3 ก.ย. 2024 เวลา 03:09 • ประวัติศาสตร์

ปางพระพุทธรูป เดอะ ซีรีส์: ปางห้ามสมุทร

ไหนก็เข้าช่วงหน้าฝนกันแล้ว หลายพื้นที่เจอฝนตกหนัก หรือทางฝั่งน้ำยม น้ำน่านเจอน้ำท่วมกันแล้ว เลยคิดว่าจะชวนมาทำความรู้จักกับพระพุทธรูปที่ตามความเชื่อคนโบราณเชื่อว่าสามารถห้ามฝนได้ นั่นก็คือ พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ครับ
พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรนี้เป็นพระพุทธรูปยืน พระหัตถ์ทั้ง 2 ยกขึ้นในระดับพระอุระตั้งพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้าแสดงปางห้าม ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้พบทั้งในงานประติมากรรมและจิตรกรรม ปางห้ามสมุทรนี้ยังมีสถานะเป็นปางพระพุทธรูปประจำวันจันทร์และปีฉลูด้วย
พระประธานปางห้ามสมุทร วัดบวรสถานสุทธาวาส (ร้าง) กรุงเทพมหานคร
ปูนปั้นเขียนสีปิดทอง มีข้อความ "ทรงห้ามสมุท" วัดทองนพคุณ
ที่มาของพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรนั้นมีที่มาจากเหตุการณ์ในสมัยพุทธกาลเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม และได้โปรดอุรุเวลกัสสปะ ซึ่งในครั้งสุดท้ายนั้น ได้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมใหญ่ อุรุเวลกัสสปะคิดว่าพระพุทธเจ้าจมน้ำไปแล้ว แต่ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าได้แสดงปาฏิหาริย์ห้ามน้ำที่กำลังไหล่บ่ามายังที่พักของพระองค์ไว้ ทำให้อุรุเวลกัสปปะเกิดเลื่อมใส และขออุปสมบทกับพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งเหล่าบริวาร 500 คน
จิตรกรรมพุทธประวัติ วัดกันมาตุยาราม
เนื่องจากที่มาของพระพุทธรูปองค์นี้เกี่ยวข้องกับการห้ามน้ำ ดังนั้น จึงเกิดความเชื่อว่าด้วยการอัญเชิญพระพุทธรูปปางนี้ออกมาเพื่ออธิษฐานห้ามฝน โดยจะหันหน้าพระพุทธรูปองค์นี้ไปยังทิศทางที่ฝนจะตก
รวมไปถึงวัดบางแห่งที่ประสบปัญหาหรือกังวลเกี่ยวกับเรื่องน้ำก็มีการตั้งพระพุทธรูปปางนี้โดยหันหน้าไปยังทะเลเพื่อห้ามไม่ให้น้ำเข้ามาด้วยเช่นกัน
พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร วัดขุนสมุทรจีน (ที่มาภาพ : FB เที่ยววัด)
โฆษณา