รู้จัก จำปาขอม พันธุ์ไม้ดอกหอมภาคใต้

จำปาขอม ชื่อวิทยาศาสตร์ 𝑷𝒐𝒍𝒚𝒂𝒕𝒉𝒊𝒂 𝒄𝒂𝒖𝒍𝒊𝒇𝒍𝒐𝒓𝒂
Hook.f. & Thomson
ลักษณะทางสัณฐานวิทยา ไม้ต้นขนาดเล็ก ลำต้น สูง 5 - 8 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางที่โคนต้น 10 - 15 เซนติเมตร เปลือกลำต้นสีน้ำตาล ใบ รูปขอบขนานแกมรูปรี ขนาด 4-8 x 10-20 เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบแหลม เส้นกลางใบและเส้นใบด้านล่างนูนมีขนสีน้ำตาล ขอบใบเป็นคลื่น ก้านใบยาว 3 - 5 มิลลิเมตร
ดอก ออกตามลำต้นเป็นกระจุก 3 - 6 ดอก ดอกสีเหลืองนวลหรือแดงเมื่อบานแล้ว เปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้ม ก้านดอกยาว 2-3 เซนติเมตร ลักษณะกลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร กลีบดอกเรียงเป็นสองชั้น แต่ละกลีบขนาด 4-6 x 3.5-5.5 เซนติเมตร มีกลิ่นหอม
ผล ผลกลุ่ม ก้านช่อยาว 2-3 เซนติเมตร มี 12-18 ผล ก้านผลยาวประมาณ 1 เซนติเมตร แต่ละผลกลมรี ขนาด 1.5-2 x 2-2.5 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเหลืองอมส้ม เมื่อแก่สีแดงอมม่วง ช่วงการออกดอกและติดผล : ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงกันยายน
พบในป่าดิบชื้นทางภาคใต้ ความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเล 100 - 500 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำเชื้อเพลิง และดอกนำมาสกัดเป็นเครื่องหอม ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด
📸 : Sarawut Plongnui
ข้อมูล : ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้
ที่มา : อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ จ.พังงา สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช)
#จำปาขอม #อุทยานแห่งชาติเขาหลักลำรู่ #พังงา #กรมอุทยานแห่งชาติ
โฆษณา