหนึ่ง ไปยังอีกช่องทางหนึ่งได้อย่างไร้รอยต่อ การใช้กลยุทธ์ O2O ร่วมกับ Omni-Channel สามารถช่วยเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าและสร้างความภักดีต่อแบรนด์ได้อย่างมาก
การใช้กลยุทธ์ O2O ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ของลูกค้าระหว่างช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ลูกค้าอาจค้นพบสินค้าผ่านการโฆษณาออนไลน์ (Online Discovery) จากนั้นไปทดลองสินค้าที่ร้านค้า (Offline Purchase) และสุดท้ายก็ให้ฟีดแบ็กผ่านช่องทางออนไลน์ หรือแชร์ประสบการณ์กับเพื่อนในโซเชียลมีเดีย (Post-Purchase Feedback & Amplification and Advocacy)
สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างประสบการณ์ที่สอดคล้องกัน เช่น ระบบ CRM (Customer Relationship Management) ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเก็บข้อมูลและติดตามพฤติกรรมของลูกค้าในทุกช่องทาง ทำให้สามารถนำส่งข้อเสนอหรือโปรโมชันที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้จากทุกช่องทาง
[ โดยสรุป ]
กลยุทธ์ Online-to-Offline (O2O) เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่ผู้ประกอบการไทยสามารถนำมาใช้เพื่อเอาชนะคู่แข่งจากต่างชาติในตลาดที่เต็มไปด้วยการแข่งขันได้ ด้วยการเชื่อมโยงช่องทางออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันอย่างลงตัว ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ความเข้าใจในตลาดท้องถิ่นและพฤติกรรมของผู้บริโภคในการสร้างประสบการณ์การซื้อที่ไม่เหมือนใคร สร้างความผูกพันกับลูกค้า และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
ในยุคที่การค้าขายออนไลน์เติบโตอย่างรวดเร็ว การนำกลยุทธ์ O2O มาใช้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มยอดขาย แต่ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความภักดีในแบรนด์ นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นคนในพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ผู้ประกอบการต่างชาติยังเข้าไม่ถึง
เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์
#FutureTrends #FutureTrendsetter #FutureTrendsBusiness #O2O
โฆษณา