3 ก.ย. 2024 เวลา 05:43 • ข่าวรอบโลก

ตุรกี “ม้าโทรจัน” ของ BRICS หรือ NATO

เมื่อวานที่ผ่านมา 2 กันยายน 2024 ตุรกีได้ยื่นข้อเสนอขอสมัครเข้าร่วมกับกลุ่ม BRICS อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ไม่ค่อยเป็นข่าวดังเท่าไหร่ตามหน้าสื่อตะวันตก (เพราะอาจพวกเขาไม่ต้องการให้คนรู้มากนัก) - อ้างอิง: [1]
3
แน่นอนว่าแนวคิดในการตอบรับการสมัครของตุรกีเพื่อเข้าร่วม BRICS นั้นมีความเสี่ยงหลายประการสำหรับกลุ่มประเทศผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มดังกล่าว (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้)
เครดิตภาพ: AP
ความเสี่ยงหลักคือการที่ตุรกีอยู่ในวงโคจรทางการทหารและการเมืองของนาโต (เป็นสมาชิกของนาโต) ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำกลุ่ม นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงอื่นๆ เช่น ความพยายามอย่างไม่สิ้นสุดของ “เออร์โดกัน” ที่จะ “เหยียบเรือสองแคม”
นักวิเคราะห์ชาวรัสเซีย Vladimir Avatkov ซึ่งเป็นอาจารย์และทำงานอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียซึ่งชำนาญเป็นพิเศษเกี่ยวกับเรื่องตุรกี เขาได้ให้ความเห็นว่า “เออร์โดกัน” ผู้นำตุรกีเข้าใจว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลง ตะวันตกกำลังน่าดึงดูดน้อยลง และจำเป็นต้องตามสถานการณ์โลกที่มีศูนย์กลางหลายกลุ่มที่ไม่ใช่ตะวันตกเพียงอย่างเดียว ซึ่งเดินมาถึงจุดเปลี่ยนแล้ว (โลกหลายขั้ว) - อ้างอิง: [2]
แต่สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่าอังการากำลังบอกลาตะวันตก ไม่ใช่เลย! “เออร์โดกันต้องการเหยียบเรือสองแคม” และแนวทางนี้ก็ไม่สามารถยกเลิกหรือมีอะไรที่ทำให้เออร์โดกันเปลี่ยนใจได้ง่ายๆ ด้วย และเขาก็ตระหนักเรื่องนี้เป็นอย่างดี เขารับรู้ได้ว่าลมกำลังพัดไปทางไหน ซึ่งเขาก็หวังที่จะเล่นตามกระแสเพื่ออยู่ในอำนาจยาวๆ
1
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ “ต้นทุนบริหารจัดการองค์กร” อีกเรื่องหนึ่ง ยิ่งสมาชิกประเทศในกลุ่มที่ถือว่ามีสิทธิและอำนาจเท่าเทียมกันแต่มีความหลากหลายในเรื่องกฎหมายของแต่ละประเทศมากเท่าไร ก็จำเป็นต้องมีการจัดการระเบียบและบริหารภายในกลุ่มอย่างเป็นระบบมากขึ้น (มีต้นทุนเพิ่มขึ้น)
1
ซึ่งในกรณีนี้ BRICS น่าจะต้องลงมือจัดการกับสมาชิกที่สมัครเข้ามาใหม่และพิจารณาอย่างรอบคอบ... ไม่ต้องพูดถึงปัญหาเฉพาะเจาะจงของแต่ละประเทศ อย่างกรณีของตุรกี เช่น ปัญหาค่าเงินสกุลลีราของตุรกี (เฟ้อหนัก)
หรือ “การฟอร์มศูนย์กลางอำนาจของชาวเติร์กภายในกลุ่ม BRICS” โดยมีตุรกีและอาเซอร์ไบจานเป็นผู้มีบทบาท (ประเทศหลังนี้ก็ได้ยื่นขอเข้าร่วมกลุ่มด้วยเช่นกัน - อ้างอิง: [3]) สองประเทศนี้ถูกกันและมีลักษณะร่วมกันของวัฒนธรรม เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกัน (ท่อก๊าซเชื่อม) โดยมีอาร์เมเนียที่ไม่ถูกกันอยู่คั่นกลาง (เพิ่งมีการผนวกดินแดนและกวาดล้างชาติพันธุ์ในพื้นที่พิพาทกับอาร์เมเนีย โดยมีกองกำลังร่วมจากตุรกีคอยสนับสนุน)
เครดิตภาพ: Reuters
