3 ก.ย. 2024 เวลา 02:09 • หุ้น & เศรษฐกิจ

💰💸ไม่ใช่แค่ค่าแรงขั้นต่ำ.. แต่เป็นค่าจ้างเพื่อชีวิต ?

ค่าแรงขั้นต่ำหมายถึงค่าตอบแทนต่ำสุดที่นายจ้างต้องจ่ายให้กับลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกป้องแรงงานจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยรับรองว่าแรงงานทุกคนจะได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมสำหรับการทำงานและสามารถดำรงชีวิตในขั้นพื้นฐานได้
แนวคิดของค่าแรงขั้นต่ำเริ่มปรากฏขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งตรงกับช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ประเทศแรกที่กำหนดค่าแรงขั้นต่ำ คือ นิวซีแลนด์ในปี 1894 ตามมาด้วยออสเตรเลียในปี 1896 โดยมุ่งเน้นไปที่การปกป้องแรงงานสตรีและเยาวชน และเมื่อเวลาผ่านไป แนวคิดค่าแรงขั้นต่ำได้แพร่ขยายไปทั่วโลก และกลายเป็นส่วนสำคัญของนโยบายแรงงานในหลายประเทศ
จากข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในปี 2024 กว่าร้อยละ 90 ของประเทศทั่วโลก หรือ 193 ประเทศ มีการออกกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ อาทิ
🇺🇸 สหรัฐอเมริกา: ค่าจ้างขั้นต่ำกลางปี 2024 อยู่ที่ 7.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง โดยความสำเร็จของค่าแรงขั้นต่ำในสหรัฐฯ ยังเป็นที่ถกเถียงกัน บางกลุ่มเห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำได้ยกระดับคนหลายล้านคนให้ออกจากความยากจน ขณะที่บางกลุ่มแย้งว่าค่าจ้างขั้นต่ำนำไปสู่การสูญเสียงานในอุตสาหกรรมที่มีค่าแรงต่ำ
🇬🇧 สหราชอาณาจักร: สหราชอาณาจักรใช้ระบบค่าจ้างขั้นต่ำแบ่งตามอายุ โดยในปี 2024 ค่าจ้างสำหรับแรงงานอายุ 23 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 10.42 ปอนด์ต่อชั่วโมง ระบบนี้ได้รับการยกย่องว่าสามารถลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ได้ แต่ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความแตกต่างทางภูมิภาคและผลกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็ก
🇦🇺 ออสเตรเลีย: ออสเตรเลียเป็นที่รู้จักดีในฐานะประเทศที่มีค่าจ้างขั้นต่ำสูงที่สุดในโลก ปัจจุบันอยู่ที่ 23.23 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อชั่วโมง แม้ว่านโยบายนี้จะประสบความสำเร็จในการรักษามาตรฐานการครองชีพของแรงงาน แต่ธุรกิจขนาดเล็กและอุตสาหกรรมที่มีทักษะต่ำยังคงเผชิญความท้าทายด้านความสามารถในการแข่งขัน
🇩🇪 เยอรมนี: เยอรมนีได้นำค่าจ้างขั้นต่ำมาใช้ในปี 2015 ปัจจุบัน ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 12 ยูโรต่อชั่วโมง โดยเยอรมนีได้รับการยกย่องว่าสามารถลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ได้โดยไม่ทำให้เกิดการสูญเสียงานที่สำคัญ
🇿🇦 แอฟริกาใต้: ถือเป็นประเทศล่าสุดที่ใช้ระบบค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเริ่มใช้ในปี 2019 โดยครอบคลุมแรงงานภาคเกษตรและภาคครัวเรือนซึ่งถือเป็นแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ แต่อัตราเงินเฟ้อที่สูงได้ลดทอนมูลค่าที่แท้จริงของค่าจ้างอย่างต่อเนื่อง
🇹🇭 ไทย: ประเทศไทยได้นำนโยบายค่าแรงขั้นต่ำมาใช้ครั้งแรกในปี 1972 โดยเริ่มจากการกำหนดอัตราค่าจ้างตามอุตสาหกรรมและภูมิภาค ทั้งนี้ ในปี 2013 ได้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้ที่ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ปัจจุบันอยู่ที่ 330 ถึง 370 บาทต่อวันแตกต่างกันในแต่ละจังหวัด
ทั้งนี้ Bnomics ได้คำนวณค่าจ้างขั้นต่ำให้ให้สะท้อน ความเท่าเทียมของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity: PPP) เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบค่าจ้างขั้นต่ำระหว่างประเทศได้ โดยการเปรียบเทียบนี้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของอำนาจซื้อแม้กระทั่งในประเทศที่ค่าจ้างขั้นต่ำนั้นใกล้เคียงกัน ผลจากการเปรียบเทียบค่าจ้างขั้นต่ำต่อวันกับราคาของบิ๊กแมคใน 46 ประเทศ พบว่า 5 ประเทศที่มีค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงที่สุด ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ แคนาดาและเกาหลีใต้ แรงงานสามารถซื้อบิ๊กแมคได้ 16 ถึง 27 ชิ้นต่อวัน
ขณะที่ 5 ประเทศที่มีค่าจ้างขั้นต่ำที่ต่ำที่สุด ได้แก่ ศรีลังกา อินเดีย ปากีสถาน นิคารากัวและเวียดนาม แรงงานสามารถซื้อได้เพียง 0.5 ถึง 2 ชิ้นต่อวัน สำหรับประเทศไทยแรงงานสามารถซื้อบิ๊กแมคได้ 3 ชิ้นต่อวัน ซึ่งถือว่าน้อยกว่าค่ากลาง (มัธยฐาน) ที่ 4 ชิ้นต่อวัน
อย่างไรก็ตาม บิ๊กแมคอาจถือเป็นสินค้าหรูหราในบางประเทศหรืออาจเป็นเพียงแค่สินค้าฟาสต์ฟู้ดในบางประเทศ รวมทั้งราคาของบิ๊กแมคยังขึ้นกลยุทธ์แมคโดนัลด์และไม่ได้ขึ้นอยู่กับค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศ แต่การเปรียบเทียบนี้จะทำให้เราเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าความหมายของการมี ”ค่าจ้างเพื่อชีวิต” ในแต่ละประเทศเป็นอย่างไร 🍔
#Bnomics
โฆษณา