4 ก.ย. เวลา 12:00 • ธุรกิจ

อยากเริ่มต้นธุรกิจ จะหาไอเดียจากที่ไหนดี

ในช่วงไตรมาสแรกของปี เชื่อว่า ใครหลายคน อาจมีความสนใจที่อยากจะริเริ่มทำอะไรใหม่ โดยเฉพาะการเริ่มต้นธุรกิจ เพราะอยากหาช่องทางการสร้างรายได้ที่เป็นของตัวเอง มีอิสระในการทำงาน และสามารถควบคุมการสร้างธุรกิจได้ด้วยตัวเอง แต่ก็อาจเจอปัญหาว่า ไม่มีไอเดียในการเริ่มต้นธุรกิจ หรือไม่รู้ว่าจะหาไอเดียในการเริ่มต้นธุรกิจจากไหนดี?
สำหรับบทความนี้ จะแนะนำ 4 ไอเดียการเริ่มต้นธุรกิจ ที่สามารถลองเลือกทำตามคำแนะนำจาก 1 ใน 4 ข้อต่อไปนี้ ก็อาจทำให้เราได้แนวคิดในการสร้างเป็นธุรกิจที่มีโอกาสประสบความสำเร็จตามที่เราต้องการได้
1) ไอเดียจากปัญหาหรือสิ่งที่เรา “รำคาญใจ”
2
เป็นไอเดียธุรกิจที่เกิดจากสิ่งที่เราเจอบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน แล้วรู้สึกว่า ยังไม่มีสินค้าหรือบริการในท้องตลาดที่ถูกใจ สามารถตอบโจทย์ความรำคาญใจของเราได้ เราก็เลยอยากแก้ปัญหานั้น โดยการสร้างเป็นธุรกิจขึ้นมาเอง เช่น คนชอบกินปลาทอด แต่ไม่ชอบแกะปลา เพราะเสียเวลา กว่าจะแกะก้างปลาออกก็ยาก และอาจจะยังหลงเหลือก้างปลาให้บาดคอ คนขายปลาทอด จึงปิ๊งไอเดียออกมาเป็นข้าวปลาแกะ ที่ทำให้คนกินสะดวกในการรับประทาน
หรือคนที่ชอบอ่านหนังสือ อยากได้ข้อคิดดีๆ และอยากรู้ว่า หนังสือที่สนใจ มีเนื้อหาเป็นอย่างไร แต่ไม่มีเวลาอ่านหนังสือจนจบ เลยมีคนมาพูดสรุปหนังสือให้ฟังผ่านพอดแคส (ในต่างประเทศ มีขาย Ebook สรุปหนังสือ) จนเกิดเป็นธุรกิจขึ้นมา ต่อยอดจนกลายเป็นวิทยากร และคอร์สสัมมนาต่างๆ
ไอเดียธุรกิจจากข้อนี้ มีความน่าสนใจตรงที่มาจากความคุ้นเคยหรือประสบการณ์ส่วนตัว ทำให้เรามีความมุ่งมั่นตั้งใจในการสร้างเป็นธุรกิจขึ้นมา เพราะมาจากความต้องการภายในของเราเอง
2) ไอเดียจากความต้องการของลูกค้า
ก่อนจะไปหาว่า ลูกค้าของเราคือ ใคร เราสามารถเริ่มต้นหาข้อมูล ด้วยการสำรวจเทรนด์ของผู้บริโภค ซึ่งมักจะมีการอัปเดตในทุกๆ ต้นปีอยู่แล้ว จากนั้นเราจึงวิเคราะห์ข้อมูลจากเทรนด์ว่า ลูกค้ากลุ่มไหนที่เราสนใจ สำหรับธุรกิจของเรา และต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ทำไมเราถึงเลือกลูกค้ากลุ่มนั้น?
จากนั้น ลองทำวิจัยพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย เช่น โพสต์สอบถามประสบการณ์หรือความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายทาง Social Media หรือ การทำวิจัยแบบกลุ่มเจาะลึก (Focus Group) เพื่อหาความต้องการของพวกเขา และกลั่นออกมาเพื่อออกแบบสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายต่อไป
3) ไอเดียธุรกิจจากความเชี่ยวชาญของเรา
ไอเดียข้อนี้ ก็เป็นสิ่งที่ใกล้ตัว ซึ่งมาจากทรัพยากรที่สำคัญของผู้ประกอบการอย่างเรา คือ ความเชี่ยวชาญ เช่น เรามีความสามารถในการใช้ AI/ChatGPT และสามารถให้คำแนะนำเพื่อนๆ คนรู้จักได้ จนเกิดเป็นไอเดียธุรกิจให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถใช้ AI/ChatGPT ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน หรือ เราสนใจเรื่องการออกกำลังกาย และการดูแลสุขภาพจนมีรูปร่างดี ไม่ป่วย และมีคนทักมาขอคำแนะนำเลยเกิดเป็นไอเดียธุรกิจรับเป็นเทรนเนอร์ให้กับคนที่สนใจ จนสุดท้าย สามารถออกมาเปิดยิมของตัวเอง
คำว่า “ความเชี่ยวชาญ” ไม่ได้หมายความว่า เราต้องเก่งเรื่องนั้นจนถึงขั้นติด Top 3 หรือเป็นที่ 1 แต่ขอให้ความเก่งของเรา “มากพอ” ที่โดนใจจนลูกค้าเต็มใจที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้ากับเรา
4) ไอเดียธุรกิจสำเร็จรูปที่ผ่านการพิสูจน์ความเป็นไปได้มาแล้ว
ไอเดียที่ผ่านการพิสูจน์ความเป็นไปได้ คือ ไอเดียที่มีลักษณะสำเร็จรูป ผ่านการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ (Feasibility) หรือมีประวัติความสำเร็จที่ผ่านมา ส่วนมากมักจะเป็นแฟรนไชส์ หรือธุรกิจตัวแทนจำหน่ายสินค้า ซึ่งขอแค่เราศึกษาข้อมูลของไอเดียให้รอบด้าน วิเคราะห์ข้อดีและข้อเสีย รวมถึงทรัพยากรที่ต้องลงทุน ซึ่งบางไอเดีย อาจไม่ต้องใช้เงินเยอะอย่างที่คิด เมื่อประเมินทุกอย่างแล้ว เราก็สามารถเลือกหรือตัดสินใจในการเริ่มต้นทำได้เลย
ข้อดีของไอเดียแบบนี้ คือ เราจะมี Partner ให้ความช่วยเหลือหลายๆ อย่าง ในการเริ่มต้นธุรกิจ โดยที่เราไม่ต้องทำเองทุกอย่าง ไม่ต้องปวดหัว โดยเฉพาะเรื่องระบบการจัดการ ทั้งการผลิตสินค้า รวมถึงกระบวนการจัดการ Supply Chain และการทำตลาดในระดับมวลชน (Mass Marketing) ที่เกี่ยวข้อง
สุดท้าย ไม่ว่าเราจะได้ไอเดียจากไหน สิ่งสำคัญ คือ อย่าปล่อยให้ไอเดียนอนนิ่งอยู่ในสมอง หรือปล่อยทิ้งไว้ในกระดาษ ควรเริ่มต้นลงมือทำแบบเล็กๆ เน้นเอาไปทดสอบกับตลาดจริง เพื่อดูผลตอบรับจากลูกค้า รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งสินค้าและบริการ จะได้ปรับปรุงให้ธุรกิจดีขึ้น จนสุดท้าย ธุรกิจของเราสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
บทความห้องเรียนผู้ประกอบการ
โดย ธนโชค โลเกศกระวี
โฆษณา