หากเราพิจารณาการเข้าร่วม BRICS ผ่านบริบททางด้านภูมิศาสตร์และการควบคุมเส้นทางการขนส่งทั่วโลกโดยเฉพาะยูเรเซีย (ยุโรป + เอเชีย) ตุรกีก็อาจกลายเป็น “โบนัสก้อนใหญ่” ตุรกีเป็นศูนย์กลางในอุดมคติที่เส้นทางสายไหมใหม่จากจีนไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียนปูทางไปสู่ยุโรป ทั้งทางบกผ่านช่องแคบบอสฟอรัสและท่าเรือที่ปลอดการสู้รบหรือสงคราม
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ “ตุรกีก็ถูกมองว่าเป็นม้าโทรจันสำหรับ NATO” ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับตุรกีของเออร์โดกันในช่วงเวลานี้ก็มีความซับซ้อน ความสัมพันธ์ที่ (ยังคง) เป็นมิตรซึ่งกันที่เราเห็นจากภายนอก (ถึงแม้กระท่อนกระแท่นอยู่บ้างแต่ก็กลับมาคืนดีกันได้) - อ้างอิง: [4]
ทั้งสองประเทศ “รัสเซีย” กับ “ตุรกี” ถึงแม้จะอยู่คนละฝ่ายกันก็ตาม ความสัมพันธ์ที่ดียังคงดำเนินต่อไปแม้หลังจากที่รัสเซียเริ่มบุกเต็มรูปแบบเข้าไปในยูเครนที่มีนาโตอยู่เบื้องหลังและสนับสนุน มองดูผิวเผินตุรกีก็เรียกได้ว่าอยู่คนละฝ่ายอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามเกมใหญ่ทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้
1
การทูตไอศกรีมที่โด่งดัง ระหว่าง “ปูติน” กับ “เออร์โดกัน” เครดิตภาพ: Middle East Eye
สำหรับทางฝั่ง BRICS แล้ว มองกันว่า “ตุรกีไม่ได้ดูเหมือนม้าโทรจัน” เท่ากับนาโต ตุรกีเป็นสมาชิกของนาโตซึ่งอาจเป็นปัญหาใหญ่สุด แต่มันก็เป็นข้อเท็จจริง พวกเขาต้องการหากลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนประเทศ แต่ทว่าสหภาพยุโรป (อียู) ที่ตุรกีได้เริ่มคุยขอเข้าร่วมไปนานแล้วร่วมเกือบ 20 ปี แต่ทางฝั่งยุโรปก็ไม่ได้ยอมตอบรับพวกเขาเป็นสมาชิกและยื้อมาเรื่อยๆ ตุรกีมีสถานะเป็นเพียงพันธมิตรทางยุทธศาสตร์กับอียูเท่านั้น - อ้างอิง: [5]
2
ถ้าให้มองก็ไม่น่ายากว่าทำไมอียูไม่ยอมรับตุรกีเป็นสมาชิก ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นด้วยเรื่องศาสนาและวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกับทางยุโรปส่วนใหญ่ และอีกประเด็นคือพวกเขาคืออดีตจักรวรรดิออตโตมันที่ทำสงครามกับรัฐในยุโรปหลายที่
ถ้าใครไม่รู้ว่า “ม้าโทรจัน” คืออะไร ในบริบทของเรื่องที่เขียนมานี้ หมายถึง “อุบายของชาวกรีกในสงครามเมืองทรอย” ตามมหากาพย์อีเลียด ชาวกรีกส่งม้าไม้ขนาดใหญ่เข้าไปในเมืองทรอยที่มีป้อมปราการหนาแน่น ทำทีว่าเป็นของบรรณาการสำหรับใช้บูชาเทพเจ้า และกองทัพกรีกก็ล่าถอยทำทีว่าแพ้แล้วไปหลบซ่อนที่อื่น พอเมืองทรอยลากเข้าไปในเมืองเพื่อฉลองชัยชนะ ตอนดึกทหารกรีกที่ซ่อนในม้าไม้ก็ออกมาทำลายข้างในกรุงทรอย เปิดประตูเมืองให้กองทัพที่อยู่ด้านนอกเข้ามาทำลายได้สำเร็จ
ปัจจุบันอนุสาวรีย์ม้าไม้เมืองทรอยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อยู่ในประเทศตุรกี
เครดิตภาพ: canakkaleotelleri.com
เรียบเรียงโดย Right Style
3rd Sep 2024
  • แหล่งข่าวและข้อมูลอ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: Times Now World / Firstpost / Getty Images>
โฆษณา