4 ก.ย. 2024 เวลา 06:21 • หุ้น & เศรษฐกิจ

รู้จัก “โทเคนดิจิทัล” ที่ ก.ล.ต. กำกับดูแล

โดย นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก ก.ล.ต.
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายท่านอาจจะได้เห็นข่าวที่พูดถึง “โทเคนดิจิทัล” อยู่หลายข่าว ทั้งโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ที่มีผู้สนใจออกเสนอขายเข้ามาหารือกับ ก.ล.ต. แล้วประมาณ 16 รายในปัจจุบัน และโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) ที่ ก.ล.ต. มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล เพื่อให้เหมาะสมกับความเสี่ยงของโทเคนดิจิทัลแต่ละประเภท มีกลไกคุ้มครองผู้ซื้อขายที่เพียงพอเหมาะสม และสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม พร้อมทั้งส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
สำหรับท่านที่คุ้นเคยกับสินทรัพย์ดิจิทัล หรือได้ติดตามข้อมูลต่าง ๆ ทางช่องทาง social media ของ “สำนักงาน ก.ล.ต.” อยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook Instragram Blockdit และ Line อาจจะได้เห็นข้อมูลเหล่านี้อยู่บ้างนะครับ
เพราะในช่วงนี้เราให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างต่อเนื่องครับ แต่สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคยกับสินทรัพย์ดิจิทัล อาจมีคำถามว่าโทเคนดิจิทัลเหล่านี้คืออะไร เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ก.ล.ต. มีการกำกับดูแลอย่างไร และที่สำคัญคือมีประโยชน์อย่างไรกับตลาดทุนไทย ซึ่งเรื่องนี้ต้องเล่ายาว (อีกแล้ว) ครับ
เพื่อให้ทุกท่านได้เห็นภาพรวมของ “โทเคนดิจิทัล” ไปในทางเดียวกัน ผมขอปูพื้นฐานถึงประเภทของโทเคนดิจิทัลที่ ก.ล.ต. กำกับดูแลกันสักเล็กน้อยก่อนครับ (สำหรับท่านที่มีความรู้ความเข้าใจอยู่แล้วอย่าเพิ่งเบื่อกันนะครับ
ถือว่าเป็นการทบทวนไปพร้อม ๆ กันอีกครั้งครับ)
“โทเคนดิจิทัล” แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ Investment Token และ Utility Token
Investment Token คือ โทเคนดิจิทัลที่ให้สิทธิในการร่วมลงทุนในโครงการ และได้รับผลตอบแทนในรูปแบบต่างๆ เช่น ได้รับส่วนแบ่งรายได้ หรือได้รับผลตอบแทนคล้ายตราสารหนี้ เป็นต้น โดยอาจมีลักษณะเป็น...
- Project based ICO ที่ระดมทุนเพื่อพัฒนาหรือดำเนินโครงการต่าง ๆ ตามแผนธุรกิจ เช่น โครงการสร้างภาพยนตร์ โครงการปรับเปลี่ยนโรงงานโดยใช้พลังงานสะอาด ซึ่งเป็นโทเคนดิจิทัลเกี่ยวกับความยั่งยืน
- Real Estate-backed ICO ที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ หรือก็คือการลงทุนเพื่อให้ได้รับกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างเสร็จแล้ว
- Infra-backed ICO ที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบขนส่ง ระบบบริหารจัดการน้ำ สนามบิน ท่าเรือน้ำลึก โทรคมนาคม พลังงานทางเลือก ระบบจัดการของเสีย
การออกเสนอขาย Investment Token หรือที่เรียกว่า Initial Coin Offering (ICO) ทุกรูปแบบ ผู้ระดมทุน หรือ issuer ต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. รวมถึงต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (แบบ filing) และร่างหนังสือชี้ชวน และต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.
เพื่อให้มีการคุ้มครองผู้ลงทุนที่เพียงพอเหมาะสม ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน และเป็นไปในทางเดียวกับการออกเสนอขายหลักทรัพย์ที่มีลักษณะคล้ายกัน ไม่มีความเหลื่อมล้ำในการกำกับดูแลครับ
Utility Token เป็นโทเคนดิจิทัลที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการได้รับสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่น ๆ ที่เฉพาะเจาะจง โดยแบ่งเป็นแบบไม่พร้อมใช้ และแบบพร้อมใช้
- Utility Token ไม่พร้อมใช้ เป็นโทเคนดิจิทัลที่ผู้ออก (issuer) มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายโทเคนดิจิทัลไปสร้างหรือพัฒนาสินค้าหรือบริการเพื่อให้ผู้ถือสามารถใช้ประโยชน์ตามสิทธิของโทเคนดิจิทัลนั้น ๆ ได้ จึงไม่สามารถใช้แลกสิทธิประโยชน์ได้ทันที แต่จะเป็นการรอใช้สิทธิในอนาคต
- Utility Token พร้อมใช้ ที่เป็นโทเคนดิจิทัลที่พร้อมจะให้ผู้ถือสามารถใช้ประโยชน์ได้ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 คือ Utility Token พร้อมใช้ ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอุปโภคบริโภค เช่น บัตรกำนัลดิจิทัล คูปองที่ออกในรูปแบบโทเคน โทเคนที่ให้สิทธิในการแลกบัตรคอนเสิร์ต บัตร fan meeting บัตรโดยสารเครื่องบิน คะแนนโหวตไอดอล การกดดาวหรือของขวัญให้ Influencer หรือ Youtuber งานศิลปะ รูปภาพ เพลง แสตมป์หรือวิดีโอในรูปแบบ Non-Fungible Token หรือ NFT ซึ่งมีการให้สิทธิที่เฉพาะเจาะจงแก่ผู้ถือ NFT และโทเคนดิจิทัลที่ใช้แทนใบรับรอง (certificate) หรือแทนเอกสารสิทธิใด ๆ เช่น ใบรับรองพลังงานทดแทน carbon credit
การเสนอขาย “Utility Token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 1” ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ครับ ดังนั้น issuer ที่ต้องการเสนอขายจึงไม่ต้องขออนุญาตจาก ก.ล.ต. แต่ยังคงต้องทำตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอยู่นะครับ เช่นกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นต้น
กลุ่มที่ 2 คือ Utility Token พร้อมใช้ลักษณะอื่นที่นอกเหนือจากกลุ่มที่ 1 (ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอุปโภคบริโภค ไม่ใช้แทนใบรับรองหรือแทนเอกสารสิทธิใด ๆ) เช่น โทเคนที่ให้สิทธิในการเข้าถึงสินค้าและบริการบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ที่ใช้งานบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ใช้ชำระค่าธรรมเนียม เป็นส่วนลดค่าธรรมเนียม สะสมเพื่อเลื่อนระดับสมาชิก
“Utility Token พร้อมใช้ ในกลุ่มที่ 2” ก็ไม่ต้องได้รับอนุญาตเสนอขายเช่นเดียวกับ Utility Token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 1 ครับ เว้นแต่ในกรณีที่ issuer ต้องการนำโทเคนไปจดทะเบียนซื้อขายบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. จะต้องขออนุญาตเสนอขายเช่นเดียวกับ Investment Token ครับ
เพราะฉะนั้น สรุปอีกครั้งครับว่า โทเคนดิจิทัล ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. จะมี 3 ลักษณะ คือ “Investment Token” “Utility Token ไม่พร้อมใช้” และ “Utility Token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 2 ที่ issuer ต้องการนำไปจดทะเบียนซื้อขายบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” ครับ (ในครั้งต่อไปเราจะมาคุยเรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแล Utility Token กันครับ)
โฆษณา