4 ก.ย. 2024 เวลา 06:00 • ธุรกิจ

‘ไม่ช่วยบริษัททำก็ไม่ต้องเอาเงิน’

LEGO ผูกการจ่ายโบนัสพนักงานเข้ากับเรื่องความยั่งยืน เพื่อภารกิจในการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050
“พนักงานทั่วไปจะมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทได้อย่างไร และทำโดยเป็นส่วนหนึ่งของงาน”
ปัญหาหนึ่งขององค์กรธุรกิจ ที่ได้ตั้งเป้าหมายหรือนโยบายไปสู่ความยั่งยืนในรูปแบบต่างๆ จะต้องพบ คือ การที่พนักงานในองค์กรไม่ได้มีส่วนร่วมในการเดินทางไปสู่เป้าหมายมากพอ มักจะเป็นผู้บริหารและพนักงานที่มีหน้าที่โดยตรงกับเรื่องเป้าหมายดังกล่าว
พนักงานคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ที่เป็นกำลังสำคัญ ที่องค์กรต้องทำให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนให้ได้ ลองดูกรณีศึกษาต่อไปนี้
🧩[ “โบนัสของพนักงาน ขึ้นอยู่กับการปล่อยคาร์บอนประจำปี” LEGO เร่งพันธกิจคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ]
LEGO (เลโก้) บริษัทผู้ผลิตของเล่นระดับโลก ได้ประกาศนโยบายใหม่เกี่ยวกับความยั่งยืน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกระดับชั้นในองค์กร เพื่อร่วมกันบรรลุพันธกิจที่จะลดการปล่อยคาร์บอน โดยตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนลง 37% ภายในปี 2032 และเป้าการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050
นโยบายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานดังกล่าว เป็นการปฏิวัติวิธีคิดในการดำเนินธุรกิจ โดยการผสานเป้าหมายด้านความยั่งยืน เข้ากับเรื่องผลตอบแทนของพนักงานอย่างเป็นรูปธรรม
เป็นการส่งสัญญาณว่า การรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ความรับผิดชอบของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นภารกิจร่วมกันของทุกคนในองค์กร
เลโก้ ประกาศใช้ตัวชี้วัด (KPI) ใหม่ประจำปี โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยมลพิษในโรงงาน ร้านค้า และสำนักงานของบริษัททั่วโลก
KPI ใหม่นี้ มีผลตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป นั่นหมายถึง โบนัสของพนักงาน จะขึ้นอยู่กับการปล่อยคาร์บอนประจำปี โดยวัดจากการปล่อยคาร์บอนเทียบกับจำนวนตัวต่อที่ผลิตได้ โดยทำการวัดคาร์บอนจากการดำเนินงานของบริษัททั้งขอบเขตที่ 1 - 3 หรือคาร์บอนที่บริษัทปล่อยทั้งทางตรงและทางอ้อม
จากนั้น นำมาเปรียบเทียบกับจำนวนตัวต่อที่ผลิตได้ในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อให้ได้ตัวชี้วัดความเข้มข้นของคาร์บอนที่สามารถติดตามได้
กระนั้น มีหลายองค์กรเริ่มเชื่อมโยงค่าตอบแทนเข้ากับเป้าหมายด้านความยั่งยืน แต่ก็เป็นในระดับผู้บริหารเท่านั้น แต่ โลโก้ เป็นองค์กรแรกๆ ที่ขยายการมีส่วนร่วมนี้ไปสู่พนักงานในทุกระดับ จึงเป็นความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตามอง
🧩[ แนวทางผลิต เลโก้ ที่ยั่งยืนจากต้นอ้อย ]
ขณะเดียวกัน เลโก้ยังคงมีหลากหลายแนวทางที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน ซึ่งผลิตภัณฑ์ตัวต่อมากกว่า 60,000 ล้านชิ้น ที่ผลิตต่อปี ได้ผ่านการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อหาทางเลือกใหม่ๆ ทดแทนพลาสติกและเพิ่มการหมุนเวียนของเลโก้ที่มีอยู่ ผ่านการรับคืนและรีไซเคิล เป็นต้น
เป็นการส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ก่อนหน้า เมื่อปี 2015 เลโก้ ได้ประกาศโครงเริ่มต้นการค้นคว้าหาวัสดุใหม่ๆ จนเมื่อปี 2018 จึงได้เริ่มทดลองส่วนประกอบที่ทำมาจากพลาสติกชีวภาพ (Bio-PE) ซึ่ง ‘ต้นอ้อย’ (Sugar Cane) คือหนึ่งวัตถุดิบที่ได้เลือกสรรมาใช้
เลโก้ ค่อยๆ ขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพออกไปมากขึ้น เพื่อให้อย่างน้อยทุกชุดที่วางขาย จะมีส่วนประกอบจากธรรมชาติรวมอยู่ด้วย หมายความได้ว่า เซ็ตหลังจากที่มีการเปลี่ยนวิธีผลิต ลักษณะตัวต่อที่เป็นพวก ต้นไม้ ใบหญ้าสีเขียว จะเป็นวัตถุดิบที่ถูกผลิตมาจากแบบไบโอพลาสติก ปัจจุบันก็ตีไปได้กว่า 50% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดแล้ว
พลาสติกชีวภาพ (Bio-PET) ที่ได้จากการทดลองนั้น สามารถช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์และยังช่วยลดผลกระทบจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอีกด้วย
การปลูกต้นอ้อยจะถูกแปรรูปเป็นน้ำมันเอทานอล (ethanol) หลังจากนั้นน้ำมันนั้นก็จะถูกนำมาใช้ผลิต เลโก้ ต่อไป แทนที่จะเป็นน้ำมันจากโพลิเอทิลีน (polyethylene)
🧩[ ส่งท้าย ]
การดำเนินงานดังกล่าวของ เลโก้ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้าด้วยวัสดุทางและพลังงานทางเลือกใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่น้อยกว่า หรือการผูกโบนัสค่าตอบแทนของพนักงานในองค์กรให้เข้ากับผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ล้วนเป็นแนวทางการทำธุรกิจที่นำไปสู่ความยั่งยืนของโลก
ผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจสามารถเรียนรู้ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับแนวทางความยั่งยืนในองค์กรของตนเองได้ เพราะเรื่องความยั่งยืนจะเป็นคลื่นอีกลูกที่กำลังโถมเข้ามา โดยที่ภาคธุรกิจไม่สามารถเลี่ยงได้อีกต่อไป การเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ จึงเป็นทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก
เรียบเรียงโดย ภูธิชย์ อรัญพูล
#FutureTrends #FutureTrendsetter #FutureTrendsESG #FutureTrendsBusiness
โฆษณา