4 ก.ย. เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สรุป เศรษฐกิจแม่ฮ่องสอน ในมุมที่คนส่วนใหญ่ ไม่รู้..

หนึ่งในภาพยนตร์ไทยชื่อดังตอนนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องวิมานหนาม ที่มีเรื่องราวของการแย่งชิงเป็นเจ้าของสวนทุเรียน ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
แม้ในฉากจะมีความสวยงามแค่ไหน แต่อีกมุมหนึ่งของแม่ฮ่องสอน กลับตรงกันข้าม เพราะนี่คือจังหวัดที่มีอัตราความยากจนมากที่สุดในประเทศ
1
เรื่องราวของแม่ฮ่องสอน เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
2
แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดทางภาคเหนือของไทย มีพื้นที่ทั้งหมด 12,681 ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของประเทศ
โดยพื้นที่ส่วนใหญ่กว่า 87% ของพื้นที่ทั้งหมดในจังหวัด เป็นป่าไม้ และมีประชากรทั้งหมดในจังหวัด
อยู่เพียง 287,000 คน ซึ่งน้อยเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ
ดังนั้นแม้จังหวัดจะใหญ่แค่ไหน แต่เศรษฐกิจของแม่ฮ่องสอน กลับตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง
ขนาดเศรษฐกิจของจังหวัดนี้ จากข้อมูลล่าสุดในปี 2565 อยู่ที่เพียง 15,670 ล้านบาท น้อยที่สุดในบรรดา 77 จังหวัดของประเทศ
ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 0.1% ของมูลค่าเศรษฐกิจทั้งประเทศไทย
1
หากเราไปดูรายได้ที่เกิดขึ้นในจังหวัดนี้ ทุก ๆ 100 บาท จะมาจาก
- ภาคบริการ 68 บาท
- ภาคเกษตรกรรม 26 บาท
- ภาคอุตสาหกรรม 6 บาท
1
เห็นได้ชัดว่า ภาคบริการ เป็นแหล่งรายได้หลักของจังหวัดนี้ ด้วยชื่อเสียงของสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง เช่น อำเภอปาย บ้านรักไทย ปางอุ๋ง
1
แต่จำนวนนักท่องเที่ยว ก็ยังไม่ได้มากเหมือนจังหวัดหลัก ๆ และนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ก็นิยมเดินทางมาเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ หรือเพียงแค่ประมาณ 4 เดือนที่เป็นช่วง High Season เท่านั้น
จึงทำให้รายได้จากการท่องเที่ยว ยังมีจำนวนน้อยและกระจุกตัวเพียงบางพื้นที่เท่านั้น
ส่วนภาคเกษตรกรรม ที่เป็นรายได้อันดับ 2 รองลงมา คนแม่ฮ่องสอนส่วนใหญ่ ทำอาชีพเกษตรกรรม คิดเป็นสัดส่วนถึง 81% ของประชากรทั้งหมดเลยทีเดียว
โดยผลผลิตทางการเกษตรส่วนใหญ่ของแม่ฮ่องสอนที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว กระเทียม ข้าวโพด กะหล่ำปลี และถั่วเหลือง
แต่ปัญหาก็เหมือนกับเกษตรกรในจังหวัดอื่น นั่นคือ ความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร ทำให้รายได้ส่วนใหญ่มีความไม่แน่นอน
และเกษตรกรส่วนใหญ่ ไม่ได้มีพื้นที่ถือครองเพื่อทำการเกษตรของตนเอง ทำให้มีต้นทุนในการทำเกษตรกรรมที่สูงมาก
เมื่อรายได้หลักทั้งภาคบริการและภาคเกษตรกรรม ที่คิดเป็น 94% ของจังหวัด ไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงสูง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนที่น้อยมาก
พอเป็นแบบนี้ ทำให้ขนาดเศรษฐกิจของแม่ฮ่องสอน
น้อยที่สุดในประเทศ ซึ่งส่งผลโดยตรงไปยังรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สิน ของคนแม่ฮ่องสอนอีกด้วย
4
คนแม่ฮ่องสอน มีรายได้เฉลี่ยต่อคน 64,665 บาทต่อปี อันดับที่ 76 ของประเทศ ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยต่อคนของทั้งประเทศที่ 248,789 บาท เกือบ 4 เท่า
1
โดยหากนับเป็นครัวเรือน คนแม่ฮ่องสอน ปัจจุบัน แต่ละครัวเรือน มีรายได้เฉลี่ย 18,509 บาทต่อเดือน
น้อยกว่ารายได้เฉลี่ยของครัวเรือนไทยทั้งประเทศที่ 29,030 บาทต่อเดือน
ส่วนค่าใช้จ่ายครัวเรือนของคนแม่ฮ่องสอน เฉลี่ยอยู่ที่ 14,926 บาทต่อเดือน น้อยกว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งประเทศที่ 23,695 บาทต่อเดือน
ถ้าดูตรงนี้ ครัวเรือนแม่ฮ่องสอนใช้จ่ายน้อยกว่าก็จริง
แต่ค่าใช้จ่ายตรงนี้ กลับคิดเป็น 81% ของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ใกล้เคียงกับสัดส่วนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อรายได้เฉลี่ยครัวเรือนทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ครัวเรือนแม่ฮ่องสอน มีฐานรายได้ที่ต่ำกว่า ในขณะที่สัดส่วนค่าใช้จ่ายสูงพอ ๆ กัน จึงทำให้มีเงินเก็บเหลือน้อยกว่า ซึ่งสุดท้ายก็อาจทำให้เกิดปัญหาหนี้สินตามมา
อย่างปัจจุบัน ครัวเรือนแม่ฮ่องสอนมีหนี้สินเฉลี่ย 123,968 บาท
1
ซึ่งหนี้สินตรงนี้ คิดเป็นเกือบ 7 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ของครัวเรือนแม่ฮ่องสอน
นอกจากนี้ แม่ฮ่องสอน ยังเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดในไทย โดยคิดเป็น 26% ของคนแม่ฮ่องสอนทั้งหมด
พูดให้เห็นภาพคือ คนแม่ฮ่องสอน 26 คน จากทุก ๆ 100 คน มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 2,500 บาท หรือตกต่อวันไม่ถึง 100 บาทเท่านั้น
ซึ่งอุปสรรคส่วนใหญ่ในการพัฒนาและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดแห่งนี้ คือ การที่มีสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูง
ไม่เพียงแต่เป็นข้อจำกัดในการขนส่งสินค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นอุปสรรคสำหรับภาครัฐในการพัฒนาและลงทุนสาธารณูปโภคในแต่ละพื้นที่ เช่น ถนน ประปา ไฟฟ้า การศึกษา และสาธารณสุข
ถึงตรงนี้ ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า การพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอน จะไปในทิศทางใด ถึงทำให้จังหวัดนี้ หลุดพ้นจากความยากจนที่เกิดขึ้นได้
แต่ที่แน่ ๆ คือ แม่ฮ่องสอน กลายเป็นจังหวัดที่คนทั่วไปให้ความสนใจและรู้จักมากขึ้น จากกระแสภาพยนตร์เรื่องวิมานหนาม ที่กำลังโด่งดังในตอนนี้ไปแล้ว..
 
References:
โฆษณา