4 ก.ย. เวลา 04:39 • ธุรกิจ
Principle Law and Advisory Co., Ltd.

(Carbon Series) Ep.4 Carbon Credit ทำความรู้จักไปกับ คาร์บอน เครดิต

Carbon Credit ทำความรู้จักไปกับ คาร์บอน เครดิตหลังจากที่เราได้พูดถึง Carbon Footprint และ Carbon Tax กันใน EP. ก่อน ๆ วันนี้ใน EP.4 เราจะมาพูดเรื่องของ Carbon Credit ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่องค์กรต้องหันมาให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะหากองค์กรใดไม่สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เท่ากับมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำไร ขาดทุนขององค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
มาทำความรู้จักว่า Carbon Credit คืออะไร? ทำไมต้องให้ความสำคัญ?
คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คือ จำนวนคาร์บอนที่องค์กรสามารถปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกในจำนวนจำกัดตามเกณฑ์ที่กำหนด กลไกเครดิตนี้จะก่อให้เกิดสิทธิที่เกิดจากการที่องค์กรมีการดำเนินการใด ๆ อันส่งผลกระทบแบบกึ่งบังคับให้ทุกภาคส่วนต้องรีบดำเนินการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกอย่างเร่งด่วน
ตัวอย่างเช่น กิจการของบริษัท A สามารถจัดการให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก น้อยกว่า ที่เกณฑ์ที่กำหนด บริษัท A จะได้รับ "คาร์บอนเครดิต" (Carbon Credit) ในขณะเดียวกัน หากปรากฏว่ากิจการของบริษัท B ปล่อยก๊าซเรือนกระจก มากกว่า เกณฑ์ที่กำหนด บริษัท B จะต้องเข้ามาซื้อคาร์บอนเครดิตจากบริษัท A และบริษัทอื่น ๆ ที่มีคาร์บอนเครดิต ส่งผลให้บริษัท B มีราคาที่ต้องจ่ายจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกดังกล่าว ซึ่งกระทบต่อผลกำไรของกิจการบริษัท B อย่างเลี่ยงไม่ได้
แล้ว Carbon Credit ซื้อขายกันยังไง?
องค์กรที่มีคาร์บอนเครดิตสามารถนำคาร์บอนเครดิตมาขายได้ผ่าน "ตลาดคาร์บอนเครดิต" ซึ่งเป็นตัวกลางที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนตระหนักให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย รวมถึงนักลงทุนที่มีเป้าหมายร่วมกันในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกให้ได้ในอัตราร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2573 นั่นหมายความว่า ในเร็ว ๆ นี้จะต้องมีการออกกฎหมายเฉพาะเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลก โดยเรียกว่า "กฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"
หากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ องค์กรใดที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ จะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและต้องเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิตเพื่อซื้อคาร์บอนเครดิตเป็นการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกินกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้
ประเภทของตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon Market) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market)
ตลาดคาร์บอนเครดิตที่จัดตั้งตามกฎหมายบังคับให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยภาครัฐเป็นผู้กำกับดูแล หากองค์กรใดไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามกฎหมาย จะมีการลงโทษ เช่น ต้องเสียค่าปรับ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน องค์กรที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดก็อาจได้รับสิทธิประโยชน์ตามบทบัญญัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเช่นเดียวกัน
2. ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market)
ตลาดคาร์บอนเครดิตนี้จัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือขององค์กรและผู้ประกอบการที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยยังไม่มีกฎหมายบังคับ การเข้าร่วมตลาดนี้จึงเป็นไปตามความสมัครใจ และไม่มีข้อกำหนดทางกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม การที่องค์กรใดที่ไม่ได้เข้าร่วมในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจนี้ก็จะยังไม่มีลงโทษแต่อย่างใด โดยในปัจจุบันในประเทศไทยเป็นตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจที่เรียกว่า T-VER
แม้ว่าปัจจุบันในประเทศไทยจะมีเพียงตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ แต่เมื่อใดที่กฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลบังคับใช้ จากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจจะก้าวเข้าสู่การซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิตภาคบังคับ ซึ่งการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดภาคบังคับนี้จะมีการจำกัดจำนวนก๊าซเรือนกระจกที่องค์กรจะสามารถปล่อยได้เพื่อเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงกำหนดบทลงโทษสำหรับองค์กรที่ไม่สามารถดำเนินการตามเป้าหมายที่กฎหมายกำหนดไว้ได้
ดังนั้น Carbon Credit จึงเป็นกลไกสำคัญที่องค์กรไม่อาจมองข้าม ทั้งยังอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่จะพาองค์กรให้ไปถึงโอกาสในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพท่ามกลางธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงในปัจจุบัน
.
.
Principle Law & Advisory
Get in Touch :(+66)82–856–3644
.
#PrincipleLawAndAdvisory #LegalExcellence #YourLegalPartners #BusinessLaw #RealEstateLaw #HotelLaw #TechLaw #StartupLaw #ClientSuccess #กฎหมายโลกร้อน #การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ #ธุรกิจสีเขียว #คาร์บอนฟุตพริ๊นต์ #ก๊าซเรือนกระจก #Carbonfootprint #ภาษีคาร์บอน
โฆษณา